Start planning your trip

เที่ยวจังหวัดนีงาตะ (Niigata) กันที่เมืองยาฮิโกะ (Yahiko) เมืองออนเซ็นและศาลเจ้าใหญ่แห่งดินแดนเอจิโกะ ขึ้นเขาชมวิวทะเลญี่ปุ่น แช่ออนเซ็นในเรียวกังบรรยากาศเรโทร จากนั้นไปเมืองโอจิยะ (Ojiya) ถิ่นกำเนิดของปลาคาร์ปนิชิกิ
ตอนที่ 2 ของการเดินทางเที่ยว 4 เมือง 4 สไตล์ในจังหวัดนีงาตะ เรามากันที่เมืองยาฮิโกะ (Yahiko) ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 ลองไปอ่านกันได้จากบทความ เยือนเมืองช่างฝีมือโลหะ ตีแก้วทองแดงด้วยตัวเองที่เมืองสึบาเมะซันโจ นีงาตะ
■ เมืองยาฮิโกะ เมืองออนเซ็นและภูเขาแห่งเทพ
・ สวนยาฮิโกะ สวนสวย 4 ฤดู
・ ศาลเจ้ายาฮิโกะ ที่สถิตเทพท่ามกลางป่าเขา
・ ยาฮิโกะยามะโรปเวย์ ชมวิวพาโนรามา
・ มิโนยะ ออนเซ็นเรียวกังสไตล์ญี่ปุ่น
■ เมืองโอจิยะ เมืองแห่งปลาคาร์ปนิชิกิ
・ นิชิกิโก้ย โนะซาโตะ
ยาฮิโกะ เมืองออนเซ็นและภูเขาแห่งเทพ |
ยาฮิโกะเป็นเมืองออนเซ็นเล็กๆ ที่อยู่ติดกับเมืองสึบาเมะ
การเดินจากสถานีสึบาเมะซันโจ (Tsubamesanjo) สามารถนั่งรถไฟสายยาฮิโกะ (Yahiko Line) แล้วมาลงที่สถานียาฮิโกะ (Yahiko) ได้ มีทั้งขบวนที่วิ่งตรงโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที บางขบวนจะต้องเปลี่ยนรถหนึ่งครั้งที่สถานีโยชิดะ (Yoshida) ขึ้นอยู่กับปลายทางของขบวน
จากบนรถไฟที่นั่งไปสถานียาฮิโกะจะมองเห็นเสาประตูโทริอิหลังใหญ่ตั้งตระหง่าน นี่คือโอโทริอิของศาลเจ้ายาฮิโกะ สร้างขึ้นในปี 1982 ถือเป็นโทริอิแบบเรียวบุ (มีเสาค้ำด้านละสองเสา) ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สูง 30.16 เมตร ถ้านั่งรถยนต์ก็จะได้เห็นความอลังการแบบใกล้ชิดเพราะถนนจะลอดผ่านโทริอิเข้าไปเลย
ถึงแล้วสถานียาฮิโกะ ถ้าไม่บอกว่าเป็นสถานีรถไฟก็ต้องนึกว่าเป็นศาลเจ้าแน่ๆ เพราะมีแม้กระทั่งบ่อน้ำชำระมืออยู่ด้านหน้า
เมื่อออกจากสถานีก็เจอกับสวนยาฮิโกะ (Yahiko Park)
ดูความกว้างของสวนได้ สถานีรถไฟยาฮิโกะอยู่ทางซ้ายล่างของแผนที่ พื้นที่สวนครอบคลุมถึงทางเดินบนเนินเขา เดินให้ทั่วก็เหมือนได้ออกกำลังกายย่อมๆ เลยทีเดียว
ทางเดินขึ้นเขาทำทางให้อย่างเรียบร้อย ถึงจะมาตอนหน้าร้อน แต่พออยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ก็รู้สึกเย็นขึ้นมาทันที
สะพานคังเก็ตสึเคียว (Kangetsu-kyo Bridge) สีแดงเด่นท่ามกลางใบไม้สีเขียว
บริเวณนี้เรียกว่าโมมิจิดานิ หรือหุบเขาต้นโมมิจิ (ต้นเมเปิล) ในฤดูใบไม้ร่วงราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ใบของต้นโมมิจิบริเวณนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงสวยงามอลังการ
ภายในสวนมีทั้งบ่อน้ำ น้ำตก ธารน้ำ เนินเขาตามสไตล์สวนญี่ปุ่น แต่ที่แปลกคือมีอุโมงค์ด้วย ถือเป็นจุดถ่ายรูปสวยๆ อีกหนึ่งจุด
ในฤดูใบไม้ผลิราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมมีดอกซากุระสวยๆ หลายสายพันธุ์ให้ชม ส่วนฤดูร้อนถึงส่วนใหญ่จะเป็นใบไม้เขียว แต่ก็ถือว่าได้มาเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์กันไปในตัว
เดินเล่นในสวนเสร็จจากนี้จะไปยังศาลเจ้ายาฮิโกะกัน
อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata
จากสวนยาฮิโกะจะมีทางออกหลายทาง ถ้าไม่แน่ใจหรือกลัวหลงก็เดินกลับมาทางเดิมตรงสถานียาฮิโกะก่อนก็ได้ แล้วเดินตามถนนที่อยู่หน้าสถานี
เดินจากสถานีมาได้แป๊บเดียวจะเจอกับโอโมเทนาชิ ฮิโรบะ (Omotenash Hiroba) ดูเหมือนบ้านญี่ปุ่นหลายหลังล้อมรอบลานกว้าง
มีร้านคาเฟ่ ร้านอุด้ง ร้านอาหาร และร้านค้าจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรของเมือง
ให้สมกับที่เป็นเมืองออนเซ็น ตรงทางเดินด้านหน้าเลยมีอาชิยุ (ออนเซ็นแช่เท้า) ให้แช่ด้วย ถ้ามาช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีหรือฤดูหนาวคงสบายน่าดู หรือจะไปแช่มืออย่างเดียวตรงอ่างเทะยุก็ได้
เดินพ้นจากโอโมเทะนาชิ ฮิโรบะปุ๊บจะมีซอยให้เลี้ยวขวา เดินเข้าไปแค่ไม่กี่สิบก้าวจะมีร้านอาหารชื่อ คามะเมชิ ยาฮิโกะ (Kamamaeshi Yahiko)
เมนูเด่นที่เป็นชื่อของร้านด้วยก็คือ คามะเมชิ ข้าวอบที่หุงและเสิร์ฟมาในหม้อแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าคามะ โดยมีเครื่องเป็นอาหารทะเลให้เลือกเยอะมาก ที่สำคัญมีเมนูที่เป็นรูปภาพพร้อมเขียนภาษาไทยให้ด้วย!
ที่สั่งมาครั้งนี้ รูปแรกคือข้าวอบสารพัดอาหารทะเล Tokujo Kamameshi ราคาไม่รวมภาษี 2,000 เยน รูปที่สองคือข้าวอบปู Kani Kamameshi ราคาไม่รวมภาษี 1,750 เยน
สั่งไปแล้วอาจจะต้องรอหน่อยนึงนะเพราะเค้าจะอบทีละหม้อให้ใหม่เลย เปิดฝามาก็มีควันลอยพร้อมกลิ่นหอมฉุย เครื่องที่ใส่มาก็อบพร้อมกับข้าวเพราะงั้นจะสุกหมดทุกอย่างแล้ว ใครที่ไม่ชอบปลาดิบก็กินได้แน่นอน ยกเว้นไข่ปลาอิคุระที่จะตักใส่หลังอบเสร็จ ไม่งั้นเดี๋ยวไข่สุกหมด
เวลาทานให้ใช้ทัพพีไม้คลุกข้าวกับเครื่องให้เข้ากัน แล้วตักใส่ชามเปล่าที่ให้มา ทานพร้อมผักเคียงและซุป
ใครอยากได้ของหวาน พอเดินกลับมาตรงถนนไม่นานจะเห็นร้านที่มีไอน้ำลอยออกมาอยู่ทางซ้ายมือ นี่เป็นร้านขายขนมมันจู ขนมนึ่งที่ดูเหมือนซาลาเปาลูกเล็กๆ ส่วนข้างในเป็นไส้ถั่วแดง อบใหม่ทุกวัน
เดินมาอีกไม่ถึง 5 นาทีก็เห็นเสาประตูโทริอิสีแดงของศาลเจ้ายาฮิโกะอยู่ตรงสุดถนน ก่อนจะไปถึงโทริอิ ด้านซ้ายนี่คือเรียวกังที่เราจะมาพักกันคืนนี้ อยู่หน้าศาลเจ้าเลยสะดวกมาก เอากระเป๋าไปฝากก่อนแล้วไปที่ศาลเจ้ากัน
ก่อนเดินลอดโทริอิ หันไปทางซ้ายจะมีร้านค้าร้านขนมอยู่หลายร้าน ของหวานก็มี เครื่องดื่มก็มี ถ้าอยากลองอะไรที่แบบญี่ปุ่นๆ ขอแนะนำโทโคโระเท็นกับโอเด้ง
โทโคโระเท็นเป็นวุ้นใสๆ ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเล ตอนแรกจะมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ ก็เอาไปใส่หลอดที่มีลวดขึงเป็นตารางอยู่ข้างล่าง พอดันจากข้างบนแท่งวุ้นก็จะโดนหั่นเป็นเส้นเล็กๆ ออกมา ตัววุ้นจะแช่เย็นไว้ เวลากินก็เหยาะโชยุผสมน้ำส้มสายชู ยิ่งกินตอนหน้าร้อนยิ่งเย็นเปรี้ยวชื่นใจ
อันข้างๆ กันคือทามะคอนยัค วุ้นคอนยัคทรงกลมหนึ่งในเครื่องโอเด้ง รสซุปหวานๆ เค็มๆ ของโอเด้งซึมเข้าไปถึงข้างใน แตะมัสตาร์ดเพิ่มรสเผ็ดนิดๆ ก็อร่อย
ได้เวลาเข้าไปสักการะเทพแห่งเมืองยาฮิโกะกันแล้ว ก่อนเดินลอดเสาประตูอิจิโนะโทริอิก็โค้งคำนับหนึ่งครั้ง และลอดเสาประตูโดยเดินให้ชิดริมฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าตรงกลางคือทางผ่านของเทพ
ทามะโนะฮาชิ (Tama no hashi) สะพานทรงโค้งทอดผ่านทางน้ำอยู่ด้านซ้ายมือหลังผ่านโทริอิเข้ามา เป็นสะพานสำหรับเทพเจ้าข้ามเท่านั้น ตัวสะพานไม้สีแดงท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้และแสงรำไรดูขลังมาก
ภายในศาลเจ้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,400 ปีร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่
ประตูซุยชินมง ก่อนเข้าไปบริเวณวิหารสักการะ
ไฮเด็น วิหารสักการะหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในปี 1915 เพราะวิหารหลังเดิมเสียหายจากอัคคีภัย วิธีไหว้สักการะของศาลเจ้ายาฮิโกะจะต่างจากที่อื่นหน่อย วิธีคือ 2 คำนับ 4 ปรบมือ 1 คำนับ
ฮนเด็นด้านในเป็นที่สถิตย์ของเทพอาเมโนะคาโกะยามะ โนะ มิโคโตะ เหลนของเทพอามาเทราซุ โอมิคามิ ต้นกำเนิดเชื้อสายพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ตามตำนานกล่าวว่าเทพอาเมโนะคาโกะยามะ โนะ มิโคโตะ ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประมง การทำเกลือ สาเก และกสิกรรมให้กับผู้คนในดินแดนเอจิโกะ (จังหวัดนีงาตะในปัจจุบัน) โดยเสด็จมาประทับ ณ ภูเขายาฮิโกะยามะ ที่อยู่เบื้องหลังศาลเจ้ายาฮิโกะนี้
ตรงจุดจำหน่ายเครื่องรางมีพวกโอมาโมริเครื่องรางต่างๆ เช่น เครื่องรางป้องกันอุบัติเหตุ เครื่องรางความรัก เครื่องรางสำหรับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในรูปข้างบนคือสมุดโกะชุอินโจลายวิหารสักการะ สำหรับเก็บตราประทับโกะชุอินประจำศาลเจ้า
ภายในพื้นที่กว้างขวางมีศาลเล็กที่แยกมาจากศาลเจ้าอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นอีกหลายหลัง เช่น หอกลองโคะโร วิหารบุเด็นสำหรับแสดงรำถวายเทพ
ก้อนหินทำนาย โอโมคารุ โนะอิชิ ให้ตั้งคำขอแล้วยกหินก้อนใดก้อนหนึ่ง ว่ากันว่าถ้าเบาแสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะเป็นจริง
อีกฟากของศาลเจ้ามีสวนกวางเล็กๆ และคอกไก่ เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือโทมารุ สายพันธุ์ไก่ดำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติของจังหวัดนีงาตะ
อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata
หันหลังให้กับวิหารไฮเด็นแล้วเดินออกประตูทางขวาไปจะเจอจุดขึ้นรถชัตเทิลบัสรับส่งฟรีระหว่างศาลเจ้ายาฮิโกะและสถานีขึ้นโรปเวย์
รถจะออกทุกๆ เวลา 5, 20, 35 และ 50 นาทีของแต่ละชั่วโมง ใช้เวลานั่งประมาณ 5 นาทีเท่านั้น หรือจะเดินไปทางขวาตามทางเองก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
อาคารสถานีขึ้นโรปเวย์ ซื้อตั๋วขึ้นโรปเวย์ได้ที่เคาน์เตอร์ด้านใน ราคาตามตารางนี้
ไป-กลับ | เที่ยวเดียว | |
ผู้ใหญ่ | 1,500 | 800 |
เด็ก | 750 | 400 |
* ผู้ทุพพลภาพ คิดครึ่งราคา
* ผู้ทุพพลภาพทางสมองที่มีสมุดประจำตัวและผู้ติดตามอีก 1 คน คิดครึ่งราคา
ที่ราบเอจิโกะอันกว้างใหญ่ ที่เห็นอยู่ใกล้ตัวที่สุดคือตัวเมืองยาฮิโกะ ที่ไกลออกไปสุดนู่นคือสึบาเมะซันโจ
ใช้เวลาแค่ 5 นาทีเราก็ขึ้นมาบนเขายาฮิโกะเรียบร้อย ด้านหลังที่เห็นเป็นเงาจางๆ คือเกาะซาโดะในทะเลญี่ปุ่น อีกหนึ่งที่เที่ยวน่าสนใจของนีงาตะ ถ้าวันที่ฟ้าโปร่งจะเห็นถึงความใหญ่ของเกาะชัดแจ๋ว
แล้วเห็นเสาสูงๆ ที่มีวงล้อรอบๆ นั่นกันมั๊ย สำหรับคนที่อยากได้วิวสวยๆ แบบ 360 องศาและไม่กลัวความสูง! ขอแนะนำให้ขึ้นพาโนรามาทาวเวอร์ (Panorama tower) หอชมวิว 2 ชั้นแบบหมุนรอบทิศ ระหว่างหมุนก็จะค่อยๆ เลื่อนขึ้นไปด้านบนจนสุดที่ความสูงร่วม 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถ้ามาช่วงฤดูหนาวก็อาจมีโอกาสได้ดูพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าฝั่งทะเลญี่ปุ่นด้วย
ข้างกันคือห้องอาหารและร้านขายของ มีทั้งโซบะ ข้าวปั้นโอนิกิริ ไส้กรอก ซอฟต์ครีม กดซื้อตั๋วจากตู้แล้วค่อยเอาไปให้พนักงาน
เดือนกรกฎาคมนี่อากาศร้อนๆ ได้กินน้ำแข็งไสหน่อยก็ชื่นใจ
อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata
เดินเลยตึกห้องอาหารเข้าไปจะมีทางเดินไปยังโอคุโนะมิยะ ศาลชั้นในของศาลเจ้ายาฮิโกะ ประมาณ 700 เมตร
ทางเดินมีทั้งจุดที่ปูทางไว้ให้แล้วก็จุดที่เป็นทางเดินธรรมชาติ มีขึ้นบันไดบ้างเล็กน้อย
เดินประมาณ 20 นาทีจนออกมาเจอกับเสาประตูโทริอิอีกหลัง
ด้านบนสุดนี้คือโกะชินเบียว ที่สถิตย์ของเทพอิยาฮิโกะ โนะ โอคามิ (เทพอาเมโนะคาโกะยามะ โนะ มิโคโตะ) และ เทพสึมาโดะ โนะ โอคามิ (เทพอุมาชิโฮะยะฮิเมะ โนะ มิโคโตะ)
วิวชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นของจังหวัดนีงาตะ
ชมวิวกันจนพอแล้วก็เดินกลับไปสถานีโรปเวย์เพื่อลงไปข้างล่าง รถชัตเทิลบัสจะมารอรับกลับไปส่งจุดเดิมข้างศาลเจ้า เสร็จแล้วก็ไปแช่ออนเซ็นในเรียวกังกันดีกว่า
เดินออกจากศาลเจ้ายาฮิโกะมาไม่เกิน 1 นาทีก็ถึงที่พักแล้ว ชิกิโนะยาโดะ มิโนยะ (Minoya)
ก่อนเข้าข้างในมีบ่ออาชิยุ น้ำออนซ็นอุ่นๆ ให้นั่งแช่เท้าได้
ล๊อบบี้โอ่โถง ด้านในมีร้ายขายของฝาก เน้นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ก่อนถึงร้านมีชุดยูคาตะสารพัดลายไว้ให้แขกผู้หญิงเลือกยืมใส่ได้ฟรี ใส่แล้วไปถ่ายรูปในเรียวกังหรือจะไปถ่ายในเมืองก็ได้
ห้องพักวันนี้เป็นห้องที่อยู่ในโซนโรมันคัง
มุมนั่งเล่น ใช้เป็นฉากถ่ายรูปได้
พูดถึงเรโทร คนญี่ปุ่นจะนึกไปถึงยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926) เป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแพร่หลายในญี่ปุ่น เกิดการผสมผสานกันระหว่างความเป็นญี่ปุ่นและตะวันตกอย่างลงตัว มีคำเรียกช่วงเวลานี้ว่า ไทโชโรมัน
อย่างชุดกิโมโนตรงชั้น 1 ที่เป็นลายดอกไม้ใหญ่สีสันสดใสหรือลายกราฟฟิกก็เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของไทโชโรมันเหมือนกัน
การตบแต่งห้องพักและทางเดินในโซนโรมันคังเลยดูสวยคลาสสิกแบบเก๋ๆ
คนชอบแนวนี้ต้องถูกใจแน่ๆ เลย
อาหารเย็นมาทานกันที่ห้องอาหารฮานะซันโด ตรงชั้น 4
เซ็ตอาหารญี่ปุ่นอลังการสุดๆ สีสันสดใส ยาฮิโกะอยู่ใกล้ทะเลอย่างนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องความสดของอาหารทะเล เห็นเป็นจานเล็กจานน้อยเหมือนจะดูไม่เยอะ พอกินจริงๆ นี่อิ่มมากเลยนะ ที่ไม่อยู่ในรูปคือข้าวกับซุปมิโซะใส่กุ้ง เสร็จแล้วยังมีผลไม้กับไอศกรีมอีกนะ อิ่มมากจนลืมถ่ายรูป
กลับมาห้องก็มีฟูกฟุตงปูไว้ให้พร้อม มานอนเก็บแรงไว้เที่ยวต่อพรุ่งนี้กัน
เช้ามาก็ไปแช่ออนเซ็นอีกรอบก่อนมาที่ห้องอาหาร Open Terrace Shiki บนชั้น 7 ครั้งที่ไปนี้ได้อาหารจัดเป็นเซ็ตให้เรียบร้อย มีเครื่องดื่มเป็นชา กาแฟ น้ำผลไม้
ขนมหวานมีซาซาดังโกะของดังของนีงาตะ
นอกจากอาหารอร่อยก็มีวิวสวยๆ ของภูเขายาฮิโกะให้ดูไปด้วย
อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata
หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จ ก็มาเก็บข้าวของแล้วเช็คเอาท์ เดินจากเรียวกังประมาณ 10 นาทีมาขึ้นรถไฟที่สถานียาฮิโกะเหมือนเดิม
ปลายทางสถานีสึบาเมะซันโจ (Tsubamesanjo) รอบนี้ก็เหมือนขามา คือจะมีรถไฟขบวนที่วิ่งตรงไปถึงสถานีสึบาเมะซันโจเลย กับขบวนที่ต้องมาเปลี่ยนรถที่สถานีโยชิดะ (Yoshida) ก่อน 1 ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ถามจากพนักงานสถานีตั้งแต่ที่สถานียาฮิโกะก่อนได้
จากสถานีสึบาเมะซันโจ จะนั่งรถไฟไปสถานีโอจิยะ (Ojiya) ซึ่งรถไฟชินคันเซ็นไม่จอด เลยต้องมีการต่อรถด้วย และรถไฟที่จอดสถานีโอจิยะเป็นสายโลคอลที่รอบรถจะน้อย ขอแนะนำให้วางแผนเรื่องรอบรถไว้ล่วงหน้า
สำหรับคนใช้พาส นั่งชินคันเซ็นได้ฟรี
นั่งชินคันเซ็นไปลงสถานีนากาโอกะ (Nagaoka) แล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟสายโจเอ็ตสึ (Joetsu Line) ลงสถานีโอจิยะ
สำหรับคนที่ไม่มีพาส นั่งรถไฟขบวนธรรมดา
นั่งรถไฟสายยาฮิโกะ (Yahiko) ลงสถานีฮิกาชิซันโจ (Higashi-Sanjo) เปลี่ยนเป็นรถไฟสายชินเอ็ตสึ (Shin-etsu Line) ลงสถานีนากาโอกะ (Nagaoka) เปลี่ยนเป็นรถไฟสายโจเอ็ตสึ (Joetsu Line) ลงสถานีโอจิยะ
สำหรับคนที่ไม่มีพาส ตอนนั่งมาจากสถานียาฮิโกะก็ไม่ต้องลงที่สถานีสึบาเมะซันโจ ให้นั่งไปลงที่สถานีฮิกาชิซันโจได้เลย
โอจิยะ เมืองแห่งปลาคาร์ปนิชิกิ |
สถานีชินคันเซ็นที่ใกล้ที่สุดสำหรับเปลี่ยนมาสถานีโอจิยะ ถ้านั่งมาจากโตเกียวให้เปลี่ยนที่สถานีอุราซะ (Urasa) ถ้านั่งมาจากนีงาตะให้เปลี่ยนที่สถานีนากาโอกะ (Nagaoka)
ออกจากสถานีก็เจอกับปลาคาร์ปยักษ์!
จริงๆ แล้วคือทางเข้าของอุโมงค์ข้ามแยกใต้ดินที่ทำเป็นรูปปลาคาร์ป น่ารักมาก มีทั้งหมด 3 ตัว เทียบขนาดพอๆ กับรถบัสเลย
นิชิกิโก้ย โนะซาโตะ อยู่ห่างจากสถานีโอจิยะประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าเดินก็ประมาณ 25 นาที แต่แนะนำให้นั่งแท็กซี่ไปเลยดีกว่า เร็วกว่าเยอะ ไม่เกิน 5 นาที
ทางเข้ามีรูปปั้นปลาคาร์ปนิชิกิตัวโตเป็นสัญลักษณ์ ค่าเข้าชมตามด้านล่าง
เด็กประถม - ม.ต้น | 310 |
ผู้ใหญ่ | 520 |
เด็กเล็กก่อนวัยเรียน | ฟรี |
ปลาคาร์ปในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า โค่ย เดิมทีโค่ยเป็นปลาสีเข้มเกือบดำ เลี้ยงสำหรับบริโภคกันมากในแถบเมืองโอจิยะ แต่ราว 200 ปีก่อนเกิดการกลายพันธุ์มีสีอื่นแทรกขึ้นมา ชาวเมืองจึงทำการผสมพันธุ์ปลาใหม่ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นโค่ยที่มีสีสันสดใสหลากหลาย และเรียกชื่อโค่ยที่มีสีเหล่านี้รวมๆ กันว่า นิชิกิโก้ย (นิชิกิ แปลว่า สีสันสดใสสวยงาม ผสมกับคำว่า โค่ย โดยอ่านออกเสียงเป็น โก้ย เพราะเป็นการเอาคำนามมาชนกัน)
ด้านในมีส่วนจัดแสดงเรื่องราวต้นกำเนิดของปลาคาร์ปนิชิกิ สินค้าของฝากที่ระลึก สามารถให้อาหารปลาคาร์ปได้ด้วย ใส่เป็นโคน โคนละ 100 เยน
ก่อนจะเดินไปดูปลาตัวใหญ่ ตรงตู้ปลามีปลาคาร์ปตัวเล็กๆ ด้วย ปกติเห็นแต่ปลาตอนโตแล้ว พอมาเห็นแบบนี้เลยรู้สึกแปลก แบบว่าไม่น่าเชื่อว่าปลาคาร์ปจะตัวเล็กเท่านิ้วก้อยอย่างนี้
บ่อในร่มมีปลาคาร์ปทั้งหมดประมาณ 80 ตัว
เจ้าหน้าที่บอกว่าปลาคาร์ปตัวที่ใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 1 เมตร หนักตั้ง 19 กิโลกรัม!
อาหารปลาก็เอามาโรยให้ตรงบ่อนี้ได้ จับปลาได้ด้วย ลูบหัวก็ได้ เดี๋ยวนะนี่ปลาคาร์ปนะไม่ใช่แมว แล้วก็ดูขนาดตัวปลาเทียบกับแขนจะเห็นถึงความใหญ่
อาหารปลาแบ่งมาให้ปลาตรงบ่อด้านนอกด้วยนะ
ด้านนอกนี้เป็นสวนแบบญี่ปุ่น ยิ่งมีปลาคาร์ปว่ายไปมายิ่งดูเข้ากัน
แต่ละฤดูก็มีดอกไม้สวยๆ บานผลัดเปลี่ยนกันไป แต่ปลาคาร์ปจะอยู่ตรงบ่อนอกเฉพาะช่วงอากาศยังอบอุ่นระหว่างปลายเดือนเมษายน-พฤศจิกายนเท่านั้น พอเข้าหน้าหนาวแถวนี้ก็มีหิมะตกเยอะอยู่เหมือนกัน เลยย้ายปลาไปด้านใน แต่ก็จะได้ดูวิวสวนญี่ปุ่นกับหิมะขาวสวยๆ แทน
ปลาคาร์ปนิชิกิมีชื่อเรียกต่างกันออกไปอีกตามสีและลักษณะลวดลาย ยิ่งตอนว่ายอยู่ในน้ำหลายๆ ตัวยิ่งสวยถึงขนาดได้รับฉายาว่า 泳ぐ宝石 แปลว่า อัญมณีว่ายน้ำได้ เลยทีเดียว
มาชมความงามของปลาคาร์ปนิชิกิแบบใกล้ชิดกันถึงถิ่นกำเนิดได้ตลอดปีที่นิชิกิโก้ย โนะซาโตะ
อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata
ก่อนกลับไปที่สถานีโอจิยะ เดินจากนิชิกิโก้ย โนะซาโตะมาแค่ประมาณ 3 นาทีมีร้านขายเครปผลไม้สดอร่อยๆ ด้วย
ร้านโฮชิโนะยะ (Hoshino-ya) มีเมนูเครปแบบครีมสด ครีมสดช็อกโกแลต ให้เลือกจับคู่กับผลไม้สดและไอศกรีมรวมๆ แล้วกว่า 100 เมนู! ยังไม่รวมพวกพาร์เฟต์กับแพนเค้กอีก แค่ดูเมนูก็ตาลายแล้ว
วิธีสั่งให้จดหมายเลขเมนูที่อยู่ในกรอบสีเหลืองและจำนวนลงบนกระดาษใบสั่ง สั่งเครปก็กรอกในช่องเครป ครั้งนี้เลือกเมนูที่ 207 แล้วก็ใส่จำนวน 1 อันตามหลัง ถ้าสั่งอย่างอื่นด้วยก็กรอกในช่องไปเรื่อยๆ
มาแล้วเครปมะม่วงผลไม้รวม Mango Fruits Mix ราคาไม่รวมภาษี 621 เยน ผลไม้มาเต็มๆ ตั้งแต่ข้างบนจนถึงข้างล่าง เมนูเครปมีทั้งหวานทั้งคาว ถ้าคาวจะเป็นพวกสลัดก็น่ากินเหมือนกันนะ อย่างไส้ยากิโซบะ ไส้ไก่ทอดคาราอาเกะ ไส้ทูน่ามายองเนสพาสต้า
ตอนที่ 2 นี้เราไปเที่ยว 2 เมือง คือ ยาฮิโกะ เมืองเล็กๆ ที่มีทั้งศาลเจ้าเก่าแก่ จุดชมวิวสวยจากมุมสูง แช่ออนเซ็นในเรียวกัง จากนั้นก็นั่งรถไฟมาต่อกันที่ โอจิยะ เมืองต้นกำเนิดนิชิกิโก้ย ปลาคาร์ปสารพัดสีแสนสวย
ถัดไปเราจะไปปิดท้ายตอนที่ 3 กันที่โทคามาจิ เมืองแห่งศิลปะ คลิกที่รูปด้านล่างเพื่ออ่านตอนต่อไปกันเลย
บทความโดย