เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่น งบเท่าไหร่ ไปเมื่อไหร่ เที่ยวที่ไหนดี เรามาแนะแนวทางกัน!

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

จะไปญี่ปุ่นครั้งแรกหรือครั้งใด ก็ยังกลุ้มว่าจะเริ่มวางแผนอย่างไร จะไปไหน เมื่อไหร่ดี หรือต้องเตรียมเงินสักเท่าไหร่นะ? MATCHA ขอรวมข้อมูลมาแนะนำแนวทางไปตะลุยญี่ปุ่นตั้งแต่วางแผนยันเท้าแตะพื้นสนามบินญี่ปุ่นเลย!

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

"ญี่ปุ่น" ถือเป็นเป้าหมายในฝันที่หนึ่งของคนไทยเลย! ปัจจุบันนี้ที่ญี่ปุ่นเปิดฟรีวีซ่าให้กับเรา แถมสายการบินก็แข่งกันทำโปรโมชั่น พร้อมด้วยสายการบินโลว์คอสต์ก็เปิดเส้นทางกันใหญ่ ทำให้การไปญี่ปุ่นเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะ แต่ ... จะไปญี่ปุ่นครั้งแรกหรือครั้งใด ก็ยังกลุ้มว่าจะเริ่มวางแผนอย่างไร จะไปไหน ไปเมื่อไหร่ดี หรือต้องเตรียมเงินสักเท่าไหร่นะ?
เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น MATCHA ขอรวมข้อมูลมาแนะนำแนวทางไปตะลุยญี่ปุ่นตั้งแต่วางแผนยันเท้าแตะแผ่นดินญี่ปุ่นเลยค่ะ!

สารบัญ

เริ่มต้นวางแผน
ข้อมูลเบื้องต้นของญี่ปุ่นที่มีผลกับการเที่ยว

富士山が見られる場所

ภาพจากบทความ 24 จุดถ่ายรูปวิวภูเขาไฟฟูจิ (โตเกียว・คานากาว่า・ยามานาชิ・ชิสึโอกะ)

ก่อนอื่นมารู้จักกับญี่ปุ่นแบบพื้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไปเที่ยวดีกว่าค่ะ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ข้ามทะเลไปด้วยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง และเพราะอย่างนี้เองญี่ปุ่นจึงมีเวลาเร็วกว่าเรา 2 ชั่วโมงค่ะ ฉะนั้นหากหนีเพื่อนที่ทำงานไปเที่ยว ตอนเราทานข้าวเย็นที่ญี่ปุ่นสัก 6 โมงเย็น เพื่อนๆ ในออฟฟิศที่ไทยจะยังนั่งทำงานไปจิบกาแฟตอนบ่าย 4 โมงไปอยู่เลย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 4 เกาะ และเกาะเล็กน้อยอีกมากมาย ไล่จากทางเหนือสุดก็คือ เกาะฮอกไกโดที่เรารู้จักกันดี ต่อมาคือเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะหลักใหญ่ที่สุดที่มีโตเกียว โอซาก้าต่างๆ นั่นเอง ตามมาด้วยเกาะชิโกกุ (เช่น โทคุชิมะ) และเกาะคิวชู (เช่น ฟุกุโอกะ คุมาโมโตะ) ลงใต้ไปกว่านั้นคือหมู่เกาะริวกิวซึ่งก็คือโอกินาว่านั่นเอง สภาพอากาศนั้นพูดง่ายๆ คือ ยิ่งเหนือยิ่งหนาว ทำให้ฮอกไกโดเป็นเมืองหิมะที่มีหิมะตกหนา นาน สวยงาม ในขณะที่โอกินาว่านั่นไม่มีหิมะและเป็นหาดสวรรค์หน้าร้อนในสายตาคนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นประกอบไปด้วย 4 ฤดู เริ่มจาก เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์จะเป็นฤดูหนาว เดือนมีนาคม - พฤษภาคมจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ เดือนมิถุนา - สิงหาคมเป็นฤดูร้อน และเดือนกันยายน - พฤศจิกายนเป็นฤดูใบไม้ร่วง อากาศในหนึ่งปีก็จะไล่ตั้งแต่ หนาว > อุ่น > ร้อน > อุ่น > หนาวอีกที นั่นเอง

หน่วยเงินที่ใช้คือ "เยน" (Yen) บางทีก็ย่อกันว่า "JPY" มาจาก Japanese Yen อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราว 30 บาท/100 เยน ผันผวนไปมาเรื่อยๆ ฟังดูเหมือนจะได้กำไร เพราะ 30 บาทได้เงินมาตั้ง 100 เยนแน่ะ! แต่จริงๆ แล้วที่ญี่ปุ่นค่าครองชีพสูงกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว ทำให้วันๆ นึงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ไทยค่ะ

การไปเที่ยวญี่ปุ่นนั้นได้รับยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวเป็นเวลา 15 วันด้วยกัน หากกลับไทยภายใน 15 วัน ก็ไม่ต้องทำอะไรนอกจากจัดกระเป๋า บินไปได้เลย ข้อควรระวังคือจริงๆ แล้วเขาสามารถห้ามเราเข้าประเทศได้ถ้าหากมีเหตุอันน่าเชื่อว่าเราอาจะพยายามเข้าประเทศโดยไม่ใช่การท่องเที่ยว นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่าเราควรเตรียมแผนเที่ยวให้พร้อมเผื่อไว้สำหรับชี้แจงเมื่อถูกสอบถาม

↑ กลับไปที่สารบัญ

เที่ยวญี่ปุ่นเมื่อไหร่ ไปที่ไหนดี

จะตอบว่า "ตอนที่มีเงิน" ก็คงจะกำปั้นทุบดินไป อย่างที่เล่าให้ฟังไปแล้วว่าญี่ปุ่นมีด้วยกัน 4 ฤดู ความแตกต่างของฤดูทำให้มีสิ่งน่าเที่ยวน่าชมแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงค่ะ รวมถึงแต่ละจังหวัดก็มีเสน่ห์ไม่เหมือนกันอีกด้วย! ใครตัดสินใจไม่ได้ ลองมาถามตัวเองว่า "อยากไปทำอะไร" กันดีกว่า

อยากไปชมดอกซากุระ

ถ้าแบบนี้ชัดเจนมากว่าควรจะไปช่วย มีนาคม - เมษายน ค่ะ ตามปกติช่วงสงกรานต์ยังพอมีดอกซากุระบานบ้าง แต่ฟ้าฝนต้นไม้เอาอะไรแน่นอนไม่ค่อยได้ บางทีถ้าอุ่นเร็ว ซากุระบานเร็ว ดอกก็จะโรยเร็วด้วย วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ยิ่งเหนือ อากาศยิ่งเย็น ซากุระก็ยิ่งบานช้า ถ้ามาไม่ทันก็อาจจะปรับแผนเดินทางขึ้นเหนือสักนิดก็ได้ สำหรับสถานที่นั้นขอบอกว่ามีทั่วญี่ปุ่น จะไปที่ไหนก็ได้ สำหรับมือใหม่ขอแนะนำให้เอาที่เที่ยวหลักๆ อย่าง โตเกียว โอซาก้า เกียวโตเป็นหลักก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดหาจุดชมซากุระที่อยากไปเลยจ้า

อยากไปชมใบไม้เปลี่ยนสี

เอื้อเฟื้อภาพโดย:©Akita Prefecture/©JNTO
ภาพจาก : แหล่งแช่ออนเซ็นและชมใบไม้เปลี่ยนสีทั้ง 6 จังหวัดในภูมิภาคโทโฮคุ

แต่ถ้าอยากชมใบไม้สีสดใสสวยงามแบบที่บ้านเราไม่มี แนะนำว่าควรไปช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายนค่ะ ใบไม้แดงนั้นทนทานกว่าซากุระ ก็จะมีระยะเวลาให้ชมได้ยาวนานกว่า และใบไม้จะเปลี่ยนสีเพราะอากาศเย็นลง จึงจะเริ่มเปลี่ยนสีจากทิศเหนือไปทางใต้ ตรงข้ามกับการบานของซากุระ ใบไม้เปลี่ยนสีนั้นชมได้ทั่วประเทศเหมือนกัน แต่เกียวโตในฤดูใบไม้ร่วงถือว่าได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ถึงสวยแต่ก็ต้องตะลุยนักท่องเที่ยวเยอะ ลองชั่งใจดูละกันนะ ส่วนที่เที่ยวใกล้โตเกียวก็จะมีนิกโก้ คามาคุระ และฮาโกเน่ที่นิยมมากเช่นกัน สองสถานที่นี้เดินทางไปกลับในวันเดียวจากโตเกียวได้ หรือจะค้างสักคืนก็ไม่เลวเลย

อยากไปดูหิมะ

ที่เที่ยวดูหิมะในญี่ปุ่น ไปช่วงไหน เมื่อไหร่ดี

สำหรับหิมะนั้นก็ต้องไปช่วงฤดูหนาว! และช่วงที่หนาวสุดๆ ของญี่ปุ่นคือช่วงมกราคม - กุมภาพันธ์ สำหรับพื้นที่เหนือสุดอย่างฮอกไกโดและพื้นที่สูงหลายแห่ง หิมะมักจะตกตั้งแต่ธันวาคมแล้ว แต่ขอเตือนก่อนเลยว่าที่เที่ยวยอดนิยมอย่างโตเกียว โอซาก้าและเกียวโตนั้น ปกติแล้วหิมะแทบไม่ตกเลย! หากใครอยากชมหิมะ แนะนำให้ไปทางเหนือเช่นแถวเซนไดขึ้นไปมากกว่าโดยอาจจะตีรถออกไปจากโตเกียวสัก 2-3 วันก็ยังได้ ใครไปทางโอซาก้าก็เลือกเดินทางไปทางเหนือแถวภูเขา ไปสกีรีสอร์ท ไปฮิดะทาคายาม่า ก็สามารถไปสนุกกับหิมะได้เหมือนกัน อีกที่ที่ไม่น่าพลาดหากอยากเล่นกีฬาฤดูหนาวด้วยก็เช่นยูซาว่า (Yuzawa) ในนีงาตะ (Niigata) เป็นต้น

อยากไปช้อปปิ้ง

心斎橋

ภาพจากบทความ ชินไซบาชิ แหล่งช้อปปิ้งใจกลางโอซาก้า (Shinsaibashi, Osaka)
หากไปเที่ยวเมืองใหญ่ๆ ตามสถานีหลักก็จะมีศูนย์การค้าให้ช้อปอยู่แล้ว รวมถึงสามารถแวะร้านปลอดภาษีตามสนามบินที่ลงเครื่องได้ด้วย ... แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ค่ะว่าเรื่องซื้อของต้องยกให้เมืองใหญ่สุดๆ อย่าง โตเกียว โอซาก้า เลย เพราะมีแหล่งขายของมากมาย ทุกรูปแบบ แถมขนของไปถึงสนามบินก็สะดวกสุดแล้ว ไม่ต้องขนของข้ามหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นร้านยอดนิยม ดองกี้โฮเต้ ร้านขายยา มัตสึโมโตะคิโยชิ ร้านเครื่องสำอางค์ ห้างสรรพสินค้า ร้านขนมชื่อดัง ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแหล่งขายสินค้าการ์ตูนเกมสำหรับโอตาคุ ก็มีครบหมด!

อีกที่ที่อยากแนะนำคือ "นาโงย่า" เมืองใหญ่อันดับสามของญี่ปุ่นที่มีเที่ยวบินตรงจากไทยไปถึงสนามบินชูบุเซนแทรร์ จึงเป็นอีกเมืองที่น่าเที่ยว สะดวกช้อปกลับไทยค่ะ
ถ้าตั้งเป้าจะช้อป แนะนำให้ใส่เมืองเหล่านี้ในแผน โดยเฉพาะให้เป็นวันสุดท้ายก่อนกลับไทยเลยค่ะ

อยากไปเช็คอินที่เที่ยวสุดฮิต

ถ้าอยากไปสถานที่ฮิตๆ ก็คงไม่พ้นโตเกียว เกียวโตกับโอซาก้าค่ะ แถมยังเป็นจังหวัดที่มีสนามบินอีกด้วย ไงๆ ก็ต้องผ่านล่ะ แนะนำว่าลองไล่รายการสถานที่ที่อยากไประหว่างแถวโตเกียว (และโยโกฮาม่า คามาคุระ ไซตามะ ภูเขาฟูจิ ฯลฯ) แถวโอซาก้า (และเกียวโต นารา โกเบ ฯลฯ) ออกมาเพื่อดูว่าจะเลือกเที่ยวฝั่งไหนดี แต่หากใครมีเวลาเที่ยวยาวๆ หน่อย สัก 1 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สามารถจัดทริปแบบ บินลงโอซาก้า - บินกลับจากโตเกียว หรือบินลงโอซาก้า - บินกลับจากโตเกียวได้เหมือนกัน!
ลองตรวจสอบสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมได้จากหน้าหลักของโตเกียวและหน้าหลักของโอซาก้าได้เลย

ไปตามใจอยาก

เหนือสิ่งอื่นใด ไปเที่ยวทั้งทีก็ต้องไปตามที่ใจอยากสิ! หากมีสถานที่ในดวงใจแล้ว เริ่มจากศึกษาวิธีไป และหาสนามบินนานาชาติใกล้เคียง หากจะเอาง่ายๆ ก็เป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินตรงจากไทยอย่างสนามบินคันไซ (โอซาก้า) สนามบินฮาเนดะหรือสนามบินนาริตะ (โตเกียว) สนามบินชูบุเซนแทรร์ (นาโงย่า) และสนามบินฟุกุโอกะ (ฟุกุโอกะ) หลังจากนั้นจึงค่อยคิดว่าจะเอาเวลาที่เหลือจากสถานที่ในดวงใจไปเที่ยวที่ไหนได้อีกบ้าง โดยหาจากสถานที่เที่ยวใกล้เคียง ถ้าหากมีสถานที่อยากไปหลายที่อาจจะต้องลองดูระยะห่างต่อกัน แล้วค่อยวางแผนว่าจะเดินทางจากไหนไปไหนอย่างไรค่ะ

อีกสองที่ที่มีเที่ยวบินตรงคือสนามบินนาฮะ (ในโอกินาว่า) และสนามบินชินจิโตเสะ (New Chitose) ในฮอกไกโด อาจจะไม่สะดวกในการเที่ยวส่วนอื่นของญี่ปุ่นต่อเท่าไหร่ แต่ถ้ามีเป้าหมายอยู่ที่สองที่นี้ก็เหมาะจะใช้บริการมากค่ะ

↑ กลับไปที่สารบัญ

เที่ยวญี่ปุ่นใช้งบประมาณกี่บาท

ปัญหาโลกแตกอีกอย่างหนึ่งก็คือจะต้องเตรียมเงินสักเท่าไหร่!? แต่ละคนก็มีวิธีเที่ยวและความล่ำซำต่างกัน คำถามนี้จึงยากจะฟันธงลงไป แต่เราก็พอจะมาอธิบายเป็นอย่างๆ ให้เห็นภาพกันค่ะ

airplain_20151124

ค่าเครื่องบิน ตามปกติแล้วจ่ายครั้งเดียวเท่านั้น! หากใครมีวาสนาช่วงชิงตั๋วโปรโมชั่นมาได้ อาจได้ถูกถึงแค่ราวไปกลับ 3,000 บาทเลยทีเดียว แม้วาสนาจะไม่ถึงขั้นก็สามารถซื้อตั๋วสารการบินราคาประหยัดหรือตั๋วโปรโมชั่นของสายการบินฟูลเซอร์วิสได้ในราคาประมาณ 10,000 - 13,000 บาท ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินแบบฟูลเซอร์วิสนั้นโดยปกติจะอยู่ที่ไปกลับราวตั้งแต่ 15,000 - 20,000 บาท ทั้งนี้ราคาเครื่องบินนั้นจะแตกต่างไปตามช่วงเวลา ราคาอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ได้อีก สำหรับฤดูกาลที่ตั๋วถูกที่สุดมักจะเป็นช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนและมีฝนเป็นบางช่วงค่ะ

ตั๋วเครื่องบินนั้นถ้าจองล่วงหน้ามักจะได้ราคาถูกกว่า ฉะนั้นควรจองแต่เนิ่นๆ หรือไม่ก็ติดตามข่าวสารโปรโมชั่นกันให้ดีนะ

ค่าที่พัก ที่พักในญี่ปุ่นมีหลากแบบหลายราคา ในเมืองใหญ่มักจะมีราคาแพงกว่า แนะนำให้เลือกประเภทที่พักให้เหมาะกับงบ ความสะดวก รสนิยม และผู้ร่วมทีมเที่ยวของเราค่ะ ถ้าหากว่างบไม่เยอะ อาจใช้บริการเป็นโฮสเทลหรือโรงแรมแคปซูลที่มีราคาถูกมาก บางครั้งอาจตกราคาคืนหนึ่งไม่ถึง 1,000 บาท แต่หากชอบความเป็นส่วนตัวหรือมากันหลายคน อาจเลือกเป็นโรงแรมแบบบิซิเนสโฮเตลแทน โดยปกติแล้วจะราคาคืนละ 1,000 บาทขึ้นไป หรือถ้าอยากสัมผัสประสบการณ์แบบญี่ปุ่นอาจเลือกนอน "เรียวกัง" ที่พักแบบญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ราคาจะเริ่มตั้งแต่ราวๆ 2,000 บาทไปจนถึงแบบหรูหราราคาแพงมากๆ เลยก็มี และถ้าใครมาเป็นกลุ่มใหญ่หน่อยก็สามารถพักพวก Airbnb ที่เหมือนได้บ้าน/คอนโดไปเลยห้องนึงก็ดีไปอีกแบบ

หากเป็นสายช้อปปิ้ง แนะนำว่าควรเลือกที่พักที่ใกล้สถานีรถไฟ เพราะเราอาจะต้องแบกของหนักทั้งระหว่างทริปและวันที่ขนของไปสนามบินก็ได้ แต่ถ้าหากเป็นสายเดินเล่นชิลล์ๆ จะหาที่พักห่างจากสถานีสักนิด (แนะนำไม่เกิน 10 นาที) ราคาที่พักมักจะถูกลงอีกเล็กน้อยค่ะ
*ที่กล่าวมาเป็นราคาต่อคน/คืน โดยประมาณเท่านั้น

จากบทความ นั่งรสบัสไม่จำกัดจำนวนเที่ยวด้วย Japan Bus Pass
ค่าเดินทาง แบ่งคำนวณเป็นการเดินทางต่างจังหวัดซึ่งมักแพง และการเดินทางภายในตัวเมือง การเดินทางต่างเมืองแนะนำให้ทำการตรวจสอบไว้ตั้งแต่วางแผนว่าจะเที่ยวที่ไหนบ้างเลยค่ะ ส่วนการเดินทางภายในเมืองนั้น ตีซะวันนึงไม่เกิน 1,000 - 2,000 เยน (300-600 บาท) แล้วแต่จำนวนที่เที่ยวต่อวัน บางสถานที่อาจมีตั๋วฟรีพาสแบบวันให้ใช้ด้วย อย่างเช่น จากชินจูกุไปชิบูย่าค่ารถแค่ 160 เยน และจากชิบูย่าไปอาซากุสะ ค่ารถเพียงแค่ 240 เยนเท่านั้น เที่ยวในโตเกียววันหนึ่งสัก 2-3 ที่ ค่ารถไม่น่าเกิน 1,500 เยนค่ะ

ค่าอาหาร (ต่อวัน) ค่าอาหารเป็นอีกอย่างที่แต่ละคนใช้จ่ายไม่เท่ากัน หากจะคำนวณคร่าวๆ ก็ลองดูจากสไตล์การทานตามนี้ได้เลย ข้าวปั้น ขนมปังร้านสะดวกซื้อ 100 - 300 เยน เครื่องดื่มขวดละ 100-200 เยน ร้านอาหารจานด่วน (เช่น ข้าวหน้าเนื้อ) 500 - 700 เยน ร้านอาหารทั่วไป (มื้อกลางวัน) 800 - 1,300 เยน ร้านอาหารทั่วไป (มื้อเย็น) 1,500 - 2,500 เยน คาเฟ่หรือร้านขนม 1,000 - 2,000 เยน ร้านอาหารระดับที่ค่อนข้างแพงจะอยู่ที่คนละราว 4,000 เยนเป็นต้นไปค่ะ
หากคิดว่าในหนึ่งวันจะทานมื้อเช้าง่ายๆ มื้อกลางวันหาตามสถานที่ท่องเที่ยว มื้อเย็นทานดีๆ หน่อย ก็จะอยู่ที่ราว 300+200+1,300+2,500 = 4,300 เยน (ราวๆ 1,290 บาท) /คน /วัน

จากบทความ 9 ขนม ที่ซื้อเป็นของฝากได้ที่มินิมาร์ทหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่แน่นอนเช่น ช้อปปิ้ง ซื้อของฝาก ซื้อของที่ระลึก ถือว่าระบุยาก ของฝากนั้นอาจจะกะประมาณได้ตอนที่เช็ครายการของฝากน่าสนแล้วคูณราคากับจำนวนคนที่คิดว่าจะซื้อฝากเลย ส่วนของที่่ระลึกต่างๆ ถ้างบจำกัดอาจต้องกำหนดงบเอาไว้ แล้วใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ใครอยากประหยัดก็หาของน่ารักๆ จากร้านร้อยเยนเป็นของฝาก พวกขนมห่อเล็กๆ ราคาอยู่ที่ 100-300 เยน หากเป็นขนมกล่องๆ สวยๆ ตามร้านขนมหรือร้านของฝากมีตั้งแต่ราคา 800 - 5,000 เยน แล้วแต่ขนาดกับยี่ห้อ เช่น โตเกียวบานาน่าแบบ 12 ชิ้น ราคา 1,543 เยน ช็อคโกแลตสดของ Royce ราคากล่องละ 778 เยน เป็นต้น

↑ กลับไปที่สารบัญ

สถานที่เที่ยวยอดนิยมสำหรับมือใหม่

สถานที่เที่ยวยอดนิยมนั้นเหมาะกับมือใหม่หัดเที่ยวตรงที่หาข้อมูลง่าย รวมถึงคนในพื้นที่ ร้านค้ามักจะเจอกับคนต่างชาติเยอะอยู่แล้ว จึงค่อนข้างให้บริการได้ สื่อสารภาษาต่างประเทศได้บ้าง สถานีรถไฟ ป้ายบอกทางก็มีภาษาอังกฤษกำกับ หากใครอยากลองเริ่มเที่ยวแบบมือใหม่ๆ ขอแนะนำให้ลองเช็คสถานที่เหล่านี้ว่าถูกใจหรือไม่แล้วจัดแผนเลยจ้า โดยจะขอแบ่งญี่ปุ่นออกคร่าวๆ เป็น โซนตะวันออก (คันโต - โตเกียว) โซนตะวันตก (คันไซ - โอซาก้า) และโซนทางเหนือ (ฮอกไกโด)

โซนตะวันออก เน้นไปทาง "ภูมิภาคคันโต" มีจังหวัดหลักๆ ที่ทุกคนรู้จักแน่นอนก็คือโตเกียวนี่เอง! สถานที่เที่ยวในโตเกียวมีหลากหลาย แล้วแต่สไตล์เที่ยวเลย ที่เด่นๆ ก็ได้แก่ อาซากุสะที่มีวัดเซนโซจิ ช้อปปิ้งทุกสิ่งก็ต้องไปชินจูกุ ชิบูย่า หรืออิเคะบุคุโระก็มีร้านมากมาย ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าการ์ตูนก็ไปที่อากิฮาบาระ ช้อปปิ้งของราคาสุดคุ้มที่อุเอโนะ ชมวิวและช้อปปิ้งไปโอไดบะ ดูเมืองสวยๆ ไฮโซซื้อของก็กินซ่า นอกจากนี้ยังมีแลนด์มาร์คอย่างหอคอยโตเกียวและโตเกียวสกายทรี แล้วอย่าลืม Tokyo Disneyland และ Tokyo Disney Sea ด้วยล่ะ!
นอกจากโตเกียวแล้ว จังหวัดอื่นๆ ที่ไปเที่ยวได้ก็อย่างเช่น เมืองท่าโยโกฮาม่า เมืองเก่าคามาคุระ เมืองออนเซ็นและภูเขาฮาโกเน่ เมืองมรดกโลกนิกโก้ เมืองเก่าคาวาโกเอะ เมืองสกียูซาว่า หรือจะไปทะเลสาปคาวากุจิโกะ ไปชมภูเขาไฟฟูจิก็ได้

โซนตะวันตก เน้นไปทาง "ภูมิภาคคันไซ" ที่โด่งดังสุด ก็คือ โอซาก้าและเกียวโต อยากช้อปกระจาย ทานของอร่อย โอซาก้ามีทั้งโดทงโบริ ชินไซบาชิ หรือจะไปชมปราสาทโอซาก้าก็ดี แต่ถ้าใครอยากเต็มอิ่มกับเมืองเก่าก็ต้องไปเกียวโตเลย จังหวัดอื่นๆ รอบข้างก็มีหลายรสให้เลือกสรร อยากชมเมืองเก่า สวนกวาง พระใหญ่ให้ไปนารา ชมวัดเก่ามรดกโลกไปวากายามะ (วัดโคยะ) หรือจะไปเมืองท่ากับบรรยากาศฝรั่งนิดๆ ก็ไปโกเบได้ด้วยนะ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสวนสนุก Universal Studio Japan (USJ)!

ราวๆ กึ่งกลางของสองโซนยังมี "นาโงย่า" ในจังหวัดไอจิ ที่ตอนนี้มีเที่ยวบินตรงแล้วเหมือนกัน นาโงย่าเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของญี่ปุ่นรองจากโตเกียวแลโอซาก้าเลย จะเที่ยวนาโงย่าไปด้วยแล้วเดินทางไปไหนต่อก็ดีนะคะ

ส่วนโซนทางเหนือ ที่คนไปกันเยอะสุดก็ต้อง "ฮอกไกโด" อยู่แล้ว ใครอยากเจอหิมะเต็มๆ อย่าพลาดที่นี่! ส่วนในฤดูร้อนก็จะมีทุ่งลาเวนเดอร์ อากาศกำลังสบาย ที่นี่อาหารทะเลอร่อย บรรยากาศสุดโรแมนติก มีวิวกลางคืนที่ติดอันดับว่างดงามที่สุดในโลกด้วย

*ภูมิภาคของญี่ปุ่นมีมากกว่านี้ บทความนี้เพียงเลือกเฉพาะที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมานำเสนอเท่านั้น

↑ กลับไปที่สารบัญ

ควรใช้ JR Pass หรือไม่

อีกหนึ่งคำถามยอดนิยมเลยคือ ทริปของฉันควรซื้อ JR Pass ไหม? อาจะเพราะเจ้า JR Pass นี่มันดูสะดวกสบาย แต่ถ้าไม่ศึกษาสักหน่อย เราอาจจ่ายแพง ใช้ไม่คุ้มก็ได้นะ

JapanRailPass_20151124

ประการแรกคือ JR Pass เป็นตั๋วฟรีพาสแบบนั่งไม่อั้นในขอบเขตที่กว้างมาก ใบที่เรียกง่ายๆ ว่า JR Pass นั้นครอบคลุมแทบจะทั่วญี่ปุ่นเลย ราคาจึงสูงที่ 29,110 - 81,870 เยน แล้วแต่จำนวนวันและประเภทที่นั่ง ฉะนั้นหากเราไม่เดินทางระยะไกลๆ ด้วยรถไฟด่วนหรือชินคังเซ็น ก็ถือว่าไม่มีทางคุ้มแน่นอน
แต่หากเราเที่ยวหลายจังหวัดที่ระยะทางไม่ห่างกันมาก ก็มักจะมีฟรีพาสของแต่ละท้องถิ่นให้เลือกใช้เช่นกัน อย่าง JR ก็มี JR Hokkaido Pass ใช้ในฮอกไกโด หรือ Tohoku Pass สำหรับภูมิภาคโทโฮคุ (เซนได มิยางิ อาโอโมริ เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีบัตรของเจ้าอื่นๆ เช่น KANSAI THRU PASS สำหรับใช้ในคันไซ (โอซาก้า เกียวโต นารา เป็นต้น) 

ฉะนั้นแทนที่จะซื้อพาสเลย แนะนำให้ลองคิดค่าเดินทางข้ามจังหวัดว่าเท่าไหร่ หากแพงหรือถูกกว่าพาสเพียงเล็กน้อย แนะนำให้ซื้อพาสเลย เพราะพาสนั้นใช้งานแสนสะดวกแถมมักใช้กับพาหนะในท้องถิ่นได้ด้วย แต่ถ้าคิดออกมาแล้วยังถูกกว่าพาสมาก ก็ไม่ต้องซื้อพาส ไปทำบัตรเติมเงิน IC CARD ไว้แปะตื้ดๆ เป็นรอบๆ แทนดีกว่า

ข้อควรระวัง
คือ พาสเหล่านี้จะใช้ได้แค่เฉพาะบริษัทที่ร่วมด้วยเท่านั้น อย่าง JR Pass จึงมักจะใช้ได้แค่รถไฟของ JR แต่ใช้กับรถไฟท้องถิ่น รถไฟใต้ดินไม่ได้ จีงควรอ่านรายละเอียดการใช้งานให้ดี

↑ กลับไปที่สารบัญ

ได้เวลาจองแต่ละอย่างแล้ว!

จองตั๋วเครื่องบินและที่พัก เมื่อคิดได้แล้วว่าจะไปที่ไหน มีงบไปสักกี่วัน ก็ได้เวลาของการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักกันก่อนเลย!
สำหรับตั๋วเครื่องบินนั้นเดี๋ยวนี้มีจุดจำหน่ายมากมาย ทั้งติดต่อผ่านเอเยนต์ บริษัททัวร์ ซื้อโดยตรงจากสายการบิน เราอาจใช้บริการเว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบินราคาถูกที่เดี๋ยวนี้มีบริการมากมาย และขอแนะนำให้ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นของสายการบินต่างๆ ด้วย แต่อย่าลืมว่าตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษต่างๆ มักจะเลื่อนวันเดินทางไม่ได้ หรือมีค่าใช้จ่ายในการเลื่อน หากยังไม่แน่ใจเรื่องวันเดินทาง การซื้อตั๋วโปรโมชั่นอาจจะมีความเสี่ยงนะคะ
ส่วนการจองที่พักก็สามารถทำได้ทั้งการติดต่อโดยตรงหรือผ่านเว็บไซต์เอเยนต์เช่นกัน ที่พักมีให้เลือกหลายแบบ เลือกให้เหมาะกับงบประมาณและความชอบตนเองได้เลย รวมถึงเลือกสถานที่ที่คิดว่าสะดวกโดยอย่าลืมคำนึงเรื่องการไปสนามบินด้วยนะคะ

จองตั๋วต่างๆ หรือซื้อตั๋วรถไฟ หากแผนแน่นอนแล้ว หากแผนเที่ยวแน่นอน ไม่เปลี่ยนใจแล้ว ก็อาจจองตั๋วต่างๆ ที่จำเป็นได้เลย เพราะตั๋วบางอย่างสามารถซื้อล่วงหน้าได้ แถมตั๋วรถไฟบางชนิดที่ขายเพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น พวก JR Pass ทั้งหลาย จะมีราคาถูกกว่าเมื่อซื้อจากตัวแทนจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยนะ ส่วนอีเวนท์ พิพิธภัณฑ์ สวนสนุก หรือรถบัสทางไกล บางทีอาจต้องซื้อตั๋วล่วงหน้า อย่าลืมเช็ควิธีการซื้อตั๋วและเงื่อนไขว่าซื้อตั๋วได้ล่วงหน้าก่อนวันไปกี่วัน จะได้เตรียมตัวซื้อตั๋ว ไม่พลาดเที่ยวกัน

↑ กลับไปที่สารบัญ

เอาไงกับอินเตอร์เน็ทดี? ซิมการ์ด? Pocket Wifi?

การมีอินเตอร์เน็ทระหว่างเที่ยวนอกจากจะสะดวกในการติดต่อกับคนที่ไทยหรืออัพภาพสวยๆ ลงโซเชียลแล้ว ก็ยังเป็นตัวช่วยที่ดีเวลาต้องการดูแผนที่อีกด้วย แต่ก็จะมีคำถามลอยมาเสมอว่าจะเลือกใช้บริการแบบไหนดี

インターネット事情まとめ

Pocket Wifi นั้นมีข้อดีตรงที่มักจะใช้เน็ทได้ไม่จำกัดเลย แถมยังเชื่อมต่อได้ทีละหลายๆ เครื่อง รวมถึงปกติมักจะไม่ต้องเซ็ตติ้งอะไรให้ยุ่งยากมากมาย ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 100 - 300 บาท/วัน
อาจจะไม่สะดวกนิดตรงที่ต้องจองล่วงหน้า แต่ต้องระวังเรื่องการรับ - ส่งคืนของว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงต้องคอยชาร์จแบตเตอร์รี่ ต้องพกพาเครื่องเป็นสัมภาระเพิ่มอีกอย่าง ต้อบคอยระวังหายด้วย 

ส่วนซิมการ์ดนั้นมีข้อดีที่สะดวกสบาย เอาใส่มือถือหรือ Tablet ตัวเองได้เลย ไม่มีสัมภาระอะไรให้พกเพิ่ม เที่ยวเสร็จก็ไม่ต้องคืนของหรือทำอะไรเป็นพิเศษด้วย สำหรับวิธีการก็ยังมีอีก 2 แบบ คือ เปิดบริการ roaming ของโทรศัพท์มือถือตนเอง หรือจะไปซื้อซิมการ์ดสำหรับนักท่องเที่ยวของที่ญี่ปุ่นใช้ ไม่ต้องจองล่วงหน้าแล้วลุ้นว่ามีของหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณวันละ 300 บาท สำหรับการ roaming หรือประมาณ 1,000 บาท/7 วันสำหรับการซื้อหาซิมเน็ทที่ญี่ปุ่น (ราคาแล้วแต่แพคเกจและผู้ให้บริการ)
แต่จะมีข้อเสียที่ บางทีอาจต้องตั้งค่า คนไม่คุ้นเคยอาจจะลำบากหน่อย และมักจะจำกัดการใช้งาน ถ้ามาใช้ซิมของญี่ปุ่น คนก็จะโทรเข้ามาหาเราด้วยเบอร์ของไทยไม่ได้ (เพราไม่ได้ใส่ซิมไทยไว้) รวมถึงหลักๆ แล้วก็ใช้งานแค่ตัวเองคนเดียว ไม่เหมาะกับการแชร์ให้คนหลายๆ คนใช้

ลองดูความต้องการของตัวเราและทีมเที่ยว แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะกับทริปตัวเองได้เลย
เช่น หากมีช่วงที่สมาชิกแยกย้ายกัน ก็อาจจะเหมาะใช้เป็นซิมการ์ดมากกว่า แต่ถ้าตัวติดกันตลอดและอยากประหยัดงบก็ใช้ Pocket Wifi แล้วหารกัน หรือถ้าไม่อยากให้เจ้านายโทรตามได้ก็ซื้อซิมญี่ปุ่นใส่เลย!

↑ กลับไปที่สารบัญ

ก่อนออกเดินทาง

พอวันเดินทางใกล้เข้ามา มีหลายสิ่งที่ต้องเตรียมหรือระวังกันด้วยนะ

อัพเดทข้อมูลหรือเตรียมรายละเอียดปลีกย่อย

มาถึงจุดนี้แล้ว ก็เรียกว่าแผนเที่ยวญี่ปุ่นของเราเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วล่ะ! ที่เหลือก็แค่ตามเก็บข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจจะคอยตามอัพเดทสภาพอากาศ การบานของดอกไม้ หรือสถานที่เที่ยว ร้านอาหารน่าสนใจ เผื่อปรับแผนไปได้ถ้าเจออะไรที่น่าสนใจกว่า เราขอแนะนำให้ลองเช็ค "ของฝากที่น่าซื้อ" เตรียมเอาไว้ด้วยก็ดีนะ จะได้ไม่พลาดของน่าสนใจหรือของฝากที่ถูกใจคนอื่น และถ้าไม่แน่ใจ กลัวหลง กลัวพลาด ก็ทำแผนเที่ยวโดยละเอียด จากไหนไปไหน ต้องเดินอย่างไร ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ เตรียมไว้เลยก็ได้

แลกเงิน

เงินๆ ทองๆ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลังจากคำนวณเงินที่จะใช้คร่าวๆ แล้ว โดยสามารถแลกได้ตามธนาคาร หรือที่สนามบิน แต่หากมีเวลา เดี๋ยวนี้ร้านแลกเงินใหญ่ๆ ก็มีหลายที่ที่มักจะให้เรทดีกว่าที่อื่นๆ
หากใครไม่ชัวร์ แนะนำให้เตรียมบัตรเครดิตหรือเงินบาทไปอีกนิด เผื่อเงินไม่พอจะได้ไปแลกเงินเพิ่มเติมที่ญี่ปุ่นได้ค่ะ
ที่ญี่ปุ่นนั้นหากเป็นร้านที่ค่อนข้างบ้านๆ หลายร้านจะยังไม่รับบัตรเครดิต จึงควรเตรียมเงินสดไปให้เพียงพอ แต่ถ้ากะว่าจะไปช้อปกระหน่ำตามร้านยอดนิยม ทำขอภาษีคืน (Duty Free) ร้านพวกนั้นมักจะใช้บัตรเครดิตได้ ก็อาจเตรียมเงินสดไปน้อยหน่อย
เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนขี้ลืม ชอบทำของหายคือ ถ้ามีเงินก้อนใหญ่ก็อย่าเก็บรวมไว้ที่เดียวหมด แต่ให้แยกเก็บไว้หลายที่ หรือแบ่งเก็บกับเพื่อนร่วมทริป เกิดหายขึ้นมาจริงๆ จะได้ไม่หมดตัวจ้า

อย่าลืมประกันการเดินทาง

อุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ! เหมือนที่เราเคยอ่านข่าวคนไปป่วยหนักกระทันหันที่ญี่ปุ่นแล้วไม่มีเงินค่ารักษา หรือไม่ต้องถึงขั้นนั้น แค่อาจจะไปเจออากาศเปลี่ยนแล้วต้องไปหาหมอ การมีประกันเดินทางจะช่วยให้สบายใจได้ทั้งเรื่องเจ็บป่วยที่ญี่ปุ่น หรือเริ่มตั้งแต่สนามบินที่ประกันนี้จะช่วยชดเชยให้เราในกรณีที่เครื่องบินล่าช้า ยกเลิก ไปจนถึงกระเป๋าเดินทางเสียหาย หรือหายจ้อยไปเลย ...
สมัยนี้ประกันเดินทางมีราคาไม่แพงมาก เริ่มต้นตั้งแต่ราว 300 บาทไปจนถึงประมาณ 1,000 บาท

โหลดแอปพลิเคชั่น MATCHA (และที่จำเป็นอื่นๆ)

เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่น งบเท่าไหร่ ไปเมื่อไหร่ เที่ยวที่ไหนดี เรามาแนะแนวทางกัน

(แอปพลิเคชั่นของ MATCHA มีทั้งใน Android และ iPhone รวมถึงสามารถปรับเป็นภาษาไทยได้)

ได้เวลาโฆษณาแอปของ MATCHA! แค่โหลดแอปพลิเคชั่นของเราเอาไว้ ก็สามารถเช็คสถานที่เที่ยวน่าสนใจได้ตลอดเวลาในมือเลยนะ
นอกจากนี้ยังอาจโหลดแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการเดินทาง เช่น Hyperdia ที่เอาไว้เช็ครถไฟ หรือแอปพลิเคชั่นแปลภาษาอย่างง่ายๆ ค่ะ

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น MATCHA iOS | Android

↑ กลับไปที่สารบัญ

เตรียมสัมภาระขึ้นเครื่องและโหลดใต้เครื่อง

การจัดสัมภาระเองก็สำคัญมากเหมือนกัน การเดินทางไปต่างประเทศนั้นมีข้อห้ามทั้งจากประเทศนั้นๆ และสายการบิน การจะจัดกระเป๋าแนะนำให้ลองดูตามนี้นะ

นอกจากสิ่งผิดกฏหมายที่ก็แน่นอนว่าห้ามพกพาไปแล้ว สิ่งของต้องห้ามในการไปญี่ปุ่นและขึ้นเครื่องบิน ได้แก่ ของมีคม อาวุธต่างๆ วัตถุไวไฟ สินค้าปลอม ที่ควรระวังมากคือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ต่างๆ ไส้กรอก ไส้อั่ว พวกนี้ไม่ได้หมด ผักผลไม้ที่ไม่มีใบรับรอง บางคนอยากเอาไปเป็นของฝากหรือกลัวทานอาหารญี่ปุ่นไม่ได้ ไม่ถูกปากระหว่างเที่ยว ควรพกพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือน้ำจิ้มโดนใจไปจะดีกว่าค่ะ ส่วนใครที่ทานยาอยู่ ควรมีใบรับรองแพทย์สำหรับยานั้นๆ หรือถ้าซื้อยาเองจากร้านก็ควรถือยามาทั้งบรรจุภัณฑ์เลย ไม่ควรแกะเป็นเม็ดๆ ใส่ซองไว้เฉยๆ

ข้าวของที่จะถือขึ้นเครื่อง (carry on) จะมีข้อระวังหลายอย่างเลยค่ะ อย่างแรกคือน้ำหนัก โดยปกติอยู่ที่ไม่เกิน 7 กิโลกรัม ขนาดกระเป๋าประมาณ 20 นิ้ว ขนาดและน้ำหนักที่กำหนดของแต่ละสายการบินจะแตกต่างกันเล็กน้อย ลองตรวจสอบกับสายการบินเอาไว้ค่ะ เนื่องจากถ้าใส่ของเต็มที่ถึง 7 กิโลกรีม ถือว่าหนักเหมือนกัน อาจจะใช้กระเป๋าแบบที่มีล้อลากไปเลยค่ะ นอกจากกะเป๋าใบนี้แล้วเราสามารถมีกระเป๋าติดตัวใบเล็กได้อีกใบหนึ่งสำหรับใส่ข้าวของส่วนตัวไม่มาก
ส่วนการถือของเหลวสามารถพกได้เพียงชิ้นละไม่เกิน 100 มิลลิตร ยึดตามตัวเลขที่เขียนข้างขวด (ถึงใช้ไปแล้วก็ยึดตามขนาดของขวด) รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร ใส่ในถุงซิปใส (ใส่รวมกันได้) ใครที่จะเตรียมยาสีฟัน สบู่เหลว สำหรับล้างหน้าตอนเช้าไปถึงสนามบิน หรือพกพวกน้ำหอม ให้เตรียมไซส์เล็กไปนะ

แบตเตอร์รี่นั้นห้ามโหลดลงใต้เครื่อง
ฉะนั้นหากใครถือคอมพิวเตอร์โน้ตบุคไป ก็นำใส่กระเป๋าแคร์รี่ออนไปด้วยนะคะ รวมถึงพาวเวอร์แบงค์ที่หากมีความจุไฟฟ้าอยู่ที่ระหว่าง 20,000 – 32,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน หากต่ำกว่านั้นก็ไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าความจุมากกว่า 32,000 mAh จะไม่สามารถนำขึ้นได้ค่ะ

นอกจากนี้เอกสารสำคัญต่างๆ ให้พกติดตัวไปด้วยเลยทั้งพาสปอร์ต แผนเที่ยว หลักฐานการจองต่างๆ หลักฐานที่จะต้องนำไปแลก JR Pass และอื่นๆ

ของที่เหลือสามารถให้โหลดใต้เครื่องไปได้เลยค่ะ เช่น เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับฤดูกาลที่เราจะไป ของใช้ส่วนตัวต่างๆ นานา รวมถึงของเหลวที่มีขนาดเกิน 100 มิลลิลิตรด้วย ไอเท็มที่อยากแนะนำก็คือ ปลั๊กไฟพ่วง ถ้าใครมีอุปกรณ์ต้องเสียบปลั๊กไปเยอะ หรือไปกันหลายคน จะได้ไม่ต้องแย่งกัน และหัวแปลงปลั๊กไฟ เพราะปลั๊กไฟในญี่ปุ่นเป็นแบบขาแบนสองขา ถ้าอุปกรณ์ที่พกไปเป็นขาแบบอื่น ก็ควรมีเตรียมไปนะ

↑ กลับไปที่สารบัญ

ได้เวลาออกเดินทาง ไปสนามบิน!

เตรียมทุกอย่างพร้อม ก็ได้เวลาเดินทางแล้ว ในการไปขึ้นเครื่องขอเตือนเลยว่าให้ตรงต่อเวลานะคะ หากไปเช็คอินสายอาจจะทำให้ตกเครื่อง หรือถ้าไปถึงเกทขึ้นเครื่องช้าก็จะสร้างความลำบากให้เพื่อนร่วมทางด้วย มารักษาเวลากันนะ

เราควรไปถึงสนามบินก่อนเวลาเครื่องขึ้นราวชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมงเพื่อความปลอดภัย เพราะต้องทำการเช็คอินสายการบินและผ่านด่านตรวจ กับเหลือเวลาเดินเล่นชิลล์ๆ ในร้านสินค้าปลอดภาษีก่อนขึ้นเครื่อง
หากใครไม่เดินช้อปปิ้งหรือเช็คอินออนไลน์ก่อนไปก็จะประหยัดเวลาได้นิด (แต่ก็ต้องไปติดต่อที่เคาน์เตอร์พื่อยืนยันตัวและฝากสัมภาระโหลดใต้เครื่องอยู่ดี) และถ้าเป็นไปในช่วงที่คนไม่ค่อยเที่ยวกัน ด่านตรวจก็อาจมีคนน้อย ก็จะใช้เวลาน้อยหน่อยค่ะ
เวลาจะไปควรตรวจสอบสนามบินและเทอร์มินอลให้ชัดเจนด้วย ป้องกันการไปผิดที่

↑ กลับไปที่สารบัญ

เดินทางถึงญี่ปุ่น

ปราการด่านสุดท้าย "ตม." (ด่านตรวจคนเข้าเมือง)

เมื่อเท้าแตะพื้นแดนอาทิตย์อุทัยก็แฮปปี้ดี้ด๊ากัน! ... แต่ยังเหลือ "ด่านตรวจคนเข้าเมือง" ที่เรียกง่ายๆ ว่า "ตม." อยู่ค่ะ ด่านนี้เขามีหน้าที่สกัดบุคคลที่จะเข้าประเทศโดยผิดกฏหมาย ฉะนั้นเขาอาจจะมีการสอบถามอะไรเราบ้าง จึงแนะนำให้พกเอกสารจองและแผนเที่ยวไว้กับตัว และเตี๊ยมเพื่อนร่วมทริปให้ดีๆ หากถูกถามจะได้ตอบได้ฉะฉานนั่นเองค่ะ

การเดินทางออกจากสนามบิน

รถไฟแบบธรรมดา ราคาประหยัดแต่ใช้เวลามากนิด หรือขึ้นรถไฟด่วน ใช้เวลาน้อยกว่า เก้าอี้สบายกว่า แต่ก็แพงขึ้นมาอีกหน่อย หรือใครจะใช้บริการรถบัสรับส่งลีมูซีนต่างๆ ก็จะแพงขึ้นมาอีกนิด แต่สะดวกสบายตรงที่เอาของไปเก็บท้ายรถ ไม่ต้องห่วง นั่งชมเมืองหรืองีบเอาแรงก่อนเที่ยวได้เลย
แนะนำให้เลือกบริการตามงบ ความสบาย และจุดหมายที่จะไปลงนะคะว่าบริการไหนตรงใจที่สุด

↑ กลับไปที่สารบัญ


แนะนำครบเครื่องกันไปแล้วในบทความเดียว ที่เหลือก็ขอบอกว่าเปิดดูบทความอื่นๆ ของเว็บไซต์เรา หาที่เที่ยวกันได้เลย!

นึกถึงข้อมูลเที่ยวญี่ปุ่น นึกถึง MATCHA เพราะเรามีข้อมูลให้เพือนๆ หลากหลาย มือใหม่มือเก๋าเที่ยวญี่ปุ่น อ่านสนุกกันทั้งนั้น!

Written by

Avatar

Kogetsu

Tokyo, Japan

สาวชาวบางกอกที่มาหลงอยู่ในโตเกียวมาแล้วหลายปี แต่ยังแพ้รถไฟในเวลา Rush Hour ลัลล้ากับการทำงาน ว่างๆ ก็แว่บไปเที่ยว ชิมของอร่อย เที่ยวติ่งตามรอย
ชอบบรรยากาศของศาลเจ้าเป็นพิเศษ สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมไปถึง Pop culture~♥
เจอแมวเป็นไม่ได้ ต้องทักทายเหมียวๆ ใส่ประจำ
มีประสบการณ์แปลมากกว่า 10 ปี (เราจะไม่พูดเรื่องอายุ ...) ชอบงานขีดๆ เขียนๆ เลยมาเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์

Facebook / Twitter ส่วนตัวที่เขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก ปัจจุบัน (12/2019) มีผู้ติดตามอย่างละราวๆ 40,000 คน ก็เรียกว่าเป็นบล๊อกเกอร์ตัวจ้อยๆ ได้ ... ล่ะมั้ง?

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ