เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

เที่ยวญี่ปุ่นสบายๆ ด้วยบัตรเติมเงิน IC Card พร้อมวิธีซื้อ วิธีเติมเงิน

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

เคยไหมที่ต้องมาคอยกังวลกับการซื้อตั๋วทุกครั้งเวลาจะขึ้นรถไฟ ทำไมไม่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยบัตรเติมเงิน IC Card ที่ออกโดยบริษัทขนส่งในญี่ปุ่นล่ะ นอกจากใช้ขึ้นรถไฟ รถบัส บัตรนี้ยังใช้ได้กับร้านค้าหรือร้านอาหารอื่นๆ อีกด้วยนะ

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

ค่าโดยสารถือเป็นปัจจัยหลักของการวางแผนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเลย ในหลายๆ ครั้งกลายเป็นว่าค่าเดินทางนั้นมากกว่าค่าใช้จ่ายในการเที่ยวเสียอีก ยิ่งถ้าต้องเปลี่ยนสถานที่บ่อย ค่าโดยสารก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การเดินทางโดย รถไฟ รถบัส หรือแท๊กซี่นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีหากได้รู้ข้อมูลเหล่านี้สักหน่อยก่อนไปเที่ยวกัน

เที่ยวไปทั่วโดยไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋ว ด้วยบัตร IC Card

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เรามักพบเจอบ่อยๆ และบางครั้งอาจจะทำให้หัวเสียก็คือ การเสียเวลาไปกับการซื้อตั๋วรถบัสหรือตั๋วรถไฟในต่างประเทศ และยิ่งเป็นประเทศที่เราไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ล่ะก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่

ระบบการขนส่งสาธาณะภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่ครอบคลุมการใช้ บัตร IC Card ซึ่งบัตรนี้เป็นบัตรเติมเงินที่มีชิปเก็บข้อมูลไว้ให้เครื่องตรวจตั๋วอ่าน เครื่องเหล่านั้นจะหักจำนวนเงินตามจริงเท่าที่เราเดินทางมา

ซึ่งตอนนี้ในญี่ปุ่นมีบัตร IC Card มากกว่า 10 แบบ แต่ละแบบจะมีขายเฉพาะตามภูมิภาคของตัวเองเท่านั้น

IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly

บัตร Suica หรือ Pasmo ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในแถบภูมิภาคคันโตและในโตเกียว ซึ่ง 2 บัตรนี้ต่างกันแค่ออกบัตรโดยคนละบริษัทกันเท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าต้องการคืนบัตรหรือยกเลิกบัตรเพื่อเอาเงินมัดจำคืน จำเป็นต้องเอาไปคืนให้ถูกบริษัท สำหรับบัตร Suica นั้นสามารถคืนบัตรได้ที่สถานี JR East เกือบทุกแห่งหรือที่ๆ มีสำนักงาน JR East ตั้งอยู่ ส่วนบัตร Pasmo นั้นสามารถนำไปคืนได้ที่สถานีอื่นที่ไม่ใช่ของ JR

ซึ่งทั้งบัตร Suica และ Pasmo นั้นสามารถใช้ได้กับรถไฟ รถใต้ดิน หรือรถบัสได้เกือบทุกที่ทั่วทั้งโตเกียวและภูมิภาคคันโต

ส่วนด้านนี้เป็นบัตร IC ที่มีจำหน่ายตามภูมิภาคต่างๆ

บัตร ICOCA : หาซื้อได้ที่สถานีของ JR West ในแถบคันไซ รวมไปถึงที่โอกายาม่า และฮิโรชิม่า บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร PiTaPa : ขายเฉพาะสถานีรถไฟและรถใต้ดินในแถบคันไซนอกเหนือจากสถานีรถไฟ JR (*ซึ่งบัตรนี้ไม่ใช่บัตรเติมเงิน แต่ใช้วิธีทำสัญญาผูกเข้ากับบัตรเครดิตซึ่งทำได้ยาก และบางครั้งไม่สามารถใช้งานในภูมิภาคอื่นได้)
บัตร TOICA : ซื้อได้เฉพาะบริเวณภูมิภาค Chubu ตามสถานี JR Central ในบริเวณจังหวัดนาโกย่าและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงจังหวัดชิซุโอกะ บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร manaca : มีขายเฉพาะในสถานีรถไฟ รถใต้ดิน และรถบัสในเขตนาโกย่าที่ไม่ใช่ของบริษัท JR และ Kintetsu บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร Hayakaken : สามารถซื้อได้ที่สถานีรถใต้ดินในเมืองฟุกุโอกะ บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร SUGOCA : ซื้อได้ที่สถานีต่างๆ ของเครือ JR Kyushu ในเมือง ฟุกุโอกะ คุมาโมโตะ คาโกชิม่า โออิตะ และนางาซากิ บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร nimoca : สามารถซื้อได้ที่สถานีรถไฟและสถานีรถบัสของบริษัท Nishitetsu ในจังหวัดฟุคุโอกะและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงสามารถหาซื้อได้ในบางเมืองของภูมิภาคคิวชู และเมืองฮาโกะดาเตะของจังหวัดฮอกไกโด บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น
บัตร Kitaca : สามารถหาซื้อได้ที่สถานี JR Hokkaido ใช้ได้กับระบบขนส่งหลักของเมืองซัปโปโรทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถบัส และรถราง บัตรนี้ใช้ได้ทั่วญี่ปุ่น

*บัตรที่แจ้งว่าสามารถใช้งานได้ทั่วญี่ปุ่น อาจไม่สามารถใช้ได้กับบางเส้นทางหรือบางพื้นที่

ซื้อบัตร - เติมเงินบัตร IC Card ได้อย่างไร?

บัตร IC Card เหล่านี้สามารถซื้อได้ที่สถานีรถไฟหลักๆ โดยเฉพาะสถานีที่มีตู้ขายตั๋วอัตโนมัติที่มีสีสันเยอะแปลกกว่าตู้อื่นๆ ซึ่งอาจจะมีแค่ตู้เดียวในสถานี นอกจากซื้อจากตู้อัตโนมัติ ยังสามารถติดต่อซื้อบัตรได้ที่สำนักงานในสถานีได้อีกด้วย

ในการซื้อบัตร IC Card แบบเติมเงินครั้งแรกจะหักค่ามัดจำบัตร 500 เยน (ราคารวมภาษีแล้ว) เลยขอแนะนำให้เติมเงินในตอนซื้ออย่างต่ำที่ 2,000 เยน ซึ่งคุณจะมีเงินใช้สำหรับการเดินทางที่ 1,500 เยน
(* ข้อกำหนดของการซื้อบัตรอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบข้อมูลล่าสุดกับเจ้าหน้าที่ในสถานีอีกครั้งหนึ่ง)

สำหรับใครที่อยากเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัตร IC Card ของตัวเองหรือซื้อกลับไปเป็นของฝาก บัตร IC Card บางประเภทสามารถเขียนชื่อ และข้อมูลอื่นๆ ของผู้โดยสารลงไปบนหน้าบัตรได้ด้วย

วิธีใช้งานบัตร IC Card

วิธีการใช้บัตรนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งกว่าง่าย ก็แค่แตะบัตรไปที่จุดที่กำหนดไว้บนเครื่องตรวจตั๋วเข้าสถานี แล้วก็เดินผ่านเข้าไปได้เลย ซึ่งบางครั้งอาจจะมีไฟหรือมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าบัตรของคุณมีปัญหา ให้ไปติดต่อนายสถานีหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียง

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีและปัญหาการใช้บัตร อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้

เมื่อเกิดปัญหากับบัตร IC Card อย่าเพิ่งตื่นตระหนก

IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly
IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly

เมื่อคุณใช้บัตร IC โดยสารมาบ้างแล้ว บางครั้งคุณอาจจะพบว่าเกิดเหตุประตูไม่ยอมเปิดพร้อมกับมีเสียงแจ้งเตือนตอนที่คุณกำลังจะเข้าหรือออกสถานี อย่าตกใจไป ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะจำนวนเงินคงเหลือในบัตรมีไม่พอ ให้เดินไปที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติหรือตู้ปรับค่าโดยสารอัตโนมัติที่ใกล้ที่สุด (ตู้ปรับค่าโดยสารอัตโนมัติจะอยู่ในสถานี และมีป้ายสีเหลืองติดอยู่) เสียบบัตรเข้าเครื่องแล้วทำตามขั้นตอนที่เครื่องบอกมาก็เรียบร้อย

เครื่องอัตโนมัติเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วสามารถรองรับการแสดงผลได้หลายภาษา แต่ถ้ากลัวไม่แน่ใจ เราแนะนำให้อ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ตู้ที่นี่เลย "ยอดเงินคงเหลือของบัตร Suica ไม่พอ! แบบนี้ต้องไปที่ตู้ปรับค่าตั๋ว" และกรณีที่คุณไม่เหลือธนบัตรไว้เติมเงิน คุณสามารถจ่ายค่าโดยสารที่ขาดได้ด้วยเหรียญ เริ่มต้นที่ 10 เยน

IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly

จากบทความ "บัตร Suica ที่ทำหาย สามารถทำใหม่ได้ด้วยนะ!"

นอกเหนือจากจำนวนเงินในบัตรไม่พอแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่คุณอาจจะเจอได้คือ บัตรหาย หากกรณีเป็นบัตรทั่วๆ ไปนั่นหมายความว่าคุณจำเป็นจะต้องเสียเงินค่ามัดจำเพื่อซื้อบัตรใหม่ในราคา 500 เยนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเงินที่เหลือในบัตรไม่สามารถเรียกกลับมาได้

แต่ถ้าคุณมีการเขียนชื่อตัวเองไว้บนหน้าบัตรแล้วล่ะก็ นั่นถือว่าเป็นความโชคดี ก่อนอื่นให้คุณไปยังสถานีรถไฟหลักที่ใกล้ที่สุดและให้เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ในสถานี หลังจากนั้นโชว์บัตรหรือสิ่งที่ยืนยันตัวตนเช่น พาสปอร์ต หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอายัดบัตรใบเดิมแล้วออกบัตรใหม่ให้คุณ ในกรณีของบัตร Suica ค่าใช้จ่ายในการออกบัตรใหม่จะอยู่ที่ 1,010 เยน (ค่ามัดจำบัตรใหม่ + ค่าดำเนินการ) ส่วนเงินที่เหลือในบัตรเก่าจะถูกย้ายมาในบัตรใบใหม่ ซึ่งสามารถมารับได้ในวันรุ่งขึ้น

เกี่ยวกับข้อมูลการทำบัตรใหม่สามารถอ่านได้ที่ "บัตร Suica ที่ทำหาย สามารถทำใหม่ได้ด้วยนะ!"

* ขั้นตอนการออกบัตรใหม่อาจแตกต่างกันตามชนิดของบัตร กรุณาตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ในสถานีอีกครั้ง

บัตร IC Card ใช้ที่ไหน ใช้ทำอะไรได้บ้าง

IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly

จากบทความ "ลองใช้บัตร Suica นอกเขตโตเกียวกันดีกว่า!"

ตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา บริษัทที่ออกบัตร IC Card เหล่านี้ได้ร่วมมือกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถใช้บัตร IC Card ใบเดียวเดินทางข้ามระหว่างภูมิภาคไปมาได้ แต่ก็ไม่ใช่บัตรทุกประเภทที่จะใช้ได้ ซึ่งหากไม่มั่นใจว่าบัตรที่ถืออยู่นั้นใช้ได้หรือไม่ ก็ลองสังเกตุเครื่องหมายในรูปด้านบนตามสถานี ถ้ามีก็หมายความว่าใช้ได้นั่นเอง

* ทิป : ในบางพื้นที่ การใช้บัตร IC Card นั่งรถไฟจะได้รับส่วนลดค่าโดยสารต่อเที่ยวด้วย

โดยปกติบัตร IC Card นั้นจะไม่สามารถซื้อตั๋วรถไฟชินกังเซ็นได้ แต่ในเดือนกันยายน ปี 2017 ที่ผ่านมา สามารถใช้บัตร IC Card บางประเภทซื้อตั๋วรถไฟสาย Tokaido-Sanyo Shinkansen ที่วิ่งระหว่างโตเกียวและฮากาตะได้แล้ว ลองดูวิธีซื้อตั๋วรถไฟชินคันเซ็นได้ที่ "วิธีซื้อตั๋วรถไฟชินคันเซ็น ที่ทั้งวิ่งเร็ว สะอาด แถมตรงต่อเวลา"

IC Cards - Everything You Need To Make Travels In Japan Run Smoothly

จากบทความ "ช้อปปิ้งด้วยบัตร Suica การช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่นจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป"

บัตร IC Card นี้มีประโยชน์มากในระหว่างที่คุณอยู่ในญี่ปุ่น สามารถใช้ซื้อตั๋วรถไฟแบบกระดาษได้ หรือจะใช้สำหรับการเช่าตู้ล๊อคเกอร์เก็บของในสถานี รวมไปถึงสามารถซื้อเครื่องดื่ม
และขนมขบเคี้ยวจากตู้ขายของอัตโนมัติหรือร้านค้าในสถานีได้อีกด้วย

นอกเหนือจากที่กล่าวไปด้านบน บัตรนี้ยังสามารถใช้ได้ที่ร้านอื่นๆ นอกสถานี ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าและร้านอาหารที่มีเครื่องอ่านบัตร IC Card และบางสถานที่ท่องเที่ยวยังให้ส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ที่ถือบัตรและใช้บัตรนี้ในการซื้อสินค้าอีกด้วย

คืนบัตร IC Card ก่อนเดินทางกลับประเทศ

ถ้าไม่ต้องการที่จะเก็บบัตร IC Card เหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึก ก็สามารถคืนบัตรได้เช่นกัน ซึ่งการคืนบัตรนั้นสามารถคืนได้ที่สถานีหลักๆ ที่เป็นสถานที่ออกบัตร เพราะฉะนั้นหากซื้อบัตร Suica ในโตเกียวแต่จะบินกลับจากโอซาก้า ก็จะไม่สามารถคืนบัตรนี้ได้ที่โอซาก้า

ซึ่งการคืนบัตรนั้นจะคำนวณจากยอดเงินคงเหลือ หักลบด้วยค่าธรรมเนียม 220 เยน แล้วค่อยทบด้วยค่ามัดจำ 500 เยน ดังนั้นเงินที่จะคืนกลับมาจะเป็นดังนี้
จำนวนที่ได้รับ = จำนวนเงินคงเหลือในบัตร - ค่าธรรมเนียมคืนบัตร 220 เยน + เงินมัดจำบัตรที่จ่ายไว้ตอนแรก 500 เยน

* คำแนะนำ : ถ้าเงินคงเหลือในบัตรเป็นศูนย์ ก็จะไม่ถูกหักค่าธรรมเนียม และได้รับเงินมัดจำคืน 500 เยน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอคืนบัตรนั้น สามารถดูได้ที่บทความนี้

ใช้ฟรีพาสเพื่อความง่าย

นอกจาก IC Card แล้ว หลายๆ คนอาจเลือกการใช้ "ฟรีพาส" หรือตั๋วโดยสารแบบบุฟเฟต์ นั่งได้ไม่อั้น ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมาย อย่าง JR Pass ชื่อดัง
แม้ราคาจะสูงกว่า แต่เป็นการจ่ายเหมา หากเราเดินทางเยอะ โดยรวมแล้วอาจคุ้มค่ากว่าการจ่ายค่าโดยสารเป็นเที่ยว รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่นั่งรถผิดอีกด้วย
ลองอ่านบทความด้านล่างนี้ประกอบได้เลยค่ะ

เที่ยวญี่ปุ่นฉลุยด้วยบัตร IC Card

บัตร IC Card นั้นเป็นตัวช่วยทรงพลังที่ควรค่าแก่การมีติดตัวขณะท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมาก ซึ่งบางครั้งเราไม่รู้เลยว่าเราอาจจะต้องรีบวิ่งไปขึ้นรถไฟตอนไหน หรือซื้อขนมเครื่องดื่มในเวลาที่ไม่เหลือเงินสดเมื่อไหร่ แถมอาจจะยังได้รับส่วนลดดีๆ อีกด้วย เพื่อการเที่ยวที่สะดวกราบรื่น รีบจับจองเป็นเจ้าของบัตรกันได้ที่สถานีรถไฟใกล้ตัวคุณ

Written by

Born in 1959. Currently working as a freelance translator, after 21 years in various companies.

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ