สำหรับผู้ที่สนใจวัฒนธรรมสาเก! ขอแนะนำ "ทัวร์โรงเหล้าในคาชิมะและอุเรชิโนะ" สัมผัสวัฒนธรรมสาเกญี่ปุ่นที่ชาวคิวชูภาคภูมิใจ
เมืองคาชิมะและอุเรชิโนะในจังหวัดซากะ มีวัฒนธรรมสาเกและอาหารที่นักชิมไม่ควรพลาด ขอแนะนำทัวร์โรงเหล้า 2 วันที่จะได้พบสาเกญี่ปุ่นแสนอร่อยมากมากรวมถึงวัฒนธรรมด้วย
ไปเรียนรู้วัฒนธรรมสาเกญี่ปุ่นที่เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะ
เมืองคาชิมะ (Kashima) จังหวัดซากะ (Saga) ในภูมิภาคคิวชูมีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตสาเกญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
โรงเหล้าในคาชิมะส่วนใหญ่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี บางแห่งก็เปิดให้เยี่ยมชมด้านใน ทำให้เราได้รู้จักและเพลิดเพลินกับสาเกรสชาติละเมียด
ในครั้งนี้ ผู้เขียนชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นแฟนของสาเกญี่ปุ่นอยู่แล้วได้มีโอกาสเข้าร่วมทัวร์โรงเหล้าในคาชิมะและอุเรชิโนะ (Kashima & Ureshino Sake Brewery Tour) จึงจะมาขอเล่าทริปที่จะพาตระเวนไปตามถนนของบ้านเรือนสมัยเอโดะ ชิมสาเกหลากหลาย ลิ้มรสอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ และชมการผลิตสาเกด้วยตลอด 2 วัน
วันที่ 1 : ทัวร์ท้องถิ่นชนบทของคิวชู
วันแรกเรานัดกับไกด์ที่ฮาคาตะ (Hakata) จังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka) 1 ใน 3 เมืองราเม็งชื่อดังของญี่ปุ่น จากนั้นก็นั่งบริการรถตู้โดยสารจัมโบ้แท็กซี่ ไปยังคาชิมะด้วยความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ดื่มด่ำกับสาเกและอาหารท้องถิ่นของที่นั่น
จิบสาเกเปรียบเทียบรสชาติที่ HAMA BAR
นั่งรถชมวิวภูเขาและทุ่งหญ้าเขียวขจีของจังหวัดซากะไปราว 1 ชั่วโมง 30 นาทีก็มาถึงคาชิมะ
เริ่มแรกเราแวะไปที่ HAMA BAR ในสถานีฮิเซ็นฮามะ (Hizenhama) ซึ่งเดินทางมาสะดวกมาก ที่นี่พึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2021
ที่นี่เราสามารถดื่มจุนไมกินโจ (* 1) คุณภาพเยี่ยม 6 ชนิดที่ผลิตจากโรงเหล้า 6 แห่งในคาชิมะเปรียบเทียบกันได้ แต่ละชนิดมีความยอดเยี่ยมต่างกัน แต่นาเบชิมา (Nabeshima Brand) ของโรงเหล้าฟุคุจิโย (Fukuchiyo Brewery) ที่มีรางวัลการันตีนั้นช่างน่าประทับใจ รสชาติร้อนแรง และคงความกรุ่นอยู่ในปาก
ซาจิฮิเมะ เดียร์ มาย ปริ๊นเซส (Sachihime 'Dear My Princess' Brand) ของโรงเหล้าซาจิฮิเมะ (Sachihime Brewery) ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน มีรสชาติเข้มข้นนุ่มลึก แถมชื่อยังน่ารักและขวดก็สวยด้วย
* 1 : จุนไมกินโจ (Junmai Ginjo) ... สาเกคุณภาพเยี่ยมชนิดหนึ่งที่ใช้ข้าวขัดให้เหลือ 60% หรือต่ำกว่าให้ได้ส่วนที่ดีที่สุดเท่านั้น (เอาเมล็ดข้าวออก 40%)
เดินเล่นไปตามถนนซาคากุระ (Sakagura-dori Street) ในคาชิมะ
เมื่อรู้สึกเคลิ้มจากการชิมสาเกสุดหรูแล้วก็ไปเดินเล่นต่อที่ถนนซาคากุระ (ถนนโรงเหล้า) ในคาชิมะกัน มีอาคารงดงามทางประวัติศาสตร์เรียงรางตามถนนยาว 600 เมตร ที่นี่เคยเป็นย่านสำคัญทางการค้า แม้ขณะนี้ก็ยังคงกลิ่นอายบรรยากาศในสมัยเอโดะอยู่
มีร้านน้ำชาที่อาคารทำจากไม้ ที่พักแรม ร้านค้า และบ้านเรือนตั้งเรียงรายตามแนวโกดังที่มีกำแพงสีขาวขนาดใหญ่และบ้านพักซามูไร แต่ละแห่งดูน่าค้นหา เหมือนถูกเชิญชวนให้เดินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
สัมผัสประสบการณ์ในโรงเหล้า
ภาพผู้เขียนตอนทำกิจกรรมในโรงเหล้า
เราได้เข้าไปในฮิเซ็นยะ (Hizenya) โรงเหล้าที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ดำเนินกิจการโดยโรงเหล้ามิตสึทาเคะ (Mitsutake Shuzojo) มาตั้งแต่ปี 1688 ที่นี่ยังคงรักษาบรรยากาศย้อนยุค ทำให้วงการสาเกญี่ปุ่นของคาชิมะมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น และเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่
ไกด์ที่เป็นมิตรช่วยแนะนำและพาพวกเราเที่ยวชมโรงเหล้า การออกแบบขวดเหล้าสาเกของที่นี่โดดเด่นสะดุดตา อย่างขวดที่มีตัวการ์ตูนอนิเมะชื่อดัง (ฤทธิ์หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ) เรายังสามารถลิ้มรสเหล้าหวานหรืออามะซาเกะ (* 2) แบบไร้แอลกอฮอล์ เหล้าบ๊วยรสชาติโดดเด่น และคราฟต์ยิน (Craft Gin) ที่ผสมผสานกับเสน่ห์ของพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ในท้องถิ่น
* 2 : เหล้าหวานหรืออามะซาเกะ (Amazake) ... เครื่องดื่มรสหวานที่ทำจากข้าว มี 2 ประเภท แบบไม่มีแอลกอฮอล์ที่ใช้โคจิคินหรือเชื้อหมักโคจิ (มักรู้จักกันในชื่อว่า โคเมะโคจิ) และแบบมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1% ที่ใช้สาเกคาสุหรือกากเหล้า
จากนั้นเราไปต่อกันที่โรงเหล้าซาจิฮิเมะซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการทำโอมิกิ (Omiki) สาเกสำหรับถวายแด่เทพเจ้าของศาลเจ้ายูโทคุอินาริ (Yutoku Inari Shrine) ในเมืองคาชิมะ
โรงเหล้าซาจิฮิเมะเปิดกิจการในปี 1934 ได้รับรางวัลการันตีจากการแข่งขันระดับนานาชาติมากมายและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาก โรงเหล้าแห่งนี้เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นดูโออ่าสง่างาม และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมด้วย
โรงเหล้าซาจิฮิเมะผลิตสาเกจุนไมที่มีรสชาติแรงเล็กน้อย กลมกล่อมละเมียด เข้ากับอาหารได้หลายแบบ ที่นี่ยังมีซอฟต์ครีมสาเกท้องถิ่นยอดนิยมด้วย อร่อยสุดๆ จนตั้งใจว่าจะต้องกลับมากินอีกให้ได้!
ค้างคืนแบบสุดหรูที่วาตายะ เบ็ตโซ (Wataya Besso)
หลังจากเที่ยวชมวัฒนธรรมสาเกจนเต็มอิ่มแล้ว เรามุ่งหน้าไปยังเมืองอุเรชิโนะ (Ureshino) ที่อยู่ติดกัน ที่นี่มีชื่อเสียงในเรื่องชาเขียวอุเรชิโนะ อุเรชิโนะออนเซ็น และภาชนะเครื่องกระเบื้องฮิเซ็นโยชิดะยากิ (Hizen Yoshidayaki)
เราเดินผ่านทิวทัศน์บ้านเรือนของเมืองอุเรชิโนะจนมาถึงที่พักในคืนนี้ โรงแรมออนเซ็นวาตายะ เบ็ตโซ (Wataya Besso)
ภายในอาคารดูเรียบง่ายแต่หรูหรา ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นผสมผสานกันอย่างลงตัวในทุกซอกทุกมุม
ห้องพักก็น่าประทับใจมากเหมือนกัน มีบ่อน้ำร้อนกลางแจ้งส่วนตัวที่มองลงมาเห็นทิวทัศน์สวนญี่ปุ่นโดยรอบด้วย
หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศชวนฝัน ก็ได้เวลาไปดินเนอร์อาหารอร่อยคู่กับสาเกญี่ปุ่นแล้ว!
ดินเนอร์จับคู่สาเกญี่ปุ่น
เรากินอาหารเย็นที่ริโซอัน (Risoan) ร้านอาหารภายในโรงแรม เป็นคอร์สเมนูอาหาร 10 จานที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมากมายรวมถึงเนื้อวัวซากะ
คุณเซโต เฮตะ (Seto Heta) เจ้าของโรงเหล้าเซโต (Seto Brewery) ในอุเรชิโนะจะคัดสรรสาเกญี่ปุ่นให้เข้ากับอาหารที่เสิร์ฟ
เราจะได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับการจับคู่สาเกกับอาหารแต่ละจาน ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของวัฒนธรรม ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ของอุเรชิโนะ
เริ่มต้นด้วยอาซุมะโจ (Azumacho) เป็นนามะสาเก (สาเกสดที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์) ซึ่งเพิ่งคั้นแยกในหนึ่งสัปดาห์ก่อน มีการปรับอุณหภูมิของสาเกให้อยู่ที่ 5°C เพื่อช่วยกระตุ้นการรับรสชาติให้ดีขึ้น เหมาะกับการเริ่มต้นมื้ออาหาร รสชาติอุมามิที่เต็มเปี่ยมจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของเราได้
อาหารทุกจานปรุงขึ้นเพื่อให้เรายิ่งเพลิดเพลินกับสาเก มีการเสิร์ฟอาหารต้นตำรับที่ใช้เนื้อวัวซากะ
มินิเบอร์เกอร์เนื้อวัวซากะ ลิ้นวัวบ่ม (Dry-aged beef tongue) ต้มด้วยน้ำพุร้อน สเต็กเนื้อสันนอกหมักกากเหล้า สเต็กเนื้อสันในราดซอสบีทรูท เป็นมื้ออาหารสุดหรูที่ไม่มีวันลืมได้เลย!
ที่สำคัญอาหารทั้งหมดเสิร์ฟคู่กับภาชนะเครื่องกระเบื้องที่ทำในจังหวัดซากะ ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นทั้งอาหารและงานศิลป์
อย่างเมนูซุปปูทาเคซากิ (Takezaki Crab) ที่กินโดยรินสาเกแบบนุรุคัง (Nurukan) หมายถึงสาเกอุ่นที่อุณหภูมิ 40°C ลงไป หรือการกินสเต็กโดยแตะเกลือรสสาเกญี่ปุ่น ซึ่งเสิร์ฟมาในหลอดเก๋ๆ ทำให้เราเพลิดเพลินกับอาหารแต่ละจานและสนุกตื่นเต้นว่าจานต่อไปจะเป็นอะไร และเสิร์ฟมาแบบไหน
แม้ผู้เขียนจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาพอสมควรแล้ว แต่ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้พบเจอที่นี่ล้วนแปลกใหม่และน่าประทับใจ โดยเฉพาะช่วงเวลาอาหารที่น่าจดจำนี้!
หลังมื้ออาหารประทับใจ เราออกจากร้านอาหาร เดินไปตามทางเดินที่เรียงรายไปด้วยงานศิลปะ ก็จะพบห้องชาซะเรียวแอนด์บาร์ (Saryo & Bar) ที่บริหารงานโดยเกษตรกรไร่ชา ที่นี่มีสาเกญี่ปุ่นจากโรงเหล้าเซโตพร้อมกับวากาชิ (ขนมญี่ปุ่น) และชาเขียวอุเรชิโนะให้เพลิดเพลิน
วันที่ 2 : สัมผัสประสบการณ์การผลิตสาเก!
หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว เรานั่งจัมโบ้แท็กซี่จากที่พักแสนสบายวาตาเยะ เบ็ตโซ ออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป ในวันที่สองเราแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปที่โรงเหล้าเซโต ผู้ผลิตสาเกที่เราดื่มกันไปเมื่อคืน ส่วนอีกกลุ่มรวมถึงผู้เขียนกลับไปที่คาชิมะแล้วมุ่งไปที่โรงเหล้ายาโนะ (Yano Brewery)
ประสบการณ์การผลิตสาเกที่โรงเหล้ายาโนะ การเตรียมข้าวขัดสีกับโมโรมิ
มีทัวร์โรงผลิตสาเกมากมายทั่วญี่ปุ่น แต่กิจกรรมลองผลิตสาเกนั้นมีเปิดให้ร่วมน้อยมาก โดยทั่วไปโรงเหล้าจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปถึงส่วนผลิต ดังนั้นเราจึงตื่นเต้นมากๆ ที่ได้สัมผัสประสบการณ์จริงในครั้งนี้!
โรงเหล้ายาโนะที่เราได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มกิจการในปี 1796 ผลิตสาเกมานานกว่า 200 ปี ปัจจุบันบริหารงานโดยคุณยาโนะ โมโตฮิเดะ (Yano Motohide) เจ้าของรุ่นที่ 9
คุณยาโนะเป็นมิตรมากและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น คติประจำใจของเขาคือ "เรียนรู้อดีต สร้างสรรค์อนาคต" ด้วยการผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ และการออกแบบที่ทันสมัยเข้ากับเทคนิคและรสชาติแบบดั้งเดิม จากการที่ได้พูดคุยกับเขา เราจะสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจและความมุ่งมั่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เมื่อสวมหมวกคลุมผม เสื้อคลุมสีขาว และรองเท้าบูทยาว ล้างมือให้สะอาดแล้ว ก็ลงมือทำสาเกกันเลย
เราเริ่มเกลี่ยข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ อย่างเบามือเพื่อให้ข้าวสวยเย็นและแห้งลงโดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงเหล้ามาช่วยแนะนำอยู่ข้างๆ จากนั้นนำไปใส่ในถังหมัก เราสนุกมากที่ได้เรียนรู้วิธีการแบบดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
กระบวนการที่เราสนใจที่สุดคือการโรยเชื้อหมักโคจิบนข้าวเพื่อเพิ่มจำนวนเชื้อ ซึ่งจะทำในห้องที่ร้อนเพื่อให้เชื้อหมักโคจิเพื่อแพร่กระจายได้ดีทั่วข้าวทั้งหมด
ชิมและเที่ยวชมโรงเหล้าเซโต
Picture courtesy of UNA Laboratories
โรงเหล้าเซโตที่อีกกลุ่มไปเยี่ยมชม เริ่มกิจการในปี 1789 คุณเซโตผู้หลงใหลในสาเกญี่ปุ่นเป็นผู้พาชม
Picture courtesy of UNA Laboratories
โรงเหล้าเซโตให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องวัตถุดิบ เช่น ปลูกข้าวยามาดะนิชิคิที่เป็นข้าวพันธุ์สำหรับหมักสาเกด้วยตัวเอง ในขณะที่เยี่ยมชมโรงเหล้า คุณเซโตจะสอนขั้นตอนทั้งหมดอย่างละเอียด ตั้งแต่การปลูกข้าวไปจนถึงการกลั่นสาเกหลังหมักได้ที่แล้ว
Picture courtesy of UNA Laboratories
ในระหว่างทัวร์ เราจะได้ชิมข้าวที่ล้ำค่านี้ในแบบนึ่งและแบบที่หมักด้วยเชื้อหมักโคจิซึ่งเป็นโอกาสที่หากได้ยาก นอกจากนี้ยังได้ลองจิบสาเกญี่ปุ่นแบบสดๆ หน้าถังขนาดใหญ่ที่บรรจุสาเกด้วย เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ เลย
Picture courtesy of UNA Laboratories
เรายังสามารถเข้าไปดูห้องที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้โบราณต่างๆ ของโรงเหล้าเซโต เช่น เครื่องมือคั้นแยกสาเกด้วยแรงคนโดยใช้น้ำหนักของก้อนหินช่วย
แต่ที่เรารู้สึกชอบที่สุดก็คือตอนที่ได้ไปนั่งคุยแบบสบายๆ กับคุณเซโต เกี่ยวกับโรงเหล้าเซโตและแวดวงอุตสาหกรรมสาเก ถึงเราจะยังเป็นมือสมัครเล่นเรื่องสาเกญี่ปุ่น แต่คุณเซโตก็อธิบายและเล่าเรื่องราวต่างๆ ในทุกคำถามที่พวกเราสงสัยอย่างใจดี
หลังการเยี่ยมชม เราได้รับสาเกญี่ปุ่นจากโรงเหล้าแต่ละแห่งเป็นที่ระลึก แต่ละคนก็ต่างดีใจที่จะได้ลิ้มลองรสชาติสาเกที่ยอดเยี่ยมนี้ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ
จบทัวร์แล้ว กลับไปที่ฮากาตะกัน
การผจญภัยไปกับสาเกญี่ปุ่นสิ้นสุดลง และแล้วก็ถึงเวลาอำลา เรานั่งจัมโบ้แท็กซี่อีกครั้ง มุ่งหน้าไปยังฮากาตะ ทั้งอิ่มและได้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย ช่วงเวลาแห่งประสบการณ์ที่สนุกสนาน 2 วันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ
วัฒนธรรมสาเกญี่ปุ่นอันหลากหลายที่หยั่งรากในประเทศญี่ปุ่น
ตลอดทัวร์เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นจากการดื่มสาเกด้วยกัน และได้ฟังเรื่องราวน่าสนใจมากมายจากไกด์และผู้ผลิตสาเก
ถ้าเป็นใครชื่นชอบประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น ต้องหาโอกาสมาดื่มด่ำกับโลกของสาเกญี่ปุ่นและวัฒนธรรมที่หาโอกาสสัมผัสได้ยากนี้ด้วยทัวร์ที่ไม่เหมือนใครในเมืองคาชิมะและอุเรชิโนะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Written by Steven Csorgo
Photos by Yuji Tanaka, with the exception of the pictures provided by UNA Laboratories
Sponsored by UNA Laboratories
บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง