เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

【จ.ฮิโรชิม่า】“สวนอนุสรณ์สันติภาพ” ที่ตั้งของโดมปรมาณูมรดกโลก〜วิธีการเดินทาง・ไฮไลท์〜

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

บทความแนะนำวิธีการเดินทางและไฮไลท์ของสวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่ารวมถึง “โดมปรมาณู” มรดกโลกยูเนสโก, “พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า” สถานที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิม่า และสถานที่ไว้อาลัยผู้เสียชีวิต

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

Hiroshima Peace Memorial Park (สวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า)

Hiroshima Peace Memorial Park (สวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า) คือ สวนสาธารณะชาวเมืองที่ตั้งอยู่ภายในเขตนากะ เมืองฮิโรชิม่า จ.ฮิโรชิม่า โดยเป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นใกล้กับจุดศูนย์กลางเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945

ภายในสวนเป็นที่ตั้งของ “โดมปรมาณู” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโก, “พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า” สถานที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า และ “หอรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูแห่งชาติฮิโรชิม่า” สถานที่ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

【広島県】平和記念公園

© JNTO

นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “ป้ายเคารพสักการะวิญญาณผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู” อนุสาวรีย์ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู, “อนุสาวรีย์สันติภาพ” ที่สร้างขึ้นเพื่อไว้อาลัยเหล่าเด็ก ๆ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูรวมถึง “ซาดาโกะ ซาซากิ” ผู้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัยจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นผลกระทบจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมาก และ “ต้นอาโอกิริ” ต้นไม้วงศ์ชบาที่รอดพ้นจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูมาได้โดยไม่เฉาตายอีกด้วย

【広島県】平和記念公園

© JNTO

“ป้ายเคารพสักการะวิญญาณผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู” เป็นสถานที่จัด “Hiroshima Peace Memorial Ceremony” หรือพิธีการที่จัดขึ้นเพื่อสักการะดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในวันที่ 6 สิงหาคมของทุกปีและอธิษฐานให้สันติภาพเกิดแด่โลก

ในครั้งนี้เราก็ได้รวบรวมวิธีการเดินทาง สถานที่ และไฮไลท์ห้ามพลาดของสวนอนุสรณ์สันติภาพมาไว้ที่นี่เรียบร้อยแล้วล่ะค่ะ

ไฮไลท์ประจำสวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า

Genbaku Dome (โดมปรมาณู)

【広島県】平和記念公園

© JNTO

Genbaku Dome (โดมปรมาณู) แต่เดิมแล้วเป็นสถาปัตยกรรมที่เคยใช้เป็นสำนักงานของหน่วยงานราชการมาก่อน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกกันว่า “สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดฮิโรชิม่า” โดยเปิดทำการในปี 1915 ภายใต้การออกแบบสไตล์นีโอบารอคโดย Jan Letzel สถาปนิกชาวสาธารณรัฐเช็ก สถาปัตยกรรม 3 ชั้นสไตล์ตะวันตกสุดยิ่งใหญ่มีความแปลกตา สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดฮิโรชิม่าถึงขนาดได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ขึ้นชื่อของฮิโรชิม่าเลยทีเดียว

แต่หลังจากสถาปัตยกรรมอันงดงามทั้งหลังถูกทำลายลงไปจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในครั้งนั้นก็หลงเหลืออยู่เพียงแค่โดมตรงกลาง, โครงสร้างภายนอก และกำแพงด้านนอกเท่านั้น มีทฤษฎีกล่าวว่าสาเหตุที่อาคารบริเวณโดยรอบเกือบทั้งหมดพังทลายหายไปจากลมระเบิดยกเว้นโดมปรมาณูแห่งนี้ก็เพราะว่าเกิดระเบิดขึ้นเกือบตรงกลางนี้พอดี ต่อมาในปี 1996 ที่นี่ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโกไปในที่สุด

Hiroshima Peace Memorial Museum (พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า)

“พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า” แห่งนี้ประกอบด้วยอาคารหลักและอาคารฝั่งตะวันออกทั้งหมด 2 ส่วน อาคารหลักเป็นสถานที่จัดแสดงข้อมูลถ่ายทอดโศกนาฏกรรมจากระเบิดปรมาณู เช่น กระเบื้องที่ละลายจากลมร้อนและเสื้อผ้าที่ขาดรุ่งริ่ง ส่วนอาคารฝั่งตะวันออกเป็นสถานที่จัดแสดงโดยใช้เทคนิคพิเศษอันทันสมัย เช่น CG จำลองภาพเหตุการณ์การบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า

※ อาคารหลักอยู่ในระหว่างการบูรณะปรับปรุงใหม่ โดยมีแผนเปิดโฉมใหม่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2018

Hiroshima National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims (หอรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูแห่งชาติฮิโรชิม่า)

“หอรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูแห่งชาติฮิโรชิม่า” คือ สถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูและเผยแพร่ประสบการณ์การประสบเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูของผู้เสียหาย

Next Page ในหน้าถัดไป เราจะมาแนะนำข้อมูลพื้นฐานของสวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า (เช่น เวลาทำการ) กันค่ะ!

Written by

Previous experience as an editor at a women's media company in Japan. I lived in Australia for a while and joined MATCHA after returning to Japan. In charge of editing, promoting sponsored content, and creative direction. I love watching Western TV series.
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง