Start planning your trip
ปลั๊กไฟ กระแสไฟของญี่ปุ่น ข้อควรระวังเวลาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น
ก่อนไปเที่ยวญี่ปุ่น อย่าลืมเช็คเรื่องปลั๊กไฟและแรงดันไฟที่ใช้ในญี่ปุ่นกันนะครับ รวมถึงเวลาอยากซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นกลับมาใช้ที่ไทยด้วย
ปลั๊กไฟ แรงดันกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่น
เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ นอกจากมือถือที่ต้องพกเอาไว้ดูแผนที่ ไว้โทรติดต่อกันแล้ว ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกหลายอย่าง ทั้งกล้องดิจิตอล ทั้งพ็อกเก็ตไวไฟ และสิ่งที่จะต้องเพิ่มตามมาด้วยก็คือที่ชาร์จทั้งหลายครับ แต่รูปแบบของปลั๊กไฟและแรงดันไฟฟ้าของญี่ปุ่นจะต่างกับของไทย เพราะงั้นถ้าจะเอาสายชาร์จจากไทยไปเราอาจจะต้องเตรียมตัวกันนิดนึง รวมถึงคนที่อยากจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นด้วยครับ
รูปแบบของเต้ารับและแรงดันไฟฟ้า
จาก คาเฟ่ VAULT COFFEE ที่อากิฮาบาระ พร้อมบริการ WiFi และปลั๊กไฟ
รูปแบบของเต้ารับที่ใช้ในญี่ปุ่นคือ Type A เป็นรูรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 รูขนานกันเหมือนในภาพ เต้ารับแบบนี้จะใช้กันมากในทวีปอเมริกา และประเทศแคนาดา รวมถึงบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม
แต่ในไทยเองบางครั้งก็มีรูปแบบปลั๊กที่หลากหลายมาก ทั้งขากลม ขาแบน หรือผสมทั้งกลมและแบน เพราะงั้นถ้าจะเอาปลั๊กที่นอกเหนือจากแบบ Type A มาใช้ที่ญี่ปุ่นก็ต้องพกหัวแปลงมาด้วยนะครับ
อีกกรณีที่ต้องระวังคือ ถึงแม้รูปแบบหัวปลั๊กจะเป็น Type A เหมือนกันแล้วก็ตาม แต่แรงดันไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ อาจไม่เท่ากัน ที่ญี่ปุ่นจะใช้แรงดันไฟฟ้า 100 โวลต์ (Volts) ส่วนไทยจะใช้แรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ แต่หลังๆ มานี้เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็มักจะทำขึ้นมาเพื่อให้รองรับแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลายอยู่แล้ว
photos by PIXTA
ส่วนความถี่ไฟฟ้า (เฮิรตซ์ Hertz) ของญี่ปุ่นรู้มั๊ยครับว่าของทางภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซนั้นไม่เท่ากัน เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าในญี่ปุ่น ทางการไฟฟ้าของโตเกียวได้สั่งซื้อเครื่องผลิตไฟจากเยอรมัน ที่ให้ความถี่ 50 เฮิรตซ์ ส่วนการไฟฟ้าคันไซที่โอซาก้าได้สั่งซื้อเครื่องผลิตไฟจากอเมริกา ที่ให้ความถี่ 60 เฮิรตซ์ ทั้งสองภูมิภาคเลยมีความถี่ไฟฟ้าที่ต่างกันตั้งแต่ตอนแรกเลยครับ เครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลยสามารถรองรับความถี่ได้ตั้งแต่ 50 - 60 เฮิรตซ์
* บางพื้นที่ของเมืองอิโตอิกาว่า จังหวัดนีงาตะ และบริเวณฟูจิกาว่า จังหวัดชิสึโอกะซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างภูมิภาคคันโตกับคันไซ จะมีใช้ทั้งสองความถี่
เราควรพกหัวแปลงไปด้วยดีหรือเปล่า
photos by PIXTA
เอาตามจริงก็แนะนำว่าน่าจะพกไปด้วยครับ โรงแรมที่พักบางแห่งอาจจะมีบริการให้ยืมหัวแปลง แต่ก็มีจำนวนจำกัด อาจไม่มีเหลือมาให้เรายืมก็ได้ครับ
เพราะงั้นถ้าเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเดินทางได้ก็จะดี แต่ถ้าเกิดมีเหตุสุดวิสัย ทำหายหรือหาซื้อก่อนไม่ทัน เราก็มาหาซื้อกันที่ญี่ปุ่นได้ครับ
ร้านขายหัวแปลงต่างๆ ในญี่ปุ่น
photos by PIXTA
ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่นมีหลายเจ้าหลายสาขามาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เรียกได้ว่าต้องมีทุกเมืองแน่นอน และส่วนใหญ่ก็จะมีหัวแปลงสำหรับปลั๊กขายด้วย ร้านที่คนไทยคุ้นหูกันดีอย่าง Yodobashi Camera, BIC Camera หรือ Yamada Denki มักจะมีพนักงานที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ประจำอยู่เสมอ แล้วยังทำเรื่องเว้นภาษีได้ด้วย
ข้อควรระวังก่อนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น
จาก ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเสื้อผ้าได้ในร้านเดียว!? บิ๊กคุโระ ร้านดังในชินจุกุ
เครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพดีและคุณสมบัติหลากหลาย หลายคนก็อยากจะมาซื้อกลับไปใช้ที่ประเทศของตัวเองกันบ้าง ปัจจุบันร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ จะมีขายเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใช้ในต่างประเทศได้ เป็นรุ่นที่รองรับแรงดันไฟฟ้าได้มากกว่า 100 โวลต์ และมีเคาน์เตอร์จำหน่ายโดยเฉพาะ เพราะงั้นก่อนจะซื้ออย่าลืมสอบถามพนักงานให้แน่ใจก่อนว่ารุ่นนั้นๆ สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้ถึงแค่ไหน และมีรูปแบบปลั๊กแบบไหนนะครับ
ในกรณีที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบจำเป็นต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าก็อย่าลืมดูกำลังไฟของหม้อแปลง (วัตต์) ก่อนใช้ให้ดีด้วยนะครับ
ライター兼翻訳者、時にマーケティング調査員の顔も。訪日旅行客向けに東京都内レストランメニューの翻訳データ・ベースの作成や、宿・ホテル情報検索サイトの翻訳も手掛けてきました。旅行と食材研究が趣味です。
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง