AEON MALL Natori ชอปสบาย มาสะดวกจากสนามบินเซ็นไดแค่ 7 นาที

สารพันเรื่องราวของ ฮานามิ เทศกาลชมดอกซากุระ

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

เมื่อดอกซากุระบาน ทุกคนต่างออกมารวมตัวกันสังสรรค์ใต้ต้นซากุระ จนเราเรียกกันว่า "เทศกาลชมดอกซากุระ" แต่เทศกาลนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองมาฟังเรื่องราวของดอกไม้แสนสวยนี้ พร้อมเกร็ดเล็กน้อยและการเตรียมตัวไปชมซากุระกัน

บทความโดย

ライター兼翻訳者、時にマーケティング調査員の顔も。訪日旅行客向けに東京都内レストランメニューの翻訳データ・ベースの作成や、宿・ホテル情報検索サイトの翻訳も手掛けてきました。旅行と食材研究が趣味です。

more

เทศกาลชมดอกซากุระ (ฮานามิ)

JAPAN PHOTO LIBRARY ©Yasufumi Nishi/©JNTO

จาก "ชีวิตดี๊ดีกับ 5 จุดชมซากุระในโตเกียว ที่ได้ทั้งชมดอกไม้ ทั้งช้อปปิ้ง!"
เทศกาลชมดอกซากุระ มาจากคำภาษาญี่ปุ่นว่า Hanami (ฮานามิ) แปลตรงตัวได้ว่า "การชมดอกไม้"
ไม่ใช่แค่ยืนดูยืนจ้องดอกไม้นะ แต่คือการไปนั่งใต้ต้นไม้เพื่อชื่นชมดอกไม้ที่บานสะพรั่งอยู่บนต้น เป็นกิจกรรมที่คนญี่ปุ่นจะทำกันในฤดูใบไม้ผลิค่ะ
พอพูดถึง "เทศกาลชมดอกไม้" ส่วนใหญ่จะคิดถึงการชมดอกซากุระ แต่จริงๆ แล้วกับดอกไม้อื่นเช่น ดอกบ๊วย ดอกท้อ ก็ใช้คำนี้ได้เหมือนกัน

เดิมที "เทศกาลชมดอกไม้" คือการที่เหล่าขุนนางมานั่งร่ายกลอนวากะ (กลอนญี่ปุ่นในสมัยโบราณ) ใต้ต้นซากุระ แต่ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นการรับประทานอาหารและดื่มสังสรรค์กันใต้ต้นซากุระค่ะ

เทศกาลชมดอกซากุระเริ่มต้นมาจากไหน?

จาก "แนะนำ 5 สถานที่ชมซากุระสวยๆ กลางโตเกียวแบบคนไม่แน่น!"

มีเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการชมดอกไม้อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกเชื่อกันว่าการชมดอกไม้เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ เกษตรกรในสมัยก่อนจะดูลักษณะการบานของซากุระเพื่อที่จะทำนายว่าผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้นๆ ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือเพื่อใช้หาวันที่จะเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกนั่นเองค่ะ

เรื่องที่ 2 เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการชมดอกไม้แบบปัจจุบันอยู่มากคือ การชมดอกไม้เพื่อการสังสรรค์ ซึ่งเริ่มต้นมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นขุนนาง โดยปรากฏเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรในบทประพันธ์เก่าแก่ของญี่ปุ่นด้วยค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น ในมันโยชู (Manyoshu) หนังสือรวมบทกลอนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น รวบรวมขึ้นในปีค.ศ.783 มีบทกลอนที่บรรยายถึงการชมดอกไม้ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลอนส่วนใหญ่กล่าวถึงดอกบ๊วยมากกว่าดอกซากุระถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นดอกบ๊วยเป็นที่นิยมอย่างมาก

สารพันเรื่องราวของ

นี่คือดอกบ๊วย ทรงของดอกจะมีลักษณะกลม ต่างจากดอกซากุระที่จะเป็นแฉกมากกว่า

หลังจากนั้นประมาณปี ค.ศ. 900 - 1000 ก็ยังมีปรากฏในหนังสือรวมบทกลอนโบราณ โคะคิงวากะชู (Kokinwakashu) และนวนิยาย ตำนานเก็นจิ (Genji Monogatari) ที่ได้บันทึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการนั่งชมดอกซากุระใต้ต้นซากุระ แสดงให้เห็นว่า "การชมดอกไม้" ได้เปลี่ยนมาเป็น "การชมความงามของซากุระ" นับตั้งแต่นั้นมา

ธรรมเนียมการชมดอกซากุระที่เดิมแพร่หลายเฉพาะในชนชั้นขุนนางในสมัยนั้น ได้ค่อยๆ เริ่มแพร่หลายในหมู่ซามูไรและชาวบ้านทั่วไปตามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ

ช่วงที่ดอกซากุระจะบานเต็มที่ และสายพันธุ์ของดอกซากุระ

จาก "10 สถานที่ชมซากุระห้ามพลาดหากได้มาเยือนคันไซ!"

ช่วงที่ดอกซากุระจะเริ่มบานนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของปีนั้นๆ โดยเฉลี่ยที่โตเกียวจะเริ่มบานประมาณครึ่งหลังของเดือนมีนาคม ที่เกียวโต โอซาก้าและนาราประมาณปลายเดือนมีนาคม ซึ่งวันที่ดอกซากุระบานเต็มที่นั้นจะนับจากวันที่เริ่มบานไปอีก 1 สัปดาห์ค่ะ ใครที่มีแผนจะมาเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อมาชมดอกซากุระก็เตรียมตัวกันได้เลยนะคะ

สามารถเช็คพยากรณ์ซากุระบานได้จากรวมบทความพิเศษซากุระประจำปี หรือบทความ "พยากรณ์ซากุระบานในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่น!" ได้เลยค่ะ!

ภาพด้านบนเป็นภาพของดอกซากุระพันธุ์ที่พบเห็นได้มากที่สุดในญี่ปุ่น คือพันธุ์โซเมโยชิโนะ (Somei-yoshino) เอกลักษณ์ของพันธุ์นี้คือตอนดอกตูมจะสีแดงเข้ม เมื่อบานจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนจนเกือบขาว เป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาและปลูกเป็นครั้งแรกที่โตเกียวในปีค.ศ. 1860 ค่ะ

ซาโตะซากุระ

นี่เป็นซากุระพันธุ์ที่เรียกว่า ซาโตะซากุระ (Satozakura) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยาเอะซากุระ (Yaezakura) หรือซากุระกลีบแปดชั้น เนื่องจากตัวดอกนั้นมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้นนั่นเองค่ะ ซากุระพันธุ์นี้จะบานช้ากว่าพันธุ์โซเมโยชิโนะ (Somei-yoshino) ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในแถบโตเกียวจะบานประมาณช่วงกลางถึงปลายเดือนเมษายนค่ะ

ชิดาเระซากุระ

จาก "จุดชมซากุระขึ้นชื่อในเกียวโต เดินชมซากุระบานจากย่านกิอง ถึงสวนสาธารณะมารุยามะ"

ซากุระพันธุ์ชิดาเระซากุระ (Shidare Sakura) จะบานเร็วกว่าพันธุ์โซเมโยชิโนะ (Somei-yoshino) ประมาณ 1 อาทิตย์ ความพิเศษคือดอกซากุระพันธุ์นี้จะบานตามกิ่งที่ห้อยย้อยลงมาด้านล่างและมีอายุยืนยาว ที่จังหวัดฟุกุชิมะมีต้นซากุระพันธุ์นี้ชื่อว่า มิฮารุทากิซากุระ (Miharutaki-zakura) ซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปีแล้ว และยังสามารถพบเห็นได้มากที่จังหวัดเกียวโตเช่นในวัดไดโกะจิ (Daigoji) ส่วนในโตเกียวสามารถไปดูได้ที่สวนริคุกิเอน (Rikugi-en) ค่ะ

ของจำเป็นที่ควรเตรียมไว้เวลาไปชมดอกไม้

今さら聞けない、「お花見」の基本と豆知識

photo by pixta

สิ่งที่จะขาดไม่ได้เวลาไปชมดอกไม้ ก่อนอื่นเลยก็คือแผ่นปูสำหรับรองนั่ง เพียงแค่คุณมีแผ่นผ้าพลาสติกสีฟ้าแบบในรูปก็สบายแล้ว นอกจากจะกันน้ำแล้วยังใหญ่พอสำหรับคนจำนวนมากด้วย ลืมไม่ได้เลยนะคะ
แผ่นปูแบบนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายมากในช่วงชมซากุระเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นร้าน 100 เยน หรือร้านสะดวกซื้อในบริเวณที่ใกล้กับจุดชมซากุระบางทีก็มีขายด้วย มาหาซื้อที่ญี่ปุ่นได้ ไม่ต้องพกมาให้วุ่นวายเลยค่ะ

และแน่นอนว่าต่อไปก็เป็นการเตรียมของที่จะเอาไว้รับประทานและดื่มสังสรรค์กันในบรรยากาศแบบไปปิคนิค เพื่อความสะดวกในการแบ่งกันรับประทาน ควรจะนำจานกระดาษ แก้ว ช้อนส้อมพลาสติกหรือตะเกียบ กระดาษทิชชู่ไปด้วย และที่สำคัญคืออย่าลืมถุงเปล่าไว้เตรียมใส่ขยะด้วยนะคะ

จุดชมดอกซากุระยอดนิยมในโตเกียว

ซากุระสวนโชวะคิเน็น

จาก "20 สถานที่ชมซากุระยอดนิยมในโตเกียว"

ที่แรกที่อยากแนะนำเป็นจุดชมดอกซากุระที่มีความกว้างขวางอลังการและอยู่ใกล้กับฮาราจูกุ มีชื่อว่า สวนสาธารณะโยโยกิ (Yoyogi Park)
และอีกที่คือที่ที่สามารถดูดอกซากุระกว่า 800 ต้นบานตลอดสองแนวฟากฝั่งแม่น้ำความยาวรวม 3.8 กิโลเมตร นั่นก็คือ ซากุระริมฝั่งแม่น้ำเมกุโระ (Meguro River) นั่นเองค่ะ

ดูจุดชมซากุระอื่นๆ ในโตเกียวได้จากบทความ "รวมสถานที่ชมซากุระยอดนิยมในโตเกียว"

ประสบการณ์ชมดอกซากุระที่ญี่ปุ่น

ในช่วงที่ซากุระบานสะพรั่ง บริเวณใกล้เคียงและจุดชมซากุระมักจะมีการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ อย่างครึกครื้นราวกับงานเทศกาล และอาจจะได้มีโอกาสพูดคุยกับคนญี่ปุ่นที่มาชมซากุระได้ด้วย ถ้าใครยังไม่เคยมาเที่ยว ลองมาเที่ยวชมซากุระที่ญี่ปุ่นซักครั้งนะคะ รับรองว่าสวยงามประทับใจแน่นอนค่ะ

Written by

ライター兼翻訳者、時にマーケティング調査員の顔も。訪日旅行客向けに東京都内レストランメニューの翻訳データ・ベースの作成や、宿・ホテル情報検索サイトの翻訳も手掛けてきました。旅行と食材研究が趣味です。

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ