"มันภูเขา ยามะอิโมะ (Yamaimo)" ของขึ้นชื่อที่สภาพอากาศทัมบะซาซายามะสร้างมา
"มันภูเขา ยามะอิโมะ (Yamaimo)" หรือ กลอยญี่ปุ่น ของทัมบะมีชื่อเสียงในเมนู "โทโระโระจิรุ" (Torojiru - ซุปใส่มันภูเขา) และ "มุงิโทโระโกะฮัง" (Mugitorogohan - ข้าวสาลีราดมันภูเขา) ช่วงที่ "มันยามะอิโมะ" เริ่มนำมาเพาะปลูกที่ทัมบะซาซายามะ (Tamba Sasayama) นั้น ว่ากันว่าคือช่วงต้นสมัยเอโดะ (ปี 1603 - 1868) ในสมัยนั้น ชาวนาในแคว้นซาซายามะปลูกข้าว และส่งเป็นส่วยให้กับผู้ครองแคว้น แต่ในปีที่ผลผลิตข้าวไม่ดี จึงเริ่มรับประทานมันยามะอิโมะเป็นอาหารหลัก และการเติบโตของมันยามะอิโมะนั้นเหมาะสมกับสภาพอากาศของซาซายามะ ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อน ปริมาณฝนที่เหมาะสม อุณหภูมิที่ลดลงในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว รวมถึงมีหมอกหนา สภาพอากาศในภูมิประเทศที่เป็นแอ่งล้อมรอบไปด้วยภูเขาหล่อเลี้ยงให้มันยามะอิโมะมีรสชาติอร่อย
อีกทั้ง มันยามะอิโมะยังถูกเรียกว่า "มันกตัญญู" อีกด้วย มันแตกต่างกับมันอื่นๆ ตรงที่มันยามะอิโมะจะงอกออกมาจากตาเพียงตาเดียวข้างใต้มันแม่พันธุ์ จึงถือเป็น "มันที่สนับสนุนพ่อแม่" และถูกใช้เป็นวัตถุดิบในงานมงคล เช่น วันปีใหม่ และพิธีแต่งงาน เป็นต้น
ลองทาน "โทโระโระจิรุ" ของขึ้นชื่อซาซายามะ
มันยามะอิโมะมีโปรตีนจากพืชและเอนไซม์ช่วยย่อยอยู่มาก แม้จะรับประทานดิบๆ ก็ไม่ทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา และยังเป็นวัตถุดิบที่แนะนำในด้านเป็นยาชูกำลัง ฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้า และป้องกันความดันเลือดสูง เมื่อปอกเปลือกออกจะเห็นผิวละเอียดสีขาวบริสุทธิ์ เมื่อนำไปขูดจะได้ความเหนียวหนืดแบบที่หาไม่ได้จากที่อื่น ความเหนียวนั้นเป็นที่ยอมรับของร้านขนมญี่ปุ่น และยังเป็นที่นิยมในการทำขนมญี่ปุ่นด้วย
ในท้องถิ่น "โทโระโระจิรุ" ถือเป็นอาหารที่มีชื่อเสียง เมื่อได้ทานโดยนำมาราดบนข้าว จะให้รสชาติที่ทำให้หวนนึกถึงอดีต "มุงิเมชิโทโระโระ (Mugimeshi Tororo)" ที่ละลายมันยามะอิโมะกับน้ำซุปดาชิ ไข่ และเครื่องปรุงอื่นๆ ทานกับข้าว และ "ยามะอิโมะโกะฮัง (Yamaimo Gohan)" ที่หุงมันพร้อมกับข้าวเหนียวและเนื้อไก่ก็เป็นอาหารที่อร่อยสุดยอดเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังสามารถรับประทานได้อีกหลากหลายแบบ เช่น สุโนะโมโนะ (Sunomono - อาหารที่ปรุงด้วยน้ำสมสายชู) โอโคโนมิยากิ เทมปุระ หรือขนมญี่ปุ่นที่ชื่อว่าคารุคัน (Karukan) เป็นต้น