Start planning your trip
รู้ไว้ให้เที่ยวสนุกกับเบื้องหลังการออกแบบโตเกียวสกายทรี ดึงความเป็นญี่ปุ่นมาสู่ปัจจุบัน
พาเที่ยวโตเกียวสกายทรี (TOKYO SKYTREE) หอคอยสูงที่สุดในโลกที่ผสานทั้งความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีทันสมัย ผ่านข้อมูลจากผู้ออกแบบที่ทำให้หอคอยแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโตเกียว
เที่ยวโตเกียวสกายทรีผ่านโครงสร้างแสนอลังการ
Picture courtesy of Tokyo Skytree Town
โตเกียวสกายทรี (TOKYO SKYTREE®) สัญลักษณ์แห่งเมืองโตเกียวที่ได้รับการบันทึกเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในโลก เมื่อปี 2011 ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ใกล้หรือไกลก็ดูสวยสง่าจนทำเอาเราหลงใหลไปโดยไม่รู้ตัว
ผู้รับผิดชอบเรื่องออกแบบโครงสร้างหอคอยแห่งนี้คือ Nikken Sekkei Ltd. ซึ่งได้รับรางวัลด้านการออกแบบระดับชาติอย่าง Japan Institute of Architects' (JIA) Architecture Award ในปี 2013 และ Architectural Institute of Japan (AIJ) Award ในปี 2015
ครั้งนี้เลยขอพาไปรู้จักกับโตเกียวสกายทรีแบบเจาะลึกถึงโครงสร้าง ไม่แน่อาจเปลี่ยนมุมมองของทุกคนที่มีต่อโตเกียวสกายทรีพอได้มาเห็นของจริงครั้งหน้าก็เป็นได้
หน้าที่ 3 อย่างของโตเกียวสกายทรี
หน้าที่หลักของโตเกียวสกายทรีคือการกระจายสัญญาณสื่อสารแบบดิจิตอลที่เริ่มแพร่สัญญาณครั้งแรกในภูมิภาคคันโตตอนเดือนธันวาคม 2003 เพราะเสาระดับความสูง 200 เมตรน่าจะไม่สามารถกระจายสัญญาณผ่านตึกสูงระฟ้าทั้งหลายได้ เลยจำเป็นต้องพึ่งเสาสัญญาณที่ระดับความสูง 600 เมตรแทน
สถานที่สำหรับก่อสร้างเสาสัญญาณใหม่นี้มีหลายตัวเลือก สุดท้ายก็มาจบลงที่เขตซุมิดะผ่านความร่วมมือกับบริษัทรถไฟโทบุ
แหล่งท่องเที่ยวเพิ่มความคึกคักให้ท้องถิ่น
จากจุดชมวิวด้านบนสามารถมองเห็นได้ทั่วโตเกียวไปไกลจนถึงจังหวัดอื่นๆ รอบด้าน ที่นี่จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับโตเกียวฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะย่านเมืองการค้าเก่าในเขตซุมิดะที่มีทั้งอาซากุสะ คินชิโจ เรียวโกคุ
โตเกียวสกายทรียังแทรกความเป็นมาของท้องถิ่นเอาไว้ด้วย ความสูงของหอคอยที่ 634 เมตร มาจาก มุซาชิคุนิ ชื่อเรียกในอดีตของแถบนี้ ซึ่งตัวเลข 634 สามารถอ่านตามเสียงตัวเลขเป็น มุซาชิ ได้
นอกจากส่วนหอคอยของโตเกียวสกายทรี ด้านล่างคือ TOKYO SKYTREE TOWN ที่มีทั้งอาคารสรรพสินค้า TOKYO Solamachi® ออฟฟิศ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และท้องฟ้าจำลอง กลายเป็นที่เที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ
สถานที่ศึกษาและทำวิจัย
อีกหนึ่งหน้าที่คือสถานที่ทำวิจัย โดยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าผ่า เมฆ ละอองฝอยในอากาศ ก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ ตลอดทั้งปี
การสำรวจก่อนเริ่มสร้างถึง 2 ปี
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2010 / Picture courtesy of Tokyo Skytree Town
การบ้านของ Nikken Sekkei Ltd. ผู้ออกแบบโครงสร้างโตเกียวสกายทรีคือการสร้างหอคอยที่สูงเกิน 600 เมตรเป็นครั้งแรกในโลก จึงต้องมีการค้นคว้าวิจัยและสำรวจมากมายนับตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการ
ตัวอย่างเช่น การปล่อยบอลลูนอากาศขึ้นไปสำรวจชั้นกระแสลมและการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องวัดความเร็วลม เพื่อดูว่ากระแสลมพัดยังไงที่ความสูงเกิน 600 เมตร
เรื่องแผ่นดินไหวก็เหมือนกัน นอกจากตรวจสอบพื้นดินแล้วยังต้องเจาะพื้นลงไปลึกถึง 3 กิโลเมตรเพื่อสำรวจชั้นดินและทำแบบจำลองการเคลื่อนตัวและสั่นไหวตอนเกิดแผ่นดินไหว แค่นี้ก็กินเวลาไปตั้ง 2 ปี ถึงจะเริ่มเอาข้อมูลมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างได้
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2008 รวมใช้เวลาทั้งหมด 1,325 วัน (พิธีจบการก่อสร้างวันที่ 3 มีนาคม 2012) หลังจากสร้างเสร็จก็ต่อด้วยการตบแต่งภายใน ติดตั้งอุปกรณ์และระบบ ฝึกพนักงาน ฯลฯ จนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2012
โครงสร้างที่ผสานความงามแบบดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น
โตเกียวสกายทรีผสมผสานระหว่างความงามแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่างลงตัว เขาใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรถึงจะสร้างหอคอยที่สูงตระหง่านและยังปลอดภัยยามแผ่นดินไหวได้อีก
รูปทรงประหนึ่งต้นไม้ใหญ่
ชื่อ "สกายทรี" ก็เป็นเหมือนคำใบ้ที่บอกถึงการอ้างอิงกับต้นไม้ของหอคอยแห่งนี้ ถ้าดูรูปหน้าตัดแนวนอนของหอคอย ส่วนฐานใกล้พื้นดินจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยิ่งขึ้นไปสูงก็ยิ่งเปลี่ยนเป็นรูปวงกลม
ฐานรูปสามเหลี่ยมช่วยเพิ่มความมั่นคง ความแคบของหอคอยส่วนบนช่วยลดแรงกดดันต่อพื้นที่แวดล้อม และลดผลกระทบจากแสงสะท้อนและเงาอาคารให้เหลือน้อยที่สุด
รูปทรงของหอคอยมีส่วนโค้งส่วนเว้าที่อิงมาจาก โซริ (พื้นผิวเว้า) และมุคุริ (พื้นผิวนูน) หนึ่งในวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น
ถ้ามองจากฐานเสาที่เป็นฝั่งสามเหลี่ยมจะเห็นชัดว่าเสาของหอคอยที่พุ่งจากฐานเสาไปบนยอดจะเว้าตรงกลาง ส่วนเสาที่อยู่ตรงกลางระหว่างฐานเสาขึ้นไปบนยอดจะดูนูนออก
โครงสร้างทนแผ่นดินไหวและพายุ
ภายในเสาทั้งหลายคือโครงสร้างที่ถักทอกันไปมาเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่าโครงสร้างแบบทรัสส์ ทนต่อแรงกระทำหลายด้าน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฤดูมรสุม พายุพัดเข้าหลายลูกต่อปี แผ่นดินไหวก็มีเรื่อยๆ การออกแบบสิ่งก่อสร้างสูงๆ จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
"เราจะปล่อยให้ลมแทรกผ่านไปตามช่องว่างระหว่างโครงสร้างเสาจึงไม่สร้างผนังครอบด้านนอก ตัวหอคอยเลยมีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบากว่าอาคารแบบคอนกรีต เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างที่ทนต่อลมแรงและแผ่นดินไหว เหมาะสำหรับการสร้างหอคอยกระจายสัญญาณมาก ทางเราเลยตัดสินใจใช้โครงถักแบบทรัสส์ตั้งแต่แรก" เจ้าหน้าที่ของ Nikken Sekkei Ltd. บอก
"แต่การไม่ทำผนังด้านนอกก็กลายเป็นการบ้านยากอีกชิ้น เพราะผู้คนคาดหวังว่าจะได้เห็นดีไซน์ที่ดึงเอาความเป็นญี่ปุ่นเข้ามาด้วย เราจึงระดมไอเดียจากดีไซน์เนอร์และผู้เกี่ยวข้องชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย ตัดส่วนเกินที่ดูไม่จำเป็นทิ้งไปจนมาลงตัวที่รูปทรงเรียบง่ายอย่างที่เห็น เราก็หวังว่าผู้คนจากทั่วโลกจะได้สัมผัสเสน่ห์อันเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ผสานไปกับความทันสมัยเมื่อได้เห็นโตเกียวสกายทรี"
ภาพโครงเสาหลักของโตเกียวสกายทรี / Picture courtesy of Nikken Sekkei Ltd.
โตเกียวสกายทรีทำหน้าที่เป็นหอคอยกระจายสัญญาณให้กับพื้นที่แถบเมืองหลวง ยิ่งเวลามีอุบัติภัยใหญ่ต่างๆ ข้อมูลที่เข้าถึงได้อย่างฉับไวอาจช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย การออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหวและพายุของโตเกียวสกายทรีจึงมากกว่าอาคารปกติขึ้นไปอีก
ภาพจากบทความ เจดีย์ห้าชั้นวัดรุริโคจิ 1 ใน 3 เจดีย์มีชื่อของญี่ปุ่น จังหวัดยามากุจิ
หนึ่งในตัวอย่างสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเก่าแก่คือเจดีย์ห้าชั้นหลายองค์ทั่วญี่ปุ่นที่รอดพ้นจากเหตุแผ่นดินไหวมาตั้งแต่อดีต เชื่อว่ากุญแจสำคัญก็คือ ชินบาชิระ เสาหลักที่ตั้งอยู่ตรงกลางเจดีย์นั่นเอง โตเกียวสกายทรีก็เอาระบบกระจายแรงสั่นไหวด้วยเสากลางมาใช้เหมือนกัน
เสากลางชินบาชิระของโตเกียวสกายทรีเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กทรงกระบอก ตั้งแยกกับโครงเหล็กที่เราเห็นด้านนอก เวลาเกิดการสั่นไหว เสากลางกับโครงนอกจะไหวไปมาสวนทางกัน ช่วยลดความสั่นไหวได้มากสุดถึง 50%
เสากลางมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร สูง 375 เมตร เส้นรอบวงของเสาจะต่างกันระหว่าง 40-60 เซนติเมตรแล้วแต่ช่วงความสูง จากฐานถึงความสูง 125 เมตรมีเหล็กเป็นตัวเชื่อมระหว่างเสากลางกับโครงนอก ส่วนที่ความสูง 125-375 เมตรจะมีแดมเปอร์น้ำมันคั่นกลาง
แดมเปอร์น้ำมันทำหน้าที่เหมือนหมอนรับแรงกระแทกระหว่างเสากลางกับโครงนอกเพื่อไม่ให้ชนกัน
เสากลางก็ใช่ว่าจะเป็นเสาแบบที่หล่อขึ้นบนพื้นหรือขุดลงไปใต้ดิน จริงๆ แล้วเสากลางของโตเกียวสกายทรีตั้งลอยอยู่บนฐานยางระบบรองรับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร 6 เครื่อง
ภายในเสากลางมีบันไดฉุกเฉิน 2 ทาง เวลาอพยพฉุกเฉินสามารถใช้บันไดนี้ลงมาจากจุดชมวิวล่าง TOKYO SKYTREE TEMBO DECK ความสูง 350 เมตร ด้วยเวลาประมาณ 40 นาที และจากจุดชมวิวบน TOKYO SKYTREE TEMBO GALLERIA ความสูง 450 เมตร ด้วยเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อยากรู้ลึกกว่านี้ไปแวะกันที่ SKYTREE GALLERY
SKYTREE GALLERY ที่ชั้น 1 เป็นดซนแนะนำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับโตเกียวสกายทรีโดยเหล่าคาแรกเตอร์น่ารักๆ มีข้อมูลเกี่ยวกับหอคอยสูงทั่วโลก รวมถึงม้วนภาพดิจิตอลบันทึกทิวทัศน์ย่านเมืองการค้าสองฝั่งแม่น้ำซุมิดะ
มุม SUPER CRAFT TREE บนชั้น 4 มีชิ้นงานประติมากรรมจากงานฝีมือช่างดั้งเดิมในธีมที่เกี่ยวกับโตเกียวสกายทรีเช่น โซริ มุคุริ เสาชินบาชิระ รวม 12 ธีม
ชมงานศิลป์สวยๆ ระหว่างขึ้นลิฟต์
คราวนี้มาขึ้นลิฟต์ Tembo Shuttle ขนาดความจุ 40 คนที่จะพาเราไปยังจุดชมวิวล่าง TEMBO DECK ด้วยความเร็ว 600 เมตรต่อนาที
ในลิฟต์แต่ละตัวจะประดับด้วยแผ่นภาพดุนโลหะเหมือนบนศาลเจ้ามิโคชิที่คนแบกกันตามเทศกาล ในรูปข้างบนนี้คือภาพของฤดูใบไม้ร่วง ขาลงจากจุดชมวิวก็ลองขึ้นลิฟต์ตัวอื่นดูจะได้เห็นภาพของฤดูอื่นด้วย
TEMBO DECK ที่ความสูง 350 เมตร มีวิวมุมสูงของอาซากุสะ วัดเซ็นโซจิ รปปงหงิ สนามกีฬาแห่งชาติ และอาคารเด่นๆ ทั่วโตเกียว วันที่อากาศปลอดโปร่งจะมองเห็นภูเขาไฟฟูจิด้วย
มีคาเฟ่ SKYTREE CAFE 2 ร้าน ให้ซื้อเครื่องดื่มมายืนดูวิวสวยๆ ไปพร้อมกัน
ดูวิวจนเต็มที่แล้วก็แวะมาซื้อของที่ระลึกกันได้ที่ช็อปตรงชั้น 1 หรือชั้น 5 มีทั้งสินค้าลายโตเกียวสกายทรีและโซระคาระจัง คาแรกเตอร์ประจำสกายทรี ไปจนถึงงานฝีมือจากย่านเมืองการค้ารอบสกายทรี
ดูโตเกียวสกายทรีส่องแสงสวยยามค่ำคืน
ตอนกลางคืนมาดูโตเกียวสกายทรีถูกย้อมด้วยแสงสีสวยจากมุมไกลกันดีกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ได้มีการปรับปรุงไฟประดับและเลือกเอาสีที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมาใช้เป็น 3 สีหลัก
อิคิ (iki : 粋) แสงสีฟ้า สื่อถึงสายน้ำไหลเอื่อยแต่เปี่ยมด้วยพลังของแม่น้ำซุมิดะ มิยาบิ (miyabi : 雅) แสงสีม่วงเอโดะมุราซาคิ (ชื่อสีม่วงอมฟ้าแบบญี่ปุ่น) แทรกด้วยสีเหลืองดูเหมือนทองคำเปลว และ โนโบริ (nobori : 幟) แสงสีส้มทาจิบานะ สีมงคลแห่งความโชคดี
บางครั้งก็มีเปิดสีพิเศษด้วยนะ ดูสีที่จะเปิดในแต่ละวันได้จากตารางในหน้าเว็บไซต์ทางการ เผื่อจะได้เลือกไปวันที่มีสีพิเศษพอดี
โตเกียวสกายทรี วัฒนธรรมดั้งเดิม x นวัตกรรมสมัยใหม่
บางทีพอได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของอะไรสักอย่าง มุมมองที่มีต่อสิ่งนั้นก็อาจเปลี่ยนไป คราวหน้าที่ได้มาโตเกียวสกายทรี หลังจากดูวิวสวยๆ จากบนจุดชมวิวกันแล้วก็อย่าลืมมาดูความงามของเส้นโค้งเส้นเว้าตรงโครงสร้างหอคอยกันต่อนะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เป็นบรรณาธิการที่ MATCHA ตั้งแต่ปี 2016 ความหลงใหลของฉันในละครโนะและศิลปะการแสดงของประเทศญี่ปุ่นคือสิ่งที่นำฉันมาที่นี่ เรื่องทุกอย่างที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นทุกวันคือสิ่งที่ทำให้ฉันอยู่ที่นี่
ฉันเรียนรู้การจัดดอกไม้อิเคบานะ (Ikenobo School) และพิธีสามัคคี (Omote Senke) ตั้งแต่ปี 2012 งานเขียนเรื่องสั้นและบทวิจารณ์ละครที่ฉันเขียนนอกเวลาทำงานสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์วรรณกรรมรวม "บังกุ คิงโย"
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง