Start planning your trip
เจ็บป่วยในญี่ปุ่นไปหาหมอที่ไหนดี? ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลและคลินิก
ในญี่ปุ่นมีสถานพยาบาลหลายแบบ แถมยังมีแยกแผนกหรือคลินิกเฉพาะทางอีก บทความนี้เราจะแนะนำสถานพยาบาลแต่ละประเภทให้คนไทยในญี่ปุ่นได้รู้จัก จะได้เตรียมตัวไปหาหมอกันถูกค่ะ
ไปรู้จักกับโรงพยาบาลและคลินิกในญี่ปุ่นกัน!
ในญี่ปุ่นมีสถานพยาบาลหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั่วไป คลินิก และอื่นๆ โดยจะแบ่งตามขนาด หน้าที่ที่แตกต่างกัน
ในการไปหาหมอนั้นบางประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วยมักจะเริ่มจากการไปหาอายุรแพทย์เบื้องต้นก่อน แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น ผู้ป่วยต้องศึกษาและไปหาหมอตามสาขาที่เหมาะสมด้วยตนเอง
สำหรับคนที่พึ่งมาอยู่ญี่ปุ่นไม่นานอาจจะสับสนว่าหากปวดท้องจะไปไหนดี หรือถ้าบาดเจ็บได้แผลควรไปหาหมอแผนกไหน
ในบทความนี้เราจะมาแนะนำประเภทของสถานพยาบาลในญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่รักษาต่างกันไปตามอาการและความเร่งด่วนของอาการ
มาศึกษาเอาไว้ก่อน จะได้ตัดสินใจได้ถูกในยามเจ็บป่วยนะคะ
ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลและคลินิก
Photo by Pixta
สถานพยาบาลที่เราไปตรวจรักษาได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โรงพยาบาลและคลินิก
ชื่อเรียก | ลักษณะเด่น | อาการที่รักษา |
คลินิก (クリニック หรือ 診療所 หรือ 医院) |
มีเตียงผู้ป่วยน้อยกว่า 20 เตียง | โรคหรืออาการบาดเจ็บเล็กน้อย ตรวจโรคเรื้อรังต่างๆ |
โรงพยาบาล (เช่น 国立病院, 総合病院, 大学病院 และอื่นๆ) |
มีเตียงผู้ป่วยตั้งแต่ 20 เตียงขึ้นไป และมีแผนกตรวจโรคหลายแผนก | ตรวจโรคเฉพาะทางกว่าคลินิก ผ่าตัด |
อย่างแรกคือ "คลินิก" ที่มีชื่อเรียกด้วยกันหลายแบบ ทั้ง คลินิก (クリニック) ชินเรียวโจะ (診療所) อิอิน (医院) และอื่นๆ เป็นสถานพยาบาลขนาดเล็ก มีเตียงผู้ป่วยไม่ถึง 20 เตียง จะรับรักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงมาก รวมถึงตรวจรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ)
คลินิกหลายแห่งเปิดเป็นคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกอายุรเวช คลินิกสูตินรีเวช ฯลฯ เราจำเป็นต้องเลือกไปหาคลินิกที่ตรงตามอาการป่วยที่เราเป็น ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างค่ะ
ส่วนประเภทที่ 2 คือ "โรงพยาบาล" เป็นสถานพยาบาลขนาดกลางถึงใหญ่ มีเตียงผู้ป่วยตั้งแต่ 20 เตียงขึ้นไป และมีแผนกตรวจโรคเฉพาะทางหลายแผนก สถานพยาบาลประเภทนี้ได้แก่ โรงพยาบารลรัฐ (国立病院) โรงพยาบาลทั่วไป (総合病院) โรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัย (大学病院) และอื่นๆ
โรงพยาบาลจะให้บริการตรวจรักษาโรคที่เฉพาะทางกว่าคลินิก และให้บริการผ่าตัด
บางกรณีที่ไปพบแพทย์ที่คลินิก อาจได้รับจดหมายแนะนำ (紹介状) จากคลินิกเพื่อนำไปยื่นขอรับการรักษาจากโรงพยาบาลต่อได้ แล้วแต่อาการของโรค
ป่วยแล้วไปไหนดี? มารู้จักกับแผนกเฉพาะทางของสถานพยาบาล
Photo by Pixta
อาการเวลาเราเจ็บป่วยอยากไปหาหมอนั้นมีหลากหลาย ทั้งปวดท้อง ตาบวม กระดูกหัก เป็นต้น
มาดูตารางด้านล่างกันว่าหากจะไปหาหมอ ควรจะไปหาที่แผนกหรือคลินิกเฉพาะทางใดค่ะ
แผนก | หน้าที่ | ตัวอย่างโรคที่รักษา |
อายุรเวช (内科) |
รักษาโดยการให้ยา | ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปวดหัว ปวดท้อง อาการแพ้ บาดแผลที่ไม่ต้องผ่าตัด ฯลฯ |
ศัลยกรรม (外科) |
รักษาโดยการผ่าตัด | การผ่าตัดต่างๆ (มักเป็นการรับช่วงต่อจากอายุรเวช) |
หู คอ จมูก (耳鼻咽喉科 หรือ 耳鼻科) |
รักษาโรคที่เกิดจากหู จมูก คอ | ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เวียนหัว ความผิดปกติในการได้ยิน |
กุมารเวช (小児科) |
รักษาเด็กอายุตั้งแต่ 0 - 15 ปี | ไข้หวัด อาการคัน อาการแพ้ โรคทางศัลยกรรม ฯลฯ |
ออร์โธปิดิกส์ (整形外科) |
รักษากระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น | ข้อแพลง กระดูกหัก โรคหมอนรองกระดูก ฯลฯ |
จักษุแพทย์ (眼科) |
รักษาโรคเกี่ยวกับตา | คันตา ปวดตา ตรวจสายตา ทำเลสิค ฯลฯ |
ผิวหนัง (皮膚科) |
รักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนัง | ผดผื่น สิว ผิวหนังอักเสบ แผลไฟไหม้ ฯลฯ |
สูตินรีเวช (産婦人科) |
รักษาโรคเฉพาะสตรีหรือดูแลเรื่องตั้งครรภ์ | ตรวจครรภ์ ปวดประจำเดือน จ่ายยาคุมกำเนิด ฯลฯ |
ทันตแพทย์ (歯科) |
รักษาฟัน | ฟันผุ รักษารากฟัน ป้องกันฟันผุ ฯลฯ |
หากมีอาการปวดท้อง ไข้ขึ้น สามารถไปหาหมออายุรแพทย์ตามปกติได้เลยค่ะ รวมถึงหากยังไม่รู้ว่าจะไปหาหมอแผนกไหนดี แนะนำให้ลองรับการตรวจที่อายุรเวชก่อน เหมือนระบบของเมืองไทยค่ะ
วิธีไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยในญี่ปุ่น
Photo by Pixta
อย่างที่เราแนะนำไปแล้วว่าในญี่ปุ่นมีสถานพยาบาลหลากแบบหลายขนาด
แต่เราก็ไม่ควรจะเปลี่ยนโรงพยาบาลที่ไปหาบ่อยๆ หรือไปพบแพทย์หลายๆ ที่ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากจะทำให้แพทย์ติดตามอาการและการรักษายาก
เพื่อป้องกันปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นแนะนำว่าควรหาแพทย์ประจำหนึ่งคนที่เราจะไปหาทุกครั้งที่เจ็บป่วย โดยเลือกหมอจากคลินิกใกล้บ้านที่เราจะสะดวกในการไปปรึกษาเมื่อสุขภาพไม่ดี
ลองหาคลินิกแถวบ้านที่สะดวกสักแห่งไว้สำหรับเวลาป่วยดูนะคะ
รู้จักระบบโรงพยาบาลญี่ปุ่นเอาไว้ อุ่นในยามเจ็บป่วย
Photo by Pixta
เมื่อต้องมาอยู่ต่างแดนอย่างญี่ปุ่น หากไม่รู้ระบบว่าเวลาเจ็บป่วยต้องไปหาหมออย่างไร คงทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจไม่น้อยเลย
เพียงอ่านทำความเข้าใจบทความนี้ แล้วเริ่มจากมองหาสถานพยาบาลแถวบ้านเอาไว้ จะได้ช่วยให้เรามีสติและแก้ปัญหาในยามเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Main image by Pixta
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง