Unseen Japan สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งฤดูหนาวของเมืองมัตสึโมโตะ 2 วัน 1 คืน

ศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกู ฟุกุโอกะ ขอพรให้เรียนเก่งพร้อมชิมโมจิอร่อยๆ (Dazaifu Tenmangu, Fukuoka)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกู สัญลักษณ์ของฟุกุโอกะ แม้ภายในเขตศาลเจ้าจะมีบรรยากาศเงียบสงบ แต่ระหว่างทางก็มีถนนซันโดพร้อมร้านขายของที่ครึกครื้นไปด้วยผู้คน สามารถมาเที่ยวได้ทุกฤดูโดยเฉพาะช่วงดอกบ๊วยบาน มาเที่ยวด้วยกันค่ะ

บทความโดย

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

more

ศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกู สัญลักษณ์ของฟุกุโอกะ

Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

ศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกู (Dazaifu Tenmangu) แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองฟุกุโอกะในภูมิภาคคิวชู

เมื่อเดินผ่านซันโด ถนนสู่ศาลเจ้าที่เรียงรายไปด้วยร้านขายของฝากจนสุดทางก็จะพบกับสะพานทอดข้ามบ่อน้ำแสนสวย อีกฝั่งของสะพานคือฮนเด็น อาคารศาลเจ้าหลักอันงดงามท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบและสีสันสดใสจากธรรมชาติรอบข้าง โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิถือเป็นสถานที่ชมดอกบ๊วยชื่อดังของแถบนี้เลย

ในบทความนี้จะขอแนะนำสิ่งที่น่าสนใจในศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูรวมไปถึงวิธีการเดินทางค่ะ

ดาไซฟุเป็นเทพเจ้าเกี่ยวกับอะไร?

ซุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

เทพเจ้าที่สถิตอยู่ในศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูคือซุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะมิจิซาเนะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง และนักเขียนที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนมากมายทั่วประเทศญี่ปุ่น มีผลงานที่โดดเด่นในช่วงปีค.ศ. 800 - 900 จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา

มิจิซาเนะโดดเด่นด้านการเรียนเกินคนวัยเดียวกันจนเรียกได้ว่าเข้าขั้นอัจฉริยะ ได้รับตำแหน่งมงโจฮากาเสะ ตำแหน่งสูงสุดสำหรับนักวิชาการในสมัยนั้น แต่ทว่าด้วยการโดนใส่ร้ายป้ายความผิดที่ไม่ได้ก่อจึงถูกเนรเทศจากเกียวโตไปยังดาไซฟุ บนเกาะคิวชู และจบชีวิตลงที่นั่น

หลังจากสิ้นชีวิต มิจิซาเนะได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา จนปัจจุบันมีสาขาของศาลเจ้าเท็มมังกูที่สักการะซุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะทั่วประเทศถึงกว่า 12,000 แห่ง โดยมีศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูแห่งนี้เป็นศาลเจ้าสาขาหลัก มีเหล่านักเรียนมาไหว้ขอพรเพื่อให้สอบผ่านหรือขอให้ผลการเรียนดีขึ้นกันไม่ขาด

เอาล่ะค่ะ ถึงเวลาไปเดินเล่นในศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูของจริงกันแล้ว จากตรงนี้เราขอแนะนำ 3 จุดสำคัญในการมานมัสการค่ะ

1. หารูปปั้นวัว

Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

หลังจากเดินพ้นถนนซันโดจนเข้ามาในเขตศาลเจ้าแล้วจะเจอกับส่วนประชาสัมพันธ์ แวะไปหยิบแผนที่ของศาลเจ้ากันไว้ก่อนเลย ถัดจากส่วนประชาสัมพันธ์เข้าไปด้านในเราจะเห็นรูปปั้นวัวสัมฤทธิ์ในท่านั่งหมอบ ในศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูมีรูปปั้นวัวอยู่ถึง 10 ตัวเลยค่ะ

แล้วทำไมถึงต้องเป็นวัว? มาค่ะจะเล่าให้ฟัง

หลังจากที่มิจิซาเนะสิ้นชีวิต เหล่าลูกศิษย์ได้นำร่างของเขาขึ้นเกวียนแล้วให้วัวลากเพื่อไปยังจุดทำพิธีศพ วัวตัวนี้ก็เป็นวัวตัวเดียวกับที่พามิจิซาเนะเดินทางมายังคิวชูนั่นเอง ระหว่างทางอยู่ๆ วัวก็หยุดเดินแล้วก็ไม่ยอมขยับไปไหนอีก ลูกศิษย์รู้สึกได้ว่านี่อาจจะเป็นความตั้งใจของมิจิซาเนะเป็นแน่ จึงนำร่างของมิจิซาเนะฝังไว้นะตรงจุดนั้น หลังจากนั้นเหล่าผู้ศรัทธาก็สร้างศาลเจ้าขึ้น ณ จุดเดียวกันและกลายมาเป็นศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูในปัจจุบัน

จากความเป็นมานี้ภายในเขตศาลเจ้าจึงมีรูปปั้นของโกะชินกิว รูปปั้นวัวของเทพเจ้าอยู่ทั่ว เชื่อกันว่าถ้าเราลูบหัวของรูปปั้นวัว จะทำให้ฉลาดขึ้น ได้รับพรด้านความรู้ ถ้าไปแล้วก็อย่าลืมไปลูบหัวรูปปั้นวัวกันดูนะคะ

2. ข้ามสะพาน ชำระล้างกายและใจให้บริสุทธิ์

Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

เมื่อเข้าเขตศาลเจ้าเจอกับสะพานทอดข้ามสระน้ำ สระแห่งนี้ชื่อว่า ชินจิอิเคะ แปลว่า สระน้ำรูปตัวอักษรหัวใจ เพราะหากมองจากด้านบนลงมารูปร่างของสระน้ำจะเหมือนกับตัวอักษร 心 (มีเสียงอ่านว่า โคโคโระ, ชิน) ที่แปลว่าหัวใจนั่นเองค่ะ

ส่วนสะพานก็ประกอบไปด้วย 3 สะพานเรียงต่อกันนำไปสู่ฮนเด็น (ศาลเจ้าหลัก) แต่ละสะพานแสดงถึง "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" การเดินข้ามสะพานนี้เปรียบได้กับการชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าพบเทพเจ้า

dazaifu_20151027_c

เมื่อข้ามสะพานครบแล้วก็เดินลอดผ่านเสาประตูโทริอิไป จะเจอโชซุยะ บ่อน้ำชำระล้างอยู่ทางขวา หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วเพราะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการเข้านมัสการตามวัดและศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น เราก็มาล้างมือเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากกายและใจกันค่ะ

3. ประตูโรมงและฮนเด็นอันโอ่อ่า

ประตูโรมงเมื่อมองจากด้านหน้า (ฝั่งสระน้ำ) Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

ประตูสีแดงชาดหลังใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าฮนเด็นนี้เรียกว่าโรมงค่ะ ประตูของที่นี่มีความแปลกค่ะ เพราะด้านหน้า (มองจากฝั่งสระน้ำ) กับด้านหลัง (มองจากฝั่งฮนเด็น) มีรูปร่างไม่เหมือนกัน ถ้ามองจากด้านหน้าจะเห็นหลังคา 2 ชั้น แต่พอมองจากด้านในจะมีหลังคาแค่ชั้นเดียว ลองไปดูกันนะคะ

ฮนเด็น Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

เมื่อเดินลอดผ่านโรมงไปแล้วก็จะเห็นฮนเด็นค่ะ ตัวอาคารถูกสร้างให้มีระเบียงทางเดินรอบด้าน

ฮนเด็นหลังแรกสร้างขึ้นในปี 919 หลังจากนั้นก็ประสบกับอัคคีภัยหลายต่อหลายครั้ง ได้รับการบูรณะจนเป็นรูปแบบปัจจุบันในปี 1591 แม้จะผ่านมากว่า 400 ปี แต่ตัวศาลเจ้าหลักก็ยังคงความงดงามและความแข็งแรงได้เป็นอย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติค่ะ

ในเขตศาลเจ้ายังมีสถานที่ให้สัมผัสกับประวัติศาสตร์และศิลปะได้ด้วย เช่น อาคารคลังสมบัติ (Treasure Hall : Houmotsuden) จัดแสดงสิ่งของล้ำค่าเช่นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับมิจิซาเนะไว้ราว 50,000 ชิ้น หรือจะเดินไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติคิวชูที่ห่างแค่ 5 นาที ก็มีนิทรรศการถาวรที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป เสริมด้วยนิทรรศการพิเศษและอีเวนท์ด้านศิลปะอีกด้วย

เพลิดเพลินกับดอกบ๊วยในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

Picture courtesy of Dazaifu Tenmangu

ถ้ากำลังวางแผนเดินทางไปเยือนศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมล่ะก็คุณคือผู้โชคดีค่ะ! เพราะศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูเป็นสถานที่มีชื่อเสียงในการชมดอกบ๊วย โดยดอกบ๊วยจะเริ่มบานในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงปลายเดือนมีนาคมค่ะ

ซุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะชื่นชอบต้นบ๊วยมาก มีเรื่องเล่าว่าตอนที่เขาถูกย้ายไปที่ดาไซฟุ ต้นบ๊วยที่มิจิซาเนะรักมากบินจากเกียวโตไปหาเขาในหนึ่งคืน ปัจจุบันในพื้นที่ศาลเจ้าก็มีต้นบ๊วยที่เรียกว่าโทบิอุเมะ (ต้นบ๊วยบิน) ที่เชื่อว่าเป็นต้นบ๊วยต้นนั้นอยู่ด้วย

รวมๆ แล้วในศาลเจ้ามีต้นบ๊วยกว่า 200 สายพันธุ์ ราว 6,000 ต้น ในช่วงฤดูกาลของดอกบ๊วย กลิ่นหอมๆ และสีสันสวยงามของดอกบ๊วยจะทำให้ผู้ที่มาชมได้เพลิดเพลินและเบิกบานใจค่ะ

ดอกบ๊วยจะบานเร็วกว่าดอกซากุระ เพราะงั้นอากาศก็จะยังคงหนาวเย็นอยู่ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นตอนไปชมดอกบ๊วยกันนะคะ นอกจากต้นบ๊วยแล้วก็ยังมีธรรมชาติสวยๆ ให้ชมทั้งสี่ฤดูกาล เช่น ซากุระในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายน และใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคมค่ะ

ลองทานอุเมะกาเอโมจิกันเถอะ

ถ้ามานมัสการเทพเจ้าที่ดาไซฟุแล้วล่ะก็ห้ามพลาดลองชิมอุเมะกาเอโมจิของขึ้นชื่อของที่นี่นะคะ

ชื่ออุเมะกาเอโมจิจะแปลได้ว่าขนมโมจิกิ่งบ๊วย ถึงจะมีคำว่าอุเมะ (บ๊วย) อยู่ในชื่อแต่ด้านในก็ไม่ได้มีอุเมะโบชิ (บ๊วยดอง) อยู่นะ โมจินี้มีความเกี่ยวข้องกับมิจิซาเนะเช่นกันค่ะ มีเรื่องเล่าอยู่สองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งว่ากันว่ามิจิซาเนะชื่นชอบขนมโมจิที่หญิงชราคนหนึ่งนำมาให้มาก หลังจากมิจิซาเนะเสียชีวิตหญิงชราจึงนำขนมโมจิและกิ่งบ๊วยไปวางไว้ที่หน้าหลุมศพของมิจิซาเนะ เรื่องที่สองเล่าว่าเมื่อมิจิซาเนะถูกลดตำแหน่งใหม่ๆ ได้ถูกจับขังแยกไว้ อาหารก็ไม่ได้ทาน หญิงชราคนหนึ่งจึงแอบนำขนมโมจิมายื่นให้มิจิซาเนะผ่านช่องหน้าต่าง แต่ระยะทางไกลเกินเอื้อมจึงเอาโมจิเสียบที่ปลายกิ่งบ๊วยแล้วยื่นให้มิจิซาเนะ เรื่องที่สองนี้มีปรากฎอยู่ในม้วนภาพวาดด้วย ถึงจะไม่รู้ว่าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องจริงกันแน่แต่ขนมโมจิกิ่งบ๊วยนี้ก็กลายเป็นขนมขึ้นชื่อของดาไซฟุไปแล้วค่ะ

หลายคนเห็นหน้าตาแล้วอาจจะนึกว่าเป็นขนมมันจู (ขนมแป้งนึ่ง เนื้อแป้งจะคล้ายซาลาเปา) แต่อันนี้เป็นขนมโมจิแป้งเหนียวนุ่มค่ะ ไส้เป็นอังโกะ รสชาติเรียบง่าย แต่อร่อยจนอยากทานหลายๆ ชิ้นเลยค่ะ

ถนนซันโดในช่วงเทศกาลฤดูร้อน Picture courtesy of Dazaifu City

ระหว่างทางจากสถานีรถไฟไปยังศาลเจ้า เราจะเดินผ่านถนนซันโด (ถนนที่นำไปสู่ศาลเจ้า) ที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าต่างๆ ตลอดเส้นทาง 200 เมตรเช่นร้านขายของฝากและคาเฟ่ มีร้านที่ขายอุเมะกาเอโมจิอยู่หลายร้านเหมือนกัน แวะไปนั่งทานหรือซื้อแล้วเดินทานพร้อมหาของฝากไปด้วยก็ได้ค่ะ ระหว่างนั้นมีร้านสตาร์บัคส์ด้วย สาขาที่ดาไซฟุนี้โด่งดังมากเพราะการออกแบบร้านที่สวยแปลกตาโดยสถาปนิกชื่อดังคุมะ เคงโกะ

การเดินทางไปยังดาไซฟุ

คนส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางจากฮากาตะ เพราะมีรถบัสวิ่งตรงจากท่ารถบัสฮากาตะ (เดินจากสถานีฮากาตะไป 5 นาที) ไปยังสถานีดาไซฟุ สถานีที่อยู่ใกล้ศาลเจ้ามากที่สุด รถบัสใช้เวลาประมาณ 45 นาที ค่าโดยสาร 600 เยน

ในกรณีที่เดินทางด้วยรถไฟ ให้ไปขึ้นรถไฟด่วนพิเศษหรือรถเร็วที่สถานีนิชิเท็ตสึฟุกุโอกะ (Nishitetsu Fukuoka) สายโอมุตะ (Omuta) ใช้เวลา 15 นาที ลงที่สถานีฟุตสึกะอิจิ (Futsukaichi) เปลี่ยนเป็นรถไฟสายดาไซฟุ (Dazaifu) นั่งไปประมาณ 5 นาทีก็จะถึงสถานีดาไซฟุ (ค่าโดยสาร 400 เยน)

ไปเที่ยวดาไซฟุกัน

ไม่เพียงแต่ศาลเจ้าและของฝากเท่านั้น ศาลเจ้าดาไซฟุเท็มมังกูยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติในทุกฤดูกาล หากมีโอกาสไปเที่ยวคิวชูหรือไปเยือนฟุกุโอกะแล้วล่ะก็ แวะไปนมัสการกันให้ได้นะคะ

โรงแรมแนะนำใกล้ศาลเจ้า Dazaifu Tenmangu

ผู้เขียนบทความต้นฉบับ : Ai Yoneda
* บทความนี้เรียบเรียงใหม่จากบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2015

บทความโดย

MATCHA

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง