【จังหวัดมิยาซากิ】เพลิดเพลินไปกับทั้งภูเขาและท้องทะเล! ออกสำรวจมนต์เสน่ห์แห่งธรรมชาติที่ยังไม่ถูกค้นพบ

นี่หรือคือบอนไซ! สองพ่อลูกเซียนบอนไซขอแชร์ 5 วิธีสนุกไปกับศิลปะที่มีชีวิต

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

บอนไซ คือ ศิลปะที่มีชีวิต ซึ่งได้รับการเผยแพร่จากญี่ปุ่นไปทั่วโลก ที่เมืองทาคามัตสึจังหวัดคากาวะนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองต้นกำเนิดของสนบอนไซ และที่สวน ฮานาซาวะเมียวชุนเอ็น ในเมืองนี้ยังมีคู่พ่อลูกคอยสอนวิธีสนุกไปกับบอนไซหลากหลายวิธีจนแทบลืมวิถีดั้งเดิมให้กับมือใหม่ที่เริ่มสนใจบอนไซอีกด้วย

บทความโดย

Mizzochi

Mitoyo, Kagawa, Japan

ก่อนที่จะเข้าร่วม MATCHA เมื่อตุลาคม 2017 ฉันเคยทำงานในหน่วยงาน PR สำหรับ IR/CSR ของ บริษัท และ สำนักพิมพ์ที่เปิดตัวนิตยสารที่เน้นไปที่การร่วมมือระหว่างประเทศก่อนที่มีการย้ายมาอยู่ที่นครมิโตโยะ จังหวัดคาการะในเมษายน 2019 ฉันเขียนบทความสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมประเทศญี่ปุ่น และยังมีส่วนร่วมในการเร่งการดำเนินงานเพื่อวางการบริการของอินเทอร์เน็ต การเช่ารถ โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวทางตอนตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น
more

บอนไซที่สนุกกับมันได้อย่างอิสระคืออะไร

花澤明春園

Picture courtesy of Hanazawa Myoshun-en

บอนไซ คือไม้กระถางที่ได้รับการตกแต่งด้วยมือมนุษย์จนกลายเป็นงานศิลปะ

ต้นแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นเมื่อราว 2,000 กว่าปีก่อนที่ประเทศจีน จากนั้นก็เผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นโดยอิทธิพลของนิกายเซ็น พัฒนาจนกลายมาเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันจนมีผู้หลงใหลในบอนไซไปทั่วโลก

พอได้รู้ว่าบอนไซคือศิลปะโบราณที่มีประวัติยาวนาน ก็ช่วยไม่ได้ที่จะพลอยทำให้คิดไปว่าบอนไซต้องเป็นอะไรที่เข้าถึงยากแน่ๆ

花澤明春園

"บอนไซเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าไม่รดน้ำก็จะเฉา ถ้าไม่คอยตัดแต่งก็จะงอกสะเปะสะปะไปเรื่อย แค่คอยดูแลเอาใจใส่หน่อยนึงก็ดูน่ารักขึ้นมาทันที"

"ผมเรียกบอนไซว่า 'อันนู้นอันนี้' ไม่ได้ ต้องเผลอเรียกว่า 'เด็กคนนู้นเด็กคนนี้' ทุกที"

นี่คือคำพูดของคุณฮานาซาวะ ทาคาฮิโตะ (Hanazawa Takahito) ผู้ดูแลรุ่นที่ 5 ของสวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็น (Hanazawa Myoshun-en) ในเมืองทาคามัตสึ (Takamatsu) จังหวัดคากาวะ (Kagawa) คุณทาคาฮิโตะและคุุณมิจิโกะ (Michiko) ผู้เป็นลูกสาวร่วมกันเผยแพร่วิธีสนุกกับบอนไซได้อย่างอิสระซึ่งแตกต่างกับวิธีดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

แหล่งกำเนิดบอนไซชื่อดัง สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็นแห่งทาคามัตสึ

盆栽

เมืองทาคามัตสึ จังหวัดคากาวะ เป็นแหล่งกำเนิดสนบอนไซที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

เมืองทาคามัตสึเริ่มปลูกต้นสนสำหรับบอนไซมาตั้งแต่กว่า 200 ปีที่แล้ว เพราะมีทั้งอุณหภูมิที่อบอุ่น มีแสงแดดยาวนานและฝนตกน้อย เหมาะสมกับการปลูกต้นสน

ปัจจุบันมีสวนบอนไซราว 60 แห่งกระจายอยู่ทั่วเมือง และเมื่อเดือนเมษายน 2020 ก็มีการเปิดสวน ทาคามัตสึบอนไซโนะซาโตะ (Takamatsu Bonzai no Sato) จำหน่ายบอนไซราคาย่อมเยา ปัจจุบันร้านนี้ก็เป็นแหล่งรวมตัวของผู้รักบอนไซอีกแห่งหนึ่ง

花澤明春園

ส่วนสวนในเมืองนี้ที่ผู้สนใจบอนไซมือใหม่จำนวนมากเดินทางมาคือ ฮานาซาวะเมียวชุนเอ็น (Hanazawa Myoshun-en) นอกจากที่นี่จะจำหน่ายบอนไซหลากหลายรูปแบบแล้วยังเปิดคลาสสอนบอนไซสำหรับมือใหม่ทุกเดือนอีกด้วย

พอพูดถึงบอนไซแล้วอาจมีอิมเมจเป็นต้นสนเล็กๆ ที่แตกกิ่งก้านออกมาแค่นั้น

แต่สิ่งที่คู่พ่อลูกฮานาซาวะผู้ได้ฉายาเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์แห่งวงการบอนไซต้องการเผยแพร่คือการสนุกกับบอนไซอย่างอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิถีดั้งเดิม

5 วิธีสนุกกับบอนไซจากเซียนพ่อลูก

花澤明春園

ผู้เขียนได้เดินทางไปที่สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็นเมื่อเดือนกันยายน 2020 พยากรณ์อากาศในวันนั้นคือมีเมฆครึ้มและฝนตกหนักแต่คุณฮานาซาวะ ทาคาฮิโตะกับลูกสาว คุณมิจิโกะก็รอต้อนรับอยู่แล้วด้วยรอยยิ้มแจ่มใส

ต่อจากนี้ขอบอกต่อวิธีสนุกกับบอนไซที่ผู้เขียนได้รับการสอนจากสองพ่อลูกฮานาซาวะ

1. ขึ้นทรงอย่างอิสระ

花澤明春園

รูปทรงของบอนไซคือการดัดต้นไม้โดยขึ้นโครงลวดและใช้เวลาหลายปีกว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นรูปทรงให้ชื่นชม

ในขั้นตอนนี้หากฝืนต้นไม้เกินไปจะทำให้กิ่งหักได้ จึงต้องมีเทคนิคเรื่องระยะเวลาและองศาของการดัดลวด ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็สามารถขึ้นรูปทรงได้อย่างอิสระ

อย่างเช่นต้นบอนไซที่ดัดเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า BONSAI ในรูปเปิดเรื่องหรือต้นบอนไซรูปหัวใจที่อยู่ข้างบนนี้เป็นผลงานของคุณมิจิโกะ และที่สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็นแห่งนี้ยังมีบอนไซรูปทรงต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความขี้เล่นอย่างดาว วงกลมและอื่นๆ ให้ชมอีกด้วย

2. เลือกกระถางสวยๆ

花澤明春園

แค่เปลี่ยนกระถางหรือภาชนะก็ทำให้บรรยากาศของบอนไซต้นนั้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างรูปขวาล่าง ถ้าดูเผินๆ ก็คงนึกว่าใครทำกระถางพลิกล้มรึเปล่า ความน่าสนใจเพิ่มขึ้นหลายเท่าเลย

ไม่เพียงแค่รูปทรงของกระถางเท่านั้น ในประเทศญี่ปุ่นยังมีเครื่องปั้นที่มีเอกลักษณ์อีกหลายชนิด เช่น ชิกะราคิยากิ (Shigaraki-Yaki) และ บิเซ็นยากิ (Bizen-Yaki) พอลองนำบอนไซมาใส่ในเครื่องปั้นเหล่านี้แล้วก็ทำให้ความหลากหลายทางศิลปะที่สื่อออกมานั้นไร้ขอบเขตจริงๆ

3. ต้นไม้ ต้นหญ้า อะไรก็ OK

花澤明春園

บอนไซนิยมใช้ต้นสนพันธุ์สนดำญี่ปุ่น (Kuromatsu) สนโกะโยมัตสึ (Goyomatsu) หรือต้นชิมปาคุ (Shimpaku) ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งของต้นฮิโนคิ (Hinoki) เพราะไม้เหล่านี้ดัดเป็นรูปทรงได้ง่าย

แต่ว่าตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก็ไม่ได้มีการจำกัดเอาไว้ว่าต้องใช้ต้นอะไร อยากจะใช้ต้นแอปเปิ้ล (รูปขวาบน) ต้นมะกอก (รูปขวาล่าง) ก็ได้เหมือนกัน ต้นไม้อื่นที่สวนแห่งนี้นำมาทำเป็นบอนไซก็มีพวกต้นไม้ป่าอีกหลายชนิดด้วย

ถ้าใช้ต้นไม้พันธุ์อะไรก็ได้ อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับพืชกระถางทั่วไปเลยนี่นา แต่หัวใจสำคัญของบอนไซคือการตัดแต่งด้วยมือมนุษย์จนกลายเป็นศิลปะ หากคุณถ่ายทอดแนวคิดของคุณผ่านรูปทรงของต้นไม้และรูปแบบกระถางออกมาตามสไตล์ของคุณแล้วล่ะก็ นั่นแหละบอนไซ

4. ประดับตุ๊กตาก็ OK

花澤明春園

Picture courtesy of Hanazawa Myoshun-en

จะตกแต่งตุ๊กตาเข้าไปในบอนไซด้วยก็ OK เช่นใช้ตุ๊กตาหิมะวางตกแต่งให้ดูสมเป็นเทศกาลคริสมาสต์ หรือใช้ตุ๊กตาสัตว์เพื่อทำให้ดูเป็นเกาะร้างแสนสนุก

ใช่แล้ว บอนไซก็คือเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดเรื่องราวที่คุณอยากวาดขึ้นมานั่นเอง

5. ครอบครัวบอนไซจากไม้สี่ฤดู

花澤明春園

Picture courtesy of Hanazawa Myoshun-en

หลายคนในหมู่ผู้รักบอนไซสนุกกับการนำไม้ดอกมาตัดแต่ง และนี่คือบอนไซต้นซากุระ

花澤明春園

Picture courtesy of Hanazawa Myoshun-en

ส่วนด้านนี้คือบอนไซต้นบ๊วย

ปัจจุบันคุณทาคาฮิโตะได้นำเสนอ "ครอบครัวบอนไซที่เพลินเพลินไปกับสี่ฤดู" ต้นฤดูใบไม้ผลิก็เพลิดเพลินกับดอกบ๊วยบาน ฤดูใบไม้ผลิเป็นดอกซากุระบาน ฤดูใบไม้ร่วงคือใบไม้เปลี่ยนสี ฤดูหนาวเป็นดอกสึบากิบานควบคู่ไปกับต้นสนใบเขียวชอุ่มตลอดปี ถ้าทั้งครอบครัวช่วยกันดูแลบอนไซเหล่านี้ก็จะทำให้ทั้งบ้านรู้สึกสนุกกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

"ในปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าลองให้พ่อแม่เลี้ยงบอนไซบ๊วย ลูกเลี้ยงบอนไซซากุระแล้วคอยส่งรูปอัพเดตหากัน เช่น 'ตอนนี้ดอกบ๊วยของทางนี้บานแล้วนะ' ก็อาจจะทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้นก็ได้" คุณทาคาฮิโตะบอก

สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็นเป็นศูนย์บอนไซฉุกเฉินด้วย!

盆栽

ตอนที่ฟังเรื่องวิธีเลือกกระถางและการตกแต่ง ผู้เขียนก็พลอยรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย

แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าการขึ้นลวดดัดรูปทรง การตัดแต่งต้นไม้ไม่ให้ใหญ่เกินไปมันดูยากจัง

แน่นอนว่าคนที่คิดเหมือนกันนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย คุณฮานาซาวะเลยเปิดสายด่วนเป็นศูนย์บอนไซฉุกเฉิน 110 คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบอนไซผ่านโทรศัพท์ (เฉพาะภาษาญี่ปุ่น)

หมายเลข 110 ในญี่ปุ่นเป็นหมายเลขสำหรับติดต่อตำรวจในกรณีฉุกเฉิน บางครั้งจึงมักนำมาใช้เป็นตัวเลขสื่อถึงศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ

盆栽用具

สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็นยังมีเซ็ตอุปกรณ์จำเป็นสำหรับบอนไซ กระถาง ปุ๋ย อุปกรณ์ตกแต่งให้เลือกซื้ออย่างครบครัน

花澤明春園

ต้นบอนไซที่จำหน่ายมีช่วงราคาที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยังมีต้นบอนไซช่วงราคา 3,000-4,000 เยนอยู่หลายต้นที่แม้แต่มือใหม่ก็เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ

สวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็น คือสถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้ที่อยากเริ่มมีบอนไซไว้แต่งแต้มสีสันให้กับชีวิตประจำวัน

กฎการนำเข้าต้นไม้รวมถึงบอนไซของแต่ละประเทศและภูมิภาคมีความแตกต่างกัน กรุณาตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์กักกันพืช (มีหลายภาษา)

ความฝันที่ค้นพบตอนอายุ 50

花澤明春園

คุณฮานาซาวะ ทาคาฮิโตะและคุณมิจิโกะคอยเผยแพร่วิธีสนุกกับบอนไซซึ่งเป็นศิลปะโบราณแบบไม่ต้องยึดติดกับรูปทรง ถ้าให้พูดตรงๆ แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่แนวคิดหลักของวงการบอนไซเลย

บอนไซต้นหนึ่งราคาอาจสูงถึง 100 ล้านเยน คุณทาคาฮิโตะเองก็ได้สัมผัสกับบอนไซราคาตั้งแต่หลายหมื่นเยนไปจนถึงเกินหนึ่งล้านเยนมาหลายต่อหลายต้น

แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาเยือนตอนอายุ 50 ปี ในขณะนั้นคุณทาคาฮิโตะบังเอิญมีโอกาสไปสอนในคลาสบอนไซ

เดิมทีเขาไม่ค่อยสนใจคลาสสำหรับมือใหม่เท่าไหร่ แต่ระหว่างที่กำลังแนะแนววิธีตัดแต่งและขึ้นลวดอยู่ก็ได้รับความคิดเห็นต่างๆ เช่น "เพราะคุณฮานาซาวะ บอนไซเลยดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา" "บอนไซนี่สนุกจัง!" และเห็นรอยยิ้มมากมายกับตาตัวเอง "มันเป็นความรู้สึกดีใจที่ต่างจากตอนที่ได้บอนไซราคาแพงมาครอบครองอย่างสิ้นเชิงจริงๆ" คุณทาคาฮิโตะบอก

หลังจากนั้นคุณทาคาฮิโตะก็เริ่มเปิดสอนคลาสบอนไซอย่างจริงจัง การสอนอย่างละเอียดของเขาโด่งดังจนขนาดมีคนนั่งรถบัสข้ามคืนจากภูมิภาคคันไซมาเพื่อเรียนกับเขาเลย

"ตอนนี้ผมอายุ 63 ปี ก็ตั้งใจจะทำงานในฐานะนักบอนไซต่อไปอีก 15 ปี ช่วงเวลาที่เหลือนี้ก็อยากใช้ไปกับการทำให้คนได้รู้สึกว่าชีวิตสมบูรณ์ได้เพราะบอนไซ จะแค่คนเดียวก็พอใจครับ"

盆栽

คุณมิจิโกะผู้เป็นลูกสาว หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคันไซก็เดินทางกลับมาที่จังหวัดคากาวะในปี 2006

หลังจากนั้นพอเห็นสถานการณ์ที่นักบอนไซอายุน้อยมีลดลงเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าไม่อยากให้สถานที่นี้หายไป จึงตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางบอนไซอย่างจริงจังในช่วงปี 2015

คุณมิจิโกะได้เดินเข้าหาบอนไซด้วยความรู้สึกอ่อนโยนเหมือนกับบอนไซรูปหัวใจที่กล่าวถึงไว้ด้านบน มือคู่นี้จะให้กำเนิดผลงานแบบไหนออกมาอีกต้องคอยติดตามชมต่อจากนี้

ความรู้สึกที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี

花澤明春園

ต้นบอนไซที่ผู้เขียนซื่อมาจากสวนฮานาซาวะเมียวชุนเอ็น

ต้นบอนไซเก่าแก่อาจมีอายุ 200-300 ปี กล่าวคือบอนไซคือสิ่งที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานจนเกินอายุขัยของมนุษย์หนึ่งคน

ยุคปัจจุบันคือยุคที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงและความรวดเร็ว แต่ท่ามกลางกระแสสังคมเช่นนี้บอนไซยังคงได้รับการดูแลนานหลายสิบปี ด้วยเหตุนี้จะเรียกบอนไซว่าเป็นศิลปะแห่งปาฏิหาริย์ก็ไม่น่าจะเกินจริง

สิ่งที่ผู้เขียนคิดขณะมองต้นบอนไซก็คือ ความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นคืออะไร

สวนบอนไซเล็กๆ ที่อยู่ในเมืองทาคามัตสึจังหวัดคากาวะอาจจะเป็นประตูสู่การเดินทางของชีวิตที่มุ่งไปหาคำตอบของคำถามนี้ก็เป็นได้

In cooperation with Hanazawa Myoshun-en

บทความโดย

Mizzochi

Mitoyo, Kagawa, Japan

ก่อนที่จะเข้าร่วม MATCHA เมื่อตุลาคม 2017 ฉันเคยทำงานในหน่วยงาน PR สำหรับ IR/CSR ของ บริษัท และ สำนักพิมพ์ที่เปิดตัวนิตยสารที่เน้นไปที่การร่วมมือระหว่างประเทศก่อนที่มีการย้ายมาอยู่ที่นครมิโตโยะ จังหวัดคาการะในเมษายน 2019 ฉันเขียนบทความสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมประเทศญี่ปุ่น และยังมีส่วนร่วมในการเร่งการดำเนินงานเพื่อวางการบริการของอินเทอร์เน็ต การเช่ารถ โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวทางตอนตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น
more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ