เนื้อหมูป่าของซาซายามะ (Sasayama)
หากพูดถึงอาหารท้องถิ่นของทัมบะซาซายามะ (Tamba sasayama) คงหนีไม่พ้น "โบตันนาเบะ (Botan Nabe)" อาหารประเภทหม้อไฟที่ใช้เนื้อหมูป่า มีเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวเท่านั้น ชื่อนี้มีที่มาจากสีและรูปร่างของเนื้อหมูที่เรียงบนจานขนาดใหญ่จนดูราวกับดอกโบตั๋น
ความอร่อยของเนื้อหมูป่าซาซายามะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วประเทศตั้งแต่ยุคสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) กองทหารราบที่มาตั้งค่ายชั่วคราวที่ซาซายามะในสมัยนั้น ใช้เนื้อของหมูป่าที่จับได้จากการฝึกฝนมาทำเป็นน้ำซุปมิโซะ (ซุปเต้าเจี้ยว) และนั่นได้กลายเป็นต้นกำเนิดของโบตั๋นนาเบะ (มีทฤษฏีอื่นๆ อีก)
และเมื่อเหล่าทหารเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด ก็บอกเล่าถึงความอร่อยของเนื้อหมูป่าของทัมบะซาซายามะไปทั่วทั้งประเทศ
สภาพแวดล้อมที่หมูป่าเติบโตขึ้นมาทำให้เนื้อหมูป่าในซาซายามะมีคุณภาพสูง ว่ากันว่ายิ่งหมูป่าได้วิ่งบนพื้นดินที่รูปร่างสูงต่ำ ขรุขระมาก เนื้อหมูป่าจะยิ่งอร่อยขึ้นเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ซาซายามะที่สภาพอากาศและอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ของภูเขา เช่น ผลของต้นไม้ต่างๆ เห็ดมัตสึทาเกะ และอื่นๆ เพราะหมูป่ามีนิสัยกินทุกอย่าง ความอุดมสมบูรณ์ของป่าจึงส่งผลกระทบต่อรสชาติของเนื้อหมูโดยตรง จึงไม่แปลกที่หมูป่าที่โตในภูเขาของซาซายามะจึงมีรสชาติอร่อย
รสชาติและลักษณะพิเศษของโบตันนาเบะ
เราสามารถลิ้มรสโบตันนาเบะได้ที่ซาซายามะในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนมีนาคม
หม้อไฟน้ำซุปมิโซะที่ใช้น้ำซุปดาชิจากสาหร่ายคอมบุและคัทสึโอะบุชิ (ปลาคัตสึโอะแห้ง) เนื้อหมูป่าที่โรยพริกไทยญี่ปุ่นช่วยกระตุ้นความอยากอาหารขึ้นมาเลยทีเดียว
เครื่องอย่างอื่นในหม้อได้แก่ ผักกาดขาว ผักที่รับประทานหัว อย่างรากบัว แครอท โกโบ และยังมีเห็ด เช่น เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เป็นต้น รวมไปถึงบุก กับนามาฟุ (ลูกชิ้นจากโปรตีนเกษตร) และอื่นๆ ปรุงโดยใส่วัตถุดิบต่างๆ ที่เข้ากับมิโซะลงไปอย่างเต็มที่ และต้มให้เข้าเนื้อด้วยมิโซะ
เราอาจกังวลในระหว่างเวลาที่ต้มแต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะพอรับประทานแล้วร่างกายจะอบอุ่นขึ้นจากภายในเลยทีเดียว
หากเดินทางไปซาซายามะในช่วงที่อากาศหนาว อย่าลืมลองไปสัมผัสการผสมผสานของของดีประจำถิ่นทั้งโบตันนาเบะและวิวทิวทัศน์ช่วงฤดูหนาวของซาซายามะกันดูนะคะ