Start planning your trip
ถุงร้อนไคโระ 5 แบบ อย่าให้ความหนาวมาเป็นอุปสรรคในการช้อปและเที่ยว!
ใครเคยใช้ถุงร้อนไคโระกันบ้าง แบบที่เห็นบ่อยๆ ก็คือแบบธรรมดากับแบบแปะ แต่เวลาจะซื้อก็งงทุกทีไม่รู้ต้องดูตรงไหน คราวนี้ขอแนะนำถุงร้อน 5 แบบที่เหมาะจะใช้เวลามาเที่ยวญี่ปุ่นช่วงฤดูหนาว
การเที่ยวญี่ปุ่นในฤดูหนาวน่าจะเป็นอะไรที่ทุกคนอยากไปไม่แพ้ช่วงซากุระหรือใบไม้เปลี่ยนสีเลย ไปแช่ออนเซ็นกลางแจ้งที่รอบตัวเป็นวิวหิมะ ดูไฟประดับอิลลูมิเนชั่นสวยๆ เดินดูประติมากรรมน้ำแข็งที่งานเทศกาลหิมะซัปโปโร หรือสายสปอร์ตก็ต้องไปเล่นสกี
แค่ได้จินตนาการถึงการไปเดินเล่นสวยๆ ถ่ายรูปท่ามกลางหิมะสีขาวก็สนุกแล้ว แต่เอาเข้าจริงมีใครเป็นอย่างนี้บ้างมั๊ย อยากถ่ายรูปก็อยาก อยากช้อปปิ้งก็อยาก แต่มันหนาวจนเดินไม่ไหว!
อากาศในฤดูหนาวของญี่ปุ่นโดยเฉพาะจังหวัดทางตอนเหนืออย่างภูมิภาคโทโฮคุและฮอกไกโดจะหนาวมาก แม้แต่คนญี่ปุ่นยังต้องมีตัวช่วยเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นเลย แล้วคนจากเมืองร้อนอย่างคนไทยเราจะไปตัวเปล่าก็ใช่เรื่องอยู่ มาดูกันดีกว่าว่าคนญี่ปุ่นมีตัวช่วยอะไร
ถุงร้อนไคโระ
หลายคนอาจเคยใช้กระเป๋าน้ำร้อนที่เป็นยางหนาๆ ใส่น้ำร้อนได้เพื่อให้ความอบอุ่นและช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ... หลายคนทำหน้างง?! อย่าบอกนะว่าไม่รู้จักกันแล้ว!
แต่เดิมญี่ปุ่นก็ใช้กระเป๋าน้ำร้อนเหมือนกัน แต่ต้องมาคอยเติมน้ำร้อน พกพาออกไปข้างนอกก็ไม่สะดวก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนาถุงร้อนแบบพกพาขึ้นมาเรียกว่าไคโระ
ถุงร้อนไคโระ เป็นถุงแบนๆ น้ำหนักเบา พกพาสะดวก แกะออกจากห่อแล้วก็ร้อนได้ด้วยตัวเองไม่ต้องไปหาน้ำร้อนมาเติม ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งได้เลย
ในญี่ปุ่นมีถุงร้อนขายอยู่ทั่วไปตามร้านขายยา คมบินิ (ร้านสะดวกซื้อ) ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก่อนจะซื้อก็มีจุดที่ต้องระวังอยู่อย่างหนึ่งคือคำว่า "ฮารุ" เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 貼る หรือ はる แปลว่า "ติด, แปะ"
คำว่า "ฮารุ" 貼る พร้อมรูปประกอบเหมือนการลอกสติกเกอร์ ของไคโระแบบแปะติดเสื้อผ้า
ไคโระแบบแปะนี้จะมีด้านหนึ่งเป็นกาวความเหนียวต่ำ เอาไว้แปะที่เสื้อผ้าเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ถ้าอยากได้แบบนี้ก็ให้หาแบบที่มีคำว่า "ฮารุ" บนแพ็คเกจ บางยี่ห้อก็จะมีรูปประกอบเหมือนการลอกแผ่นสติกเกอร์ให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น
ไคโระแบบธรรมดา เอาไว้ถือพกให้มืออุ่น จะไม่มีกาวเลย บนแพ็คเกจจะเขียนคำว่า "ฮาราไน่" เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 貼らない หรือ はらない แปลว่า "ไม่ติด, ไม่แปะ"
วิธีใช้ถุงร้อนแบบต่างๆ
ถึงจะมีหลายยี่ห้อ หลายแพ็คเกจให้เลือก แต่หน้าที่และการทำงานก็เหมือนกันหมดคือ เมื่อสัมผัสกับอากาศจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้วัสดุในถุงร้อนขึ้นมา เพราะงั้นถ้ายังไม่ใช้ก็อย่าเพิ่งแกะออกมาจากซองนะ
ครั้งนี้ขอแนะนำถุงร้อน 5 แบบที่อยากให้ทุกคนได้ลองใช้กัน
1. แบบมาตรฐาน ถุงร้อนแบบไม่แปะ
ถุงร้อนแบบมาตรฐาน ไม่มีกาว มาเป็นห่อเล็กๆ วิธีใช้คือแกะออกจากซองพลาสติกแล้วเขย่าแค่ 4 - 5 ครั้ง ไคโระจะค่อยๆ เริ่มอุ่นขึ้นมาเอง เอาไว้ถือหรือใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อนอกแล้วเอามือใส่เข้าไปข้างใน ช่วยได้มากเวลาไม่ได้พกถุงมือ แนะนำนิดนึงว่าการเขย่าขยำถุงร้อนบ่อยๆ ไม่ช่วยให้ร้อนมากขึ้น กลับกันผงวัสดุด้านในจะไปอุดตันตามรูระบายอากาศ กลายเป็นทำงานได้ไม่เต็มที่แทนนะ
หลังๆ มามีการทำไซส์มินิออกมาด้วย (เขียนว่า ミニ) ขนาดจะเล็กประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดปกติ หลายคนชอบเอาไว้ใส่ในถุงมืออีกที
ขนาดปกติจะให้ความร้อนประมาณ 20 ชั่วโมง ขนาดมินิประมาณ 10 ชั่วโมง
2. ถุงร้อนแบบแปะเสื้อผ้า
แบบแปะเสื้อผ้าจะเอาไว้ให้ความอุ่นตามร่างกาย หลังแกะออกจากซองพลาสติก ด้านที่มีกาวจะถูกแปะไว้ด้วยกระดาษ ให้ลอกออกแล้วเอาด้านกาวแปะบนเสื้อผ้าได้เลย
ข้อห้ามคือห้ามแปะให้สัมผัสกับผิวโดยตรง เพราะด้านที่เป็นกาวจะมีความร้อนสะสมมาก หรือการสัมผัสผิวโดยตรงนานๆ อาจะทำให้ผิวระคายเคืองและไหม้ได้ ถ้าใส่เสื้อแค่ตัวเดียวก็ต้องแปะไว้ด้านนอกของเสื้อ ถ้ามีเสื้อนอกก็แปะลงด้านในของเสื้อนอก
อีกอย่างคือเวลานอนห้ามใช้ไคโระ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเวลานอนเราจะไม่ได้ขยับเขยื้อนตัว ไคโระจะเกิดความร้อนสะสมในบริเวณเดียวกันเป็นเวลานานจนทำให้ผิวไหม้ได้
ไคโระแบบแปะจะให้ความร้อนประมาณ 12 ชั่วโมง
3. ถึงเป็นเท้าก็หนาวได้เหมือนกัน ถุงร้อนสำหรับเท้า
ไคโระสำหรับเท้าโดยเฉพาะถือเป็นสินค้ารุ่นใหม่เพิ่งมีไม่นานมานี้ แต่ก่อนก็ใช้ถุงร้อนแบบแปะธรรมดามาใส่รองเท้ากันบ้างแต่ขนาดมันก็ไม่พอดี เดินไม่สะดวก
ไคโระสำหรับเท้าจะมี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบแปะที่ถุงเท้า และแบบใส่ในรองเท้า
แบบแปะที่ถุงเท้าก็คล้ายๆ กับไคโระแบบแปะทั่วไป แต่จะทำรูปร่างให้สอดรับกับรูปเท้า แปะแล้วไม่รู้สึกขัดเวลาเดิน แนะนำให้แปะที่ถุงเท้า ห้ามแปะลงบนเท้าโดยตรง
แบบใส่ในรองเท้า (แบบในรูป) ก็มีแยกออกมาเป็น 2 รุ่น คือแบบเต็มเท้า กับแบบครึ่งเท้าด้านหน้า เวลาใช้ให้หันด้านที่เป็นวัสดุกันลื่นแปะบนรองเท้า แนะนำให้ใส่ถุงเท้าก่อนสวมรองเท้าเหมือนกัน
วิธีแยกแยะระหว่างไคโระแบบแปะถุงเท้าและแบบใส่ในรองเท้าก็ให้ดูที่แพ็คเกจได้เลย ส่วนใหญ่จะมีรูปถุงเท้าหรือรองเท้าให้เห็นได้ชัดเจน
ไคโระแบบนี้ส่วนใหญ่จะให้ความร้อนประมาณ 5 ชั่วโมง
4. แผ่นร้อนคลายปวดเมื่อยร่างกาย
แผ่นร้อนสำหรับคลายความปวดเมื่อยตามร่างกายสามารถแปะลงบนผิวได้โดยตรง แผ่นร้อนประเภทนี้ไม่มีการผสมตัวยาใดๆ เพราะงั้นก็สามารถนำมาใช้สำหรับทำให้ร่างกายอบอุ่นไปในตัวได้ด้วย
แผ่นร้อนแบบนี้จะมีอุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียส ให้ความร้อนยาวนานประมาณ 5 - 8 ชั่วโมง
5. คืนความสดชื่นให้กับสายตาที่เหนื่อยล้าด้วยมาสก์อุ่นตา
มาสก์สำหรับอุ่นดวงตานี้จะมาในรูปแบบเหมือนผ้าปิดตา ใช้เมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ที่อยากพักผ่อนสายตา ไม่ว่าจะก่อนนอนหรือระหว่างเดินทางไกลบนรถหรือเครื่องบิน
มาสก์อุ่นตาจะให้ความร้อนประมาณ 10 นาที
เที่ยวให้สนุกไม่กลัวหนาวด้วยถุงร้อนไคโระ
นี่แค่ถุงร้อนไคโระแบบธรรมดาเท่านั้นนะ ยังมีอีกสารพัดแบบให้เลือกเลย ใครยังไม่เคยใช้ก็แนะนำให้ลองใช้กันดู แล้วคราวนี้ความหนาวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเที่ยวและช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่นของเราอีกแล้ว!
เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่น!
- ค้นหาและซื้อตั๋วรถไฟกับกิจกรรมต่างๆ ที่ KLOOK
- ซื้อตั๋วเจอาร์พาสประเภทต่างๆ ที่ KLOOK
- ค้นหาและจองที่พักกับ Booking.com
เกิดที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และที่โตเกียวตั้งแต่ปี 2008 ฉันใช้ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่
ฉันเป็นแม่ของแมว 3 ตัว สิ่งที่ฉันชอบรวมถึงเพลงร็อคยุค 90, มวยสากล, ประวัติศาสตร์, ช็อกโกแลตและของหวาน, รสชาติเปสตาชิโอในอะไรก็ตาม, แมว, ค้างคาว, มังกร, แวมไพร์, และสิ่งที่น่ารักทุกอย่าง
ฉันชื่นชอบนักเขียนอาน ไรซ์ และวงดนตรี LUNA SEA
ฉันแนะนำหนัง "คริสต์มาสในสนามรบ" ที่มีเดวิด โบวีและซา카โมโตะ รยุอิ ร่วมแสดงครับ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง