【เที่ยวญี่ปุ่นผ่านวิดีโอ】ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นสุดเฉิดฉายตั้งแต่ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมยันศิลปะสมัยใหม่
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ศิลปวัฒนธรรมอันยาวนานและศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยทั้งคู่ล้วนถ่ายทอดฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำเทคนิคฝีมือของพวกเขาผ่านวิดีโอกันค่ะ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ศิลปวัฒนธรรมอันยาวนานและศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นศิลปะที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีหรือศิลปะสมัยใหม่ก็ล้วนถ่ายทอดฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือยุคใหม่ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ในครั้งนี้เราจะมาถ่ายทอดฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือญี่ปุ่นตั้งแต่ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมไปจนถึงศิลปะการล่าสัตว์ให้เพื่อนๆชมผ่านวิดีโอกันค่ะ
1. “ภาชนะเซรามิกคุทานิ อาคาเอะ” จ.อิชิคาว่า : รังสรรค์ผลงานด้วยพู่กันอย่างพิถีพิถันขั้นสุด!
©MRO
“ภาชนะเซรามิกคุทานิ” คือ ศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 350 ปีของจ.อิชิคาว่า และหนึ่งในเทคนิคการผลิตภาชนะเซรามิกคุทานิก็คือ “อาคาเอะ” หรือศิลปะการลงสีทั้งภาชนะด้วยสีแดงล้วนนั่นเอง
“คุณฟุคุชิมะ บุซัง” ศิลปินลงสีภาชนะแบบอาคาเอะท่านนี้นับเป็นศิลปินมือหนึ่งของศิลปะการลงสีภาชนะแบบอาคาเอะเลยก็ว่าได้ เขาใช้สีแดง “เบ็งกาลา” วาดลวดลายลงบนภาชนะด้วยเทคนิค “อาคาเอะไซเบียว” หรือการวาดเส้นอันละเอียดประณีตกว้างเพียง 0.1 มิลลิเมตรด้วยมือล้วนๆจนเกิดเป็นภาพลวดลาย, คน หรือทัศนียภาพต่างๆเพียงแค่ใช้การลงสีแดงเข้ม-อ่อนเท่านั้น
“ซากุระไม” ภาชนะรูปซากุระโปรยปรายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 49 เซนติเมตรนี้ว่ากันว่าใช้เวลาในการลงสีจนเสร็จกว่า 10 วันเลยทีเดียว ศิลปะที่ต้องใช้ทั้งสมาธิขั้นสูง, ลายเส้นอันสมดุล และความเร็วนั้นแสดงถึงฝีมืออันสุดยอดของศิลปินจริงๆค่ะ
2. “การล่ากวางซีกา” ฮอกไกโด : ฝีมือนักล่าสัตว์มือฉมัง
©HBC
เนื้อกวางซีกาได้รับการการันตีจากเชฟท้องถิ่นว่า “ไม่มีกลิ่นคาว” แถมยัง “ผ่านขั้นตอนการรีดเลือดออกจนหมดก่อนนำมาปรุงอาหาร” อีกต่างหาก โดยเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศที่ต้องอาศัยฝีมือของนักล่าสัตว์ซึ่งผ่านการฝึกฝนฝีมือมาเป็นอย่างดี
พวกเขาต้องไล่ล่าบรรดากวางที่ทั้งว่องไวและชาญฉลาดท่ามกลางทุ่งหิมะอันหนาวเหน็บด้วยการยิงปืนจากระยะไกล แค่การยิงให้เข้าเป้าก็ว่ายากแล้ว แต่การล่ากวางซีกาเป็นอาหารยังต้องอาศัยการฆ่าอย่างระมัดระวังโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อของมันอีกด้วย
Hamanasu (ร้านอาหารฮามานาสึ)
ที่อยู่:2Minami, Higashi 2 Jō, Shiranuka-chō, Shiranuka-gun, Hokkaidō
เบอร์โทรศัพท์:01547-2-2188
3. “ศิลปะการตีดาบแห่งทสึการุ” จ.อาโอโมริ : เทคนิคที่ถ่ายทอดต่อกันมากว่า 350 ปี
©ATV
ว่ากันว่าภายในเมืองฮิโรซากิ จ.อาโอโมริแห่งนี้เคยเรียงรายไปด้วยร้านตีเหล็กมากกว่า 100 หลังใน สมัยเอโดะ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีจำนวนลดน้อยลง แต่ถึงอย่างไรทั้งเทคนิคและประวัติศาสตร์การผลิตมีดดาบซึ่งผ่านการตีให้ขึ้นรูปก็ยังคงสืบทอดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
เช่น Swordsmiths’ Nigara Knives (โรงงานผลิตมีดนิการะ) คือ โรงงานตีเหล็กชึ้นชื่อในฐานะที่เป็นแหล่งตีดาบชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยที่ในญี่ปุ่นยังมีซามูไร “คุณโยชิซาวะ โทชิฮิสะ” ผู้จัดการคนปัจจุบันเป็นช่างฝีมือผู้ต้องการผลิตมีดดีไซน์ออริจินอลของทางร้านขึ้นมาในขณะที่ยังคงสืบทอดเทคนิคดั้งเดิมอายุกว่า 350 ปีไม่ให้เลือนหายไป
เขาเคยมีประสบการณ์ส่งผลงานออกแสดงตามงานแสดงสินค้าในยุโรป โดยความท้าทายใหม่ของเขาก็คือการสร้างชื่อในฐานะที่เป็นช่างตีเหล็กซึ่งกำลังได้รับการจับตามองในปัจจุบันนี่แหละ
Swordsmiths’ Nigara Knives (โรงงานผลิตมีดนิการะ)
ที่อยู่:4-1 Kinzokuchō, Hirosaki-shi, Aomori-ken
เบอร์โทรศัพท์:0172-88-2881
เว็บไซต์หลัก:Swordsmiths’ Nigara Knives (โรงงานผลิตมีดนิการะ)
4. “จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่บนเสาค้ำสะพาน” จ.ฮิโรชิม่า : เปลี่ยนลุคสะพานที่เคยเต็มไปด้วยภาพเขียนเล่น!
©RCC
“สะพานชิงโคอิบาชิ” แห่งนี้เป็นสะพานพาดข้ามแม่น้ำโอตากาวะซึ่งไหลผ่านเมืองฮิโรชิม่า แต่ก่อนที่นี่เคยเต็มไปด้วยร่องรอยภาพเขียนเล่นบริเวณเสาค้ำสะพานมาก่อน แต่ในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่จัดแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใสในดวงใจของชาวเมืองไปแล้ว
จิตรกรรมฝาผนังภาพนี้เป็นผลงานของจิตรกรชื่อ “โคดามะ โคสึเอะ” โดยเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ 16.5m×2.4 เมตรซึ่งใช้เวลานาน 3 เดือนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2007
ภายในภาพถ่ายทอดวิถีชีวิตอันคึกคักของชาวเมืองฮิโรชิม่าไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพของแม่น้ำโอตากาวะที่ทอดยาวตั้งแต่หุบเขาไปจนถึงสวนเฮวะ, เทพเจ้าและศาลเจ้าซึ่งเป็นที่มาของชื่อว่า “โคอิ”, พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณู, สนามเบสบอลเมืองฮิโรชิม่า และรถไฟฮิบาคุสาย 651 ที่วิ่งให้บริการภายในเมือง เป็นต้น
ภาพ “แม่น้ำโอตากาวะ สายน้ำแห่งชีวิตของฮิโรชิม่า” นี้ได้รับรางวัล “ชนะเลิศจากดีไซน์การสร้างสรรค์เมืองฮิโรชิม่าประจำปี 2008 สาขาไซน์・อาร์ต”
คุณโคดามะวาดภาพดังกล่าวด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ “อยากให้ผู้คนสัมผัสถึงความสัมพันธ์ของชีวิตระหว่างสายน้ำและมนุษย์จากประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโอตากาวะอย่างใกล้ชิด”
ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ภาพวาดนี้ก็ยังคงเปล่งประกายงดงามภายใต้สะพานชิงโคอิบาชิอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สะพานชิงโคอิบาชิ
ที่อยู่:1 Chome Koihonmachi, Nishi-ku, Hiroshima-shi, Hiroshima-ken
5. “การย้อมผ้าแบบนัมบุชิคอนโซเมะ” จ.อิวาเตะ : สีม่วงชั้นสูงสุดล้ำลึก
©IBC
“นัมบุชิคอนโซเมะ” คือ ศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดต่อกันมาภายในเมืองโมริโอกะ จ.อิวาเตะ
โดยเป็นศิลปะการย้อมผ้าซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่สีม่วงชั้นสูงสุดล้ำลึกและลวดลายชิโบริอันงดงาม “ศิลปะชิคอนโซเมะ” เป็นงานที่ต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนานโดยเริ่มจากการตำรากพืช “มุราซากิ” ด้วยครกและสกัดสีย้อมผ้าให้ออกมาด้วยน้ำร้อนเพื่อนำไปย้อมผ้าต่อไป ย้อมครั้งแรกครึ่งปี บิดผ้าให้เป็นลายจุดกลมเท่ากันทั่วทั้งผืนอีก 2 - 3 เดือน ย้อมครั้งที่ 2 อีกกว่า 12 ครั้ง และทิ้งผ้าเอาไว้ในตู้หลังย้อมเสร็จอีก 3 – 5 ปีจนเกิดเป็นเฉดสีเฉพาะของการย้อมผ้าแบบชิคอนโซเมะ
เสน่ห์อย่างหนึ่งของมันเลยก็คือถ้าเกิดใช้เป็นผ้ากิโมโน ยิ่งซักมากเท่าไหร่เฉดสีก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นนี่แหละ บางคนเล่าว่า “กว่าสีผ้าจะล้ำลึกต่อให้ใส่ไปหนึ่งชั่วคนก็ไม่หมด” “ชิคอนโซเมะ” จึงเป็นผ้าย้อมที่คนญี่ปุ่นดูแลรักษาเป็นอย่างดีและใส่สืบทอดต่อกันมาจากแม่สู่ลูกและลูกสู่หลานต่อไปเรื่อยๆ
6. “กระเป๋าชุดเกราะ” จ.เกียวโต : ศิลปะสมัยเซ็งโกกุสู่เทรนด์ยุคใหม่
©MBS
ชุดเกราะเป็นอุปกรณ์ที่นักรบใส่กันใน สมัยเซ็งโกกุ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีโอกาสได้ใช้ชุดเกราะกันจริงๆแล้วก็ตาม แต่ศิลปะดั้งเดิมในการผลิตชุดเกราะยังคงนำมาใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้
SAMURAI ARMER BAG (กระเป๋าชุดเกราะ) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากแนวคิดเรื่องวิธีการเย็บชุดเกราะโดยผู้ผลิต Kyoto Miyake (เกียวโตมิยาเกะ) ในเกียวโต
ผู้ผลิตประยุกต์เทคนิคด้านความทนทานจากวิธีการเย็บชุดเกราะสุดพิเศษที่ช่วยให้ด้ายไม่หลุดเมื่อถูกคมดาบในสนามรบเข้ากับเทคนิคด้านดีไซน์จากวิธีการเย็บชุดเกราะที่แตกต่างกันตามนายพลแต่ละท่าน
Kyoto Miyake (เกียวโตมิยาเกะ)
ที่อยู่:103-53,Minamihoriike, Ogurachō, Uji-shi, Kyōto-fu
เบอร์โทรศัพท์:0774-22-5008
เว็บไซต์หลัก:Kyoto Miyake (เกียวโตมิยาเกะ)
บทส่งท้าย
ในครั้งนี้เราก็ได้แนะนำเทคนิคฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือมากมายตั้งแต่ผ้าย้อมที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี, ศิลปะบนฝาผนังฝีมือศิลปินสมัยใหม่ ไปจนถึงกระเป๋าชุดเกราะที่ประยุกต์เทคนิคดั้งเดิมมาใช้กับศิลปะสมัยใหม่กันไปจนเต็มอิ่มแล้ว
ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมและศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว สำหรับใครที่อยากสัมผัสประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือชอบศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นก็บอกเลยว่าต้องลองมาสัมผัสที่ญี่ปุ่นกันให้ได้สักครั้งค่ะ
Sponsored by Tokyo Broadcasting System Holdings
บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง