Start planning your trip
การทำประกันแบบต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษีในญี่ปุ่น
เมื่อต้องมาอยู่ต่างแดนนานๆ โดยเฉพาะคนที่อาจจะได้อยู่ทั้งชีวิต การทำประกันแบบต่างๆ ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฯลฯ ถือเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายไร้กังวลได้ แถมยังนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหาก
การทำประกันและขอลดหย่อนภาษีเงินได้ในญี่ปุ่น
เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราก็ควรทำประกันการท่องเที่ยวเผื่อในกรณีฉุกเฉินทั้งเครื่องบินมีปัญหาหรือเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง
แต่หากใครต้องไปอยู่เมืองนอกนานๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระยะยาว หรือใครที่คาดว่าจะอยู่ญี่ปุ่นตลอดชีวิตเลย จะทำอย่างไรดี?
เราขอแนะนำให้รู้จักกับ "ประกัน" แบบต่างๆ ในญี่ปุ่นที่สามารถซื้อเพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตในต่างแดนของเราได้ค่ะ รวมถึงสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้กับภาษีท้องถิ่นได้ (住民税 - Juuminzei) อีกด้วยค่ะ แต่ในบทความนี้จะขอพูดถึงแค่ระบบภาษีเงินได้เท่านั้น
(หากยื่นภาษีของภาษีเงินได้แล้ว ภาษีท้องถิ่นจะนำข้อมูลเดียวกันไปคำนวณเองโดยอัตโนมัติ)
ระบบภาษีเงินได้ของญี่ปุ่นและการลดหย่อนด้วยประกัน
สำหรับผู้ที่อยู่ญี่ปุ่นระยะยาวและมีรายได้ไม่ว่าจะด้วยการทำงาน รับจ้างต่างๆ การซื้อขาย และอื่นๆ หากมีรายได้เกิน 1,030,000 เยนต่อปี (หรือ 88,000 เยนต่อเดือน) จะต้องเริ่มจ่ายภาษีเงิน (所得税 - Shotokuzei) ได้แล้ว ยิ่งใครมีรายได้มาก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีสูงขึ้น หนึ่งในวิธีการลดภาษีที่ต้องจ่ายอย่างถูกต้องตามกฏหมายก็คือการทำลดหย่อนภาษีซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน เช่น การทำบุญ การลดหย่อนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การลดหย่อนสำหรับพ่อม่าย/แม่ม่ายที่มีรายได้ต่ำหรือมีบุตร ฯลฯ
ระบบภาษีเงินได้ของญี่ปุ่นนั้นคล้ายกับของไทย คือ นำรายได้รวมตลอดทั้งปีมาหักกับค่าใช้จ่าย (ที่กฏหมายระบุ) และค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วจึงนำมาคูณกับอัตราภาษี จากนั้นเฉพาะในญี่ปุ่นจะมีค่าลดหย่อนประเภทพิเศษที่หักจากเงินภาษีได้เลยด้วย
ในบทความนี้จะขอแนะนำเรื่องของประกันที่เป็นประโยชน์ในชีวิตและยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ประกันสังคม (ประกันค่ารักษาพยาบาล)
ประกันสังคม (社会保険 - ชะไกโฮเคง) คือประกันที่บุคคลที่ทำงานตามบริษัทจะต้องทำ โดยทางบริษัทจะออกเงินสนับสนุนด้วย ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล ไปจนถึงเงินบำนาญ (年金 - เน็นคิง) และประกันการจ้างงาน เงินส่วนที่เราชำระค่าประกันตรงนี้ไปสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยปกติคนทำงานบริษัท ทางบริษัทจะเป็นผู้หักค่าประกันตรงนี้ไปจากเงินเดือน และเป็นผู้สรุป รวมถึงทำภาษีให้ตอนสิ้นปีด้วย หากใครทำงานบริษัทและไม่มีรายได้อื่น ก็ไม่ต้องกังวลตรงนี้เลยค่ะ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานบริษัทและไม่ได้ทำประกันสังคมนั้นจะต้องทำประกันสุขภาพแห่งชาติ (国民健康保険 - โคคุมินเคงโคโฮเคง) ซึ่งเป็นการประกันเพียงแค่เรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่หากใครทำประกันรูปแบบนี้ เช่น เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ทำงานฟรีแลนซ์ ก็สามารถนำยอดประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้ลดหย่อนของตนเอง (ในกรณีมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี) หรือลดหย่อนของคู่สมรส (ในกรณีไม่มีรายได้) ได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ประกันชีวิตและที่เกี่ยวข้อง
ประกันสังคมนั้นครอบคลุมแค่ค่ารักษาพยาบาล แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ประกันชีวิตจะช่วยเหลือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้คำว่าประกันชีวิต (生命保険 - Seimei Hoken) ของญี่ปุ่นยังรวมถึงประกันที่จะช่วยเหลือผู้ทำประกันในวัยชราหรือเมื่อไม่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วย
หากใครทำประกันชีวิตแบบต่างๆ เอาไว้ ค่าประกันที่จ่ายแต่ละปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยจะนำค่าประกันของวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคมของปีนั้นๆ มาคำนวณ
ประกันที่นำมาลดหย่อนได้มีด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งแบบที่นำมาลดหย่อนได้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตามปีที่ทำเนื่องจากญี่ปุ่นมีการปรับระบบภาษีใหม่ไปเมื่อปี 2012 ค่ะ
ประเภทประกัน | ก่อน 2012 | หลัง 2012 |
ประกันชีวิตทั่วไป | ลดหย่อนได้ | ลดหย่อนได้ |
ประกันการพยาบาล | ลดไม่ได้ | ลดหย่อนได้ |
ประกันบำนาญส่วนบุคคล | ลดหย่อนได้ | ลดหย่อนได้ |
ประกันชีวิตทั่วไป (一般生命保険料) คือ ประกันชีวิตทั่วไปที่หากผู้ทำประกันเสียชีวิตลง ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินประกัน
ประกันการพยาบาล (介護医療保険料) คือ ประกันที่หากผู้ทำประกันประสบเหตุหรือเจ็บป่วยจนต้องรับการดูแลทางการพยาบาล เช่น กลายเป็นผู้พิการ
ประกันบำนาญส่วนบุคคล (個人年金保険料) คือ ประกันที่บริษัทจะจ่ายเงินคืนให้ผู้ประกันเมื่อถึงกำหนดในวัยสูงอายุ หากคิดว่าบำนาญที่ได้จากประกันบำนาญของรัฐอาจไม่เพียงพอ ก็สามารถทำประกันชนิดนี้เสริมได้
จำนวนเงินที่ลดหย่อนได้ก็แตกต่างไปตามประกันระบบเก่าหรือใหม่ (ก่อนหรือหลังปี 2012) และจำนวนเงินที่จ่ายค่าประกันไปในปีนั้นเช่นเดียวกัน ดังนี้
ประกันระบบใหม่ (ประกันที่ทำหลังปี 2012)
เงินประกันที่จ่าย | ลดหย่อนได้ |
น้อยกว่า 20,000 เยน | เต็มจำนวน |
20,000 - 40,000 เยน | (ค่าประกันหาร 2) + 10,000 เยน |
40,001 - 80,000 เยน | (ค่าประกันหาร 4) + 20,000 เยน |
มากกว่า 80,000 เยน | 40,000 เยน |
ประกันระบบเก่า (ประกันที่ทำก่อนปี 2012)
เงินประกันที่จ่าย | ลดหย่อนได้ |
น้อยกว่า 25,000 เยน | เต็มจำนวน |
25,000 - 50,000 เยน | (ค่าประกันหาร 2) + 12,500 เยน |
50,001 - 100,000 เยน | (ค่าประกันหาร 4) + 25,000 เยน |
มากกว่า 100,000 เยน | 50,000 เยน |
รวมยอดเงินที่ลดหย่อนภาษีได้จากประกันชีวิต
สำหรับการขอลดหย่อนภาษีเงินได้ด้วยประกันแบบต่างๆ สามารถทำได้สูงสุดดังนี้
ประเภทประกัน | ก่อน 2012 | หลัง 2012 |
ประกันชีวิตทั่วไป | 50,000 เยน | 40,000 เยน |
ประกันการพยาบาล | ลดไม่ได้ | 40,000 เยน |
ประกันบำนาญส่วนบุคคล | 50,000 เยน | 40,000 เยน |
รวมลดหย่อนได้สูงสุด | 100,000 เยน | 120,000 เยน |
หมายความว่าถึงแม้จะทำภาษีเกินจากยอดเงินที่ลดหย่อนได้ ก็จะไม่ได้รับลดหย่อนเพิ่ม
ฉะนั้นหากมีเป้าหมายในการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี อาจหาวิธีลดหย่อนอื่นแทนค่ะ
ในการขอลดหย่อนจะต้องนำเอกสารยืนยันการลดหย่อนภาษีด้วยประกัน (保険料控除証明書 - Hokenryou Koujo Shoumeisho) ซึ่งจะได้จากบริษัทประกันหลังชำระค่าประกันเรียบร้อย นำเอกสารนี้ยื่นตอนทำภาษีไม่ว่าจะทำเองหรือทำผ่านบริษัทที่ทำงานอยู่ค่ะ
การขอลดหย่อนภาษีด้วยค่ารักษาพยาบาล
แม้ประกันที่ช่วยค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเรื่องของสุขภาพจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่หากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินกว่าที่กำหนด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกค่ะ โดยมีด้วยกัน 2 วิธี สามารถเลือกได้เพียงแค่วิธีเดียว จึงควรเลือกวิธีที่ตนเองจะได้รับลดหย่อนเยอะค่ะ
วิธีขอลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล (Iryouhi Koujo - 医療費控除)
หากใน 1 ปีตนเองหรือคนในครอบครัวที่ต้องดูแลต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนมากกว่า 100,000 เยน ส่วนที่เกินมาสามารถนำมาลดหย่อนได้ค่ะ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินหลังได้รับเงินช่วยเหลืออื่นๆ แล้ว เช่น ได้รับเงินช่วยเหลือในการคลอดบุตรแล้ว จะต้องนำค่าใช้จ่ายหักลบกับเงินช่วยเหลือก่อน หากยังเหลือค่าใช้จ่ายอีกถึงนำมาคำนวณใช้ในการลดหย่อนได้
- สำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 2 ล้านเยนต่อปี สามารถขอลดหย่อนได้แม้ใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 100,000 เยน โดยนำรายได้ตัวเอง x 5% ได้เท่าไหร่ หากใช้จ่ายเกินจากนั้นสามารถนำไปลดหย่อนได้ เช่น หากมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 1,500,000 เยน ก็นำไปคูณ 5% ออกมาได้ 75,000 เยน หมายความว่าหากในปีนั้นมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกิน 75,000 เยน สามารถนำส่วนต่างนั้นมาขอลดหย่อนภาษีได้เลย
- ลดหย่อนได้สูงสุด 2,000,000 เยน
ค่ารักษาพยาบาลที่นำมาลดหย่อนได้นั้นจำกัดว่าต้องเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเท่านั้น หากเป็นการตรวจสุขภาพ การเสริมความงาม จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
วิธีขอลดหย่อนการดูแลรักษาตัวเอง (Self Medication - セルフメディケーション)
ในกรณีที่มีการซื้อยาจากร้านขายยาเอง (หมายถึงยาที่ไม่ได้ซื้อตามใบสั่งยาจากการไปพบแพทย์) มูลค่ามากกว่า 12,000 เยนต่อปี เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ สามารถนำส่วนเกินมาลดหย่อนได้เช่นกัน แต่จะต้องผ่านเงื่อนไขดังนี้ก่อน
- ต้องเป็นการซื้อยาในรายการยาที่ลดหย่อนได้เท่านั้น สามารถดูได้จากที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น) หรือดูสัญลักษณ์ セルフメディケーション(税)控除対象 ที่บรรจุภัณฑ์แบบรูปด้านบน
- ผู้ซื้อยาต้องตรวจสุขภาพแบบต่างๆ หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจหามะเร็ง ฯลฯ สามารถดูได้จากที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น)
- ลดหย่อนได้สูงสุด 88,000 เยน
- จำเป็นต้องเก็บใบเสร็จของการตรวจสุขภาพและซื้อยาต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน
ส่วนวิธีการขอลดหย่อนของทั้งสองวิธีนั้นก็เพียงกรอกเอกสารแจ้งในตอนที่ทำการยื่นภาษีด้วยตนเอง (確定申告) (*) เท่านั้น โดยสามารถทำเอกสารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สรรพากรหน้านี้เพื่อยื่นออนไลน์หรือปรินท์ไปยื่นได้เลยค่ะ
เนื่องจากเราขอรับสิทธิลดหย่อนได้แค่วิธีเดียว จึงต้องดูว่าเรามีค่าใช้จ่ายแบบไหนเกินขั้นต่ำที่สามารถยื่นลดหย่อนได้มากกว่า เช่น แม้จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปถึง 120,000 เยน แต่จ่ายค่ายาที่ซื้อเองเพียง 50,000 เยน แต่หากเราใช้สิทธิลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลจะได้ลดหย่อนเพียง 120,000 - 100,000 = 20,000 เยนเท่านั้น ในขณะที่หากใช้สิทธิลดหย่อนค่ายาจากการดูแลรักษาตัวเอง จะลดหย่อนได้ 50,000 - 12,000 = 38,000 เยน
ฉะนั้นจะดูแค่ยอดเงินที่ใช้ไปอย่างเดียวไม่ได้นะคะ
*ระบบภาษีเงินได้ของญี่ปุ่น แบ่งเป็นการสรุปยื่นภาษีแทนโดยบริษัท (年末調整) และการยื่นภาษีด้วยตนเอง (確定申告)
ตัวอย่างการคำนวณ | ใช้จ่ายจริง | ขั้นต่ำที่ขอลดหย่อนได้ | ลดหย่อนได้จริง |
ลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล | 120,000 เยน | 100,000 เยน | 120,000 - 100,000 = 20,000 เยน |
ลดหย่อนการดูแลรักษาตัวเอง | 50,000 เยน | 12,000 เยน | 50,000 - 12,000 = 38,000 เยน |
ประกันแผ่นดินไหว
ประกันแผ่นดินไหว (地震保険 - Jishin Hoken) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่โดยปกติแล้วประกันแผ่นดินไหวจะซื้อเดี่ยวๆ ไม่ได้ แต่ต้องซื้อเป็นแพ็คมาพร้อมกับประกันภัยที่อยู่อาศัย (火災保険 - Kasai Hoken) ซึ่งจะรวมถึงความเสียหายจากเพลิงไหม้ พายุ ขโมย หรือความผิดปกติในบ้านอย่างน้ำรั่ว และอื่นๆ แล้วแต่ประกัน
โดยประกันแผ่นดินไหวนั้นมีราคาเท่ากันเนื่องจากถูกกำหนดด้วยกฏหมาย ไม่ว่าจะสมัครกับบริษัทใดก็ได้ราคาเท่ากัน ราคาจะต่างกันโดยรายละเอียดของแพ็คประกันภัยที่อยู่อาศัย
แต่ราคาประกันแผ่นดินไหวนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ตั้งและโครงสร้างอาคาร เช่น อาคารคอนกรีตในโตเกียวปีละ 2,500 เยน อาคารไม้ในโตเกียวปีละ 3,890 เยน อาคารคอนกรีตในเกียวโตปีละ 780 เยน และอาคารไม้ในเกียวโตปีละ 1,350 เยน เป็นต้น
การลดหย่อนจะลดหย่อนได้เพียงแค่ค่าประกันของประกันแผ่นดินไหวเท่านั้น (ส่วนหนึ่งของประกันภัยที่อยู่อาศัยเท่านั้น) ซึ่งนำไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 เยน
และในการขอลดหย่อนจะต้องนำเอกสารยืนยันการลดหย่อนภาษีด้วยประกัน (保険料控除証明書 - Hokenryou Koujo Shoumeisho) ซึ่งจะได้จากบริษัทประกันหลังชำระค่าประกันเรียบร้อย นำเอกสารนี้ยื่นตอนทำภาษีไม่ว่าจะทำเองหรือทำผ่านบริษัทที่ทำงานอยู่ค่ะ
ทำประกันในญี่ปุ่นและขอลดหย่อนภาษีเพื่อความคุ้มสูงสุด
หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานาน การทำประกันเอาไว้ย่อมเป็นเรื่องดี และถ้าหากทำประกันเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีเพื่อความคุ้มค่าถึงที่สุดด้วยนะคะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
สาวชาวบางกอกที่มาหลงอยู่ในโตเกียวมาแล้วหลายปี แต่ยังแพ้รถไฟในเวลา Rush Hour ลัลล้ากับการทำงาน ว่างๆ ก็แว่บไปเที่ยว ชิมของอร่อย เที่ยวติ่งตามรอย
ชอบบรรยากาศของศาลเจ้าเป็นพิเศษ สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมไปถึง Pop culture~♥
เจอแมวเป็นไม่ได้ ต้องทักทายเหมียวๆ ใส่ประจำ
มีประสบการณ์แปลมากกว่า 10 ปี (เราจะไม่พูดเรื่องอายุ ...) ชอบงานขีดๆ เขียนๆ เลยมาเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์
Facebook / Twitter ส่วนตัวที่เขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก ปัจจุบัน (12/2019) มีผู้ติดตามอย่างละราวๆ 40,000 คน ก็เรียกว่าเป็นบล๊อกเกอร์ตัวจ้อยๆ ได้ ... ล่ะมั้ง?
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง