Start planning your trip
คำทักทายภาษาญี่ปุ่น โอฮาโย ซาโยนาระ เซมากุเตะ?
คลายข้อสงสัยว่าคนญี่ปุ่นเวลาเจอกันตอนเช้าเค้าพูด "โอฮาโย" ตอนจะลากันเค้าพูด "ซาโยนาระ" รึเปล่า พนักงานตามร้านพูด "อิรัชไชมาเซ" แล้วเค้าพูดอะไรต่ออีกยาวเลย แล้ว "เซมากุเตะ" นี่มีด้วยเหรอ?!
คำทักทายในภาษาญี่ปุ่น
โอฮาโย
คนนิจิวะ
คมบังวะ
ทาไดมะ
อิรัชไชมาเซ
ไหนใครเคยได้ยินคำพวกนี้บ้าง รู้กันไหมเอ่ยว่าแปลว่าอะไรบ้าง? แล้วที่เราเอามาพูดเล่นกันว่า "เซมากุเตะ" นี่ในภาษาญี่ปุ่นมีจริงๆ รึเปล่า?
หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาว่าการทักทายในภาษาญี่ปุ่นมีการแบ่งช่วงเวลาด้วย ที่จริงภาษาไทยเราก็มีคำทักทายที่แบ่งช่วงเวลาเช้า เย็น และค่ำ แต่เราก็มักจะใช้คำว่า "สวัสดี" กันเป็นหลัก แต่ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เค้าใช้คำทักทายกันตามเวลาจริงๆ นะ แถมยังมีคำพูดเฉพาะเวลาจะออกจากบ้าน หรือเวลากลับถึงบ้านแล้วอีกต่างหาก มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
คำทักทายตามช่วงเวลา
ตามปกติที่ญี่ปุ่นจะมีคำทักทายแบ่งใช้ตามช่วงเวลาต่างๆ ของวัน พื้นฐานสุดมี 3 แบบคือ
สวัสดีตอนเช้า
おはようございます / โอฮาโยโกไซมัส
ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงสายๆ ก่อนเที่ยง
ถ้าพูดกับเพื่อนหรือคนที่สนิทกันก็จะพูดสั้นๆ ว่า おはよう / โอฮาโย
สวัสดีตอนกลางวัน
こんにちは / คนนิจิวะ
ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเกือบเที่ยงถึงบ่ายๆ เย็นๆ
สวัสดีตอนเย็น
こんばんは / คมบังวะ
ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงกลางคืน
อันที่จริงก็ไม่ได้มีกฏตายตัวแน่นอนว่าแต่ละคำจะใช้ได้ระหว่างกี่โมงถึงกี่โมงขนาดนั้น เรียกว่าเอาตามความรู้สึกของคนพูดเสียมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าตอนนี้ 6 โมงเย็นแล้วพูดว่า "โอฮาโย" นะ
บางทีเวลาเราไปเจอหน้าเพื่อนที่โรงเรียนหรือคนที่บริษัทเป็นครั้งแรกของวันนั้น ถึงตอนนั้นจะเที่ยงแล้วแต่ยังพูดว่า "โอฮาโย" ก็มี เพราะถือว่าเพิ่งเจอหน้ากัน
คำลา
ถ้าถามถึงคำพูดเวลาจะลากัน หลายคนต้องนึกถึงคำว่า さようなら / ซาโยนาระ แน่ๆ เลย แต่เอาเข้าจริงคนญี่ปุ่นกลับพูดคำนี้กันน้อยมากเลยนะ เพราะคำนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนการจากลาที่ยาวนาน การจากลาแบบอาจจะไม่ได้เจอกันอีก หรือไม่ก็เป็นการพูดลาที่ค่อนข้างจะเป็นทางการ ใช้กับคนที่ไม่ได้รู้จักมักคุ้นมากนัก
ทีนี้มาดูกันว่าแล้วคนญี่ปุ่นเค้าพูดลากันยังไง
เจอกัน
じゃあね / จ้าเน้
また(ね) / มาตะ(เน้)
อันนี้ใช้กับเพื่อนหรือคนที่สนิท ความหมายก็ประมาณ บาย, ไว้เจอกัน บางครั้งเราก็จะเพิ่มคำบอกวันเวลาเข้าไปด้วย เช่น またあした / มาตะอาชิตะ คำว่าอาชิตะแปลว่าพรุ่งนี้ ประโยคนี้เลยแปลว่า เจอกันพรุ่งนี้นะ
ขอบคุณที่ทำงานจนเหน็ดเหนื่อย
お疲れ様です / โอสึกาเรซามาเดส
ประโยคนี้ถือเป็นประโยคเฉพาะตัวของญี่ปุ่น แปลเป็นไทยแล้วอาจจะรู้สึกแปลกๆ ความหมายก็ประมาณว่า ทำงานมาเหนื่อยเลยนะ มักจะได้ยินตามมหาวิทยาลัยและที่ทำงานเป็นส่วนมาก ใช้ได้ในหลายกรณีเช่น เดินสวนกับเพื่อน-อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือคนในบริษัทก็พูดได้ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นคำที่มีประโยชน์มากเหมือนเป็นคำทักทายแก้เขิน ไม่งั้นเดินสวนกันก็ไม่รู้จะพูดหรือทักอะไรดี เอาไว้ใช้เวลาจะลากันก็ได้
ขอตัวกลับก่อนนะ
お先に失礼します / โอซากินิ ชิตสึเรชิมัส
คำนี้เอาไว้ใช้เวลาเราจะกลับก่อน แต่ยังมีคนอื่นทำงานอยู่ เราก็บอกไปว่า ขอเสียมารยาทกลับก่อนนะ พอเราพูดไปคนอื่นก็จะตอบกลับมาว่า お疲れ様です / โอสึกาเรซามาเดส
ราตรีสวัสดิ์
おやすみなさい / โอยาซุมินาไซ
ประโยคนี้เอาเข้าจริงก็มีโอกาสใช้น้อยมาก เพราะมักใช้กันในเวลาที่กำลังจะเข้านอนแล้วจริงๆ คือพอพูดโอยาซุมินาไซแล้วก็คือเตรียมกระโดดขึ้นเตียงเพื่อนอนเลย ถ้าพูดกับเพื่อนหรือคนที่สนิทกันก็จะพูดสั้นๆ ว่า おやすみ / โอยาซุมิ
ออกจากบ้าน - กลับมาบ้าน
เวลาจะออกจากบ้านหรือกลับถึงบ้านจะมีประโยคพูดตอบรับกันเป็นเซ็ตระหว่างคนที่จะออกจากบ้านและคนที่ยังอยู่ที่บ้าน
ออกจากบ้าน
行ってきます / อิตเตะคิมัส
行ってらっしゃい / อิตเตะรัชไช
คนที่จะออกจากบ้านจะพูดว่า 行ってきます / อิตเตะคิมัส
คนที่ยังอยู่ที่บ้านจะพูดตอบว่า 行ってらっしゃい / อิตเตะรัชไช
เป็นการพูดตอบรับกัน เหมือนคนนึงพูดว่า "ไปแล้วนะ" อีกคนก็ตอบรับว่า "ไปดีๆ นะ"
กลับมาบ้าน
ただいま / ทาไดมะ
おかえり(なさい) / โอคาเอริ(นาไซ)
คนที่กลับมาบ้านจะพูดว่า ただいま / ทาไดมะ
คนที่อยู่ที่บ้านจะพูดตอบว่า おかえり(なさい) / โอคาเอริ(นาไซ)
เป็นการพูดตอบรับกัน ความหมายเหมือน "กลับมาแล้ว" อีกคนก็ตอบรับว่า "กลับมาแล้วเหรอ, ยินดีต้อนรับกลับบ้าน"
ทั้งสองเซ็ตนี้ไม่จำกัดเฉพาะที่บ้านเท่านั้นนะ จะเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้
ร้านค้า
ไม่ว่าจะเดินเข้าร้านไหนในญี่ปุ่น ประโยคแรกที่จะได้ยินมาก่อนเลยก็คือ อิรัชไชมาเซ แต่บางร้านเค้าก็พูดอะไรต่ออีกไม่รู้ยาวเป็นแพเลย มาดูกันว่ามีประโยคอะไรบ้างที่เค้าพูดกันบ่อยๆ
เชิญเข้ามาเลย
いらっしゃいませ / อิรัชไชมาเซ
เป็นประโยคต้อนรับสุดคลาสสิค ที่คนไทยเราเอามาเล่นเลียนเสียงกันว่าเชิญเซมาซีบ้างหละ วิธีออกเสียงจริงๆ คือ อิรัชไชมาเซ ถ้าแปลง่ายๆ ก็คงต้องแปลว่า เชิญเข้ามาเลย แต่ประโยคนี้มักใช้กับร้านค้าเท่านั้นนะ
เชิญดูได้ตามสบาย
どうぞごゆっくりご覧ください / โดโซะ โกะยุคคุริ โกะรันคุดาไซ
ประโยคนี้น่าจะเป็นประโยคที่ใช้กันมากสุดหลังจากพูดอิรัชไชมาเซแล้ว ที่ยาวเหยียดขนาดนี้เพราะเป็นประโยครูปสุภาพ เลยต้องมีการใส่คำนู้นคำนี้เพิ่มเข้ามานิดหน่อย แต่ความหมายก็คือ เชิญดูได้ตามสบายเลยนะ
ถ้าไปตามร้านเสื้อผ้าอย่างยูนิโคล่หรือร้านทั่วไปเค้าจะมีอีกประโยคคือ どうぞお手に取ってご覧ください / โดโซะ โอเทะนิทตเตะ โกะรันคุดาไซ เชิญหยิบมาดูได้นะ
ขอบคุณ
ありがとうございます / อาริกาโตโกไซมัส
ประโยคพูดขอบคุณที่พื้นฐานที่สุด ถ้าพูดกับคนในครอบครัว เพื่อน คนที่มีอายุเท่ากัน หรือคนที่มีอายุน้อยกว่าก็จะพูดสั้นๆ ว่า ありがとう / อาริกาโต แต่เพราะทางร้านจะพูดขอบคุณลูกค้าก็เลยต้องพูดเต็มๆ เป็นสำนวนแบบสุภาพ
บางครั้งถ้าเราไปร้านไหนบ่อยๆ เราอาจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นลูกค้าประจำ โดยพนักงานอาจพูดขอบคุณว่า 毎度ありがとうございます / ไมโดะ อาริกาโตโกไซมัส คำว่า ไมโดะ แปลว่า ทุกครั้ง หรือ บ่อยๆ พอใช้รวมกันก็กลายเป็น ขอบคุณที่มาเป็นประจำนะ ถ้าไปบ่อยแต่เค้าไม่พูดประโยคนี้ให้ซักทีก็ไม่ต้องเสียใจนะ เพราะร้านส่วนใหญ่ถึงจะไปทุกวันเค้าก็ยังพูดแค่อาริกาโตโกไซมัสก็มี
ของแถม คำแบบนี้มีด้วยเหรอ?!
มาถึงช่วงคำนี้มีด้วยเหรอ?! หลายคำหลายประโยคของภาษาญี่ปุ่นที่เราเอามาพูดเล่นกัน เอาเข้าจริงแล้วที่ญี่ปุ่นมีคำพวกนี้จริงๆ รึเปล่ามาดูกัน
คิเร - ขี้เหร่
きれい / คิเร
ด้วยเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ขี้เหร่ ในภาษาไทยเลยถูกนำมาใช้พูดเล่นกันบ่อย คำว่า きれい / คิเร นี้มีจริงๆ เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า สวย หรือ สะอาด เวลาเดินไปเจอของสวยๆ หรืออยากจะชมใครก็พูดว่า きれいですね / คิเรเดสเน้
เซมากุเตะ
せまくて / เซมากุเตะ
ตามที่หลายๆ คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นได้มาตอบไว้ตามที่ต่างๆ ว่า せまくて / เซมากุเตะ เป็นรูปหนึ่งของ せまい / เซไม คำคุณศัพท์ที่แปลว่า แคบ แต่ทำไมคำนี้ถึงมาแพร่หลายในไทยได้นะ
ถ้าเอาตามประสบการณ์ส่วนตัวเลย แต่ก่อนที่ชั้นบนของห้างโรบินสันสีลมจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ แค่พูดว่าโรบินสันสีลมก็น่าจะพอเข้าใจนะว่าแต่ก่อนในที่นี้นี่นานมาก ราวๆ 20 กว่าปีก่อนเลย เวลาไปถึงร้านพนักงานจะพูดว่า เซมากุเตะ อิรัชไชมาเซ เสมอ เป็นร้านแรกและร้านเดียวที่เคยได้ยินประโยคนี้ และก็คุยเล่นกับที่บ้านมาตั้งแต่ตอนนั้นว่าคำนี้พอเทียบเป็นภาษาไทยแล้วตลกดี
พอไปถามคนญี่ปุ่นว่าเคยได้ยินประโยคนี้บ้างไหม ทุกคนบอกว่าเกิดมาไม่เคยได้ยินร้านไหนพูดเลย พร้อมช่วยกันคิดว่าทำไมถึงกลายมาเป็นประโยคนี้ได้ ก็เลยเดาเอาว่าทางร้านอาจจะต้องการพูดว่า
เซมากุเตะซุมิมาเซ็น อิรัชไชมาเซ - ขอโทษที่ร้านคับแคบไปหน่อย เชิญเข้ามาเลย
นานไปคำว่าซุมิมาเซ็นที่แปลว่าขอโทษก็หายไปเหลือแค่
เซมากุเตะ อิรัชไชมาเซ - ร้านแคบหน่อยนะ เชิญเข้ามาเลย
ร้านอาหารญี่ปุ่นร้านนี้ก็ปิดไปนานแล้วเลยไปถามไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าทำไมถึงใช้ประโยคนี้ แต่คิดว่านี่แหละน่าจะเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้คนไทยรู้จักกับคำนี้นะ
ภาษาและวัฒนธรรม
การได้เรียนภาษาใดภาษาหนึ่ง ก็เหมือนกับเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาตินั้นๆ เหมือนกัน ถึงภาษาไทยกับภาษาญี่ปุ่นจะมีรูปแบบการเรียงลำดับของประโยคต่างกัน แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันคือระดับของภาษา มีทั้งสำนวนภาษากันเอง สุภาพ ยกย่อง ซึ่งแสดงถึงการให้เกียรติผู้อาวุโสด้วย นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมและประเพณีของญี่ปุ่นก็ได้นะ ถ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเจออะไรน่าสนใจก็ลองเอามาคุยกันนะ
ดูบทความเกี่ยวกับประโยคภาษาญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มเติมได้จากบทความด้านล่างนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง