Start planning your trip
【คามาคุระ】เพลิดเพลินกับใบไม้เปลี่ยนสีและดอกไม้ 4 ฤดูกาลที่ “วัดซุยเซนจิ”!
“วัดซุยเซนจิ” แห่งนี้เป็นที่ตั้งของสวนญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นในสมัยคามาคุระเพียงแห่งเดียวที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นกันในคามาคุระปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งชมใบไม้เปลี่ยนสีและดอกไม้ 4 ฤดูกาล ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำข้อมูลทั่วไปและไฮไลท์แนะนำกันค่ะ
ใน “คามาคุระ” ศูนย์กลางแห่งการปกครองและวัฒนธรรมญี่ปุ่นระหว่างศตวรรษที่ 12 – 14 ยังคงหลงเหลือวัดและศาลเจ้าเจ๋ง ๆ ให้ได้ชมกันมากมาย “วัดซุยเซนจิ คิมเบียวซัง (Kinbyozan Zuisen-ji Temple)” เป็นแหล่งเพลิดเพลินกับใบไม้เปลี่ยนสีและดอกไม้ 4 ฤดูกาลในคามาคุระโดยเฉพาะถึงขนาดเรียกกันว่าเป็น วัดดอกไม้
วัดซุยเซนจิ คิมเบียวซัง (Kinbyozan Zuisen-ji Temple)
“คิมเบียวซัง” หมายถึง “ภูเขาฉากกั้นห้อง (※1) ผ้าไหม”
“วัดซุยเซนจิ” แห่งนี้ตั้งชื่อมาจากการที่สีของภูเขาบริเวณโดยรอบเปลี่ยนแปลงไปอย่างสวยสดงดงามราวกับเป็นฉากกั้นห้องที่ประดับด้วยผ้าไหม
วัดซุยเซนจิ คิมเบียวซังแห่งนี้เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดดอกไม้
เราสามารถเพลิดเพลินกับดอกไม้และพืชพรรณมากมายหลากหลายชนิดได้ตลอดทั้งปี เช่น ในฤดูใบไม้ผลิ ถนนที่ทอดยาวมาจากประตูวัดจะถูกแต่งแต้มไปด้วยซากุระป่าราวกับเป็นระเบียงทางเดินดอกไม้กันเลยทีเดียว ในฤดูร้อนจะเป็นดอกไฮเดรนเยีย ส่วนในฤดูหนาวจะเป็นซากุระฤดูหนาวและจุ๊ยเซียน
※1:เบียวฟุ……เครื่องเรือนบานพับสำหรับใช้กั้นห้องหรือประดับตกแต่งห้อง
สวนญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวของสมัยคามาคุระ
วัดซุยเซนจิ คิวเบียวซังแห่งนี้สร้างขึ้นโดย มุโซ โซเซกิ ในปี 1327
“มุโซ โซเซกิ” เป็นพระผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาศาสนาพุทธนิกายรินไซจนเจริญรุ่งเรืองระหว่างสมัยคามาคุระ (※2) สืบเนื่องไปจนถึงสมัยนัมโบคุโจ (※3)
บอกเลยว่ามีอิทธิพลอันใหญ่หลวงถึงขนาดว่าทั้ง อาชิคางะ ทาคาอุจิ และ จักรพรรดิโกไดโกะ ผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองในสมัยนัมโบคุโจก็หันมาศรัทธาในนิกายรินไซอย่างจริงจังกันเลยทีเดียว
การที่นิกายเซนมีความผูกพันกับสวนสวยงามก็เพราะความเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมท่ามกลางทัศนียภาพอันงดงามจะช่วยขัดเกลาจิตใจของเราได้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ มุโซ โซเซกิจึงได้ ขุดท่าเรือใกล้วัดซุยเซนจิและสร้างสวนสุดงาม ขึ้นมา
“สวนวัดซุยเซนจิ” แห่งนี้เป็น สวนญี่ปุ่นแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในสมัยคามาคุระ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การชม
วัดซุยเซนจินั้นมีทั้งบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเดินทางมาเยือนกันมากมาย เช่น โยชิดะ โชอิน นักปรัชญาผู้ส่งอิทธิพลให้กับผู้คนมากมายในช่วงปลาย สมัยเอโดะ (ปี 1603 - 1868) และเป็นที่ตั้งของ อนุสาวรีย์หิน มากมาย
นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของวัดชื่อ “ซุยเซนจิ” เหมือนกับในอาซากุสะของโตเกียวและในเกียวโตด้วย แต่ทั้งสองแห่งเป็นวัดพุทธที่นับถือนิกายโจโดะซึ่งแตกต่างกันออกไป ยังไงก็ระวังอย่าสับสนกันด้วยเนอะ
※2 : สมัยที่รัฐบาลทหารคามาคุระของซามูไรในคามาคุระกุมอำนาจทางการเมือง โดยอยู่ระหว่างปี 1185 - 1333
※3 : สมัยที่ซามูไรและขุนนางกุมอำนาจทางการเมือง โดยอยู่ระหว่างปี 1336 - 1392
วิธีเดินทางไปยังวัดซุยเซนจิ
วิธีการเดินทางไปยังวัดซุยเซนจิให้นั่งรถบัสที่มุ่งหน้าไปยัง "Daitonomiya" จากประตูทางออกฝั่งตะวันออกของ JR Yokosuka Line หรือ Enoden "Kamakura Station" มาลงป้าย "Daitonomiya" สุดสาย หลังจากนั้นก็เดินเท้าต่อมาอีกประมาณ 10 - 15 นาที
ไฮไลท์แนะนำภายในวัดซุยเซนจิ
สวนวัดซุยเซนจิ
“สวนวัดซุยเซนจิ” คือ สวนแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในสมัยคามาคุระซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แถมยังเป็นสวนตัวอย่างผู้บุกเบิก สวนโฉะอินเทเอ็น ขนาดเล็กอันประณีตงดงามซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบสวนญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นจากการแกะสลักแผ่นหิน
ถ้ำเท็นเนียว
ภายในบริเวณวัดมีการขุดเจาะถ้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อใช้ในการปฏิบัติธรรม เช่น การนั่งสมาธิ เป็นต้น โดยประกอบด้วย ถ้ำเท็นเนียว ซึ่งเกิดจากการขุดเจาะกำแพงหินทางตอนเหนือและ ถ้ำซาเซ็น ซึ่งเกิดจากการขุดเจาะกำแพงหินทางฝั่งตะวันออก
ส่วนด้านหน้ามีการขุดบ่อน้ำขึ้นมา รวมถึงสร้างสะพานขึ้นมาด้วย ทำให้เราสามารถเพลิดเพลินกับสถาปัตยกรรมหลากหลายอย่างได้ในแห่งเดียว
โบสถ์หลัก
ภายในโบสถ์หลักเป็นที่ประดิษฐานของ พระโคตมะพุทธเจ้าปางนั่ง, พระพุทธรูปปางนั่งของมุโซ โซเซกิ ที่ทำจากไม้ซึ่งว่ากันว่าสร้างขึ้นในสมัยนัมโบคุโจ, พระอวโลกิเตศวรพันมือปางนั่ง ที่ทำจากไม้ซึ่งว่ากันว่าได้รับบริจาคมาจาก “โทกุกาวะ มิตสึคุนิ” ผู้ครองแคว้นมิโตะในอาณาเขตจ.อิบารากิในสมัยเอโดะ
นอกจากนี้ ทั้งสองข้างของโบสถ์หลักยังมีการปลูก ซากุระฤดูหนาว และ มะลิฤดูหนาว อนุสรณ์สถานทางธรรมชาติประจำเมืองคามาคุระเอาไว้ให้ชมกันด้วยนะเออ...
พระกษิติครรภโพธิสัตว์โดโกโมขุ
“พระกษิติครรภโพธิสัตว์โดโกโมขุ” คือ รูปปั้นจิโซที่ตั้งอยู่ริมซ้ายมือของวัด โดโกโมขุ หมายถึง “ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีแต่ความทุกข์”
มีตำนานเล่าต่อกันมาว่าในสมัยก่อนช่วงที่ยามประจำวัดแห่งนี้ทนทุกข์ทรมานกับวิถีชีวิตอันแสนลำบากยากเข็ญจนคิดอยากหนีไปไกล ๆ พระจิโซก็มาเข้าฝันพร้อมกับทิ้งคำพูดไว้ว่า “โดโกโมขุ โดโกโมขุ” ทำให้เขาตระหนักได้ว่า “ไม่ว่าจะหนีไปที่ไหนก็ต้องเผชิญกับความทุกข์เหมือนกันหมด” หลังจากนั้นมา เขาจึงเลือกเป็นยามปกป้องดูแลวัดแห่งนี้ต่อไป
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง