Start planning your trip

สนามกีฬาที่ระลึกการพื้นฟูในคามาอิชิ (Kamaishi Recovery Memorial Stadium) จังหวัดอิวาเตะ สนามแข่งขันรักบี้เวิลด์คัพที่เล็กที่สุดในญี่ปุ่น แต่กำลังใจและความมุ่งมั่นของชาวเมืองที่สนับสนุนนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ใดๆ แน่นอน
การจัด World Rugby Pacific Nations Cup 2019 ที่ สนามกีฬาที่ระลึกการพื้นฟูในคามาอิชิ (Kamaishi Recovery Memorial Stadium) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2019
การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก Rugby World Cup™ Japan 2019 (RWC) เทศกาลที่แฟนรักบี้รอคอยทุกสี่ปีได้เปิดฉากไปเมื่อเดือนกันยายน 2019
สถานที่จัดการแข่งขันคือสนามกีฬาใน 12 เมืองทั่วประเทศญี่ปุ่น สนามกีฬาตามเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โยโกฮาม่า และโอซาก้า เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่จุคนได้ตั้งแต่ 20,000 ถึง 72,000 คน แต่ที่เมืองชายขอบของภูมิภาคโทโฮคุ มีสนามกีฬาที่เล็กกว่าแห่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด
สนามกีฬาที่ระลึกการพื้นฟูในคามาอิชิ (Kamaishi Recovery Memorial Stadium) ในจังหวัดอิวาเตะ คือสนามแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกที่เล็กที่สุดในญี่ปุ่น จุคนได้ราว 16,000 คน
ชาวเมืองบอกกับหนึ่งในบรรณาธิการ MATCHA ที่ไปเยี่ยมชมสนามกีฬานี้ว่า "ถึงจะขนาดเล็ก แต่สนามนี้ก็เยี่ยมไม่แพ้ที่อื่นเลยนะ"
Unosumai District Photo by Pixta
ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 อำเภออุโนซุมาอิ (Unosumai) ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามกีฬาแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิมากที่สุดในเมืองคามาอิชิ สนามกีฬาตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของโรงเรียนประถมและมัธยมต้นที่ประสบภัย
ตอนที่สึนามิกลืนอาคารโรงเรียน 3 ชั้น นักเรียนกว่า 600 คนในโรงเรียนจับมือกันอพยพไปยังเนินสูงและรอดชีวิตมาได้อย่างปลอดภัย นี่คือเรื่องจริงที่ภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อ ปาฏิหาริย์แห่งคามาอิชิ (Miracle of Kamaishi)
สนามกีฬาขณะกำลังก่อสร้าง Photo by Pixta
ซากโรงเรียนประถมและมัธยมต้นถูกรื้อทิ้งกลายเป็นที่ดินว่างเปล่า แต่หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูเมือง ด้วยการสร้างสนามกีฬารักบี้สำหรับจัดการแข่งขัน RWC 2019 บางคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องเป็นรักบี้ ทำไมไม่เป็นกีฬาประเภทอื่นล่ะ
เหตุผลนั้นเราสามารถย้อนไปดูได้จากประวัติศาสตร์ของเมืองคามาอิชิที่มีความเกี่ยวข้องกับรักบี้มาอย่างยาวนาน
Nippon Steel Corporation Kamaishi Rugby Football Club. Picture courtesy of Iwate Prefecture
คุณซาโต ยูซุเกะ (Sato Yusuke) จากสำนักงานส่งเสริมการแข่งขัน RWC 2019 จังหวัดอิวาเตะกล่าวว่า "คามาอิชิเป็นเมืองแห่งรักบี้"
"ปี 1959 กลุ่มธุรกิจในคามาอิชิได้ก่อตั้ง นิปปอนสตีลคามาอิชิรักบี้คลับ* (Nippon Steel Corporation Kamaishi Rugby Football Club) จากนั้นในปี 1970-80 ทีมสามารถคว้าชัยชนะติดต่อกัน 7 ครั้งจากการแข่งขันทั่วประเทศรุ่นบุคคลทั่วไปและการแข่งขันชิงแชมป์ญี่ปุ่น กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากจนได้รับการขนานนามว่าไอรอนแมนแห่งแดนเหนือ (Ironmen of the North)"
ความแข็งแกร่งของทีมนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวเมืองทุกคน หลังจากนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อทีมเป็น Kamaishi Seawaves RFC หลังเกิดแผ่นดินไหวทางทีมก็นำผู้คนร่วมทำกิจกรรมฟื้นฟูในทันที ช่วยขนและแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ เคลื่อนย้ายซากปรักหักพัง สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้คนในท้องถิ่น
"หลังภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ก็มีการพูดคุยกันขึ้นมาเรื่องการฟื้นฟูเมืองแห่งรักบี้ หนึ่งในนั้นคือการสร้างสนามแข่งขันแห่งใหม่บนที่ดินว่างเปล่าที่ประสบภัยพิบัติ และเชิญให้มาจัดการแข่งขัน RWC"
* ชื่อในตอนที่ก่อตั้งคือ Fuji Iron & Steel Kamaishi Rugby Club ปัจจุบันคือ Kamaishi Seawaves RFC
ปี 2015 บรรยากาศขณะที่คามาอิชิได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในสถานที่การจัดการแข่งขัน RWC Picture courtesy of Iwate Prefecture
เมืองคามาอิชิร่วมกับจังหวัดอิวาเตะลงสมัครเป็นเมืองจัดการแข่งขัน RWC 2019 และในปี 2015 ก็ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานอย่างเป็นทางการ แต่เมืองนี้มีประชากรเพียง 35,000 คน จึงเป็นงานท้าทายสำหรับเมืองเล็กๆ ที่ต้องสร้างสนามกีฬาขนาดความจุ 16,000 คน เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งเมือง
Yuta Nakano, the captain of the Kamaishi Seawaves RFC
หลังผลคัดเลือกสนามแข่งประกาศออกมา ก็มีเสียงชาวเมืองพูดว่า "ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมาจัดการแข่งขันรักบี้ ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเมืองก่อน" เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากงบประมาณของเมืองและจังหวัดแล้วยังมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลทำให้สนามกีฬาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และกระแสลมก็เริ่มเปลี่ยนทิศ
นาคาโนะ ยูตะ (Yuta Nakano) กัปตันทีม Kamaishi Seawaves RFC กล่าวว่า "เริ่มมีเสียงตอบรับที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า 'การแข่งขัน RWC นี้อาจช่วยเผยแพร่การฟื้นฟูเมืองให้โลกได้รับรู้' ผมเองก็รอคอยที่จะได้เห็นผู้คนจากทั่วโลกมาเยือนเมืองของเรา"
หนึ่งในชาวเมืองผู้ดีใจที่มีการจัดแข่งขัน RWC 2019 ที่ Tsunami Memorial Hall
นาคาโนะ ยูตะกล่าวว่าสนาม Kamaishi Recovery Memorial Stadium แห่งนี้มีสิ่งหนึ่งที่แข็งแกร่งไม่แพ้ที่ใดๆ
"สนามกีฬาแห่งนี้เต็มไปด้วยกำลังใจครับ ไม่ใช่แค่รักบี้เท่านั้น แต่ทุกคนยังสามารถเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการป้องกันภัยพิบัติได้ที่ Tsunami Memorial Hall ตรงสถานีอุโนซุมาอิใกล้สนามกีฬา พวกเราอยากให้ทุกคนได้เห็นความพยายามของชาวเมืองในการฟื้นฟูเมืองแห่งนี้ แน่นอนว่ายังมีธรรมชาติสวยๆ และอาหารอร่อยๆ ของเมืองคามาอิชิด้วยครับ"
World Rugby Pacific Nations Cup 2019 ที่ Kamaishi Recovery Memorial Stadium ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2019
ตารางการแข่งขัน RWC ที่ Kamaishi Recovery Memorial Stadium มี 2 นัดคือ
คู่ที่ 1 : วันที่ 25 กันยายน 2019 เวลา 14: 15 Fiji VS Uruguay
คู่ที่ 2: วันที่ 13 ตุลาคม 2019 เวลา 12: 15 Namibia VS Canada
การแข่งขันคู่ที่ 1 ได้รับการตอบรับจากแฟนๆ เป็นอย่างดี ระยะห่างระหว่างที่นั่งและสนามแข่งก็น้อยทำให้ดูการแข่งขันได้อย่างใกล้ชิด น่าเสียดายที่มีพยากรณ์ว่าพายุหมายเลข 19 จะพัดผ่านมาทางเมืองพอดี จึงต้องยกเลิกกำหนดการแข่งขันคู่ที่ 2 ไปเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย และการแข่งขัน RWC ก็จบลงในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2019 โดยทีมชนะเลิศคือทีมจากแอฟริกาใต้
สำหรับสนามกีฬา Kamaishi Recovery Memorial Stadium จะถูกใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาและทำกิจกรรมต่างๆ ในเมืองต่อไป
จากนี้อาจมีกิจกรรมที่ทุกคนสนใจแล้วอยากจะลองแวะไปเยือนที่ Kamaishi Recovery Memorial Stadium ลองมาดูข้อมูลการเดินทางกันก่อนได้ค่ะ
การเดินทางจากสถานีโตเกียว (Tokyo) หรือสถานีอิเคบุคุโระ (Ikebukuro) ไปยังสนามกีฬามีรายละเอียดดังนี้ (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2019)
1. เดินทางโดยรถไฟชินคันเซ็นสายโทโฮคุ (Tohoku Shinkansen) จากสถานี Tokyo ไปยังสถานีชินฮานามาคิ (Shin Hanamaki) เปลี่ยนเป็นรถไฟ JR สายคามาอิชิ (JR Kamaishi) และมุ่งหน้าไปยังสถานีคามาอิชิ (Kamaishi) ใช้เวลาเดินทางราว 5 ชั่วโมง 30 นาที
2. เดินทางโดยรถบัสด่วนกลางคืนสายโทโนะ-คามาอิชิ (Tohno-Kamaishi) จากสถานี Ikebukuro ไปสถานี Kamaishi ใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง ราคา 9,200-10,700 เยน (แตกต่างตามเวลาและประเภทที่นั่ง)
เว็บไซต์ทางการของรถบัสด่วนสายโทโนะ-คามิอิชิ : http://www.iwatekenkotsu.co.jp/tonokamaisi.html(ภาษาญี่ปุ่น)
จากสถานี Kamaishi นั่งรถไฟสาย Sanriku Railway Rias Line ไปลงที่สถานี Unosumai ใช้เวลา 12 นาที ราคา 310 เยน
สนามกีฬาเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยกำลังใจมากมายแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรค จากนี้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าเมืองจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าทุกคนร่วมใจกัน เชื่อว่าไม่มีอุปสรรคไหนจะยากเกินข้ามไหวแน่นอน
สำหรับการเดินทางจากโตเกียว สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดอิวาเตะ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวรอบเมืองคามาอิชิ ลองดูได้จากบทความด้านล่างนี้ค่ะ
บทความโดย