Unseen Japan สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งฤดูหนาวของเมืองมัตสึโมโตะ 2 วัน 1 คืน

เวิร์กชอปย้อมสีผ้าเทะนุกุยแบบชูเซ็นที่ Tenukuri Studio

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

เทะนุกุย ผ้าผืนยาวที่มาพร้อมลวดลายแบบญี่ปุ่นสารพัดแบบ มาลองทำกิจกรรมสนุกๆ และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมผ้าแบบชูเซ็นด้วยกันที่ Tenukuri Studio ใกล้สถานีทาเทอิชิ โตเกียว

บทความโดย

อาหารญี่ปุ่นที่ชอบที่สุดคือราเม็งทงคตสึโชยุ เข้มข้นและเค็ม! ส่วนขนมขอยกให้มิตาราชิดังโกะ เห็นที่ไหนต้องแวะซื้อตลอด ว่างๆ ก็ออกไปถ่ายรูปบ้างพอให้มีอะไรที่เรียกว่าเป็นงานอดิเรก
more

เทะนุกุย ผ้าสารพัดประโยชน์ของชาวญี่ปุ่น

เทะนุกุย (Tenugui : 手ぬぐい) เป็นชื่อเรียกของผ้าเนื้อบางผืนยาว คำว่า "เทะ" แปลว่า มือ คำว่า "นุกุย" แปลว่า เช็ดถูให้สะอาด ถึงชื่อจะแปลว่าผ้าเช็ดมือ แต่เทะนุกุยเอาไปใช้ประโยชน์ได้สารพัดตามใจอยาก

ผ้าเทะนุกุยโพกหัว เห็นได้ตามงานเทศกาล / Photo by pixta

ว่ากันว่าเทะนุกุยถูกนำมาใช้เช็ดตัว เช็ดทำความสะอาด หรือไว้ห่อเก็บของมาตั้งแต่ยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นก็ยังใช้เทะนุกุยในโอกาสต่างๆ เช่น นักกีฬาเคนโดจะพันผ้าเทะนุกุยก่อนสวมหน้ากาก ตามเทศกาลก็จะเห็นคนเอาเทะนุกุยมาโพกหัวหรือไว้เช็ดหน้าซับเหงื่อ

ด้วยลวดลายหลากหลาย สีสันสวยงาม ราคาไม่แพง และดูแลรักษาง่าย ตอนนี้ทั้งชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยนิยมเอาเทะนุกุยมาใส่กรอบหรือห้อยเป็นภาพแขวนประหนึ่งของแต่งบ้านกันด้วย

แน่นอนว่าถ้าไปตามร้านร้อยเยนหรือตามห้างก็หาซื้อเทะนุกุยได้ง่ายๆ แต่ถ้าได้ลองย้อมสีผ้าเทะนุกุยเองด้วยล่ะ แค่ฟังก็น่าสนุกแล้ว!

ย้อมผ้าเทะนุกุยด้วยตัวเองที่ Tenukuri Studio

เรามากันที่ Tenukuri Studio (てぬクリ工房) สตูดิโอที่มีคอร์สให้ทดลองย้อมสีผ้าเทะนุกุยด้วยตัวเองใกล้สถานีทาเทอิชิ ในโตเกียว

ครั้งนี้เราเลือกคอร์สเบสิก เป็นคอร์สที่สั้นที่สุด ใช้เวลา 2 ชั่วโมง โดยจะได้ลองลงสีย้อมผ้าด้วยวิธีที่เรียกว่าชูเซ็นและรับผ้าเทะนุกุยที่ย้อมกลับบ้านคนละ 2 ผืน ยังมีคอร์สอื่นๆ สำหรับคนที่อยากเรียนรู้แบบจริงจังด้วย ติดต่อจองกิจกรรมเวิร์กชอปและดูคอร์สอื่นๆ ได้จากเว็บไซต์ทางการ

การเดินทาง
นั่งรถไฟสายเคเซจากสถานีเคเซอุเอโนะ (Keisei-Ueno) ลงที่สถานีเคเซทาเทอิชิ (Keisei-Tateishi) เดินประมาณ 5 นาที สตูดิโอตั้งอยู่บนชั้น 1 ในพื้นที่ของบริษัท Tokyo Wazarashi ลองกดดูแผนที่ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้

เมื่อเข้ามาด้านในจะเจอกับส่วนร้านค้า เดี๋ยวมาดูกันอีกทีนะ ตอนนี้ไปส่วนเวิร์กชอปที่อยู่ทางซ้ายของห้องนี้กัน

ก่อนเริ่มจะมีวิดีโอเล่าเรื่องราวความเป็นมาและแสดงวิธีย้อมสีเทะนุกุยแบบชูเซ็นให้ดู มีเสียงบรรยายภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษให้เลือกด้วย

ข้อดีอย่างหนึ่งของวิดีโอนี้คือเราจะได้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมผ้า การลงสีย้อมแบบต่างๆ ที่ช่างฝีมือทำกันจริงๆ ทำให้เข้าใจหลักการก่อนไปลองของจริง

สวมผ้ากันเปื้อน เปลี่ยนเป็นรองเท้าบูทเสร็จครูผู้สอนก็พาเข้ามาในห้องเวิร์กชอปที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนที่เราเห็นในวิดีโอเต็มไปหมด

ปาดกาวกันสี

ส่วนสีดำคือกระดาษลาย

ขั้นตอนแรกจะใช้เฟรมไม้ซึ่งติดด้วยกระดาษลายเอาไว้แล้ว บนโต๊ะจะเห็นเหมือนแท่งเหล็กเสียบอยู่ นั่นคือตัวกั้นล็อกตำแหน่งเฟรมไม้ให้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพราะเราต้องยกเฟรมขึ้นลงหลายครั้ง

ผ้าสำหรับทำเทะนุกุยไม่ได้ถูกตัดเป็นแผ่นๆ เหมือนที่เห็นเวลาวางขาย แต่จะยาวเป็นม้วนเดียวกัน

เมื่อวางผ้าเรียบร้อยก็ตักกาวมาปาดด้วยไม้ปาด

ลวดลายบนผ้าเกิดจากการกั้นส่วนที่ไม่อยากให้โดนสีด้วยกาวกันสี กาวนี้ผสมขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น รำข้าว สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำเปล่า

เห็นเลยว่ากาวจะค้างอยู่บนส่วนสีดำของกระดาษลาย ไม่ทะลุไปข้างล่าง

พอยกเฟรมขึ้นก็เห็นลายใบไม้เป็นสีขาว เฉพาะผ้าส่วนสีขาวที่ไม่โดนกาวเท่านั้นที่จะถูกย้อม

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

ปาดกาวเสร็จ 1 ครั้งก็เอาผ้าใหม่มาทาบอีก 1 ทบ แล้วก็ปาดกาวซ้ำขั้นตอนเดิมไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะย้อมกี่ผืน

ได้เวลาลองเองบ้างแล้ว ดูแล้วเหมือนไม่ยาก แต่ยากตรงที่ทำให้กาวหนาเท่ากันตลอดทั้งผืน เพราะครูบอกว่าให้ปาดไปทีเดียว อย่าหยุดตรงกลาง ไม่งั้นจะเกิดเป็นรอยด่างของชั้นกาว

พอปาดกาวบนผ้าครบตามจำนวนผืนที่ต้องการก็ปิดทับด้วยผ้าเก่าสำหรับกันชิ้นงานเปื้อน ที่จริงถ้ากลับไปดูที่รูปแรกก็จะเห็นผ้านี้รองอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว

เอาผ้าไปโรยด้วยขี้เลื่อย เพื่อลดความเหนอะของกาว ไม่งั้นกาวอาจจะเยิ้มเลอะ แล้วทำให้ลายเสีย

สำหรับการย้อมสีเดียว เราสามารถลงสีย้อมได้เลยทันที แต่ครั้งนี้เราอยากย้อมหลายสี เลยต้องมาบีบกาวให้เป็นเขื่อนกั้นสีเอาไว้ก่อน ขั้นตอนนี้คนที่ทำเบเกอรี่แต่งหน้าเค้กมาคงสบายเลย

เทสีย้อม

ได้เวลาลงสีกันแล้ว สำหรับวิธีชูเซ็น (注染) นี้ถ้าดูตามตัวอักษรคันจิจะแปลได้ว่าเท+ย้อม เพราะเค้าจะเอาสีมาเทหยอดลงบนผ้าโดยใช้กาน้ำปากเรียวยาวที่เรียกว่ายะคัง

การเทสีจะทำบนโต๊ะที่เป็นเครื่องแวคคั่ม (เครื่องสุญญากาศ) ด้านหน้าโต๊ะจะเป็นตะแกรงให้สีหยดผ่านได้ พอเทสีลงไปจนเต็มช่องก็เหยียบแป้นดูดลม สีจะถูกดูดลงไปจนซึมผ่านผ้าทุกชั้น วิธีนี้ทำให้สามารถผลิตเทะนุกุยได้หลายผืนในครั้งเดียว

ถัดไปจะใช้ 2 สีลงพร้อมกันเพื่อให้เกิดการไล่สีแบบเนียนๆ ยากตรงที่ต้องถือกาสีสองมือแล้วเลื่อนเทไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าเทสีแรกให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเทสีที่สอง สีแรกก็จะซึมเข้ามาจนไม่เห็นเป็นลายโค้งแบบที่ต้องการ

ตอนแรกครูก็ช่วยจับก่อน

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

ถัดไปนี่ต้องทำเองแล้ว อย่างลายวงกกลมยากตรงที่ต้องมียกปากของกาขึ้นแล้วเอาอีกอันลอดไปพร้อมกับเทไปด้วย ทำไปก็กลั้นหายใจไป กลัวสีหก

ปกติหลังจากลงสีครบแล้วจะต้องเอาผ้าไปตากประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้สีซึมติดเนื้อผ้า แต่ถ้ารออย่างนั้นเราคงไม่ได้กลับบ้านกันแน่ๆ เลยมีตัวช่วยเป็นน้ำยาช่วยเร่งปฏิกริยา เสร็จแล้วก็ได้เวลาแกะผ้ารองกันเปื้อนออก

ล้างกาว

เอาผ้าไปล้างในน้ำ เพื่อเอากาวและสีส่วนเกินออก

เสร็จแล้ว!

กางออกมายาวขนาดนี้เลย ถ้าเป็นเทะนุกุยที่เค้าทำขายผ้าจะยาวเป็นสิบเมตร เวลาตากก็ต้องใช้รอกดึงไปแขวนบนราวที่สูงมากๆ

ตัดผ้าแยกออกเป็นผืนเล็กก็เป็นอันเสร็จ ผลงานผ้าเทะนุกุยย้อมเองด้วยวิธีชูเซ็น ลวดลายที่มีให้ย้อมจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ดูลายผ้าได้จากหน้าเว็บไซต์ ครั้งนี้มาประมาณเดือนกันยายน ก็เป็นลายใบเมเปิลกับใบแปะก๊วย เตรียมรับฤดูใบไม้เปลี่ยนสีกันล่วงหน้าเลย

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

จุดเด่นของการย้อมผ้าแบบชูเซ็นคือสีย้อมจะชัดเจนทั้งด้านหน้าและหลัง เพราะงั้นจะใช้ด้านไหนก็ได้

การได้มาที่นี่วันนี้ยังทำให้ได้พบกับคำตอบที่สงสัยมานานนับสิบปีว่าทำไมเทะนุกุยถึงไม่เย็บเก็บขอบผ้า ครูบอกว่าคุณสมบัติของเทะนุกุยคือบาง แห้งง่าย ถ้าไปพับขอบผ้าแล้วเย็บจะทำให้แห้งยาก และนั่นอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ง่ายขึ้นด้วย เวลาที่มีด้ายรุ่ยออกมาก็ให้ตัดทิ้งไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งด้ายจะหยุดรุ่ยเอง ชายผ้าก็จะเป็นริ้วๆ สวยไปในตัว

เลือกซื้อเทะนุกุยสวยๆ เป็นของฝาก

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

ส่วนร้านค้ามีเทะนุกุยหลากหลายลวดลายให้เลือกซื้อ ตั้งแต่ลวดลายญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ไปจนถึงลวดลายกราฟฟิกสมัยใหม่ บางส่วนเป็นของดีไซเนอร์อิสระที่ออกแบบเองย้อมเองด้วย

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

อันนี้เป็นแบรนด์ของสตูดิโอเอง เน้นลวดลายแบบดั้งเดิมแต่ใช้สีสันสดใส เอาไปใช้เป็นผ้าเช็ดหน้าก็ได้ หรือจะเอาไปแต่งบ้านก็เก๋ ได้อารมณ์ญี่ปุ่นแบบโมเดิร์น

เรียนรู้วิธีย้อมสีผ้าแบบชูเซ็นบนเทะนุกุยที่ Tenukuri Studio

ตัวอย่างของการเอาผ้าเทะนุกุยไปใส่กรอบแล้วใช้เป็นของแต่งบ้าน พอหมดฤดูนึงหรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศก็แค่เปลี่ยนผ้าเป็นลายใหม่ได้เลยง่ายๆ

ถ้าอยากลองทำกิจกรรมสนุกๆ และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมผ้าแบบชูเซ็นด้วยละก็มากันที่ Tenukuri Studio ได้เลย

บทความโดย

TeiChayangkul

อาหารญี่ปุ่นที่ชอบที่สุดคือราเม็งทงคตสึโชยุ เข้มข้นและเค็ม! ส่วนขนมขอยกให้มิตาราชิดังโกะ เห็นที่ไหนต้องแวะซื้อตลอด ว่างๆ ก็ออกไปถ่ายรูปบ้างพอให้มีอะไรที่เรียกว่าเป็นงานอดิเรก
more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง