Unseen Japan สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งฤดูหนาวของเมืองมัตสึโมโตะ 2 วัน 1 คืน

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "ไคโระ" ถุงร้อนจิ๋วแต่แจ๋ว

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ไคโระ ถุงร้อนตัวจิ๋วแต่คุณประโยชน์แจ๋ว ตัวช่วยที่จะทำให้การเที่ยวญี่ปุ่นในหน้าหนาวของเราเป็นไปอย่างอบอุ่น

บทความโดย

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

more

ไคโระ (Kairo : カイロ) เป็นอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายโดยการใส่ของเหลวหรือผงให้ความร้อนไว้ในภาชนะสำหรับพกพา คำนี้เขียนด้วยตัวอักษรคันจิว่า 懐炉 ตัวอักษร 懐 แปลว่าบริเวณอกเสื้อของชุดกิโมโน 炉 แปลว่า เตาไฟ เพราะแต่ก่อนมักจะใส่กล่องหรือถุงทำความร้อนเอาไว้บริเวณอกของชุดกิโมโนนั่นเอง

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น

ประวัติความเป็นมาของไคโระ

ราวศตวรรษที่ 17 - 18 ผู้คนนำเอาหิน ทรายหรือเกลือไปอุ่นให้ร้อน ห่อหุ้มด้วยผ้า แล้วนำไปใส่บริเวณอกเสื้อเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ไม่นานจากนั้นก็มีการนำเอาถ่านไม้มาผสมแล้วเปลี่ยนไปใส่ในภาชนะที่ทำจากโลหะแทน เกิดเป็นไคโระชนิดถ่านขึ้นมา

พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ก็มีการคิดค้นฮะคุคินไคโระ (ไคโระแพลตินั่ม) ที่อาศัยความร้อนจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำมันเบนซินและแพลตินั่ม แต่ก็มีความร้อนสูงมากจึงต้องใช้ผ้าหุ้มอีกชั้นระหว่างใช้ มีผู้ผลิตหลายรายเลยที่ผลิตสินค้านี้ออกขาย ไคโระเลยเป็นที่แพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว

กำเนิดไคโระชนิดใช้แล้วทิ้ง

หลังปี 1975 ไคโระชนิดใช้แล้วทิ้งก็ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำหนักเบา ใช้ง่าย จึงกลายเป็นสินค้ายอดฮิตจนถึงปัจจุบัน การทำงานของถุงร้อนไคโระคือเมื่อสัมผัสกับอากาศ วัสดุด้านในจะทำปฏิกิริยาและปล่อยความร้อนออกมา เพราะงั้นถ้ายังไม่ใช้ก็ห้ามเปิดซองพลาสติกเด็ดขาดนะ

ไคโระชนิดใช้แล้วทิ้งมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ ชนิดธรรมดาสำหรับถือพกพาใส่ในกระเป๋าเสื้อ - กางเกง และชนิดสำหรับแปะเข้ากับเสื้อผ้า นอกจากนี้ก็มีไคโระสำหรับเท้าที่ออกแบบมาให้เข้ากับรูปเท้าโดยเฉพาะด้วย ส่วนใหญ่จะปล่อยความร้อนประมาณ 50 -68 องศาเซลเซียส ไคโระชนิดธรรมดาจะให้ความร้อนประมาณ 18 - 20 ชั่วโมง ไคโระแบบแปะประมาณ 12 - 14 ชั่วโมง เหเมาะสำหรับใช้เวลาไปเที่ยวในหน้าหนาวมากค่ะ

วิธีการใช้ไคโระชนิดแปะ

ไคโระชนิดแปะจะสะดวกตรงที่สามารถให้ความอบอุ่นได้ตรงจุดที่ต้องการ ว่ากันว่าถ้าแปะไว้ตรงบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นได้ทั่วตัว และยังช่วยเรื่องอาการปวดเอว และบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนด้วย

ให้แปะด้านกาวลงบนเสื้อผ้าในส่วนที่เราต้องการได้เลย หลังจากแปะไปประมาณ 5 นาทีไคโระจะค่อยๆ อุ่นขึ้นทีละนิดโดยไม่ต้องขยำใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อควรระวังคือห้ามแปะบนผิวหรือหันไคโระให้สัมผัสกับผิวโดยตรงเด็ดขาด เพราะความร้อนสะสมเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือเกิดแผลไหม้ได้ และถ้าความร้อนของไคโระหมดเมื่อไหร่ก็ควรรีบลอกออกจากเสื้อผ้าทันที เพราะถ้าเย็นตัวมากยิ่งลอกออกยากค่ะ

สำหรับไคโระชนิดธรรมดาไม่มีกาว หลังจากแกะออกจากซองแล้วให้เขย่าประมาณ 4 - 5 ครั้ง แล้วไคโระจะค่อยๆ อุ่นขึ้นเอง การขยำมากๆ บ่อยๆ ไม่ช่วยให้ร้อนมากขึ้น กลับกันผงด้านในจะไปอุดตันตามรูอากาศ กลายเป็นส่งความร้อนได้ไม่เต็มที่ไปแทน

หนาวแค่ไหนก็ไหวด้วยถุงร้อนไคโระ

ญี่ปุ่นในฤดูหนาวจะมีงานประดับไฟอิลลูมิเนชั่นกลางแจ้งสวยๆ ให้ดูหลายที่เลย เหมาะจะไปถ่ายรูปมาก ถ้าพกถุงร้อนไคโระไปด้วยก็จะช่วยให้เดินเที่ยวดูไฟถ่ายรูปได้แบบสบายๆ แน่นอนค่ะ ลองหาซื้อถุงร้อนไคโระไว้คลายหนาวตามร้านขายยา คมบินิ (ร้านสะดวกซื้อ) ซูเปอร์มาร์เก็ตกันได้เลยค่ะ

บทความโดย

MATCHA

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ