Start planning your trip
เตรียมตัวไปตะลุย Comic Market ฤดูร้อน! มีอะไรจำเป็นหรือน่าพกไปบ้าง มาเช็คกันเลย!
คอมิเกะ (Comic Market) คืองานอีเวนท์สำหรับชาวการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ท่ามกลางอากาศร้อนสุดๆ ของฤดูร้อนญี่ปุ่น เราจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าเป็นคนที่มาต่อคิวรอแต่เช้ามืดหรือมาร่วมงานแบบสบายๆ มาดูกันดีกว่าว่าในงานคอมิเกะฤดูร้อน เราควรพกอะไรไปบ้าง!
เตรียมตัวไปตะลุยงานการ์ตูนสุดมันส์ที่งาน Comic Market ฤดูร้อน (Summer Comic Market)
คอมิเกะ (Comic Market) คืองานอีเวนท์สำหรับชาวการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว
สำหรับงานในฤดูร้อนที่จัดขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนสุดๆ ของฤดูร้อนญี่ปุ่น เราจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าเป็นคนที่มาต่อคิวรอแต่เช้ามืดหรือมาร่วมงานแบบสบายๆ
มาดูกันดีกว่าว่าในงานคอมิเกะฤดูร้อน เราควรพกอะไรไปบ้าง!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ทำไมจึงต้องเตรียมตัวไปงานในฤดูร้อน?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ความโหดร้ายของงาน Comic Market มาแล้วว่ามีคนเข้าร่วมมากมายกว่าห้าแสนคน (ในระยะเวลา 3 วัน) หรือต้องไปแต่เช้าตรู่เพื่อต่อคิว
ซึ่งเราก็จะบอกว่า ... เป็นความจริงค่ะ นอกจากนี้หากใครไปร่วมงานในฤดูร้อนจะต้องเจอกับสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศา ซึ่งบางวันอาจจะสูงถึง 38-40 องศาเลยทีเดียว!
ฉะนั้นหากใครที่จะเดินทางไปเผชิญหน้ากับคนเป็นแสน และอาจจะต้องยืนรอในอากาศร้อน แดดเปรี้ยงๆ เราจึงแนะนำว่าควรเตรียมตัวไปให้ดี เพื่อให้เราได้สนุกกับงานอย่างเต็มที่และปลอดภัย ไม่เจ็บป่วยค่ะ
พูดแล้วเหมือนจะขู่เยอะ เราจะขอแบ่งไอเทมจำเป็นออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ โดยแบ่งตาม "สไตล์การเข้าร่วม" ของแต่ละบุคคล
บางท่านอาจจะไม่อยากไปรอแต่เช้า บางท่านอาจจะอยากไปซื้อสินค้าฝ่ายเซอร์เคิล (โดจินชิ) เป็นหลัก ซึ่งของที่จำเป็นก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย
ก่อนอื่นลองตรวจเช็คสไตล์ของตัวเองกันดู และอาจปรับรายการของนิดหน่อยตามความอึดหรือความถนัดของตนเองก็ได้นะ
สารบัญ
1. สิ่งจำเป็นที่ควรเอาไปสำหรับทุกคน
2. ไอเทมเสริมแนะนำสำหรับคนไปรอแต่เช้า
3. ไอเทมเสริมแนะนำสำหรับคนไปฝั่งโดจินชิ
4. สิ่งที่ไม่จำเป็นมากแต่ถ้ามีก็ดี
สิ่งจำเป็นที่ควรเอาไปสำหรับทุกคน
1. แคตตาลอคหรือรายการช้อปปิ้ง
เนื่องจากสถานที่จัดงานกว้างขวางมากและยังแยกฮอลออกจากกัน เราจึงควรเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อจะได้ไม่หลงทางจนเสียเวลาหรือหาบูธที่ต้องการไม่เจอ อย่างแรกเลยที่อยากแนะนำจึงเป็นการซื้อแคตตาลอคของทางงาน Comic Market เองเลยซึ่งภายในนั้นจะมีแผนที่ให้อยู่แล้ว เราสามารถตัดเฉพาะแผนที่โดยไม่ต้องพกมางานทั้งเล่มให้หนักก็ได้ (หรือปรินท์ออกมาสำหรับคนที่ซื้อแบบแผ่น DVD)
สำหรับคนที่มีสิ่งที่อยากซื้อเยอะ แนะนำให้ทำรายการช้อปปิ้งสินค้าไปด้วยอีกแผ่นเลยก็ดีเหมือนกัน หรือจะแค่เขียนรายละเอียดลงในแผนที่งานเลยก็สะดวกดี
ลองเลือกวิธีการที่เหมาะกับตนเองดูนะคะ
และเพื่อการนี้เราจึงแนะนำให้ซื้อแคตตาลอค แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องเสียค่าเข้างานก็ตาม รวมถึงแนะนำให้ซื้อล่วงหน้าแทนการไปซื้อในงาน เพื่อเราจะได้มีเวลาวางแผนวิ่งช้อปนั่นเองค่ะ
แคตตาลอคสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับการ์ตูน (เช่น Animate, Tora no Ana และ Melon Books เป็นต้น) แต่ละปีราคาอยู่ที่ประมาณ 2,500 เยน แบบแผ่น DVD จะมีราคาถูกกว่า
*งานในช่วงฤดูร้อนปี 2019 - ฤดูร้อนปี 2020 มีค่าเข้าชมงาน กรุณาตรวจสอบหัวข้อความเปลี่ยนแปลงจากบทความด้านล่าง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
2. ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู
กลางฤดูร้อนที่มีผู้คนมากมายสิ่งที่หนีไม่พ้นเลยก็คือ "เหงื่อแตก" ผ้าที่จะช่วยซับเหงื่อให้เราจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ในเรื่องขนาดกับจำนวนนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพส่วนบุคคลและเวลาที่มา หากเป็นคนเหงื่อเยอะก็ควรเตรียมผืนใหญ่ และถ้าตั้งใจจะมารอคิวเป็นเวลานานก็อาจต้องพกมากกว่าผืนเดียว
ตามปกติแล้วพวกมายืนรอแต่เช้าตรู่มักจะพกเป็นผ้าขนหนูผืนยาว 2-3 ผืน เนื่องจากต้องยืนต่อคิวกันราว 5 ชั่วโมง และผ้าขนหนูที่ขนาดใหญ่กว่าผ้าเช็ดหน้าจะสามารถนำมาคลุมศีรษะกันแดดเวลานั่งรอเข้างานได้ด้วย
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าหากพกเครื่องดื่มเย็นๆ มา หยดน้ำจากขวดก็อาจทำให้ข้าวของเปียกได้ จึงควรพกไว้สำหรับห่อหรือเช็ดขวดน้ำด้วย
3. เครื่องดื่ม (โดยเฉพาะเครื่องดื่มเกลือแร่)
หลังจากเช็ดเหงื่อกันแล้ว สิ่งที่ต้องระวังตามมาก็คืออาการขาดน้ำและเกลือแร่จนอาจทำให้เป็นลมแดดได้ เครืองดื่มที่แนะนำที่สุดคือเครื่องดื่มเกลือแร่ค่ะ เพราะเวลาเราเสียเหงื่อนั้น เราไม่ได้เสียไปแค่น้ำเปล่า จึงไม่แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าเท่าไร่ และวิธีการดื่มที่ถูกต้องคือพอเหงื่อออกก็ค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ ไม่ควรรอจนอาการไม่ดีแล้วดื่มเยอะๆ ค่ะ
หากมาแค่เดินงานเล่นๆ ตอนกลางวัน น้ำสักขวดอาจจะเพียงพอ และในฮอลก็มีตู้ขายน้ำอัตโนมัติอยู่
ถ้าใครมาต่อคิวแต่เช้าควรเตรียมน้ำมามากขึ้น หากมาตั้งแต่รถไฟเที่ยวแรก ปริมาณที่แนะนำคือ 1 ลิตรค่ะ (ขวดเล็ก 4-5 ขวด) คนญี่ปุ่นบางคนมีเทคนิคยิ่งกว่านั้น คือเตรียมเครื่องดื่มแช่แข็งมาด้วย ระหว่างยังไม่ละลายก็ใช้แตะหน้าผากคลายร้อนได้อีกต่างหาก นอกจากนี้อาจเตรียมพวกของขบเคี้ยว อาหารพกพา ข้าวปั้น แซนด์วิชมานั่งทานตอนรอด้วยก็ได้ แต่อย่าลืมเก็บขยะกลับไปทิ้งเองด้วยนะ
4. หมวกกันแดด ร่มและอุปกรณ์กันแดดอื่นๆ
อุปกรณ์กันแดดเองก็สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งหมวกนั้นเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกที่สุด ไม่ต้องกลัวจะไปจิ้มโดนศีรษะคนข้างๆ แบบร่มด้วย
หากมาเดินแค่ตอนสายๆ แล้วกลับ จะถือร่มกันแดดมาก็ได้ แต่ถ้ามานั่งรอแต่เช้าตรู้ แนะนำเป็นหมวกจะสะดวกกว่าค่ะ
ส่วนใครที่ใส่เสื้อแขนสั้นมานั่งรอแต่เช้า อยากแนะนำว่าหาปลอกแขนกันแดดใส่ด้วย นอกจากนี้อาจจะเตรียมแว่นกันแดดมาเสริมก็ดีเหมือนกัน
และควรทาครีมกันแดดมาให้พร้อม ยิ่งถ้ามานั่งรอเข้างานนานๆ ก็ควรพกมาสำหรับทาเพิ่มเติมระหว่างรอด้วย
แดดหน้าร้อนญี่ปุ่นเองก็ร้ายไม่เบานะคะ ถ้าหากต้องนั่งกลางแดดสัก 5 ชั่วโมง (สำหรับคนมารถไฟเที่ยวแรก) ขากลับอาจตัวแดงกลับบ้านก็ได้ค่ะ
5. พัดและไอเทมฤดูร้อนตามสะดวก
เพราะต้องมาเจออากาศร้อนๆ อย่างน้อยที่สุดอยากให้เตรียมพัดกันมาค่ะ ใครขี้เกียจพัดเองก็หาเป็นพัดลมขนาดเล็กพกติดมา
อีกอย่างที่อยากแนะนำคือไอเทมที่ให้ความเย็นต่างๆ เช่น สเปรย์ที่ฉีดแล้วเย็น ทิชชู่เช็ดแล้วเย็น แผ่นเจลเย็น หรือไอเทมอื่นๆ ตามความสะดวกและความชอบ ถ้าไม่ใช่ชาวมานั่งรอแต่เช้าอาจจะพกมาสักอย่างเดียว เผื่อฉุกเฉินเวลาเดินในงานหรือต่อคิวรอซื้อของก็พอ แต่ถ้ามานั่งรอแต่เช้าอาจจะต้องพกมาสัก 2-3 ชิ้นตามเวลาที่มา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
6. แบตเตอรี่สำรอง
สมัยนี้ไปไหนมาไหนเราก็จะพกโทรศัพท์ไว้ตลอดเวลา ถ้าหากแบตหมดขึ้นมาอาจจะวุ่นวายไม่ก็เบื่อแย่
เราอาจต้องใช้มือถือตั้งแต่เช็คเส้นทางไปกลับ หรือเช็คข้อมูลงาน ตามข่าวสารบูธที่ต้องการ และท่ามกลางคนเยอะๆ แบบนี้เราอาจต้องแยกกันเดินหรือหลงกับเพื่อนที่มาด้วยกันก็ได้ ในเวลาแบบนั้นถ้าแบตโทรศัพท์หมดก็คงไม่ต้องพูดกัน ...
ฉะนั้นเพื่อความชัวร์อยากให้เตรียมมากันทุกคนค่ะ ยิ่งใครมานั่งรอแต่เช้ายิ่งต้องมี เพราะระหว่างรอเข้างานเราคงใช้มือถือเล่นฆ่าเวลาจนแบตเหลือน้อยกันเลยทีเดียวล่ะ
7. บัตรเติมเงินรถไฟ (IC Card)
แม้จะซื้อตั๋วกระดาษเป็นเที่ยวขึ้นรถไฟได้ แต่อย่างไรการใช้บัตรเติมเงิน (Suica, Pasmo และอื่นๆ) ก็สะดวกกว่าโดยเฉพาะในวันคนเยอะๆ แบบนี้ ขาไปควรเติมเงินจากสถานีต้นทางให้พร้อม อย่างน้อยที่สุดก็คือให้ขึ้นรถออกจากสถานีหน้า Tokyo Big Sight ให้ได้ก่อน
หากซื้อตั๋วเป็นเที่ยวและซื้อตั๋วขากลับเตรียมไว้ก่อน ก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้บ้าง แต่หลังงานบางทีเราก็เปลี่ยนเป้าหมายไปหาอะไรทานฉลองสนุกกับเพื่อนๆ ต่อ ก็อาจต้องวุ่นวายกับการคืนเงินตั๋วที่ซื้อมาแล้วอีกต่างหาก บัตรเติมเงินจึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดค่ะ
8. สวยหล่อมาทีหลัง แต่งตัวให้เคลื่อนไหวง่ายมาก่อน
งานนี้เราจะต้องมาเจอกับอากาศร้อนๆ และคนจำนวนมาก อาจจะต้องยอมลดความสวยหล่อของเราลงสักเล็กน้อย แต่เพื่อความปลอดภัยแล้วอยากเตือนว่าให้แต่งตัวที่เคลื่อนไหวสะดวกและเหมาะกับฤดูร้อนเอาไว้ก่อน เช่น เลือกชุดที่ไม่มีอะไรรุงรังเพราะอาจเกี่ยวกับคนรอบข้างได้ อย่าใส่รองเท้าส้นสูงมากหรือส้นเข็ม เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศง่าย และเสื้อผ้าของคนมานั่งรอไม่ควรเปิดเผยร่างกายมากเพราะต้องเจอแดงแรงๆ ส่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
ไอเทมเสริมแนะนำสำหรับคนไปรอแต่เช้า
1. อาหาร เครื่องดื่ม และถุงใส่ขยะ
สำหรับคนมารอแต่เช้าตรู่มักจะยังไม่ได้ทานอาหารเช้ามา แต่ต้องนั่งรอนานอาจจะถึง 5 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้ทานอะไรเลยอาจจะไม่สบายหรือถึงขั้นเป็นลมได้ จึงแนะนำให้พกอาหารง่ายๆ มาทานระหว่างนั่งรอเข้างานค่ะ อาจจะเป็นข้าวปั้น แซนด์วิช พร้อมเครื่องดื่มก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องพกถุงใส่ขยะเพื่อเก็บไปทิ้งเองด้วยนะคะ
นอกจากอาหารแล้วอาจจะพกพวกขนมขบเคี้ยวหรือขนมให้พลังงานเป็นแท่งๆ อย่าง Calorie Mate มาทานเล่นด้วยก็ได้
ส่วนเครื่องดื่มก็เตรียมมาแบบที่แนะนำไว้ข้างบนตรงข้อ 3 ได้เลย
2. เก้าอี้พับหรือกระดาษ/พลาสติกรองนั่ง
ถ้าต้องยืนอยู่กับที่ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงขึ้นไปจะทรมานขาขนาดไหน!? แถมอาจส่งผลต่อการรีบช้อปปิ้งหลังงานเริ่มอีกต่างหาก เราจึงควรมีอะไรไปรองสำหรับนั่ง อาจจะเป็นผ้าพลาสติกก็ได้ หรือใครเอาง่ายๆ ก็กระดาษหนังสือพิมพ์ แคตตาลอคงานส่วนที่ไม่ใช้ พอเข้างานก็ทิ้งไปได้เลย ไม่เกะกะ หากใครอยากสบายให้พกเป็นเก้าอี้พับได้ขนาดเล็กๆ ที่สามารถพกใส่กระเป๋าหรือเป้ที่ถือมาจะได้นั่งสบายตัวขึ้นอีก แต่ก็ต้องแลกกับสัมภาระที่เยอะขึ้น ใครถนัดแบบไหนลองพิจารณากันดูนะคะ
3. อุปกรณ์ฆ่าเวลาตามความชอบ
ถ้าจะให้นั่งเฉยๆ มองท้องพระอาทิตย์ขึ้น ชมเมฆลอยไปมา ... ก็คงน่าเบื่อมากทีเดียว! จึงควรเตรียมอะไรฆ่าเวลาไปด้วย อาจจะเป็นหนังสือนิยายที่อ่านยังไม่จบ เกม หรือถ้าจะเล่นมือถือเม้ากับเพื่อน ก็อย่าลืมพกแบตเตอรี่สำหรับชาร์ตแบตเติมพลังไปด้วยนะ
ไอเทมเสริมแนะนำสำหรับคนไปฝั่งโดจินชิ
1. เหรียญ แบงค์ย่อย
เพราะฝั่งโดจินชินั้นผู้ขายคือ "เซอร์เคิล" หรือคนทางบ้านแบบเราๆ ไม่ใช่ร้านค้า ส่วนใหญ่แล้วจึงเตรียมเงินทอนมาจำกัด เราจึงควรเตรียมเศษเงินไปจับจ่ายเพื่อความสะดวกของทั้งสองฝ่าย โดยปกติแล้วที่ใช้บ่อยๆ ก็คือ เหรียญ 100 เยน เหรียญ 500 เยน และธนบัตร 1,000 เยน ไม่ควรใช้นอกเหนือจากนี้ เพราะสินค้าของฝั่งโดจินชิส่วนใหญ่มักจะมีราคาที่ 400-800 เยน
2. บัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ต
สินค้าบางอย่างที่จำกัดอายุคนซื้อ เซอร์เคิลอาจขอตรวจบัตรก่อนขายให้ จึงควรเตรียมบัตรอะไรที่มีวันเกิดระบุหรือพกพาสปอร์ตไปด้วย
3. กระเป๋าแยกสำหรับใส่เหรียญและบัตร
ภาพจากบทความ "ช้อปปิ้งของฝากสไตล์ญี่ปุ่นที่ NIPPON CHACHACHA ใกล้สถานีชินจูกุ!"
เวลาไปซื้อสินค้าฝั่งเซอร์เคิลเรามักจะเดินซื้อต่อๆ กันหลายบูธ เพื่อความสะดวกจึงควรแยกกระเป๋นเงินใบเล็กที่มีแต่เศษเหรียญและแบงค์พันเลย รวมถึงหากถูกขอตรวจบัตร ถ้าแยกบัตรเอาไว้ก็สามารถหยิบส่งให้ทางเซอร์เคิลดูได้สะดวกรวดเร็วทันที
4. กระเป๋าใส่ของที่ซื้อมา
ย่างที่บอกว่าฝั่งเซอร์เคิลนั้นก็คือบุคคลทั่วไปที่ผลิตสินค้ามาขาย เวลาไปซื้อจึงไม่มีถุงใส่มาให้ เราจึงควรเตรียมถุงไปเอง โดยเลือกตามความถนัดและจำนวนสิ่งที่ต้องการซื้อ หากแค่นิดหน่อยอาจจะเป็นกระเป๋าสะพายหรือถุงผ้า แต่ถ้าใครซื้อเยอะๆ อาจจะต้องเป็นเป้หรือกระเป๋าลาก แต่เวลาใช้เป้และกระเป๋าลากจะต้องระมัดระวังไม่ให้ไปชนโดนคนอื่นด้วยนะคะ
5. ของฝาก จดหมาย ถึงเซอร์เคิลขวัญใจ
ข้อนี้ไม่บังคับ แต่ถ้าหากใครมีเซอร์เคิลขวัญใจอยู่ การเขียนจดหมายแม้เพียงสั้นๆ หรือพกขนมไปให้ก็ล้วนเป็นกำลังใจให้กับเซอร์เคิลได้ทั้งนั้น!
ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ขนมที่นำไปให้ควรเป็นขนมที่ขายตามท้องตลาดและปิดผนึกอย่างดี ยังไม่ได้แกะซองออกมา รวมถึงไม่ควรเป็นของที่หมดอายุเร็ว เสียง่ายเพราะอากาศร้อนด้วยค่ะ จะนำขนมซองเล็กๆ จัดเป็นเซ็ทก็ทำได้เช่นกัน
สิ่งที่ไม่จำเป็นมากแต่ถ้ามีก็ดี
1. ลูกอมที่มีส่วนผสมของเกลือ
ตัวช่วยอีกอย่างในวันอากาศร้อนและเสียเหงื่อเยอะคือลูกอมที่มีส่วนผสมของเกลือซึ่งจะช่วยกันอาการขาดเกลือแร่ได้เช่นกัน ลองเดินหาลูกอมตามร้านสะดวกซื้อแบบห่อที่มีตัวอักษรว่า "塩" บนซองดู
2. ถุงพลาสติกขนาดใหญ่พอสมควรและเสื้อกันฝน
แม้จะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นอากาศร้อนสุดๆ แต่บางทีในฤดูร้อนก็มีฝนตกลงมาได้ ในเวลาฉุกเฉินเช่นนั้น เพื่อป้องกันของที่ซื้อมาเปียก ถ้ามีถุงพลาสติกพกมาด้วยก็อุ่นใจค่ะ สำหรับขนาดอาจเลือกขนาดให้เหมาะสมกับสิ่งของที่เราจะซื้อ หรือบางคนอาจจะพกเป็นถุงขนาดใหญ่ไว้ห่อทั้งกระเป๋าของเราเลยก็ได้
เพราะฝนไม่ได้ตกทุกปี จึงอาจไม่จำเป็นมากที่จะต้องพกไป และถ้ากระเป๋าของเรากันน้ำอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพกไปก็ได้ค่ะ
ส่วนเสื้อกันฝนนั้นจะใช้ในกรณีที่ต้องไปยืนรอก่อนเข้างานในวันที่บังเอิญฝนตกพอดี คิวที่ต่อเข้างานนั้นจะยืนและนั่งติดๆ กัน ร่มจึงอาจสร้างความลำบากให้คนรอบข้างได้ รวมถึงมีอันตรายเวลาลมแรง จึงต้องใช้เสื้อกันฝนเท่านั้นค่ะ
3. ตั๋ว/สิทธิเข้าชมกิจกรรมของบูธภายในงาน
บูธของออฟฟิเชียลหลายครั้งจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษบนเวที เช่น การพูดคุยของบรรดาผู้กำกับหรือนักพากย์ และการแสดงมินิคอนเสิร์ต ซึ่งจำกัดจำนวนผู้เข้าชมและแจกตั๋วให้ชมต่างหากกับการเข้างาน Comic Market
หากใครมีผลงานที่ชอบอยู่แล้ว ควรติดตามข่าวสารของผลงานนั้นๆ ตั้งแต่ราว 1-2 เดือนก่อนงาน เพื่อเช็คข้อมูลว่าจะมีกิจกรรมพิเศษไหมและจะแจกตั๋วกันอย่างไรค่ะ
4. กล้อง/กล้องมือถือ
ภาพจากบทความ "What's the Difference Between Comiket and Events Abroad? An Interview With Otakus"
สำหรับใครที่ชอบชาวคอสเพลย์ ใน Comic Market ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีที่มีทั้งคอสเพลย์สวยๆ และคอสเพลย์ประหลาดชนิดที่ต้องร้องว่าคิดมาได้ไงเนี่ย!
ในงานมีจัดบริเวณให้ชาวคอสเพลย์อยู่รวมกันแล้ว สามารถเข้าไปถ่ายรูปได้เลย (ควรขออนุญาตก่อน และรักษามารยาทในการถ่ายรูปด้วย)
เนื่องจากมีบริเวณสำหรับคอสเพลย์อยู่แล้ว จึงห้ามถ่ายรูปในบริเวณอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ที่กำหนดค่ะ
สนุกกับ Comic Market ฤดูร้อนต้องเตรียมตัวให้พร้อมในแบบของคุณ!
เนื่องจาก Comic Market เป็นงานที่มีคนไปร่วมเป็นจำนวนมาก แถมยังจัดในช่วงที่อากาศร้อนสุดๆ ของญี่ปุ่นอีกด้วย หากใครจะไปเยือน "สมรภูมิ" นี้ ก็ควรเตรียมตัวไปให้พร้อม
แต่การเตรียมตัวนั้นก็ต้องบอกว่าแล้วแต่ลักษณะการไปร่วมงานและสภาพร่างกายของแต่ละคน
หากใครจะไปนั่งรอก่อนเข้างาน ก็ต้องเตรียมตัวไปมากกว่าคนที่คิดจะไปตอนกลางวันเพื่อเดินในงานสบายๆ
รวมถึงใครที่ผิวบอบบางหรือแพ้อากาศร้อนๆ ก็ต้องเตรียมตัวไปให้มากเช่นกัน
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้เรามีเรี่ยวแรงสำหรับตะลุยงานได้อย่างสนุกเต็มที่ค่ะ!
Check List ไอเทมเตรียมพร้อมสำหรับงาน Comic Market ฤดูร้อน
□ แคตตาลอคหรือรายการช้อปปิ้ง
□ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู
□ เครื่องดื่ม (โดยเฉพาะเครื่องดื่มเกลือแร่)
□ หมวกกันแดด ร่มและอุปกรณ์กันแดดอื่นๆ
□ พัดและไอเทมฤดูร้อนตามสะดวก
□ แบตเตอรี่สำรอง
□ บัตรเติมเงินรถไฟ (IC Card)
ไอเทมเสริมสำหรับคนไปรอแต่เช้า
□ อาหาร เครื่องดื่ม และถุงใส่ขยะ
□ เก้าอี้พับหรือกระดาษ/พลาสติกรองนั่ง
□ อุปกรณ์ฆ่าเวลาตามความชอบ
ไอเทมเสริมสำหรับคนไปฝั่งโดจินชิ
□ เหรียญ แบงค์ย่อย
□ บัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ต
□ กระเป๋าแยกสำหรับใส่เหรียญและบัตร
□ กระเป๋าใส่ของที่ซื้อมา
□ ของฝาก จดหมาย ถึงเซอร์เคิลขวัญใจ
สิ่งที่ไม่จำเป็นมากแต่ถ้ามีก็ดี
□ ลูกอมที่มีส่วนผสมของเกลือ
□ ถุงพลาสติกขนาดใหญ่พอสมควรและเสื้อกันฝน
□ ตั๋ว/สิทธิเข้าชมกิจกรรมของบูธภายในงาน
□ กล้อง/กล้องมือถือ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
*บทความนี้เรียบเรียงใหม่ในเดือนกรกฏาคม ปี 2019 จากบทความที่เขียนโดย Akihito Usui เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2014
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง