Start planning your trip
อีกมุมมองของการชมกีฬา! เรียนรู้ความสนุกแบบใหม่ของการแข่งขันจากผู้ชื่นชอบเชียร์ลีดเดอร์
ผู้ที่จะมาดูการแข่งขันกีฬาในระหว่างเที่ยวญี่ปุ่น ขอให้ลองสังเกตการแสดงของเชียร์ลีดเดอร์ที่สร้างความคึกคักในสนามกันด้วยนะ ครั้งนี้จะพาไปดูการแข่งขันบาสเกตบอลกับนักวิจัยเชียร์ลีดเดอร์ และเรียนรู้วิธีดูกีฬาแบบใหม่ที่โฟกัสไปยังเชียร์ลีดเดอร์กันค่ะ!
เรียนรู้วิธีการดูการแข่งขันกีฬาแบบใหม่จากโอตาคุด้านเชียร์ลีดเดอร์
คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ท่องเที่ยวด้วยวัตถุประสงค์เพื่อมาชมการแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็น เบสบอล ฟุตบอล บาสเกตบอล
ความสนุกจากการชมเกมส์การแข่งขันเป็นสิ่งที่เราได้รับเป็นหลักอยู่แล้ว แต่หากได้เข้าไปยังสนามแข่งขัน จุดที่ควรให้ความสนใจด้วยก็คือการแสดงของเชียร์ลีดเดอร์ที่มีให้ชมกันเพียงที่นี่เท่านั้น
ครั้งนี้ "มาจัง" นักวิจัยเกี่ยวกับเชียร์ลีดเดอร์ผู้ที่ไปชมการแข่งขันมากกว่า 100 ครั้งต่อปี จะมาสอนวิธีการชมการแข่งขันกีฬาโดยเน้นความสนใจไปยังเชียร์ลีดเดอร์กันค่ะ!
มาจังเล่าว่า "ประทับใจกับการแสดงที่ให้ทั้งความสดใสและพลังด้านบวกเสมอ ตัวฉันเองก็เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์มา 10 ปี" หลังจากเลิกเป็นเชียร์ลีดเดอร์แล้วก็เข้าศึกษาต่อที่ปริญญาโทโดยทำวิจัยเรื่องเชียร์ลีดเดอร์จากในมุมมองของการจัดการด้านกีฬา และได้เดินทางไปที่การแข่งขันมากมายเพื่อเฝ้าสังเกตเชียร์ลีดเดอร์ จึงเป็นโอตาคุ (*) เชียร์ลีดเดอร์อย่างแท้จริงเลยค่ะ
* โอตาคุ ... หมายถึงผู้ที่ชื่นชอบอะไรสักอย่างอย่างคลั่งไคล้
"B-ROSE" กลุ่มเชียร์ลีดเดอร์ที่ดูสง่างามจากโยโกฮาม่า (Yokohama)
มาจังกล่าวว่า “ที่ญี่ปุ่นทีมเชียร์ลีดเดอร์มีความหลากหลายประเภทจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ในการแข่งขันเบสบอลทีมเชียร์ลีดเดอร์เป็นเหมือนไอดอลที่น่ารัก ส่วนในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลหรือฟุตบอล บาสเกตบอลเชียร์ลีดเดอร์สาวที่ดูเท่จะเป็นที่ดึงดูดสายตา"
ครั้งนี้เราจะไปดูทีม "B-ROSE (บี-โรส)” เป็นทีมเชียร์ลีดเดอร์อย่างเป็นทางการของทีม "YOKOHAMA B-CORSAIRS (โยโกฮาม่า บี-คอร์แซร์)" ที่เป็นทีมบาสเกตบอลชายมืออาชีพของเมืองโยโกฮาม่า มาจังได้บอกกับเราว่าเสน่ห์ของทีมนี้คือความสวยงามที่ดูมีระดับ
"อิมเมจของทีม คือ 'Noble Beauty' จะมีแกนหลักสำคัญในทุกการแสดง ท่าทางการยืนก็ยังดูสวยงาม แถมวิธีการเข้าถึงบูสเตอร์ (ชื่อเรียกแฟนบาสเกตบอล) ก็ยังดูงามสง่าอีกด้วย"
เสน่ห์ของการมาชมการแข่งขันบาสเกตบอลที่ญี่ปุ่น คือ สนามแข่งขันกับที่นั่งของผู้ชมอยู่ใกล้กัน และก็ยังสามารถมองเห็นเชียร์ลีดเดอร์ในระยะใกล้ชิดได้ด้วย
เราตามไปดูจุดที่น่าสนใจของเชียร์ลีดเดอร์กับมาจังกันเถอะค่ะ!
1.จุดเล็กๆ อย่างการยืดนิ้วมือ การสะบัดผม ก็ห้ามมองข้าม!
การแสดงเปิดตัวก่อนเริ่มการแข่งขันเชียร์ลีดเดอร์ทุกคนจะถือธงสั้นๆ เอาไว้แล้วเต้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
ความประทับเมื่อฉันเห็นตอนแรก พูดได้คำเดียวเลยคือ "สวยจังเลย!" แต่มาจังกลับมองจุดที่แตกต่างออกไป
"ตำแหน่งที่ยืนถูกต้อง องศาของมือหรือจำนวนก้าวในการเคลื่อนที่ ลักษณะการพริ้วไหวของผมเป็นหนึ่งเดียวกันเลยนะคะ ทั้งทีมมีความพร้อมเพรียงและในแต่ละคนๆ ก็มีความสวยงามโดดเด่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด"
ถึงขนาดเช็คลักษณะการสะบัดผมเลยทีเดียว ...! ได้ยินมาว่านี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งในการแสดงด้วยเหมือนกัน จะว่าไปทุกคนไว้ผมยาว และไม่เห็นมีใครมัดผมเลยสักคน อีกทั้งพอตั้งใจมองความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น จะเห็นว่าความสูงของธงหรือการงอขาก็ทำได้เหมือนกันอย่างสวยงาม
มาสนุกไปด้วยกัน! การแสดงเชียร์ขณะแข่งขัน
พอเริ่มการแข่งขัน สายตาทุกคู่จะจับจ้องไปยังความตื่นเต้นและการเคลื่อนไหวระหว่างการแข่งขัน แต่สายตาของมาจังกำลังจับจ้องไปยัง ...
เชียร์ลีดเดอร์ที่กำลังส่งเสียงเชียร์
คิวการแสดงของเชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้มีแค่เพียงช่วงพักของแต่ละควอเตอร์หรือพักครึ่งเวลาเท่านั้น ตอนที่ไม่ลงในสนามแข่งขัน เชียร์ลีดเดอร์จะยืนใกล้กับห่วงประตูแล้วส่งเสียงเชียร์อย่างต่อเนื่อง
“อยากให้สังเกตว่าในระหว่างการแข่งขันเชียร์ลีดเดอร์หันไปเชียร์ทางไหน” มาจังกล่าว “มีทั้งคนที่หันไปเชียร์ทางนักกีฬา และคนที่หันไปทางเก้าอี้ผู้ชมแล้วส่งเสียงออกมา”
พัดฮาริเซ็น (Harisen) ที่เชียร์ลีดเดอร์ถืออยู่นั้น จะแจกฟรีให้กับบูสเตอร์ เพื่อให้บูสเตอร์ถืออุปกรณ์ที่ชนิดเดียวกันและจะได้เชียร์ในท่าทางเหมือนกันได้
“เชียร์ลีดเดอร์มีบทบาทสำคัญในการทำให้เสียงของบูสเตอร์ส่งไปถึงนักกีฬา การส่งเสียงเชียร์ให้ไปถึงนักกีฬาก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่การสร้างบรรยากาศให้บูสเตอร์เชียร์ได้ง่ายนั้นก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องทำ”
เชียร์ลีดเดอร์ที่เต้นเชียร์ตลอดเวลาเพื่อให้เสียงเชียร์ส่งไปถึงนักกีฬา หากได้มาชมแล้วอย่าลืมลองส่งเสียงไปด้วยกันดูนะคะ!
“ทำไมถึงเชียร์ท่านี้ในเวลานี้?” ลองมาคิดกันเถอะ!
หากลองชมไปพร้อมกับคิดถึงลำดับการแสดงด้วยแล้วละก็ “จะเห็นว่าได้คิดวิธีที่ดึงดูดความสนใจของบูสเตอร์เอาไว้แล้ว” มาจังกล่าว
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากจบควอเตอร์แรกจะมีการแสดงแนะนำสมาชิก “รู้สึกได้ถึงความใส่ใจในจุดนี้ที่เลือกแนะนำสมาชิกตอนควอเตอร์แรก”
“อาจจะเป็นการสร้างระบบที่ให้ผู้ชมได้เห็นการแสดงในตอนเปิดการแข่งขันและเริ่มสนใจว่า 'คนที่แสดงอย่างน่าประทับใจเมื่อกี้เป็นใครกันนะ' จากนั้นจึงได้ตั้งใจชมการแสดงของแต่ละคน แต่ละคน"
หลังจากการแนะนำสมาชิกแล้วก็เริ่มเต้นโดยยืนเรียงแถวหน้ากระดานอย่างสวยงาม จากนั้นเป็นการแสดงการกระโดดลงสู่พื้นในท่านั่งฉีกขาหน้าและหลัง 180 องศา นี่เป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งสืบทอดกันมาของทีมนี้
“การจัดแนวของลำตัวต้องดูสวยงาม และการทำให้การแสดงออกมาพร้อมเพรียงกันต้องคอยฝึกซ้อมกันมากกว่าปกติ ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถทำออกมาได้แบบนี้!” มาจังยังแนะนำศักยภาพของทีมต่อไป
การแสดงช่วงหลังในระหว่างพักครึ่งจะเป็นการแสดงที่ดีที่สุด โดยเป็นแสดงที่รวมเอาการเต้นหลากหลายประเภทอย่างแจสฟังก์ (Jazz Funk) หรือฮิปฮอป (Hip Hop) เข้าไปด้วย ทำให้ผู้ชมยิ่งรู้สึกคึกครื้นมากขึ้นและทำให้เกิดแรงฮึดสู้ในการแข่งขันช่วงหลังอีกด้วย!
“การเป็นเงาที่ดี” ก็เป็นจุดที่น่ามอง
ในระหว่างช่วงพักครึ่งหรือควอเตอร์ จะมีการแสดงโชว์เพื่อความบันเทิงโดยมีแขกรับเชิญ แน่นอนอยู่แล้วว่าเชียร์ลีดเดอร์ก็เข้าร่วมการแสดงด้วย แต่สิ่งที่ควรมองในจุดนี้คือ “ทำอย่างไรถึงจะทำให้การแสดงโชว์เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่ของตัวเองที่เป็นเงาให้ดีที่สุด” มาจังเล่าให้เราฟังเช่นนั้น
“จะยืนอยู่ข้างๆ แขกรับเชิญ และคอยชี้นำให้แขกรับเชิญเดินไปได้อย่างไม่สับสน การทำให้ตัวเอกในการแสดงปล่อยปล่อยเสน่ห์ออกมาได้อย่างเต็มที่อย่างการกระซิบบอกว่าต่อไปจะต้องทำอะรไร ก็ถือเป็นอีกหน้าที่ของเชียร์ลีดเดอร์”
ภายในการแข่งขันครั้งหนึ่ง เชียร์ลีดเดอร์มีหน้าที่ต่างๆ มากมายเหลือเกิน เช่น เชียร์ลีดเดอร์เองก็เป็นผู้แสดงหลักในโชว์เพื่อความบันเทิงด้วย แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ที่กำลังพยายามอยู่ในสนามแข่งกับผู้ที่อยากจะส่งกำลังใจเชียร์ และเป็นคนที่คอยซัพพอร์ตตัวแสดงหลักให้มีความน่าสนใจโดดเด่นออกมา ...
ในตอนที่ทีมกำลังจะแพ้ ...
เมื่อหันกลับไปดูที่เกมส์การแข่งขัน ในควอเตอร์ที่ 4 เหลืออีก 5 นาทีแต่ยังตามอยู่ 6 คะแนน บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกตึงเครียด เสียงเชียร์ให้กำลังใจดังสนั่นไปทั่วสนามแข่งขัน
ในการแข่งขันที่สูสีอย่างนี้เมื่อฝ่ายตรงข้ามทำคะแนนได้ จึงต้องขอเวลานอกเพื่อไม่ให้เกมดำเนินไปตามกระแสแบบนั้น ขณะที่โค้ชกำลังให้คำแนะนำกับนักกีฬา ในเวลานี้เองเชียร์ลีดเดอร์ก็พุ่งตัวลงไปที่สนามเพื่อทำการแสดงเชียร์
มาจัง : B-ROSE จะแสดงการแสดงเต้นเชียร์อันเป็นประเพณีของกลุ่ม แล้วให้ผู้ชมเต้นไปด้วยกัน ส่งเสียงออกมาพร้อมกันค่ะ! ดูราวกับว่าบูสเตอร์ได้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะคะ
ใน 3 นาทีสุดท้าย มีการขอเวลานอกไป 2 ครั้ง ระหว่างที่ตื่นเต้นเพราะไม่อาจเดารู้ผลแพ้ชนะจนกว่าจะแข่งเสร็จนี้ เชียร์ลีดเดอร์ต้องคอยสังเกตจังหวะที่ตัวเองต้องออกไปแสดง ต้องส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ และต้องคอยเคลื่อนไหวไปรอบๆ อยู่ตลอดเวลา
“มีทีมเวิร์กที่สุดยอดมาก เพราะได้แบ่งหน้าที่กันทั้งที่ต้องทำการเชียร์อยู่ เช่น คนที่สอดส่องการแข่งขัน คนที่กำลังดูเวลา คนที่คอยสังเกตดูอาการของสมาชิกร่วมทีมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ละคนส่งเสียงให้กันและตั้งสมาธิอย่างตั้งใจจริง"
สัมผัสประสบการณ์การแสดงของเชียร์ลีดเดอร์ได้เฉพาะในสนามแข่งขัน
หากเพียงต้องการดูเฉพาะการแข่งขันกีฬาแล้วละก็ อาจจะเพลิดเพลินได้จากในโทรทัศน์หรือคลิปวิดีโอ แต่มาจังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความบันเทิงที่จัดขึ้นในสนามแข่งขันนั้นมีคุณค่าพอที่จะทำให้เรามาเยือนในสถานที่จริง”
“สนามแข่งขันมีความบันเทิงมากมายเตรียมไว้รออยู่ เช่น ลานที่สามารถลองชู้ตลูกบาสได้ การนวดจัดกระดูกหรือการนวดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสนับสนุนโดยสปอนเซอร์ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหรือสินค้า ของที่ระลึกอีกด้วย ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความสนุกที่ร่วมเชียร์ไปพร้อมกับการแสดงที่ดึงดูดใจของเชียร์ลีดเดอร์! ฉันคิดว่าความคุ้มค่าสำหรับการมาชมการแข่งขันกีฬาสามารถหาได้จากสิ่งนี้ล่ะค่ะ”
เชียร์ลีดเดอร์ของบาสเกตบอลนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กำลังเรียนหรือทำงานอย่างอื่นอยู่ด้วย วันธรรมดาจะใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อมาฝึกซ้อม และจะใช้เวลาทั้งวันสำหรับวันที่มีการแข่งขันรวมถึงการซ้อมใหญ่ด้วย
การเตรียมตัวก่อนการแข่งขันหรือการซ้อมต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง เบื้องหลังของการแสดงอันงดงามในฐานะที่เป็นผู้ให้กำลังใจแก่นักกีฬาและมีหน้าที่ทำให้บูสเตอร์คอยมีส่วนร่วมในการส่งเสียงเชียร์นั้น ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง
ขอแนะนำที่นั่งที่มองเห็นเชียร์ลีดเดอร์ได้ง่าย
สำหรับคนที่อยากดูเชียร์ลีดเดอร์ให้ถนัดเต็มสองตา! ขอแนะนำที่นั่งชั้น 2 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่นั่งของทีมเจ้าบ้าน “ที่นั่งนี้จะทำให้เราสบตากับเชียร์ลีดเดอร์ได้มากที่สุด!” มาจังกล่าว
โดยปกติแล้วในระหว่างการแข่งขัน ส่วนใหญ่เชียร์ลีดเดอร์มักจะเชียร์อยู่ที่ห่วงประตูของฝั่งที่นั่งทีมเจ้าบ้านและข้างห่วงประตูของทีมตรงข้าม เมื่อเริ่มการแสดงในสนาม หากย้ายไปตรงกลางแล้วจะมองเห็นจากทางด้านหน้าได้
ที่นั่งแต่ละที่ในสนามเป็นแบบสามารถเลือกนั่งได้อย่างอิสระ แนะนำให้ไปพร้อมกับเวลาเปิดให้เข้าสนาม 2 ชั่วโมงก่อนเริ่มการแข่งขันแล้วไปเลือกจับจองที่นั่งเอาไว้ก่อนค่ะ หลังจากจองที่นั่งได้แล้วก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในสนามกันเลย และยังมีช่วงเวลาที่เชียร์ลีดเลอร์มาสอนวิธีเชียร์อีกด้วย!
มาสนุกกับการชมการกีฬาและการแสดงในแบบญี่ปุ่นกันเถอะ
การแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลในโตเกียวโอลิมปิก 2020 (Tokyo Olympics 2020) ทีมเชียร์ลีดเดอร์อย่างเป็นทางการ “AKATSUKI VENUS (อาคาซึกิ วีนัส)” จะมาสร้างสีสันความสนุกในการแข่งขันของทีมญี่ปุ่น โดยคัดสรรสมาชิกจากทีมที่ถูกคัดเลือก และมีเชียร์ลีดเดอร์ของ B-ROSE อยู่ในทีมนี้ด้วยนะ
เมื่อได้มาชมการแข่งขันกีฬาที่ญี่ปุ่นแล้ว ลองนำเอาวิธีดูการแข่งขันของมาจังผู้รู้จริงเรื่องเชียร์ลีดเดอร์ไปใช้เป็นแนวทางสนุกกับกีฬาในรูปแบบใหม่กันดูนะคะ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
In cooperation with YOKOHAMA B-CORSAIRS
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง