Start planning your trip
สัมผัสคุณค่า Made in Japan ที่ MARKUS (มาร์คุส) ร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวันที่สรรค์สร้างโดยช่างฝีมือ
MARKUS ซีเล็คช็อปในย่านคิชิโจจิ (Kichijoji) ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เป็นงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่นแต่มีสไตล์ที่สวยงามร่วมสมัย ทั้งเครื่องเขิน เครื่องปั้นดินเผา ลองแวะมาหาข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกใจกันดูนะคะ
MARKUS (มาร์คุส) คือ
งานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แต่ทว่าในกลุ่มช่างฝีมือกลับประสบปัญหาขาดแคลนผู้สืบทอด
นอกจากจำนวนช่างฝีมือจะลดลงแล้ว งานฝีมือแบบดั้งเดิมก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นทีละน้อยด้วยเช่นกัน ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยังมีร้าน "MARKUS" ที่อยู่ในคิชิโจจิ (Kichijoji) โตเกียว ที่นำเสนอคอนเซปต์ "งานฝีมือที่มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต" ซึ่งเป็นการนำงานฝีมือแบบดั้งเดิมมารวมกับการออกแบบสมัยใหม่
MARKUS เปิดในปี 2012 วางขายงานฝีมือที่หาซื้อมาจากแหล่งต่างๆ แต่ละชิ้นล้วนเป็นงานที่แสดงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเอกลักษณ์ของวัสดุในแต่ละท้องถิ่น สินค้าทุกชิ้นใน MARKUS ล้วนเป็นงานที่คุณคุโบตะ เจ้าของร้านชื่นชอบและหลงใหลทั้งสิ้น
ในครั้งนี้เราขอแนะนำสินค้าในร้าน MARKUS ที่เอามาใช้ได้ง่ายใช้สะดวกค่ะ
สินค้าเด่นที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกของเจ้าของร้าน
1. เครื่องเขินที่ทำขึ้นด้วยวิธีดั้งเดิม
สินค้าที่จะแนะนำเป็นอย่างแรกคือ "แก้วเบียร์ (ราคารวมภาษี 8,640 เยน)" ที่ทำจากเครื่องเขิน ทำขึ้นโดยช่างฝีมือที่มีความชำนาญในวะจิมะ (Wajima) จังหวัดอิชิคาวะ (Ishikawa) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องเขินที่มีชื่อเสียง
การทำเครื่องเขินส่วนใหญ่จะใช้ระบบแบ่งหน้าที่ คือแต่ละขั้นตอนการผลิตจะทำโดยกลุ่มช่างที่เชี่ยวชาญในขั้นตอนนั้นๆ แล้วส่งต่อกันไปตามลำดับจนเสร็จชิ้นงาน
เนื่องจากขั้นตอนในการผลิตที่ต้องใช้ฝีมือคน เครื่องเขินจึงมีภาพลักษณ์เป็นสินค้า "ราคาสูง" เมื่อเทียบกับเซรามิก อีกทั้งยังคิดว่าต้องใช้อย่างระมัดระวังจึงถูกคิดว่า "ดูแลยุ่งยาก"
แต่ว่าสินค้าชิ้นนี้ เป็นสินค้าเครื่องเขินที่ราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับเครื่องเขินทั่วไป จากความคิดของช่างฝีมือที่ว่า "อยากให้ทุกคนได้ใช้เครื่องเขินอย่างไม่ลำบาก"
ข้อดีของเครื่องเขินคือ "ความสนุกในการใช้งาน" ยิ่งเรานำออกมาใช้งานมากเท่าไร ผิวของภาชนะชนิดนี้ก็จะมีความแวววาวยิ่งขึ้นเท่านั้น ลองไปเลือกดูเครื่องเขินที่จะกลายเป็นคู่หูในชีวิตประจำวันของคุณที่ MARKUS กันดูนะคะ
2. งานเซรามิกที่สืบทอดมาของแต่ละแห่ง
นี่คือจาน "ยาจิมุน (Yachimun)" (ราคารวมภาษี 4,860 เยน) เครื่องปั้นดินเผาดั้งเดิมของโอกินาว่า ลักษณะเด่นก็คือลวดลายตวัดจากปลายพู่กันที่เต็มไปด้วยพลังรอบจานเนื้อหนา ผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้เป็นช่างที่ทำเครื่องปั้นมานานตั้งแต่ก่อนปี 1980 เสียอีก
โดยปกติแล้วช่างผู้นี้จะจำหน่ายผลงานเฉพาะแต่ในบ้านเกิดเท่านั้น แต่เพราะคำขอร้องอย่างแน่วแน่ของคุณคุโบตะ จึงได้งานสวยๆ แบบนี้มาจำหน่ายที่ร้านเป็นกรณีพิเศษแบบ "ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น" เรียกได้ว่าเป็นสินค้าล้ำค่าจำนวนจำกัด จะมีจำนวนเหลืออยู่เท่าไหร่ต้องสอบถามพนักงานที่ร้านดูนะคะ
3. อาหารที่พิถีพิถัน เหมาะแก่การให้เป็นของฝาก
เครื่องปรุงที่ผลิตในจังหวัดโทคุชิมะ (Tokushima) "เนรินามะชิจิมิ (Neri nama shichimi)" (กระปุกซ้ายสุดของรูป) "อาโอะยูสุโคะโช (Ao yuzu kosho)" (กระปุกที่ 2 จากด้านซ้ายและขวาสุดของรูป) และ "อากะยูสุโคะโช (Aka yuzu kosho)" (กระปุกที่ 2 จากด้านขวา)
ทุกชนิดราคารวมภาษีอยู่ที่กระปุกละ 480 เยน นำไปประกอบอาหารแล้วเสิร์ฟในภาชนะที่จำหน่ายในร้าน MARKUS ได้เหมาะเจาะเลยค่ะ ราคาย่อมเยาเหมาะแก่การซื้อเป็นของฝากด้วย
"แล้วจะใช้เครื่องปรุงนี้ยังไงหรอ?" ลองถามกับคุณคุโบตะได้เลยค่ะ เขายินดีแนะนำวิธีทานให้เต็มเลยล่ะ!
ขอแนะนำวิธีทานง่ายๆ ให้ค่ะ "อาโอะยุสุโคะโช" มีรสเผ็ดร้อนเหมาะกับอาหารประเภทเนื้อ ส่วน "อากะยุสุโคะโช" ที่มีกลิ่นหอมนั้นแนะนำให้ทานกับของต้มและเกี๊ยวซ่าค่ะ
4. เครื่องปั้นดินเผาที่ทำให้ยิ้มได้
สินค้าขายดีต่อเนื่องของ MARKUS คือชุดเครื่องปั้นดินเผาจากจังหวัดอิบารากิ ที่เรียกว่า "ฮะนิวะ (Haniwa)" ฮะนิวะเป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ ทำเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีศพของเชื้อพระวงศ์ในยุคโคะฟุนของญี่ปุ่น (ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 3 จนถึงประมาณศตวรรษที่ 7)
เดิมคุณคุโบตะตั้งใจจะนำเข้ามาจำหน่ายเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นสินค้ายอดนิยมแบบไม่คาดคิด จึงมีการจำหน่ายต่อเนื่องเรื่อยมา เป็นงานปั้นมือทำรูปร่างเลียนแบบเครื่องปั้นฮะนิวะและ "โดะกู" (*1) ที่ถูกขุดพบขึ้นมาจริงๆ ขนาดเล็กน่ารักและมีหน้าตา ไม่ว่าตัวไหนก็แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้
*1 : โดะกู ... ตุ๊กตาปั้นด้วยดินที่ทำรูปร่างเลียนแบบคนหรือวิญญาณ
"ฮะนิวะ" ราคารวมภาษี 1,620 เยน เสน่ห์ของตุ๊กตาฮะนิวะอยู่ที่การแสดงท่าทางต่างๆ และรูปร่างหน้าตาน่าสนใจ
การจัดร้านที่สื่อถึงวิถีการดำเนินชีวิตและฤดูกาล
การจัดดิสเพลย์ภายในร้านจะเปลี่ยนให้เข้ากับฤดูกาล ฤดูที่อยากแนะนำให้แวะเวียนมาที่ร้านมากที่สุดคือฤดูหนาว เพราะภายในร้านจะประดับไปด้วยเครื่องเขินที่ช่วยสร้างสีสันในช่วงปีใหม่ และหม้อดิน เห็นแล้วอยากจะมานั่งล้อมรอบพร้อมกันทั้งครอบครัวเลย
สินค้าของร้านเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือจากที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นบางสินค้าที่สั่งไปอาจใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะได้รับ ดังนั้นถ้ามีถูกใจชิ้นไหนก็ต้องรีบจับจองค่ะ!
เส้นทางไปยัง MARKUS
ย่านร้านค้า ถนนนากะมิจิ
การเดินทางไปยัง MARKUS ให้ออกจากสถานีคิชิโจจิ ทางออกทิศเหนือ จะเจอถนนเฮวะ (Heiwa street) อยู่ข้างหน้า ให้เดินไปทางซ้าย ตรงไปเรื่อยๆ จนข้ามทางม้าลายก็จะเข้าสู่ ย่านร้านค้า ถนนนากะมิจิ (Nakamichi Shopping Arcade)
ให้ตรงตามทางที่พลุกพล่านด้วยผู้คน และร้านขายโทรศัพท์ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และร้านคาเฟ่สองข้างทาง
ถ้าเจอร้านอาหารจีนที่ชื่อว่า "อิจิเอ็น" ทางขวาเมื่อไหร่ ก็ให้เลี้ยวขวาที่หัวมุมซอยถัดไปเลย เลี้ยวไปแล้วก็จะเห็นอาคารที่ทำจากอิฐสีแดงสว่างที่ด้านซ้ายมือ
MARKUS เป็นร้านที่ดูแล้วเข้ากับบรรยากาศของย่านที่ทั้งโดดเด่นและมีชีวิตอย่างคิชิโจจิจริงๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าร้านได้ง่าย ประตูร้านจะเปิดต้อนรับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา และภายในร้านก็เงียบสงบดีมาก
ต้องขอความร่วมมือในการเข้าชมร้านเล็กน้อย อย่างแรกคือไม่ควรนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาภายในร้าน และสินค้าทั้งหลายที่ดูสวยงามน่ารัก ล้วนเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยความตั้งใจของผู้สร้าง จึงขอความร่วมมือขออนุญาตก่อนถ่ายรูปค่ะ
สินค้าทั้งหลายในร้านรวมถึงที่แนะนำในครั้งนี้ ถูกทำขึ้นอย่างประณีตด้วยมือของช่างทีละชิ้นๆ บางชิ้นอาจจะเหลืออยู่ไม่มากหรืออาจจะหมดไปแล้ว ยังไงก็ลองสอบถามกับพนักงานของร้านอีกทีนะคะ
ลองแวะไปหาสินค้าคุณภาพดีที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกใจสักชิ้นที่ MARKUS ดูนะคะ
ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลโด : MARKUS
อ่านเพิ่มเติม :
สวนสัตว์ก็มี! คาเฟ่ก็มี! สวนอิโนะคาชิระ ที่พักผ่อนหย่อนใจในคิชิโจจิ เมืองน่าอยู่ที่สุดในญี่ปุ่น
世界各地、日本各地「手仕事品」と名のつくものをこよなく愛す。東京オリンピックまでに、日本を「エシカル大国」にしたい。
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง