Start planning your trip
5 เครื่องครัวที่จะทำให้การทำครัวเป็นเรื่องสบาย แนะนำโดยโอตาคุอุปกรณ์ทำครัวอันดับ 1 ของญี่ปุ่น
ย่านคัปปะบาชิ อาซากุสะ คือแหล่งรวมอุปกรณ์ทำครัวจากทั่วญี่ปุ่นที่เหล่าโปรไปจนถึงลูกค้าทั่วไปเชื่อถือในคุณภาพ หนึ่งในนั้นมีร้านที่มีสินค้าอยู่พร้อมสรรพและยังมีสินค้าที่เจ้าของร้านออกแบบพัฒนาขึ้นมาเอด้วย! เราจะพาไปชมสินค้าที่เจ้าของร้านซึ่งเป็น โอตาคุอุปกรณ์ทำครัว แนะนำกัน
อีดะยะ (Iidaya) ร้านอุปกรณ์ทำครัวชื่อดังแห่งคัปปะบาชิ
มีกระทะสำหรับย่างเนื้อโดยเฉพาะไหมคะ
มีที่ขูดมันเทศแบบที่ขูดได้ละเอียดมากๆ เลยไหม
มีแบบที่ไซส์เล็กกว่านี้อีกหน่อยไหม
ไม่ว่าลูกค้าจะต้องการอุปกรณ์ทำครัวแบบไหน ร้าน อีดะยะ (Iidaya) แห่งคัปปะบาชิ ถนนอุปกรณ์เครื่องครัวของญี่ปุ่นตรงอาซากุสะจะไปสรรหามาให้!
อีดะยะ เป็นร้านเฉพาะทางที่จำหน่ายอุปกรณ์ทำครัวที่เจ้าของร้านตามไปเสาะหามาจากที่ต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกุ๊กมือฉมังหรือพ่อบ้านแม่บ้านทั่วไปต่างก็วางใจว่าถ้ามาที่นี่แล้วจะได้อุปกรณ์ทำอาหารตามที่ต้องการอย่างแน่นอน
โอตาคุเครื่องครัวอันดับ 1 ของญี่ปุ่น
ทุ่มเทขนาดร่วมพัฒนาอุปกรณ์ทำครัวขึ้นมาเอง
คุณอีดะ ยูตะ (Iida Yuta) เจ้าของร้านอีดะยะรุ่นปัจจุบันคือโอตาคุอุปกรณ์ทำครัวผู้ได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น
แล้วไม่ใช่แค่รู้ลึกรู้จริงเท่านั้น แต่ทำถึงขนาดร่วมออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ทำครัวเพื่อวางขายที่ร้านเลยทีเดียว อย่างที่ปอกเปลือกที่ปอกง่ายจนแทบจะไม่ต้องออกแรง หรือมีดหั่นขนมปังที่หั่นขนมปังได้สวยไม่ว่าจะเป็นขนมปังชนิดไหนก็ตาม สินค้าที่เกิดมาจากแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ อัดแน่นไปด้วยเทคนิคและความใส่ใจจากคนทำจริงๆ
ภายในร้านที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทำอาหารทุกซอกทุกมุมไม่ต่างจากป่าย่อมๆ
จากอุปกรณ์ทำครัวในร้านกว่า 8,500 ชนิด วันนี้ทาง MATCHA ได้ไปทดลองใช้อุปกรณ์ทำครัว 5 ชนิดที่คุณอีดะภูมิใจนำเสนอ ลองมาออกเดินทางเข้าสู่โลกของอุปกรณ์ทำครัวที่น่าหลงใหลกัน!
1. มีดปอกเปลือกที่ปอกได้ลื่นจนน่าตกใจ
สินค้าที่คุณอีดะมั่นใจและอยากแนะนำมากที่สุดในตอนนี้คือ เอเวอร์ พีลเลอร์ (Ever Peeler) เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นมาจากการออกแบบของคุณอีดะเอง
เหตุผลที่ออกแบบที่ปอกเปลือกอันนี้ขึ้นเป็นเพราะคำพูดเพียงประโยคเดียวจากลูกค้า "วันหนึ่งมีลูกค้ามาที่ร้านแล้วบอกว่าเป็นโรคข้อรูมาติกทำให้ขยับมือไม่สะดวก อยากได้ที่ปอกเปลือกที่ปอกได้แม้ว่าจะใช้แรงมือน้อยๆ ทางร้านก็ให้ลองสินค้าหลายชนิด แต่ไม่ว่าสินค้าชนิดไหนก็ต้องใช้แรงมากอยู่ดี ทั้งตัวที่ปอกเปลือกเองก็มีน้ำหนัก ไม่มีตัวไหนที่เหมาะกับลูกค้าเลย"
หลังจากวันนั้นคุณอีดะก็ลองใช้ที่ปอกเปลือกกว่า 200 ชนิดที่วางขายในท้องตลาดเพื่อเปรียบเทียบกันดู แต่ก็ไม่มีอันไหนเลยที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
ความสำคัญอยู่ที่มุมของใบมีด
รูปด้านซ้ายเป็นวิธีใช้ที่ปอกเปลือกทั่วไป ส่วนด้านขวาเป็นวิธีใช้เอเวอร์ พีลเลอร์ แค่เปลี่ยนวิธีจับผัก มีดก็จะไม่บาดมือ
"ถ้างั้นก็ทำขึ้นมาเองเลยแล้วกัน"
คุณอีดะนำแผนไปปรึกษาบริษัทผู้ผลิตหลายแห่งแต่ก็โดนปฏิเสธทุกแห่ง หนึ่งในนั้นบอกว่า "ถ้ามีดคมเกินไปมันจะบาดนิ้วนะ"
ปกติที่ปอกเปลือกจะใช้โดยขูดจากบนลงล่าง ถ้ามีดของที่ปอกเปลือกคมมากก็อาจจะบาดนิ้วเอาได้ คุณอีดะเลยคิดว่า "งั้นก็แค่เปลี่ยนวิธีใช้ที่ปอกเปลือกก็ได้แล้วไม่ใช่เหรอ?"
"ถ้าเปลี่ยนวิธีถือผัก แล้ววางใบมีดให้ทำมุมเฉียง ก็น่าจะทำให้ไม่บาดมือและขูดได้ง่ายขึ้น"
ตัวต้นแบบของที่ปอกเปลือกที่ทดลองผลิตขึ้นมา แต่ละอันมุมของใบมีดจะต่างกันอย่างละ 1 องศา
บริษัทผู้ผลิตที่เห็นด้วยกับแผนการนี้และร่วมพัฒนาสินค้าขึ้นมาคือบริษัทซันคราฟ (Suncraft) ที่จังหวัดกิฟุ
ในขั้นต้นได้ลองทำที่ปอกเปลือกขึ้นมา 17 แบบ แต่ละแบบจะเปลี่ยนมุมของใบมีดทีละ 1 องศา เพื่อดูความแตกต่าง พอได้ลองใช้จนถึงระดับ 30 องศา คุณอีดะก็บอกว่า "นี่แหละ ที่ใช่เลย!"
ใบมีดแข็งทำให้ผักยังคงสดไม่ช้ำ
หลังจากใช้เอเวอร์พีลเลอร์ปอกเปลือกดู ผิวของผักหลังปอกยังคงสดไม่ช้ำ
ทางทีมของเราก็ไม่รอช้าลองใช้เอเวอร์พีลเลอร์ที่ปัจจุบันผลิตเสร็จและมีวางขายที่ร้านแล้วดู อย่างแรกที่รู้สึกเลยคือน้ำหนักที่เบามาก
สิ่งที่น่าตกใจต่อมาก็คือสามารถปอกเปลือกได้อย่างเรียบลื่น แทบไม่ต้องใช้แรงเลย ผิวของผักหลังปอกเปลือกยังคงฉ่ำชุ่มน้ำคงสภาพความสดไว้ได้อย่างดี
แม้แต่ผักที่เปลือกหนาๆ อย่างฟักทองก็ปอกได้เรียบร้อย
ความสดของผักที่ยังคงเหลืออยู่นั้นสัมพันธ์กับความแข็งของใบมีด คุณอีดะบอกว่า "ความแข็งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับใบมีด ใบมีดของเอเวอร์พีลเลอร์มีความแข็งระดับเดียวกับมีดผ่าตัด"
ฝั่งซ้ายใช้เอเวอร์พีลเลอร์ ผิวแครอทเรียบเนียนฉ่ำน้ำ ฝั่งขวาใช้ที่ปอกเปลือกธรรมดา ผิวแครอทหยาบเป็นขุยและแห้งขาว
ถ้าตัวใบมีดอ่อน พอใช้ไปเรื่อยๆ จะสึกแล้วทำให้ปอกยากขึ้นและทำให้เซลล์ของผักบอบช้ำ ผิวของผักหลังปอกจึงซีดและแห้ง แต่ใบมีดของเอเวอร์พีลเลอร์แข็งมากทำให้ใช้ได้นาน และไม่ทำให้เซลล์ของผักบอบช้ำ ผิวของผักหลังขูดจึงยังคงความสด
ที่ปอกเปลือกที่ใช้ได้นาน
ด้านซ้ายคือตัวต้นแบบอันสุดท้าย แต่เพื่อให้ใช้ปอกผักที่มีขนาดใหญ่ๆ อย่างกระหล่ำปลีได้จึงเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น กลายมาเป็นสินค้าจริงทางด้านขวา
เอเวอร์พีลเลอร์ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีของร้านอีดะยะไปแล้ว ถ้าใช้ไปสักพักแล้วขูดยากขึ้น ทางร้านมีใบมีดขายแยกให้มาซื้อไปเปลี่ยนได้ ส่วนตัวด้ามจับก็ใช้อันเดิม
"อุปกรณ์ทำอาหารยิ่งใช้ก็ยิ่งคล่องมือ อุตส่าห์ใช้จนชินแล้วต้องมาทิ้งก็น่าเสียดายเลยทำแบบที่เปลี่ยนเฉพาะใบมีดได้ ผมอยากให้ทุกคนได้ใช้ไปนานๆ ครับ" นี่เป็นสินค้าชิ้นเยี่ยมที่อัดแน่นไปด้วยความใส่ใจของคุณอีดะ เอเวอร์ พีลเลอร์ (Ever Peeler) ยี่ห้อ Suncraft ราคารวมภาษี 2,200 เยน
2. มีดที่หั่นขนมปังได้ทุกชนิด
เซเซรากิ (Seseragi) มีดสำหรับหั่นขนมปังโดยเฉพาะก็เป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิดที่คุณอีดะมีส่วนร่วมในการพัฒนา
แล้วมันต่างจากมีดหั่นขนมปังธรรมดาตรงไหนล่ะ
ใบมีดของเซเซรากิประกอบด้วยฟันเลื่อย 2 ขนาดในมีดเล่มเดียว ส่วนปลายใบมีดฟันเลื่อยจะใหญ่และห่างกัน ส่วนกลางจนถึงด้ามฟันเลื่อยจะถี่เล็ก
ขนมปังจะแข็งหรือนุ่มก็หั่นง่าย
ด้วยฟันเลื่อยสองขนาดในเล่มเดียวอย่างนี้ทำให้เราสามารถเลือกหั่นได้ตามความแข็งของขนมปัง
ใบมีดส่วนปลายที่ฟันเลื่อยห่างเหมาะสำหรับหั่นขนมปังแข็งๆ พอลองหั่นดูก็อย่างที่เห็นเลย หั่นง่ายแล้วก็แทบไม่มีเศษขนมปังกระจาย
ใบมีดส่วนกลางเอาไว้ใช้หั่นขนมปังนุ่มๆ อย่างขนมปังแถว หั่นง่ายแทบไม่ต้องใช้แรง และเนื้อขนมปังก็ไม่ยุ่ยด้วย
มีดหนึ่งเล่มในใต้หล้า ขนมปังประเภทไหนก็ไม่หวั่น
มุมพิเศษในร้านสำหรับมีดหั่นขนมปังโดยเฉพาะ
คุณอีดะคิดมาตลอดว่าการใช้มีดธรรมดาเพียงเล่มเดียวไม่สามารถครอบคลุมการหั่นตั้งแต่ขนมปังแข็งๆ อย่างขนมปังเยอรมัน ไปจนถึงขนมปังนุ่มๆ อย่างขนมปังแถวได้
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมีดเล่มเดียวที่สามารถหั่นขนมปังได้ทุกชนิด ถ้ามีมีดเล่มนี้ไม่ว่าจะซื้อขนมปังแบบไหนมาก็วางใจได้ มีดหั่นขนมปัง เซเซรากิ (Seseragi) ยี่ห้อ Suncraft ราคารวมภาษี 5,500 เยน
3. ผู้ช่วยเบาแรงตอนเตรียมอาหาร
นอกจากสินค้าออริจินอลที่แนะนำไปทั้ง 2 อันแล้วคราวนี้มาดูสินค้าทั่วไปที่ขายดีกันบ้าง
"ในบรรดาสินค้าภายในร้าน ของที่ภรรยาของผมบอกว่าสะดวกที่สุดคืออันนี้ครับ!" คุณอีดะพูดพร้อมกับนำ บุนบุนช้อปเปอร์ (Bunbun Chopper) ออกมาให้ดู
แค่ดึงเชือก ผักก็ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ในพริบตา
วิธีใช้งานแสนสะดวก แค่ดึงเชือกก็หั่นผักเป็นชิ้นเล็กละเอียดได้แล้ว
"ที่จริงสินค้าแบบตัวนี้ก็มีวางขายอยู่ก่อนแล้วแต่ขนาดจะเล็ก ไม่เหมือนกับบุนบุนช้อปเปอร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถสับผักขนาดใหญ่ๆ ได้"
เราเลยลองเอามาใช้กับแครอทดิบดู
แค่ลองดึงเชือกเพียงไม่กี่ครั้ง
แครอทดิบที่แข็งๆ ก็ถูกสับจนละเอียดแบบนี้!
นี่เป็นสินค้าขายดีที่ติดอันดับ 1 อับดับ 2 อยู่ตลอด วันนี้ที่เรามาเก็บข้อมูลก็เห็นลูกค้าซื้อไปต่อหน้าต่อตาเลย บุนบุนช้อปเปอร์ (Bunbun Chopper) ราคารวมภาษี 2,420 เยน
4. ตะแกรงปิ้งแฮนด์เมด
ตะแกรงปิ้งขนาดกระทัดรัดนี้เกิดจากฝีมือช่างของเกียวโตที่ผลิตแบบแฮนด์เมด คุณอีดะบอกว่า "ต้องลองปิ้งขนมปังแผ่นด้วยตะแกรงนี้ให้ได้นะครับ"
ตัวตะแกรงจะแบ่งออกเป็นสองชั้น ช่วยรักษาระยะห่างระหว่างขนมปังกับเตาไฟได้ในระยะที่พอดี ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ขนมปังก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีทองสวย
เนื่องจากปิ้งได้ไว ความชื้นในเนื้อขนมปังจึงไม่หนีไปไหน ได้ออกมาเป็นขนมปังปิ้งที่กรอบนอกนุ่มใน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าราคาหลายหมื่นเยนก็สามารถทานขนมปังปิ้งอร่อยๆ ได้ด้วยตะแกรงนี้เพียงอันเดียว
คุณอีดะประทับใจในคุณภาพของตะแกรงนี้จนอดรนทนไม่ไหวต้องขอไปพบกับช่างฝีมือที่เป็นคนผลิตเลยทีเดียว "พอไปถึงสถานที่ผลิต ถึงได้เห็นว่าช่างเค้าตั้งใจทำตะแกรงนี้ทีละแผ่นๆ จริงๆ" ช่างเองก็เห็นถึงความตั้งใจของคุณอีดะ เลยเริ่มส่งสินค้าบางส่วนเพื่อให้มาวางขายที่ร้านอีดะยะ
ตะแกรงปิ้งแฮนด์เมด ยี่ห้อสึจิวะ ราคารวมภาษี 3,300 เยน
5. ตะแกรงขูดที่เปลี่ยนชีวิตของคุณอีดะ
ราคุ ราคุ โอโรชิเทะมิมะเซ็นคะ คิวามิ (Rakuraku Oroshimima Kiwami)
"สินค้าตัวนี้เป็นสินค้าที่ผมขอเรียกว่า เบนซ์แห่งวงการตะแกรงขูดอาหาร" คุณอีดะพูดพลางนำตะแกรงขูดหัวไชเท้าอันใหญ่ที่ชื่อ ราคุ ราคุ โอโรชิเทะมิมะเซ็นคะ คิวามิ (Rakuraku Oroshimima Kiwami) ออกมาให้ดู
ชื่อสินค้านี้มีการเล่นคำด้วย เขียนว่าอุปกรณ์เฉพาะทางสำหรับขูดอาหารแบบง่ายๆ (楽楽おろしてみま専科) แต่อ่านแล้วสามารถแปลได้ว่า ลองมาขูดอาหารแบบง่ายๆ สบายๆ กันดูไหม (楽楽おろしてみませんか)
พอลองเอาหัวไชเท้ามาขูดไปขูดมา ไม่นานหัวไชเท้าก็หดลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นไชเท้าขูดอยู่ในกล่องรองด้านล่าง ความรู้สึกตอนจับหัวไชเท้าขูดผ่านฟันมีดของตะแกรงนี่มันช่างรู้สึกดีจริงๆ
นี่ก็เป็นสินค้าอีกชิ้นที่อยู่ในความทรงจำของคุณอีดะ โดยย้อนกลับไปสมัยที่คุณอีดะเพิ่งเริ่มมาทำงานที่ร้านได้ไม่นาน "มีลูกค้ามาถามผมว่า 'มีตะแกรงขูดที่ทำให้ไชเท้าขูดมีรสสัมผัสนุ่มบ้างไหม' แต่ตอนนั้นผมเพิ่งเข้ามาทำ สินค้าก็ไม่เคยลองใช้มาก่อนเลยไม่รู้ เลยลองไปเอาสินค้าหลายชนิดมาใช้เทียบกันดู มีแค่ตัวนี้เท่านั้นที่ได้ไชเท้าขูดที่รสสัมผัสต่างออกไป"
ไชเท้าขูดที่ได้มีรสสัมผัสอ่อนนุ่มและรสหวาน คุณอีดะอธิบายให้ฟังว่า "ถ้าเซลล์ของหัวไชเท้าถูกทำลายระหว่างที่ขูดจะทำให้มีรสเผ็ดออกมา แต่ว่าที่ขูดนี้คมมาก เซลล์จึงไม่ถูกทำลาย ช่วยลดความเผ็ด ทำให้ได้รสหวาน"
"หลังจากนั้นลูกค้าท่านนั้นก็เลือกซื้อที่ขูดอันนี้ไป ผมเลยคิดได้ว่าถ้าไม่ได้ลองใช้สินค้าด้วยตัวเองจริงๆ แล้วจะขายของได้ยังไง สินค้าชิ้นนี้ก็เลยเป็นสินค้าที่เปลี่ยนชีวิตของผมเลย"
ราคุ ราคุ โอโรชิเทะมิมะเซ็นคะ คิวามิ (Rakuraku Oroshimima Kiwami) ยี่ห้อ Arnest ราคารวมภาษี 5,500 เยน
เมื่อก่อนผมคิดว่า "เครื่องครัวอันไหนก็เหมือนๆ กันหมดนั่นแหละ"
คุณอีดะที่ตอนนี้ยอมรับว่าตัวเองเป็นโอตาคุอุปกรณ์ทำครัวเล่าว่าเดิมทีไม่มีความสนใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ทำอาหารเลยแม้แต่น้อย
"ผมในตอนนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับที่ขูดหัวไชเท้าเลย ไม่ได้เป็นโอตาคุหรืออะไรทั้งนั้น ถึงขนาดคิดเลยด้วยซ้ำว่าจะอุปกรณ์ไหนมันก็เหมือนๆ กันหมดนั่นแหละ"
เขาเล่าว่าที่เข้ามาทำงานที่นี่ก็เพราะร้านอีดะยะเป็นกิจการของที่บ้าน ตัวเขาเองเป็นรุ่นที่ 6 ตอนที่เริ่มเข้ามารับผิดชอบเพิ่งอยู่ในช่วงวัย 20 กว่าปี ก็ทำไปวันๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไร
วันหนึ่งมีลูกค้าที่ท่าทางเหมือนกับเป็นพนักงานบริษัทมาที่ร้านและถามหาพิมพ์ขนมเค้ก
หลังจากคุณอีดะเอาสินค้าหลายอันออกมาให้ดู ลูกค้าก็ถามว่า "วัสดุเป็นสแตนเลสเหรอ? มีส่วนผสมของนิกเกิ้ลกี่เปอร์เซ็นต์ มีโครเมี่ยมกี่เปอร์เซ็นต์"
พอตอบอะไรที่เป็นคำถามเฉพาะทางแบบนั้นไม่ได้ ลูกค้าก็เริ่มเล่าเรื่องของตนเองให้ฟัง "ลูกของผมแพ้วัสดุที่ทำมาจากโลหะหนัก พิมพ์เค้กที่ขายตามท้องตลาดไม่ว่าชนิดไหนก็ทำมาจากโลหะทั้งนั้นเลยใช้ไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ลูกของตัวเองโตขึ้นมาโดยไม่รู้จักรสชาติของเค้ก เลยมาตามหาพิมพ์เค้กที่ไม่ได้ทำมาจากโลหะดู"
สุดท้ายลูกค้าก็ต้องกลับไปมือเปล่าเพราะหาสินค้าที่เหมาะสมไม่ได้ คุณอีดะค่อนข้างช็อคจากเหตุการณ์นี้
"จะมีอะไรแย่ไปกว่าร้านเฉพาะทางที่ไม่มีทั้งความรู้เฉพาะทางและสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ในตอนนั้นผมเลยตัดสินใจว่าจะทดลองใช้อุปกรณ์ทำอาหารทั้งหมดเพื่อสร้างความรู้ให้กับตัวเอง ถ้าคุยกับลูกค้าด้วยประสบการณ์และความรู้ของตัวเองเชื่อว่าลูกค้าทุกคนจะต้องซื้อสินค้ากลับไปอย่างมีความสุขแน่นอน"
คุณอีดะรู้สึกว่าอาชีพที่สามารถเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนได้ผ่านอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเหมือนอาชีพที่ฟ้าส่งมาให้ และเสริมอีกว่าลูกค้าที่มาถามหาพิมพ์ขนมเค้กก็ไม่เคยกลับมาที่ร้านอีกเลย
"ผมตั้งใจวางสินค้าที่ทำมาจากพลาสติกในทุกมุมของร้าน เผื่อว่าลูกค้าท่านนั้นจะมาที่ร้านแล้วหาซื้อของที่ตัวเองต้องการได้"
อยากเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอาหารด้วยอุปกรณ์ทำอาหาร
คุณอีดะกล่าวว่า "หน้าที่ของพวกผมในฐานะคนขายเครื่องครัว คือ การพัฒนาเครื่องครัวให้ก้าวหน้า พอมีหม้อก็มีการต้ม พอมีกระทะทอดก็มีการทอด พัฒนาการของอาหารเริ่มจากเครื่องครัว"
"ที่ปอกเปลือกแม้จะเป็นเครื่องครัวชิ้นเล็กๆ แต่การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ปอกง่ายขึ้น สิ่งเล็กๆ อย่างนี้อาจมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอาหารในอนาคตก็เป็นได้ ที่ผมทำอาชีพนี้ก็เพราะอยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนานั้นครับ"
อยากให้มาเลือกจับเลือกดูจากของจริงที่ร้าน
คุณอีดะยังกล่าวกับเราว่า "อยากให้ลองแวะมาที่ร้านสักครั้ง มาลองจับลองดูอุปกรณ์ทำอาหารดู"
"บ่อยครั้งที่ซื้อทางเน็ตแล้วไม่ได้ของตามที่คิดไว้ เลยอยากให้มาที่ร้านมาสัมผัสกับสินค้าจริงๆ แล้วค่อยซื้อครับ"
ป้ายแนะนำสินค้าภายในร้านที่พนักงานทำกันเอง
คำขวัญของคุณอีดะคือ "ไม่มีอุปกรณ์ทำอาหารชนิดไหนที่ใช้ง่ายและเหมาะสำหรับทุกคน แต่จะต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับลูกค้าที่อยู่ตรงหน้าเราอย่างแน่นอน"
เมื่อได้พูดคุยกับลูกค้าก็จะมีอุปกรณ์ชนิดใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา แม้กระทั่งในตอนนี้คุณอีดะก็ยังคงอยู่ในระหว่างพัฒนาสินค้าชนิดใหม่อยู่ เพื่อค้นหาอุปกรณ์ทำอาหารที่เหมาะสำหรับ "คนๆ นั้น" ต่อไป
ถ้ามาที่ร้านอีดะยะ คัปปะบาชิ อาซากุสะแล้วละก็ รับรองว่าจะได้พบกับอุปกรณ์ทำอาหารที่เหมาะสำหรับตัวเองได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณความร่วมมือจาก Iidaya
MATCHA Editer.
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง