Start planning your trip
สารานุกรมคำญี่ปุ่น “โทริอิ”
ถ้าเกิดใครมีโอกาสได้ไปไหว้พระตามศาลเจ้าในญี่ปุ่นจะต้องพบกับ “โทริอิ” สถาปัตยกรรมคล้ายประตูขนาดใหญ่หน้าศาลเจ้ากันอย่างแน่นอน ในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงความหมายของเสาโทริอิว่าทำไมจะต้องมีตั้งไว้ตามศาลเจ้าและแนะนำศาลเจ้าที่มีเสาโทริอิสุดเจ๋งกันค่ะ
โทริอิ
เพื่อนๆเคยสงสัยมั้ยคะว่าสถาปัตยกรรมคล้ายประตูขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้าศาลเจ้าคืออะไร? นั่นก็คือ “เสาโทริอิ” นั่นเองค่ะ
เสาโทริอิโดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยเสาสูง 2 ต้นเชื่อมต่อกันด้วยไม้แนวนอนขนาดยาวระหว่างกลางและไม้ครอบวางทับด้านบนอีกทีหนึ่ง โดยคนญี่ปุ่นนับเสาโทริอิกันเป็นต้นๆ ในกรณีที่มีเสาโทริอิจำนวนมากตั้งอยู่บนถนนศาลเจ้าแห่งเดียวจะนับจากเสาโทริอิด้านนอกสุดว่า เสาโทริอิต้นที่ 1 ถัดไปก็เป็นเสาโทริอิต้นที่ 2 เข้ามาเรื่อยๆ
ความหมายของเสาโทริอิ
ศาลเจ้าเป็นสถานที่สิงสถิตของเทพเจ้าญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเสาโทริอิเป็นสิ่งกั้นกลางระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งเทพเจ้า กล่าวคือ “เสาโทริอิ” เป็นประตูสู่ดินแดนแห่งเทพเจ้านั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของเสาโทริอิ
ที่มาของเสาโทริอิมีทฤษฎีกล่าวเอาไว้มากมาย แต่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดเลยก็คือที่มาจากตำนานของเทพเจ้า
ตามตำนานเทพเจ้าของญี่ปุ่นมีอยู่ตอนหนึ่งชื่อว่า อามาโนะอิวาโตะ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพแห่งพระอาทิตย์ “อามาเทราสึโอคามิ” ได้เก็บตัวอยู่แต่ในถ้ำหิน (อามาโนะอิวาโตะ) ทำให้โลกถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมิด
เทพองค์อื่นๆจึงพยายามทำให้อามาเทราสึโอคามิออกมาจากอิวาโตะด้วยวิธีต่างๆนานาจนในที่สุดอามาเทราสึโอคามิก็ยอมออกมาข้างนอกด้วยวิธีที่เหล่าเทพเจ้าให้ไก่มาขันอยู่บนต้นมิสเซิลโทด้านหน้าทางเข้าอิวาโตะ
เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคอนเส็ปต์ที่ว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ทางฝั่งต้นไม้ที่มีนกเกาะอยู่มาจากตำนานที่ว่านี้นั่นเอง จนในที่สุดก็กลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “โทริอิ” ขึ้นมา
3 เสาโทริอิขึ้นชื่อของญี่ปุ่นมีที่ไหนบ้าง?
เดี๋ยวเรามาแนะนำ 3 เสาโทริอิที่โด่งดังที่สุดในบรรดาเสาโทริอิของศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่าค่ะ ^^
เสาโทริอิทองแดง (วัดคิมปูเซ็นจิ จ.นารา)
เสาโทริอิแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าหอซาโอโดของวัดคิมปูเซ็นจิภายในเมืองโยชิโนะ ตำบลโยชิโนะ จ.นารา โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติด้วยความสูง 8 เมตร
เสาโอโทริอิสีแดงสว่าง (ศาลเจ้าอิสึคุชิมะ จ.ฮิโรชิม่า)
เสาโทริอิแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ศาลเจ้าอิสึคุชิมะบนเกาะมิยาจิมะ เมืองฮัตสึไคชิ จ.ฮิโรชิม่า โดยเป็นเสาโทริอิจากต้นการบูรสีแดงสว่างที่ตั้งอยู่กลางทะเล เสาโทริอิในปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นที่ 8 ซึ่งสร้างเสร็จในปี 1875 โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเช่นเดียวกัน ด้วยความสูงกว่า 16 เมตรทำให้เรียกกันว่า “โอโทริอิ” หรือเสาโทริอิขนาดยักษ์
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเกาะมิยาจิมะและศาลเจ้าอิสึคุชิมะสามารถเข้าไปดูได้จากบทความ「 รวมแหล่งท่องเที่ยวสุดเด็ดในเกาะมิยาจิมะ 」
เสาโทริอิหิน (วัดชิเท็นโนจิ จ.โอซาก้า)
เสาโทริอิแห่งนี้ตั้งอยู่ที่วัดชิเท็นโนจิ เขตเท็นโนจิ เมืองโอซาก้า จ.โอซาก้า โดยเป็นหนึ่งในเสาโทริอิหินที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งสร้างขึ้นในปี 1294 แน่นอนว่าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเช่นเดียวกันด้วยความสูง 8.5 เมตร
เสาโทริอิสุดแปลก
ต่อไปเรามาแนะนำเสาโทริอิรูปร่างหน้าตาสุดเอกลักษณ์กันบ้างดีกว่า~
เซ็มบงโทริอิ (ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริไทฉะ จ.เกียวโต)
เสาโทริอิของศาลเจ้าฟูชิมิอินาริไทฉะ ตั้งอยู่ในเขตฟูชิมิ เมืองเกียวโต โดยเป็นทางเดินเสาโทริอิที่ทอดยาวขึ้นไปบนภูเขาซึ่งเชื่อกันว่ามีการสร้างเสาโทริอิขึ้นมากมายขนาดนี้เพื่อเป็นด่านกั้นจากโลกมนุษย์ไปสู่โลกแห่งวิญญาณที่มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่นั่นเอง เสาโทริอิเหล่านี้เริ่มสร้างขึ้นใน สมัยเอโดะ~สมัยเมจิ โดยผู้ที่มากราบไหว้สักการะ ว่ากันว่ามีเสาโทริอิรวมกว่า 1 หมื่นต้นเลยทีเดียว
เมโอโตะอิวะ (ศาลเจ้าฟุตามิโอคิทามะ จ.มิเอะ)
เมโอโตะอิวะ ตั้งอยู่ที่ ศาลเจ้าฟุตามิโอคิทามะ ภายในฟุตามิโจ เมืองอิเสะ จ.มิเอะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเสาโทริอิทั่วไป แต่ก็เป็นสิ่งกั้นระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งเทพเจ้าเช่นเดียวกับเสาโทริอินั่นแหละ
ด้านหน้าเมโอโตะอิวะเราจะได้เห็น「โอคิทามะชินเซกิ」หินศักดิ์สิทธิ์กลางทะเลที่ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 700 เมตรและพระอาทิตย์ (อามาเทราสึโอคามิ) ที่ขึ้นจากเส้นขอบฟ้า เมโอโตะอิวะเป็นสิ่งเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งวิญญาณ
คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเสาโทริอิเป็นสิ่งกั้นระหว่างโลกแห่งเทพเจ้า ถ้าเกิดใครมีโอกาสได้มาเที่ยวศาลเจ้าชินโตในญี่ปุ่นก็อย่าลืมชมเสาโทริอิกันด้วยนะคะ ^^
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโคมาอินุหรือสิงห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำศาลเจ้าเหมือนกับเสาโทริอิสามารถเข้าไปดูได้จากบทความ「 สารานุกรมคำญี่ปุ่น “สิงโตสุนัข(โคะมะอินุ)” 」ส่วนวิธีการไหว้พระที่ศาลเจ้าต้องบทความ「 ยังไม่สายเกินไปใช่มั๊ย ที่จะถามเกี่ยวกับวิธีการนมัสการที่ถูกต้องของศาลเจ้า 」เลยจ้า...
日本への訪日外国人の方が、もっと増えますように!
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง