Start planning your trip
รีวิวอิจิรันราเม็งในชาม 8 เหลี่ยม สาขาใหม่อาซากุสะรกคุ (ICHIRAN Asakusa Rokku)
อิจิรัน (ICHIRAN) ต้นตำรับราเม็งข้อสอบของญี่ปุ่นเปิดสาขาใหม่แล้ว สาขาอาซากุสะรกคุ สาขานี้พิเศษตรงชามรูป 8 เหลี่ยม แต่ความอร่อยรับประกันได้ว่าไม่เปลี่ยนแน่นอน! MATCHA ขอรีวิวให้ดูกันเป็นที่แรกเลย!
ICHIRAN อิจิรัน ราเม็งข้อสอบสาขาใหม่ อาซากุสะรกคุ
อิจิรัน (ICHIRAN) ทงคตสึราเม็งซุปกระดูกหมูสไตล์ฟุกุโอกะชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อราเม็งข้อสอบ คราวนี้เค้าได้ฤกษ์เปิดสาขาใหม่ที่อาซากุสะ ถือเป็นสาขาที่สองในย่านนี้ MATCHA มีโอกาสได้ไปร่วมชมและชิมมาถึงที่ในรอบสื่อ เลยขอมารีวิวตั้งแต่ตัวร้านจนถึงราเม็งให้ทุกคนได้ดูกันก่อนใครเลย
สาขาใหม่นี้ใช้ชื่อสาขาว่า สาขาอาซากุสะรกคุ (Asakusa Rokku) ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับร้านดองกีโฮเต้สาขาอาซากุสะนี่เอง ให้เดินตามถนนกว้างด้านหน้าดองกีโฮเต้ไปทางตึก Marugoto Nippon จะเห็นป้ายร้านอยู่บนชั้น 2 ของตึกตรงหัวมุมทางขวาพอดี จุดสังเกตคือร้านลอว์สัน (LAWSON) ที่ชั้นล่าง
บันไดทางเข้าร้านจะอยู่ที่ประตูข้างร้านลอว์สันที่ลูกศรชี้ในรูป แต่ถ้าใครมีผู้ใหญ่ที่เดินไม่สะดวกหรือนั่งรถเข็นก็สามารถใช้ลิฟต์จากประตูด้านขวาในรูปได้
ตรงบันไดตบแต่งลวดลายสิ่งของที่มีความหมายมงคลต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งลวดลายเหล่านี้จะไปปรากฏอยู่บนชามราเม็งด้วย
ขึ้นไปจนสุดก็จะถึงทางเข้าตัวร้านที่มีโลโก้อิจิรันพร้อมพื้นหลังรูป 8 เหลี่ยม บอกเลยว่าสาขานี้เต็มไปด้วยรูป 8 เหลี่ยมจริงๆ
เข้าประตูมาจะเจอกับตู้อัตโนมัติ ถัดไปด้านในมีของเล่นประดับเต็มผนัง เค้าบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากงานเทศกาลที่เต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคัก
ใครที่เคยมาทานอิจิรันแล้วน่าจะจำได้ แต่ขอบอกเผื่อสำหรับใครที่มาเป็นครั้งแรกละกันว่าของอิจิรันเนี่ยเค้าขายเมนูเดียวเลยคือราเม็งแบบซุปกระดูกหมู หรือภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่าทงคตสึราเม็ง (Tonkotsu Ramen) เพราะงั้นไม่ต้องกลัวว่าจะเลือกไม่ถูกว่าจะเอารสไหนยังไงดี
เมนูแนะนำของทางร้านคือเมนูแรกสุด ICHIRAN Select 5 เป็นราเม็งหนึ่งชาม มาพร้อมกับเครื่องต่างหากอีก 5 อย่าง (ไข่ยางมะตูม สาหร่ายแผ่น เห็ดหูหนู หมูชาชู และ ต้นหอมสับ) ราคา 1,580 เยน ถ้าจะเอาแค่ราเม็งเฉยๆ ก็เลือกเมนู Ramen ที่อยู่ถัดลงมาด้านล่าง ราคา 980 เยน
ถ้าอยากได้เครื่องอย่างอื่น ขนมหวาน หรือน้ำชาแบบขวดเพิ่มก็ซื้อจากตรงตู้ได้ทันที หรือจะไปจดใส่กระดาษตรงที่นั่งเอาทีหลังก็ได้
ซื้อเสร็จก็ดูตรงผังที่นั่ง เค้าจะมีบอกที่นั่งว่างด้วยไฟสีเขียวพร้อมหมายเลขกำกับไว้ ว่างตรงไหนก็ไปนั่งตรงนั้นได้เลย
ที่นั่งแบบเคาน์เตอร์ตามสไตล์อิจิรัน มีชื่อเรียกด้วยว่า อาจิชูจูเคาน์เตอร์ (味集中カウンター) แปลว่าที่นั่งเคาน์เตอร์สำหรับจดจ่อกับรสชาติ
ความเป็นมาของการแบ่งที่นั่งแบบนี้คือประสบการณ์ตรงของผู้ก่อตั้งอิจิรัน ซึ่งเคยเห็นผู้หญิงเอามือป้องปากเพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็นเวลาทานข้าว และมักรู้สึกอายที่จะต้องเข้าร้านราเม็งรวมถึงเวลาอยากสั่งเส้นเพิ่ม จึงได้ออกแบบที่นั่งที่มีที่กั้นล้อมรอบทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นนอกจากรสชาติของราเม็งเบื้องหน้า
เดินเข้าไปจนสุดก็ยังมีที่นั่งอีก รวมทั้งหมด 24 ที่นั่ง มีโคมไฟสีแดงดวงใหญ่ประดับด้วย เห็นแล้วนึกถึงโคมยักษ์ตรงวัดเซ็นโซจิเลย เหนือที่นั่งจะทำเป็นหลังคาเล็กๆ อิงตามสไตล์ร้านยะไต ร้านรถเข็นขายอาหารที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดฟุกุโอกะ เพราะอิจิรันก็มาจากฟุกุโอกะเหมือนกัน
ตามผนังและบนเคาน์เตอร์จะเห็นร่องรอยเก่าๆ เหมือนร้านเปิดมานานแล้ว อันนี้เค้าก็ตั้งใจตบแต่งให้เป็นอย่างนั้นโดยเฉพาะ
ป้ายตัวเลขบอกที่นั่งก็ยังเป็นรูป 8 เหลี่ยม
ทางร้านมีเอาชามมาเปรียบเทียบให้ดูด้วย ด้านซ้ายคือชาม 8 เหลี่ยมพิเศษเฉพาะสาขาอาซากุสะ รกคุ ส่วนชามขวาคือชามกลมปกติของสาขาทั่วไป
กริ๊งๆๆ สัญญาณทำข้อสอบดังขึ้นแล้ว!
เมื่อมาถึงที่นั่งก็ได้เวลาทำข้อสอบ ในใบจะมีภาษาอังกฤษเขียนไว้ให้ด้วย มีให้เลือกตั้งแต่รสชาติซุป ความเข้มข้นของซุป ปริมาณกระเทียม ต้นหอม ฯลฯ ถ้าเลือกไม่ถูกเค้าก็มีวงกลมเส้นประเอาไว้ให้เป็นตัวช่วย วงตามเส้นประไปเลยจะได้ราเม็งรสชาติแบบกลมกล่อมกำลังดี
หลังจากทานอิจิรันมาหลายครั้ง ก็สรุปได้ว่าความเผ็ดระดับ 10 นี่แหละมันถึงจะสะใจ
ถ้าซื้อคูปองของหวานตั้งแต่แรก พนักงานจะเอาถาดมาวางไว้ให้ก่อนเลย อยากทานเมื่อไหร่ค่อยเอาถาดนี้ไปวางบนปุ่มสีแดงพนักงานก็จะยกมาเสิร์ฟให้
ส่วนคนที่ไม่ได้ซื้อคูปองตั้งแต่แรกก็มาเขียนสั่งเอาจากกระดาษที่เสียบอยู่ด้านข้างนี้ มีภาษาอังกฤษเหมือนกัน
ได้เวลาลิ้มรสราเม็งกับซุปกระดูกหมูเข้มข้น
เสียงพนักงานมายืนตรงหน้าม่านพร้อมพูดว่า โอมาตาเสะชิมาชิตะ ขอโทษที่ทำให้รอ จากนั้นม่านก็เปิดขึ้นพร้อมชามราเม็ง 8 เหลี่ยม และเพิ่มเมนูเคียง หมูชาชูย่าง (Smoke-Flavored Stewed Pork)
ชามราเม็งรูป 8 เหลี่ยมพิเศษเฉพาะสาขาอาซากุสะ รกคุ บนขอบชามมีลวดลายประตูคามินาริมงของวัดเซ็นโซจิ แล้วก็รูปใบไผ่ ต้นสน ดอกบ๊วย และสัญลักษณ์อื่นๆ ที่สื่อถึงความมงคลและโชคดีของญี่ปุ่น ชามรูป 8 เหลี่ยมนี้ก็มีความหมายอีกเหมือนกัน เพราะเลข 8 ถือเป็นเลขนำโชคของชาวญี่ปุ่นเค้า
ตรงขอบชามฝั่งใกล้ตัวจะเห็นเลข 8 อยู่สองฝั่ง พอทานเส้นเสร็จก็ให้ยกซดน้ำซุปจากเลข 8 นี้เลย
ก่อนอื่นต้องซดซุปเปล่าๆ จะได้สัมผัสถึงความหอมของกระดูกหมูเต็มๆ
ราเม็งแบบเส้นเล็กตามสไตล์ฮาคาตะราเม็ง เคี้ยวแล้วจะยังมีเนื้อเส้น ไม่นุ่มจนเละ ไม่รอแล้วนะเดี๋ยวหายร้อนหมด ขอลุยก่อนละ
นี่หมูชาชูย่างรสออกหวานเค็มบวกกลิ่นหอมๆ ของต้นหอม จะมีถ้วยพริกป่นมาให้ด้วย ถ้าอยากเพิ่มรสเผ็ดก็โรยได้ตามชอบ ราคาจานนี้ 490 เยน
ขออภัยภาพอาจไม่น่าดูเท่าไหร่ แต่ถ้าเราซดซุปจนหมดอย่างที่บอกไปเมื่อกี๊ก็จะได้เจอกับคำว่า ไดคิจิ (Daikichi : 大吉) ซึ่งแปลว่าโชคดีมากเหมือนเวลาไปเสี่ยงเซียมซี เป็นการส่งความโชคดีให้กับลูกค้าทุกคน
จัดการราเม็งเสร็จก็ได้เวลาของหวาน มัทฉะอันนิงโทฟุ (Matcha Almond Pudding with Green Tea Sauce) หรือพุดดิ้งอันนิงชาเขียวมัทฉะ เอาถาดจิ๋วไปวางไว้บนปุ่มหน้าที่นั่งได้เลย
ในเนื้อพุดดิ้งผสมชาเขียว แล้วยังราดด้วยซอสชาเขียวเข้มข้นอีกที หวานน้อยมากได้รสชาเขียวเต็มๆ ราคา 390 เยน
ต่อความอร่อยด้วยเส้นคาเอดามะ
ความเก๋ไก๋อีกอย่างคือการตั้งชื่อเล่นให้กับเส้น เส้นราเม็งสำหรับเติมปกติจะเรียกกันว่า คาเอดามะ (Kae-Dama) เขียนด้วยตัวคันจิว่า 替え玉 เค้าก็ขอเล่นคำพ้องเสียง เปลี่ยนตัวคันจิเป็น 加笑玉
加 แปลว่า เพิ่ม เติม
笑 แปลว่า หัวเราะ
玉 แปลว่า ลูกบอลหรือของทรงกลม ในที่นี้ก็หมายถึงก้อนบะหมี่
รวมแล้วได้ความหมายว่า ก้อนบะหมี่ที่ช่วยเพิ่มความสุขให้คนทาน อุเหม่ ช่างล้ำลึกเสียจริง ถ้าได้ทานของอร่อยใครล่ะจะไม่มีความสุข
ราเม็งข้อสอบในบรรยากาศรื่นเริงของอาซากุสะ
อิจิรัน สาขาอาซากุสะ รกคุ ถือเป็นสาขาที่สองในย่านอาซากุสะนี้ สาขาแรกจะอยู่ใกล้สถานีอาซากุสะของรถไฟโทบุ และก่อนหน้านี้ก็เพิ่งเปิดสาขากินซ่า อิจิรัน (GINZA ICHIRAN) ที่มาพร้อมเส้นและหมูชาชูแบบพิเศษ
สาขาอาซากุสะ รกคุนี้อัดแน่นไปด้วยบรรยากาศแบบบ้านๆ ของอาซากุสะ และยังมีกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด แต่อย่างหนึ่งที่รับประกันได้ว่าไม่เปลี่ยนแน่นอนก็คือความอร่อยที่ทุกคนถูกใจ มาเที่ยวอาซากุสะรอบหน้าอย่าลืมแวะมาทานราเม็งอร่อยๆ กันที่อิจิรันได้ตั้งแต่เวลา 8:30 - 23:30
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชื่อ รกคุ
ไหนๆ แล้วขอมีสาระกับเค้าบ้างนิดนึง ชื่อ รกคุ นี้หลายคนอาจไม่คุ้นหู ไม่ต้องแปลกใจเพราะบอกเลยว่าคนญี่ปุ่นเองถ้าไม่ได้อาศัยอยู่แถวอาซากุสะก็ไม่ค่อยคุ้นเหมือนกัน
ต้องย้อนอดีตกลับไปพอสมควรตั้งแต่ยุคเมจิ ประมาณปี 1884 ที่พื้นที่รอบวัดเซ็นโซจิถูกจัดสรรให้เป็นสวน โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วนพร้อมใช้หมายเลขกำกับตั้งแต่เขตที่ 1 - 6 (เสียงอ่านภาษาญี่ปุ่นคือ อิจิคุ - รกคุ)
เขตรกคุ หรือเขตที่ 6 คือพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกของวัดเซ็นโซจิซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าร้านอาหาร เดิมยังมีโรงละครและโรงภาพยนตร์หลายแห่ง เป็นหนึ่งในย่านบันเทิงอันโด่งดังของโตเกียว จนกระทั่งมีกฏหมายคืนพื้นที่ที่นำมาทำเป็นสวนให้แก่วัดและศาลเจ้าในยุคโชวะ ปี 1947 ชื่อเขตที่ถูกแบ่งเป็น 6 ส่วนก็ถูกยกเลิกไป แต่ยังมีอาคารและร้านค้าหลายแห่งในเขต 6 ที่ยังคงใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างห้าง ROX ที่อ่านเสียงภาษาญี่ปุ่นว่า รกคุซุ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง