Start planning your trip
รู้ไว้ก่อนไปญี่ปุ่น! เงินเยนมีกี่แบบ เทคนิคสังเกต วิธีแปลงเป็นบาท อัตราแลกเปลี่ยน
ไปเที่ยวญี่ปุ่นที ต้องจับเงินไม่คุ้น เหรียญไหนเป็นกี่เยน แบงค์ไหนเป็นเท่าไหร่ งงไปหมด! วันนี้มาดูกันก่อนเลยพร้อมเทคนิคการสังเกต แถมด้วยวิธีการแปลงเยนเป็นบาทอย่างง่ายๆ ไว้ประกอบการตัดสินใจก่อนช้อป พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างคร่าวๆ ครบเครื่องในบทความเดียว!
เงินเยนที่ใช้กันมีกี่แบบ? เหรียญและธนบัตร หน้าตาเป็นไงนะ?
มาเที่ยวญี่ปุ่น สิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดเลยนอกจากพาสปอร์ตแล้วก็ต้องเป็น "เงิน" นี่ล่ะ!
แต่พอหยิบจับเงินไม่คุ้น จะจ่ายทีก็เสียเวลา หยิบผิดๆ ถูกๆ ตลอด จะทำไงดี? งั้นวันนี้มาเตรียมตัว ดูประเภทและหน้าตาของเงินเยนกันก่อน พร้อมกับจุดสังเกต เทคนิคเล็กๆ น้อย ที่จะช่วยให้การเปย์ในญี่ปุ่น เป็นเรื่องแสนสบาย และแสนสนุก!
อย่างที่รู้ๆ กันว่าสกุลเงินของญี่ปุ่นคือ เยน (Yen) ในญี่ปุ่นจะใช้สัญลักษณ์ ¥ หรือตัวคันจิ 円 (ออกเสียงว่า เอ็น) ส่วนตัวย่อที่นิยมใช้คือ JPY (Japanese Yen)
ธนบัตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้จะเเบ่งออกเป็น 10,000 เยน 5,000 เยน 2,000 เยน และ 1,000 เยน
เหรียญที่ใช้มีเหรียญ 500 เยน 100 เยน 50 เยน 10 เยน 5 เยน และ 1 เยน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนญี่ปุ่น
อัตราซื้อเงินเยนด้วยเงินบาท ณ ปัจจุบัน (เดือนธันวาคม ปี 2020) อยู่ที่ 100 เยน ต้องใช้ 29.05 บาท
P R
ระหว่างเที่ยว ถ้าเงินเยนไม่พอทำไงดีนะ!?
ผู้ใช้บริการรถไฟห้ามพลาด! แนะนำสถานที่ถอน - แลกเงินเยนแสนสะดวกในสถานีรถไฟ
ตามสถานีรถไฟในโตเกียวของบริษัทรถไฟ JR ตะวันออก (East Japan Railway Company) มีเคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้บริการ 7 แห่งและ ATM 10 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2018)
รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จาก เว็บไซต์นี้
จุดเด่นของธนบัตรและเหรียญเงินเยนแต่ละชนิด
ธนบัตรและเหรียญแต่ละแบบหน้าตาเป็นยังไง มีจุดเด่นและวิธีสังเกตอยู่ตรงไหน เราสรุปมาให้แล้วค่ะ
ธนบัตร 10,000 เยน
จุดสังเกต : ด้านหน้าเป็นรูปผู้ชาย ด้านหลังเป็นรูปนกโฮโอ (ฟีนิกซ์) แบงค์ใบใหญ่กว่าเพื่อน พิมพ์สีเทาๆ
บุคคลสำคัญที่ปรากฏภาพอยู่ที่ธนบัตร 10,000 เยน คือ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ (Fukusawa Yukichi) ซามูไรซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญาและนักวิชาการคนสำคัญของญี่ปุ่นค่ะ
ทุกครั้งที่มองเข้าไปในกระเป๋าเงิน ถ้าเห็นว่ามีธนบัตร 10,000 เยนอยู่สักใบก็คงอุ่นใจกันใช่ไหมคะ เงิน 10,000 เยนนี้ เราสามารถเข้าไปดื่มหรือทานอาหารได้อย่างสบายๆ เลย หรือจะเอาไปใช้บริการฮาโตะบัส (Hato Bus) รถนำเที่ยวยอดนิยมที่แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็ชื่นชอบ ซึ่งมีตั้งแต่ราคาต่ำกว่าหมื่นเยนต่อคนได้อีกด้วยนะคะ ทัวร์ที่ให้บริการภาษาต่างชาติหลายภาษามีอยู่หลายโปรแกรมให้เลือก ลองเข้าไปดูกันได้ค่ะ
ธนบัตร 5,000 เยน
จุดสังเกต : ด้านหน้าเป็นรูปผู้หญิง ลายพิมพ์สีออกม่วงๆ
บุคคลสำคัญบนธนบัตร 5,000 เยน คือ นักประพันธ์หญิง ฮิงุจิ อิจิโย (Higuchi Ichiyo)
สำหรับเงิน 5,000 เยนนั้นเพียงพอสำหรับการทานอาหารเย็นในร้านอาหารหรือร้านอิซากายะที่ดูดีขึ้นมาสักหน่อย อาจจะเป็นมื้อกลางวันอาหารญี่ปุ่นหรูๆ หรือซูชิราคาแพงที่อยากจะลิ้มลองสักครั้งตอนมาญี่ปุ่น
ธนบัตร 2,000 เยน
จุดสังเกต : ด้านหน้าเป็นรูปซุ้มประตูสไตล์ญี่ปุ่น ด้านหลังเป็นภาพจิตรกรรมญี่ปุ่น เป็นธนบัตรแบบเดียวที่ไม่มีรูปวาดของคนแบบเหมือนจริง
ธนบัตร 2,000 เยน เป็นของหายากค่ะ ถ้าใครได้มาไว้ในมือถือว่ามีบุญ! ลวดลายบนธนบัตรคัดลอกจากม้วนภาพวรรณคดีโบราณเรื่อง เก็นจิ โมโนกาตาริ (Genji monogatari) ประพันธ์โดย ชิคิบุ มุราซากิ (Shikibu Murasaki) ถึงจะไม่ใช่ธนบัตรที่ทำออกมาเป็นธนบัตรที่ระลึก แต่ก็หาได้ยากจนไม่ต่างจากของสะสม และที่สำคัญคือใช้กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไม่ได้
เงิน 2,000 เยน ถ้ามีไว้ในมือก็สามารถทานอาหารกลางวันที่แพงขึ้นมานิดนึงได้ หรือจะเอาไปซื้อตั๋วฟรีพาสนั่งไม่อั้นในโตเกียว ก็สามารถซื้อ Tokyo 1-Day Ticket ในราคาคนละ 1,590 เยนสำหรับผู้ใหญ่ ตั๋วนี้สามารถนั่งรถไฟ JR แบบธรรมดา รถไฟใต้ดิน และรถประจำทางทั่ว 23 เขตในโตเกียวได้ไม่จำกัด
ธนบัตร 1,000 เยน
จุดสังเกต : ธนบัตรใบเล็กที่สุด ด้านหน้าเป็นรูปผู้ชายไว้หนวด พิมพ์สีโทนน้ำเงิน
บุคคลสำคัญที่ปรากฏอยู่บนธนบัตร 1,000 เยน คือ นักวิจัยเเบคทีเรีย โนงุจิ ฮิเดโยะ (Noguchi Hideyo)
1,000 เยนคือราคามื้อกลางวันของเหล่าพนักงานออฟฟิศทั่วไปค่ะ ร้านอาหารมักมี ลันชิเมนู เมนูมื้อกลางวันแบบเทโชคุ ที่หมายถึงอาหารเป็นเซ็ต มีข้าว กับข้าว ซุปมิโซะ ในราคาย่อมเยา
เหรียญ 500 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีทองอ่อน ขนาดใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าเหรียญ 10 บาทนิดนึง
เหรียญ 500 เยนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นเป็นเหรียญที่ออกมาใหม่ล่าสุดในบรรดาเหรียญทั้งหมด และมีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วยค่ะ จึงเป็นเหรียญที่มองหาได้ง่ายในกระเป๋าเงินเราเลย
เงิน 500 เยนใช้ทำอะไรได้บ้าง? ก็พอใช้ซื้อข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อหรือร้านข้าวกล่องโดยทั่วไปได้ หรือจะลองส่องหาคำว่า ワンコイン (one coin) ตามร้านต่างๆ ดู จะเจอร้านที่สามารถทานอาหารกลางวันได้ในราคาเพียงแค่ 500 เยนอีกด้วยนะ ถือเป็นเทคนิคการหาร้านอาหารที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการประหยัดค่าอาหารอย่างมาก
เหรียญ 100 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีเงินลายดอกซากุระ ขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 2 บาทเล็กน้อย
เหรียญที่มีโอกาสใช้บ่อยที่สุด 100 เยน หรือ ประมาณ 30 บาท อาจจะรู้สึกเหมือนทำอะไรไม่ได้ แต่ที่จริงแล้วอย่างที่แมคโดนัลก็มีเมนูเเมค 100 เยนเหมือนกันนะ อย่างแฮมเบอร์เกอร์สักชิ้น เครื่องดื่มซอฟต์ดริ้งก์หรือเครื่องดื่มไซส์ S สักแก้ว
ร้านร้อยเยนอย่าง Daiso หรือ Seria ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว ก็สามารถช้อปสารพัดสิ่งทั้งอาหาร ขนม เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ ของใช้ในบ้านหรือของใช้ประจำวันมากมายได้ด้วย (ราคารวมภาษี 108 เยน) ที่สำคัญหากอยากจะหมุนไข่กาชาปองแล้ว เหรียญ 100 เยนนี่ขาดไม่ได้เลยล่ะ!
เหรียญ 50 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีเงิน มีรูตรงกลาง ขนาดเล็กกว่าเหรียญ 100 เยนนิดหน่อย
เหรียญ 50 เยนจะมีรูปดอกเบญจมาศ ในช่วงแรกๆ เหรียญ 50 เยนไม่ได้เจาะรูนะคะ แต่เพราะคนมักจะสับสนกับเหรียญ 100 เยนเลยทำการเจาะรูซะเลย จะได้ดูง่าย
ค่าบริการในการส่งโปสการ์ดภายในประเทศญี่ปุ่น 1 ใบเดิมคือ 52 เยน แต่ปรับไปปรับมา ตอนนี้อยู่ที่ 62 เยนแล้ว แต่ถ้าจะส่งไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม จะมีค่าส่ง โดยส่งทางเรือราคา 60 เยน และส่งทางอากาศ (เครื่องบิน) 70 เยน คว้าเหรียญมีรูเหรียญนี้บวกกับเงินอีกนิดหน่อย แล้วลองเขียนความทรงจำดีๆ ในทริปญี่ปุ่นของเราส่งให้กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ที่ไทยหรือต่างประเทศสักใบไหมคะ
เหรียญ 10 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีทองแดง แต่ขนาดดันใหญ่กว่าเหรียญ 100 เยนซะอีก
เหรียญ 10 เยนนั้นทำจากสำริดและมีลวดลายเป็น หอโฮโอโด แห่งวัดเบียวโดอิน (Hoodo, Byodoin) วัดมรดกโลกในจังหวัดเกียวโต
กิจกรรมที่คาดไม่ถึงที่ขาดเจ้าเหรียญ 10 เยนไปไม่ได้เลยก็คือ ตอนที่จะใช้โทรศัพท์สาธารณะนั่นเองค่ะ โทรศัพท์สาธารณะนั้นใช้ได้แค่เหรียญ 10 เยนและเหรียญ 100 เยนเท่านั้น เหรียญ 10 เยน 1 เหรียญสามารถใช้โทรเข้าโทรศัพท์บ้านธรรมดาภายในประเทศญี่ปุ่นได้ประมาณ 1 นาทีและในช่วงกลางคืนก็สามารถโทรได้ประมาณ 80 วินาทีเลยล่ะค่ะ
ฟังแล้วอาจจะเรโทรย้อนยุคไปสักนิด แต่เราก็ยังมีโอกาสใช้เหรียญ 10 เยนได้ในอีกหลากหลายโอกาสนะ!
เหรียญ 5 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีทอง มีรูตรงกลาง เป็นเหรียญเดียวที่ไม่มีตัวเลขอารบิก
เหรียญ 5 เยนเป็นอีกเหรียญที่มีรูตรงกลางนอกจากเหรียญ 50 เยน ซึ่งถือว่าออกแบบมาแปลกกว่าเหรียญอื่น
5 เยน ในภาษาญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า "โกะเอ็น" ซึ่งไปพ้องกับคำว่า 御縁 ที่แปลว่าโชคชะตา คนญี่ปุ่นจึงเชื่อว่าเหรียญ 5 เยนนั้นเป็นเหรียญนำโชค และนิยมใช้ในการทำบุญต่างๆ อย่างเวลาใส่เหรียญก่อนไหว้ขอพรที่วัดหรือศาลเจ้า
เหรียญ 1 เยน
จุดสังเกต : เหรียญสีเงิน เล็กและเบาที่สุด จนเหมือนไม่ได้ถืออะไรเลย!
เหรียญ 1 เยนทำจากอลูมิเนียมและมีน้ำหนักเพียง 1 กรัม แต่ต้นทุนการผลิตเหรียญ 1 เยน สูงถึง 3 เยนเลยทีเดียว!
ที่ญี่ปุ่นมีคำสุภาษิตกล่าวไว้ว่า "คนที่หัวเราะกับ 1 เยนก็จะต้องร้องไห้เพราะ 1 เยน" นั่นหมายความว่า "ต้องให้ความสำคัญกับเงินเเม้ว่าจะเป็นเงินเพียงแค่ 1 เยนก็ตาม" ตอนนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 8% เวลาซื้อของ ราคาก็มักจะไม่พอดีที่เลขศูนย์ เช่นเป็น 108 เยนบ้างหละ 216 เยนบ้างหละ เลยต้องใช้เหรียญ 1 เยนมากขึ้น
เทคนิคการสังเกตเงินญี่ปุ่นอย่างง่ายๆ
ดูเหรียญมากันเยอะจนอาจจะงงแล้ว เราขอรวมวิธีสังเกตง่ายๆ มาไว้ในที่เดียว เวลาต้องจ่ายเงินจะได้คล่องอย่างกับเป็นคนญี่ปุ่นเลย!
ธนบัตร 10,000 เยน : ใบใหญ่ที่สุด มีคุณลุงสีเทาด้านหน้า นกด้านหลัง
ธนบัตร 5,000 เยน : ผู้หญิงสีม่วงๆ
ธนบัตร 2,000 เยน : ไม่มีรูปคนชัดๆ ถ้าเจอเก็บไว้เลยนะ!
ธนบัตร 1,000 เยน : ใบเล็กที่สุด รูปผู้ชายมีหนวด สีน้ำเงินๆ
เหรียญ 500 เยน : เหรียญใหญ่ๆ สีทองอ่อน
เหรียญ 100 เยน : สีเงิน มีดอกซากุระ
เหรียญ 50 เยน : สีเงิน มีรู
เหรียญ 10 เยน : สีทองแดง
เหรียญ 5 เยน : สีทอง มีรู
เหรียญ 1 เยน : สีขาวๆ เบาโหวง
การแปลงเงินเยนเป็นบาทคร่าวๆ อย่างรวดเร็ว
100 เยนมีมูลค่าราว 29 - 30 บาท (ธันวาคม 2020)
เวลาไปช้อปตามร้านขายยา เห็นโฟมล้างหน้าหรือน้ำตบลดราคา แต่ไม่รู้ว่าคิดเป็นเงินไทยกี่บาท วิธีแปลงเงินเยนเป็นเงินบาทแบบคร่าวๆ ที่เร็วที่สุดคือ เอาราคาเยน ÷ 3 ค่ะ
เช่น ของราคา 3,000 เยน ก็เอามาหาร 3 คือราคาไทยประมาณไม่เกิน 1,000 บาทนั่นเอง! ถ้าคิดตามค่าเงินจริงๆ แล้ววิธีนี้จะได้ราคาแพงกว่าราคาจริงนิดหน่อย แต่เป็นวิธีที่ง่ายและเร็วดีค่ะ
แต่ถ้าหากใครมีเครื่องคิดเลขหรือมือถืออยู่ใกล้มือ ก็สามารถคำนวณแบบแม่นยำมากขึ้นได้โดยการใช้สูตร ราคาเยน x 0.3
* ตัวเลข 0.3 มาจากเรทเงิน 100 เยน = 30 บาท ถ้าเรทเงินที่แลกได้อยู่ที่ 100 เยน = 29 บาท ก็เปลี่ยนเป็น ราคาเยน x 0.29
รู้จักประเภทเงินเยนไว้ ไปเที่ยวได้อุ่นใจกว่าเดิม!
ถ้าเรารู้ว่าเงินเยนมีเหรียญและธนบัตรแบบไหนแล้ว เวลาไปเที่ยวก็ไม่ต้องกังวลเรื่องจ่ายเงินผิด แถมยังหยิบง่ายจ่ายคล่องอีกต่างหาก
ช้อปสนุกแบบนี้ อย่าลืมคอยมองในกระเป๋าตังด้วยนะว่าเหลือเงินอยู่อีกเท่าไหร่!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
*บทความนี้แปลและเรียบเรียงใหม่จากบทความที่แปลโดย Nuu Benjaporn
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง