Start planning your trip
น่ารักน่าน่าสะสม! เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของ IC Card รถไฟในญี่ปุ่น
บัตรรถไฟแบบ IC Card ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้กัน จริงๆ แล้วมีมากกว่า 10 แบบ! ถึงขนาดที่มีคนสะสมกันเลย หนึ่งในสมาชิกของ MATCHA ที่มีงานอดิเรกเป็นการสะสมบัตรโดยสาร IC Card จะมาแนะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบัตร IC Card และมาเปิดกรุสมบัติของสะสมให้ดูกัน
บัตรที่คนญี่ปุ่นไม่ว่าใครก็มีคือบัตรอะไรเอ่ย?
คำตอบก็คือ บัตรโดยสาร (บัตรรถไฟ) IC Card นั่นเองค่ะ!
ไม่เพียงแต่ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น ยังใช้ชำระเงินในร้านสะดวกซื้อได้อีกด้วย บัตรโดยสาร IC Card ญี่ปุ่นมีมากกว่า 10 แบบ บางคนก็ถึงขนาดเก็บสะสมด้วยล่ะ!
บทความนี้ สมาชิกของทีมงาน MATCHA ผู้เป็นโอตาคุรถไฟ (คนรักรถไฟ) และยังเก็บสะสมบัตรโดยสาร IC Card จะมาแนะนำคอลเลคชั่นของสะสมในกรุสมบัติของเขาให้ชมกันค่ะ
Suica บัตรโดยสาร IC Card ใบแรกของญี่ปุ่น
บัตรโดยสาร IC Card ใบแรกของญี่ปุ่น คือ Suica (ซุยกะ) ที่ถือกำเนิดในปี 2001 ออกโดย JR East Japan ซึ่งใช้ในภูมิภาคคันโตเป็นหลัก ในปัจจุบันเป็น IC Card ของระบบการขนส่งที่มีขอบเขตการใช้กว้างขวางที่สุดในญี่ปุ่น
Suica บัตรที่สามารถใช้ผ่านช่องตรวจตั๋วของสถานีได้อย่าง "ราบรื่น (ซุยซุย)" จึงถูกตั้งชื่อว่า "ซุยกะ" รวมถึงยังออกเสียงเหมือนกับคำว่าแตงโม (ซุยกะ) ในภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นสีหลักๆ ที่ใช้บนบัตร Suica จึงเป็นสีเขียวค่ะ
ในรูปคือบัตร Suica รุ่นที่ 2 ที่ใช้ในปี 2004-2008
Suica มีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ทีละเล็กทีละน้อยนับตั้งแต่ออกใช้ในปี 2001 ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว
เพนกวินที่เป็นมาสคอตปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกในดีไซน์รุ่นที่ 2 ปี 2004 ตอนนั้นเป็นเพนกวินรูปที่หันด้านข้าง แต่ในดีไซน์รุ่นที่ 4 ที่เริ่มใช้ในปี 2008 เป็นดีไซน์ที่หันหน้าตรง
จำนวน "รอยหยัก" ที่แตกต่างกันบนบัตร IC Card คืออะไร?
สังเกตไหมคะว่าบริเวณฝั่งขวาของบัตรโดยสาร IC Card มีรอยหยักอยู่ มีเป็น 1 หยัก กับ 2 หยัก มันแตกต่างกันตรงไหนนะ?
ขออธิบายก่อนว่าทำไมถึงต้องมีรอยหยัก นั่นก็เพื่อที่จะให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้มือสัมผัสและแยก IC Card ที่ใช้ในการเดินทางออกจากบัตรอื่นๆ ได้นั่นเองค่ะ
แล้วก็เหตุผลที่จำนวนรอยหยักแตกต่างกันนั้น ก็เพื่อแยกบัตรที่สามารถลงทะเบียนและพิมพ์ชื่อได้กับพิมพ์ชื่อไม่ได้ ถ้ามีรอยหยัก 1 หยักนั้นหมายถึงสามารถพิมพ์ชื่อได้ ส่วนแบบ 2 หยักเป็นบัตรพิเศษที่ไม่สามารถพิมพ์ชื่อได้ค่ะ
ฝั่งซ้าย : บัตรที่ระลึกพิเศษ ฝั่งขวา : บัตรธรรมดาที่ลงชื่อได้
บัตรโดยสาร IC Card ปกติที่มีรอยหยักแค่ 1 หยัก สามารถลงทะเบียนพิมพ์รายละเอียดต่างๆ ลงไปใบบัตรได้ เช่น ชื่อ อายุของเจ้าของบัตรและเส้นทางการไปทำงาน
ส่วนบัตรที่มีรอยหยัก 2 หยักนั้น จะมีการออกบัตรจำนวนจำกัด และมีดีไซน์พิเศษ เพื่อโชว์ลวดลายต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถพิมพ์รายละเอียดต่างๆ ลงไปได้
แต่ OKICA ที่ใช้ได้กับรถโมโนเรลยุอิเรล (Yui Rail) ในโอกินาว่าเป็นแบบพิเศษที่บนบัตรไม่มีรอยหยัก
ทุกบัตรมีคำว่า "ca (กะ)" หมดเลยหรือ?
ในญี่ปุ่นมีบัตรโดยสาร IC Card หลายแบบ เราน่าจะสังเกตเห็นกันว่าชื่อเรียกบัตรจำนวนมากมักจะลงท้ายด้วยคำว่า "ca" คำนี้ย่อมากจากคำว่า "card (บัตร)" ในภาษาอังกฤษนั่นเองค่ะ
บัตรโดยสาร IC Card ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่มีเสียงอ่านตรงกับเสียงภาษาญี่ปุ่น ซึ่งชื่อเหล่านั้น บางชื่อก็นำภาษาถิ่นในภูมิภาคนั้นๆ ใส่เข้าไปด้วย
หนึ่งในบัตรโดยสาร IC Card ที่มีความพิเศษของท้องถิ่น นั่นก็คือบัตรโดยสาร IC Card "IruCa (อิรุกะ)" ของบริษัทรถไฟโคโตฮิระเด็นเท็ตสึ (Takamatsu-Kotohira Electric Railroad) เมืองทาคามัตสึ จังหวัดคากาวะ (Kagawa) ซึ่งมี "โคโตะจัง" โลมาสีน้ำเงินเป็นมาสคอตของโคโตฮิระเด็นเท็ตสึค่ะ
IruCa ตั้งชื่อมาจากคำว่า "อิรุกะ? (จำเป็นไหม?)" ในภาษาญี่ปุ่น และเล่นคำกับคำที่ออกเสียงเหมือนกันว่า "อิรุกะ (ปลาโลมา)" จากการตั้งชื่อนี้ ก็เป็นเหมือนเป็นการบอกให้ทางบริษัทถามตัวเองอยู่สมอว่าได้สร้างบริษัทโคโตฮิระเด็นเท็ตสึให้เป็นรถไฟที่ "จำเป็น" สำหรับชาวเมืองอยู่ไหม?
"icsca" บัตรที่ออกโดยกรมการขนส่งเมืองเซ็นได จังหวัดมิยางิ มาจากภาษาถิ่นเซ็นไดคำว่า "อิคุสุกะ" ซึ่งมีความหมายในภาษากลางว่า "อิคิมัสกะ? (ไปไหม?)" นั่นเองค่ะ
มาสคอตนกกระจอกมีที่มาจาก "ทาเคะนิสุสุเมะ (นกกระจอกในกรอบไผ่)" ตราประจำตระกูลดาเตะของดาเตะ มาซามุเนะ นักรบในยุคเซ็นโกคุผู้เคยปกครองภูมิภาคเซ็นไดในอดีต
ดูสถานที่ออกบัตรได้ที่ด้านหลัง
ด้านหลังบัตรโดยสาร IC Card บริเวณขวาล่างจะมีตัวอักษรและหมายเลข 17 หลักเขียนอยู่บนพื้นสีดำ ตัวอักษรจะเป็นตัวย่อของผู้ออกบัตรค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
JE = JR EAST (East Japan Railway Company)
JW = JR WEST (West Japan Railway Company)
TP = Trans Pass (manaca "มานากะ" ที่ใช้ในแถบนาโกย่า)
ลองเอาตัวย่อไปเสิร์ชหาดูเล่นๆ ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ!
บัตรเหมือนกันแต่มีผู้ออกบัตร 2 เจ้า?
โดยทั่วไปแล้ว การออกบัตรโดยสาร IC Card 1 ชนิดจะออกได้แค่จากบริษัทเดียว แต่ manaca ที่ใช้แถวเมืองนาโกย่ามีบริษัทที่ออกบัตรถึง 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทเอ็มไอซีจำกัดและหน่วยงานพัฒนาการคมนาคมนาโกย่า
บัตรที่ซื้อกับเมเท็ตสึ (Meitetsu) หรือการรถไฟนาโกย่า จะออกบัตรโดยบริษัทเอ็มไอซีจำกัด มีเอกลักษณ์อยู่ที่รูปดาวตรงด้านล่างขวาของหน้าบัตร ส่วนบัตรที่ซื้อจากระบบการคมนาคมอื่นๆ จะออกบัตรโดยหน่วยงานพัฒนาการคมนาคมนาโกย่า ด้านหลังบัตรของทั้งสองแบบจะระบุเหมือนกันว่า TP
บัตรโดยสาร IC Card ที่ใช้ร่วมกันได้ 10 ใบ
ใบเดียวเที่ยวทั่วญี่ปุ่น
เดิมทีบัตร IC Card จะใช้ได้เฉพาะในภูมิภาคของตัวเองเท่านั้น แต่เริ่มเปลี่ยนระบบให้สามารถใช้ต่างภูมิภาคทั่วประเทศได้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เพราะงั้นตอนนี้ถึงจะถือบัตร Kitaca ของซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ก็สามารถเอาไปใช้ในโตเกียวหรือโอซาก้าก็ได้
ปัจจุบัน บัตรที่นำไปใช้ร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ได้ มีทั้งหมด 10 ใบ ได้แก่
Suica ของ JR EAST
Kitaca ของ JR ฮอกไกโด
PASMO ที่ใช้ได้ในภูมิภาคคันโตเป็นหลัก
manaca ของนาโกย่า
TOICA ของรถไฟรอบไอจิและ JR Tokai
PiTaPa ที่ใช้ในภูมิภาคคิงคิ (แถบคันไซ) เป็นหลัก
ICOCA ของ JR WEST
ฮายากะเค็ง (Hayakaken) ของการคมนาคมเมืองฟุกุโอกะ
nimoca ของนิชิเท็ตสึ (Nishitetsu) ในฟุกุโอกะ
SUGOCA ของ JR คิวชู (ภาพด้านบน ไม่มีการ์ด PiTaPa กับ nimoca)
บัตรโดยสาร IC Card ที่น่าสงสารที่สุด
บัตร ICOUSA (อิโคซะ) ของเมืองฟุกุอิ จังหวัดฟุกุอิ (Fukui) น่าจะเป็นบัตร IC Card ที่น่าสงสารที่สุด เพราะสามารถใช้ได้แค่นั่งรถบัสประจำทางในเมืองฟุกุอิ และตั้งแต่เริ่มจำหน่ายในปี 2011 มีการออกบัตรไปเพียง 2,400 ใบเท่านั้น
แรกเริ่มเดิมที บัตรนี้ทำขึ้นมาเพื่อลดภาระในการเตรียมเศษเหรียญของผู้สูงอายุ แต่รถบัสประจำทางที่วิ่งรอบตัวเมืองมีแค่ 4 สายเท่านั้น นั่นก็หมายถึงว่าจำนวนการออกบัตรที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกอะไร
บัตรแบบ Limited edition สำหรับนักสะสม
ใครแพ้คำว่า Limited Edition บ้าง บอกเลยว่าถ้าอยู่ญี่ปุ่นต้องลำบากแน่ๆ เพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่มักจะทำอะไรในแบบลิมิเต็ดออกมาเสมอ ไม่ว่านั่นจะเป็นของกิน สินค้า หรืองานอีเวนต์ ซึ่งนั่นก็ลามมาถึงบัตร IC Card นี่ด้วย ทำเอาแฟนคลับบัตรโดยสารต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้บัตรแบบพิเศษนี้มาครอบครอง ซึ่งพอได้เห็นแล้วก็ต้องยอมรับเลยว่าต่อให้ไม่ใช่แฟนคลับก็ยังอยากได้มาเก็บสะสมไว้ซักใบเลย
ในรูปคือบัตรพิเศษแบบต่างๆ ที่เห็นนี่เรียกได้ว่าเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของบัตรแบบพิเศษทั้งหมดที่เคยทำออกมาจำหน่าย
รูปด้านบนเป็นบัตร Suica ที่ระลึกที่ออกเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีของสถานีโตเกียว จำหน่ายในปี 2015 อาคารอิฐแดงของสถานีโตเกียวล้อมรอบด้วยกรอบลายเหล็กดัดดูคลาสสิก และเนื่องจากมีจำนวนจำกัด จึงมีคนจำนวนมากแห่กันเข้าไปซื้อบัตรดีไซน์นี้
บัตรที่โดยส่วนตัวผู้เขียนอยากแนะนำเป็นพิเศษก็คือ IruCa ที่ออกเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีกิจการรถไฟโคโตฮิระเด็นเท็ตสึ ซึ่งมาในธีมงานแต่งงานของโคโตะจัง มาสคอตของการรถไฟ แพ็กเกจของบัตรทำเป็นเหมือนซองอวยพรงานแต่งงานแบบญี่ปุ่น ด้านในมีจดหมายพร้อมถ้อยคำขอบคุณจากโคโตะจังด้วย
เหนือสิ่งอื่นใดคือความน่ารักของ โคโตะจัง กับภรรยา โคโตะมิจัง!
ขอขอบคุณคุณอาคิโมโตะ นักสะสมบัตรโดยสาร!
บัตรโดยสารที่อยู่ในบทความนี้ทั้งหมดเป็นของคุณอาคิโมโตะ วิศวกรซอฟต์แวร์ของ MATCHA ค่ะ!
คุณอาคิโมโตะที่รักรถไฟไม่ได้ซื้อบัตรโดยสาร IC Card จากอินเทอร์เนต แต่เดินทางไปขึ้นรถไฟนั้นจริงๆ แล้วซื้อบัตรด้วยตัวเอง สมกับเป็น "โอตาคุบัตรโดยสาร" ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหลงใหลในการไปตามหาบัตรโดยสาร IC Card ตัวจริง!
หากถูกใจบทความนี้ อย่าลืมล็อกอินเข้าไปกด "ถูกใจ" กันด้วยนะคะ!
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง