Start planning your trip
เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "เรวะ" รัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น
ปีเรวะ หรือ ยุคเรวะ รัชสมัยใหม่ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 ในวโรกาสขึ้นครองราชย์ของพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่
เรวะ (Reiwa) รัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น
เรวะ (Reiwa 令和) เป็นชื่อปีรัชสมัยถัดจากเฮเซ (Heisei) เริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019
การเปลี่ยนชื่อปีรัชสมัยในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์น่ายินดีสำหรับชาวญี่ปุ่น เพราะแต่เดิมการเปลี่ยนรัชสมัยจะมีขึ้นเมื่อพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เสร็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากพระจักรพรรดิองค์ก่อนสิ้นพระชนม์
แต่ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระจักรพรรดิแห่งยุคเฮเซ ในวันที่ 30 เมษายน 2019 เป็นการสละราชสมบัติก่อนสิ้นพระชนม์ในรอบราว 200 ปี โดยเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งยุคเรวะ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 พร้อมเริ่มใช้ชื่อปีรัชสมัยใหม่ในวันเดียวกัน
ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกชื่อปีแรกของรัชสมัยต่างๆ ด้วยคำว่า กันเน็น (Gannen 元年) ไม่ใช้คำว่า อิจิเน็น ที่แปลว่าปีที่ 1 แบบปกติ เพราะฉะนั้นปีเรวะที่ 1 ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า เรวะกันเน็น (Reiwa Gannen 令和元年)
ที่มาของชื่อ เรวะ
มีการประกาศชื่อปีรัชสมัยเรวะสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2019 ชื่อนี้เกิดจากการประสมอักษรคันจิที่คัดออกมาจากกลอนชื่นชมดอกบ๊วยบานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิบทหนึ่งของ มันโยชู หนังสือรวมบทกวีที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น
ーーーーーーーーーーーーーーーーーーーーー
初春の令月にして、気淑く風和ぎ、
梅は鏡前の粉を披き、蘭は珮後の香を薫らす
ในเดือนมงคลต้นฤดูใบไม้ผลิ สายลมพัดโชยอ่อน
ดอกบ๊วยที่ผลิบานดูราวกับสาวงามที่แต่งหน้าขาว เคล้าไปกับกลิ่นหอมของดอกกล้วยไม้
ーーーーーーーーーーーーーーーーーーーーー
令 (Rei เร)
มาจากคำว่า 令月 (Reigetu เรเก็ตสึ) แปลว่าเดือนมงคล คำว่า เร เองก็มีความหมายถึงความบริสุทธิ์ ความงดงาม
和 (Wa วะ)
มาจากคำว่า 和ぎ (Yawaragi ยาวารากิ) แปลว่าความสงบ
เป็นการเลือกคันจิที่มีความหมายดีสองตัวมาประสมกันและได้เสียงที่ไพเราะ โดยนายกรัฐมนตรีได้อธิบายความหมายที่แฝงไว้ในชื่อนี้ว่า "วัฒนธรรมที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางจิตใจอันดีงามของผู้คน"
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เท่าที่สืบค้นได้ที่ชื่อปีรัชสมัยอิงจากหนังสือกวีเก่าของญี่ปุ่นเอง เพราะที่ผ่านมาจะอิงจากหนังสือกวีเก่าของจีนมาตลอด 247 ชื่อ และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คันจิ 令 (Rei เร) ในชื่อปีรัชสมัย ส่วนคันจิ 和 (Wa วะ) นับเป็นครั้งที่ 20
ต้นกำเนิดบทกลอนชมดอกบ๊วย
ศาลเจ้าซากาโมโตะ ฮาจิมังกู (Sakamoto Hachimangu Shrine) / Photo by pixta
ตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศชื่อปีรัชสมัยใหม่ ก็มีการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับกลอนบทนี้ที่แต่งขึ้นโดยนักกวี โอโตโมะ โนะ ทาบิโตะ (Otomo no Tabito) และถูกอ่านขึ้นเป็นครั้งแรกในงานชุมนุมกวีที่จัดขึ้นในบ้านของเขาเมื่อราว 1,300 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลเจ้าซากาโมโตะ ฮาจิมังกู (Sakamoto Hachimangu Shrine) สถานที่ชมดอกบ๊วยอันมีชื่อเสียงในเมืองดาไซฟุ (Dazaifu) จังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka)
เมื่อเห็นข่าวทำให้มีผู้คนแห่แหนไปเยือนศาลเจ้าซากาโมโตะ ฮาจิมังกูกันเนืองแน่น เชื่อว่าหลังจากนี้ที่นี่จะกลายเป็นอีกหนึ่งในที่เที่ยวห้ามพลาดเวลาไปฟุกุโอกะไม่แพ้ศาลเจ้าดาไซฟุ เท็มมังกูแน่นอน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง