Start planning your trip

สารพัดเรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ เกิดขึ้นมายังไง จะไปปีนได้เมื่อไหร่ มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง ถ่ายรูปสวยๆ ที่ไหน ไปจนถึงเกร็ดความเชื่อของคนญี่ปุ่น อยากเตรียมเที่ยวหรือรู้จักภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น ต้องอ่านบทความนี้เลย!
ถ้าพูดคำว่า "ญี่ปุ่น" เชื่อว่าทุกคนต้องมีภาพของซูชิ, ราเม็ง, กิโมโน, ชาเขียว และที่ขาดไม่ได้เลยก็ต้องภูเขาไฟฟูจิเด้งขึ้นมาในหัวแน่ๆ เลย
ภูเขาไฟฟูจิ (Mount Fuji) กินพื้นที่ระหว่างจังหวัดยามานาชิและชิซุโอกะ ทางทิศตะวันตกของโตเกียว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในปี 2013 โดยองค์กร UNESCO จัดเป็นมรดกโลกลำดับที่ 17 ของญี่ปุ่น
สำหรับคนญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับภูเขาไฟฟูจิมากเช่นกัน เพราะเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น มีความสูง 3,776 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สูงกว่าดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดของไทย (2,565 เมตร) ร่วม 1,200 เมตร และมีรูปร่างสวยงามแทบจะสมมาตรกันทุกด้าน เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าศิลปินไม่ว่าจะนักกวี หรือช่างภาพพิมพ์ ผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับภูเขาฟูจิออกมามากมายตั้งแต่อดีต
ครั้งนี้เราเลยขอรวบรวมสารพัดเรื่องราวเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิมาให้อ่านกัน ไม่ว่าจะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ต้นกำเนิดของภูเขาไฟฟูจิ ความเชื่อต่างๆ ของชาวญี่ปุ่น สถานที่เที่ยวและวิธีเดินทางไปชมฟูจิ ไปดูกันเลย
แต่ก่อนเราอาจเคยได้ยินการเรียกชื่อภูเขาไฟฟูจิว่า "ฟูจิยามะ"
แต่จริงๆ แล้วภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า "ฟูจิซัง"
"ซัง" ในที่นี้ไม่ใช่คำเดียวกับที่เราใช้เติมท้ายชื่อคนอย่าง ทานากะ"ซัง" นะ แต่มาจากตัวคันจิ 山 อ่านได้สองแบบคือ "ยามะ" และ "ซัง" แปลว่า "ภูเขา" ถ้านำมาใช้ตามหลังชื่อเฉพาะมักจะอ่านว่า "ซัง" ในกรณีของภูเขาไฟฟูจิ ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า 富士山 อ่านว่า ฟูจิซัง
*ชื่อของภูเขาบางลูกอาจจะอ่านว่า "ยามะ"
ภูเขาไฟฟูจิ เกิดจากการทับถมกันของลาวาภูเขาไฟ เดิมเชื่อว่าเกิดจากภูเขาไฟ 3 ลูกที่ซ้อนทับกัน แต่จากการวิจัยชั้นดินในปี 2004 ทำให้รู้ว่าภูเขาฟูจิที่เราเห็นอยู่นี้เป็นภูเขารุ่นที่ 4 แล้ว!
ภูเขาไฟลูกแรกที่เพิ่งถูกค้นพบจากการวิจัยชั้นดินล่าสุดคือภูเขาไฟเซ็นโคมิทาเกะที่ปะทุขึ้นเมื่อหลายแสนปีก่อน จากนั้นก็ตามมาด้วยการปะทุราว 7 แสนปีก่อนจนเกิดเป็นภูเขาไฟโคมิทาเกะ มีความสูงราว 2,400 เมตร
หลังการปะทุหยุดไปได้พักใหญ่ก็กลับมาปะทุอีกครั้งเมื่อราว 1 แสนปีก่อน การปะทุหลายร้อยครั้งทำให้รูปร่างของภูเขาเปลี่ยนไปและสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นภูเขาไฟโคะฟูจิ จนเข้าสู่ช่วงการปะทุใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อราว 1 หมื่นปีก่อน ที่เปลี่ยนจากการระเบิดรุนแรง มาเป็นการปล่อยลาวาไหลออกมาเรื่อยๆ ลาวาที่ไหลออกมาจนถึงเชิงเขาค่อยๆ เย็นตัวและซ้อนทับกันไปจนเกิดเป็นภูเขาไฟชินฟูจิ ภูเขาฟูจิรุ่นที่ 4 แสนสวยอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
ภูเขาไฟฟูจิจากทะเลสาบทั้ง 5 ทะเลสาบโมโตซุโกะ, ทะเลสาบโชจิโกะ, ทะเลสาบไซโกะ, ทะเลสาบคาวากุจิโกะ และทะเลสาบยามานากะโกะ
สถานที่เที่ยวชมภูเขาไฟฟูจิยอดนิยมก็หนีไม่พ้นทะเลสาบทั้ง 5 รอบภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในนั้นคือทะเลสาบคาวากุจิโกะ (Lake Kawaguchiko) ที่มีโรงแรม รีสอร์ท เรียวกัง และที่พักมากมายรอบทะเลสาบ มี Mt.Fuji Panorama Ropeway กระเช้าขึ้นเขาเท็นโจให้ได้ชมวิวทะเลสาบคาวากุจิโกะและฟูจิจากมุมสูง สวนโออิชิ (Oishi Park) ที่มีดอกไม้สวยๆ บานเป็นฉากหน้า เรียกได้ว่ามีมุมสวยๆ ให้ได้ดูได้ถ่ายรูปกับภูเขาไฟฟูจิเพียบเลย
Picture courtesy of Tourism Fujiyoshida
หนึ่งในเหตุผลที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมดั้นด้นเดินขึ้นบันไดร่วม 500 ขั้นคือภาพของเจดีย์แดง 5 ชั้น ชูเรโต (Chureito Pagoda) ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิแสนสวย ในเมืองฟูจิโยชิดะ ยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มีดอกซากุระบานเพิ่มเข้ามาด้วยแล้วยิ่งสวยเข้าไปใหญ่ ที่นี่ต้องเรียกว่าเป็นอันซีนของชาวญี่ปุ่นจริงๆ เพราะเป็นจุดชมภูเขาไฟฟูจิที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จัก แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมากันเต็ม
ลองดูวิธีการเดินทางไปชมวิวสวยๆ ได้ที่ "เจดีย์แดง 5 ชั้น ชูเรโต จุดชมวิวที่รวมความเป็นญี่ปุ่นไว้ในที่เดียว ทั้งฟูจิ และซากุระ (Chureito Pagoda, Mt. Fuji)
จังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) เป็นจังหวัดใกล้โตเกียวแต่คนไปเที่ยวกันน้อยมาก ต้องมีคนเคยกินขนมอุนางิพาย หรือพายปลาไหลกันบ้างแน่ๆ เลย ต้นกำเนิดของขนมนี้ก็มาจากเมืองฮามามัตสึ ในชิซุโอกะนี่แหละ และอย่างที่บอกไปว่าภูเขาไฟฟูจิกินพื้นที่ระหว่างจังหวัดยามานาชิและชิซุโอกะ เพราะงั้นจึงสามารถเห็นภูเขาไฟฟูจิได้จากหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดชิซุโอกะ
สวนสาธารณะในจังหวัดชิสึโอกะ
นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตชาขึ้นชื่อแล้ว ยังมีที่เที่ยวน่าสนใจในจังหวัดชิซุโอกะอีกเยอะเลย ลองไปดูกันได้ที่ "10 สิ่งที่ไม่ควรพลาดหากไปจังหวัดชิซุโอกะ ใกล้โตเกียวแค่เอื้อม"
ทุ่งดอกชิบะซากุระ หรือ พิงค์มอส ที่เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ จังหวัดยามานาชิ
ใครกำลังมองหาจุดถ่ายรูปภูเขาไฟฟูจิอยู่ ลองไปดูได้ที่บทความด้านล่างเลย
หลังจากดูภูเขาไฟฟูจิจากที่ไกลๆ กันแล้ว คราวนี้ขอไปใกล้ๆ กันบ้างเพราะเราจะไปปีนฟูจิกันเลย แต่ช้าก่อน! ไม่ใช่ว่าอยากจะไปปีนก็ไปได้เลยนะ เพราะภูเขาฟูจิจะเปิดให้ปีนได้เฉพาะช่วงหน้าร้อนที่ไม่มีหิมะบนยอดเท่านั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนกันยายน
ถึงจะเป็นหน้าร้อนแต่บนยอดเขาก็หนาวมาก อุณหภูมิราวๆ 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น เพราะงั้นในช่วงเวลาอื่นนอกจากหน้าร้อนจะไม่แนะนำให้ขึ้นไปด้านบน ยิ่งช่วงหน้าหนาวถนนที่ขึ้นไปยังฟูจิชั้น 5 ก็มีหิมะตกจนต้องปิดเลยเพราะอันตราย
เส้นทาง (รูท) ปีนภูเขาไฟฟูจิมี 4 เส้นทาง เส้นทางที่ฮิตที่สุดคือเส้นทางโยชิดะรูท ใช้เวลาปีนขึ้น 6 ชั่วโมง ลง 3 ชั่วโมง เหมาะสำหรับนักปีนเขามือใหม่ด้วย แต่คนก็อาจจะเยอะโดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดทั้งหลาย
ใครอยากลองขึ้นไปถึงยอดภูเขาไฟฟูจิ ลองดูบทความ "บันทึกประสบการณ์การปีนภูเขาไฟฟูจิ ดูพระอาทิตย์ขึ้นด้วยเส้นทางโยชิดะรูท" ไว้เป็นข้อมูลก่อนได้
ที่ภูเขาไฟฟูจิไม่มีสถานีรถไฟไปถึง สถานีรถไฟที่ใกล้และสะดวกที่สุดคือ สถานีคาวากุจิโกะ (Kawaguchiko) เพราะจากที่นี่จะมีรถบัสที่วิ่งไปยังฟูจิชั้น 5 ด้วย แนะนำสำหรับคนที่มาพักแถวคาวากุจิโกะหรือละแวกใกล้เคียงอยู่แล้ว ใช้เวลาประมาณ 55 นาที
Picture courtesy of Fujikyuko Co., Ltd.
แต่ถ้าใครที่กะจะมาจากโตเกียว และไม่ได้ใช้ตั๋ว JR TOKYO Wide Pass ก็แนะนำว่าสามารถไปนั่งรถบัสสายวิ่งตรงจากท่ารถบัสด่วนชินจูกุ (Shinjuku Expressway Bus Terminal) นั่งยาวไปจนถึงฟูจิชั้น 5 ได้เลย เปิดทำการวิ่งในช่วงฤดูร้อน (1 ก.ค. - 30 ก.ย. * เวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลง) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
หรือจะนั่งรถไฟที่วิ่งตรงจากสถานีชินจูกุไปสถานีคาวากุจิโกะที่มีให้เลือกหลายขบวน อย่างขบวน Fuji Excursion ของบริษัทฟูจิคิวที่เพิ่งเปิดให้บริการใหม่ก็ได้
(บน) ภูเขาไฟฟูจิขนาดมหึมา (ล่างซ้าย) ศาลเจ้าโคมิทาเกะ (ล่างขววา) เมล่อนปังรูปภูเขาไฟฟูจิ
มาถึงภูเขาไฟฟูจิชั้น 5 แล้วทำอะไรได้บ้าง? ก่อนอื่นก็ต้องถ่ายรูปภูเขาไฟฟูจิกันซะก่อน จากนั้นก็ไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าโคมิทาเกะ เสร็จแล้วก็ไปหาอะไรอร่อยๆ ทานกันได้ พวกขนมที่ทำเป็นรูปภูเขาไฟฟูจิก็มีนะอย่างเมล่อนปังรูปภูเขาไฟฟูจิ อันนี้ลิมิเต็ดมีขายเฉพาะที่นี่เท่านั้น!
ใครยังไม่ได้ไปดูภูเขาไฟฟูจิด้วยตาตัวเอง หรือไปแล้วเจอฟูจิซังขี้อายก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะด้วยความงามเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นขนาดนี้ เลยมีการนำเอาภูเขาไฟฟูจิมาใช้เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจตามที่ต่างๆ มากมาย เอาเป็นว่ามาดูของจำลองแก้ขัดกันไปก่อนก็ได้
ธนบัตร 1,000 เยน และภาพของภูเขาไฟฟูจิจากทะเลสาบโมโตซุโกะ
ด้านหลังของธนบัตร 1,000 เยนของญี่ปุ่นมีรูปของภูเขาไฟฟูจิอยู่ ภาพที่เห็นนี้ทำขึ้นโดยใช้ภาพถ่ายของคุณ โอคาดะ โคโย เป็นต้นแบบ (คนละภาพกับรูปด้านบน) เป็นภาพของภูเขาไฟฟูจิที่สะท้อนลงบนทะเลสาบโมโตซุโกะ หนึ่งในห้าทะเลสาบรอบฟูจิ
หลายคนอาจจะเคยไปแช่ออนเซ็นตามโรงแรมมาบ้างแล้ว แต่ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศแบบชาวญี่ปุ่นก็ต้องบอกว่าให้ลองไปโรงอาบน้ำสาธารณะเซ็นโตให้ได้ เราจะเห็นภาพภูเขาไฟฟูจิถูกวาดบนผนังในห้องอาบน้ำ ว่ากันว่าเริ่มมาจากเซ็นโตแห่งหนึ่งในโตเกียวต้องการให้เด็กๆ รู้สึกสนุกที่จะได้มาแช่น้ำ จึงจ้างช่างมาวาดภาพบนผนังห้องอาบน้ำที่ต่อเติมใหม่ ช่างจึงวาดภาพของภูเขาไฟฟูจิซึ่งอยู่ในบ้านเกิดของตนเองขึ้นมาเต็มผนัง
ทั้งความสวยงามและรูปร่างของภูเขาที่แผ่กว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้รับการเปรียบเปรยว่ามีความหมายดีจึงเริ่มเป็นที่เลื่องลือ เซ็นโตอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงก็เริ่มทำตามกันมากขึ้น แต่ภาพวาดฝาผนังอันนี้มักจะพบเห็นได้ตามเซ็นโตที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงภูเขาไฟฟูจิเท่านั้นนะ พอไปภูมิภาคอื่นๆ ที่ไกลออกไปก็จะกลายเป็นรูปวิวทิวทัศน์อื่นๆ หรือกลายเป็นภาพกระเบื้องโมเสคแทน
เซ็นโต ออนเซ็น สวนน้ำต่างๆ ในญี่ปุ่นมักจะมีกฎห้ามผู้ที่มีรอยสักเข้าใช้บริการ แต่บางแห่งก็อนุญาตให้เข้าได้อย่างที่ มัตสึโนะยุ เซ็นโตที่มีออนเซ็นให้แช่กลางโตเกียวนี่เอง ใครสนใจอยากลองสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบบ้านๆ ก็ลองอ่านบทความนี้ก่อนได้เลย แช่ออนเซ็นชมภาพฟูจิที่ มัตสึโนะยุ เซ็นโตออนเซ็นสไตล์ย้อนยุคในโตเกียว
ไม่ว่าจะเป็นจานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือเทะนุกุย เครื่องเขียน โปสการ์ด ภาพประดับฝาผนัง พัด เรียกได้ว่ามีสินค้าลวดลายภูเขาไฟฟูจิเต็มไปหมด ทั้งแนวสมจริง แนวอาร์ต แนวน่ารัก บางอย่างก็หาซื้อได้ตามร้านร้อยเยน ไปเลือกช้อปกันให้หนำใจเลย
ภูเขาไฟฟูจิรุ่นที่ 4 ที่เราเห็นกันนี้เพิ่งมีอายุได้ราวหมื่นกว่าปี แต่ถ้านับย้อนไปตั้งแต่รุ่นแรกก็มีอายุหลายแสนปีแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับความงามของภูเขาไฟฟูจิมีปรากฏอยู่ในมันโยชู หนังสือรวมบทเพลงและกวีที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นด้วย ผลงานในมันโยชูเชื่อว่าถูกแต่งขึ้นระหว่างปีค.ศ. 300 - 700 แสดงให้เห็นว่าภูเขาไฟฟูจิอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมายาวนานมากจริงๆ เพราะงั้นคงไม่แปลกถ้าจะมีเรื่องราวความเชื่อมากมายเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน
ในอดีตมีกลุ่มคนที่ยกย่องนับถือและสักการะภูเขาไฟฟูจิให้เป็นดั่งเทพเจ้าเรียกรวมๆ ว่า ฟูจิชินโค หรือลัทธิความเชื่อฟูจิ ซึ่งก็แบ่งออกเป็นอีกหลายสาย หนึ่งในนั้นคือ สายเซ็งเก็ง ซึ่งมีศาลเจ้าอยู่หลายแห่งในบริเวณภูเขาไฟฟูจิ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดพำนักฝึกตนก่อนจะเดินทางขึ้นไปบนภูเขาไฟฟูจิ
เส้นทางปีนเขาฟูจิในปัจจุบันก็เกิดขึ้นจากเส้นทางที่เหล่านักเดินทางแสวงบุญใช้เดินทางเพื่อฝึกตนและขึ้นไปสักการะเทพเจ้า จึงมีเสาประตูโทริอิและศาลเจ้าตามชั้นต่างๆ ของภูเขาไฟฟูจินั่นเอง
ชาวญี่ปุ่นเรียกฝันที่เห็นในคืนวันปีใหม่ (คืนวันที่ 1 คาบเกี่ยวเช้ามืดวันที่ 2 มกราคม) ว่า ฮัตสึยูเมะ (初夢) แปลตรงตัวว่า ฝันแรก หมายถึงฝันแรกที่เห็นของปีนั้นๆ
ว่ากันว่าในฝันแรกของปีถ้าฝันเห็น "ภูเขาไฟฟูจิ - นกเหยี่ยว - มะเขือม่วง" อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้จะทำให้โชคดี เหตุผลก็มีหลายที่มา ถ้าเอาที่ง่ายที่สุดและฟังแล้วดูมีความหมายดีที่สุดก็น่าจะเป็นว่า
1. ภูเขาฟูจิ
เป็นภูเขาอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น
2. นกเหยี่ยว
เป็นนกที่ฉลาดและแข็งแรง
ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ ทากะ (鷹) มีเสียงคล้ายคำว่า ทาไก้ (高い) ที่แปลว่าสูง
3. มะเขือม่วง
ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ นาซุ (茄子) มีเสียงพ้องกับคำว่า นาซุ (成す) ที่แปลว่าบรรลุผล ประสบผล
ก็ถือว่ามีความหมายดีทั้ง 3 อย่างเลย ปีใหม่คราวหน้าต้องลองดูว่าจะฝันเห็น 3 อย่างนี้บ้างมั้ย แต่เอาเข้าจริงตื่นขึ้นมาทีไรก็จำไม่ได้ว่าฝันเรื่องอะไรไปบ้างซักที!
ชาวญี่ปุ่นก็มีเลขนำโชคเหมือนกันนั่นคือเลข 8 เพราะอักษรคันจิเขียนว่า 八 ปลายเส้นทั้ง 2 ข้างที่แผ่ขยายออกเปรียบกับการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญคือดูแล้วรูปร่างเหมือนภูเขาไฟฟูจิเลย! (ดึงกลับมาเข้าเรื่องจนได้)
เป็นไงกันบ้างกับสารพัดเรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิแสนขี้อาย ไม่แปลกที่ชาวญี่ปุ่นจะมีความผูกพันกับภูเขาไฟฟูจิขนาดนี้ และความสวยงามนี้ก็ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาญี่ปุ่นเพื่อที่จะชมความงามหนึ่งในหล้าด้วยตาตัวเอง
คราวหน้าที่ได้มาญี่ปุ่นก็อย่าลืมมาเก็บความทรงจำเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิในแบบของตัวเองกันนะ