Pop up Fukushima สนับสนุนการฟื้นฟูจังหวัดฟุคุชิมะหลังภัยพิบัติและถ่ายทอดเสน่ห์ในปัจจุบันกับนักกิจกรรมชาวไต้หวันในญี่ปุ่น

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ปี 2021 นี้ถือเป็นการครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุเมื่อ 11 มีนาคม 2011 ตอนนี้จังหวัดฟุกุชิมะเป็นอย่างไรบ้าง เรามาฟังความรู้สึกของคนไต้หวันที่อยู่ในญี่ปุ่นทั้ง 5 คนหลังจากไปเยือนสถานที่เกิดเหตุและสถานที่ท่องเที่ยวในฟุกุชิมะเมื่อช่วงสิ้นปี 2020 กัน

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

Pop Up Fukushima คืออะไร?

Pop Up Fukushima คือทีมวัยรุ่นชาวไต้หวันที่ร่วมกันเผยแพร่เสน่ห์ของจังหวัดฟุกุชิมะ รวมถึงเรื่องราวที่ฟุกุชิมะต้องเผชิญนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติใหญ่มาตลอด 10 ปี จนถึงสภาพปัจจุบัน เป้าหมายคือส่งเสริมความแลกเปลี่ยนของไต้หวันและญี่ปุ่นในด้านต่างๆ และเพิ่มจำนวนผู้มีความสนใจระหว่างสองประเทศไปด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 5 คน ได้เดินทางไปเยือนจังหวัดฟุกุชิมะเป็นเวลา 7 วัน พบปะกับชาวบ้านทั่วจังหวัด ครั้งนี้พวกเขาจะมาบอกเล่าสภาพปัจจุบันของฟุกุชิมะที่ได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเองให้เราฟังกัน

Facebook page : 福島前進團|Popup Fukushima
Facebook gropu : 福島前進|福島情報自由分享區

ชาวไต้หวันทั้ง 5 ที่เดินทางสู่จังหวัดฟุกุชิมะ

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima

ความรู้สึกของสมาชิกทั้ง 5 คนก่อนและหลังออกเดินทางจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง พวกเขาจะมาเล่าถึง "ปัจจุบัน" ของจังหวัดฟุกุชิมะที่ได้ไปเห็นมากับตาตัวเองพร้อมกับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ประทับใจด้วย!

1. อู๋ถิงจง / ชื่อเล่น ต้าเว่ย

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima

หัวหน้าทีมในครั้งนี้คือคุณต้าเว่ยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมา 7 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว

คุณต้าเว่ยอยู่ญี่ปุ่นมานานจึงเล่าให้ฟังว่า "ผมรู้ว่าสถานการณ์ของฟุกุชิมะเป็นอย่างไร" แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าดีหรือแย่ แล้วก็ไม่ได้มีที่เที่ยวไหนที่อยากไปเป็นพิเศษด้วย

แต่หลังจาก 7 วันในฟุกุชิมะ คุณต้าเว่ยบอกว่า "ถ้าเห็นชื่อจังหวัดฟุกุชิมะแล้วนึกถึงแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้วล่ะก็ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเลยล่ะครับ" ดูท่าเขาจะได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของฟุกุชิมะผ่านวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ ที่เที่ยวน่าสนใจ และเรื่องราวของผู้คนที่ได้พบเจอ

"พอได้ฟังเรื่องราวของผู้คนที่ยังปักหลักอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะ ผมรู้สึกได้เลยว่าทุกคนผ่านความยากลำบากที่หนักหนาสาหัสมาตลอด 10 ปีจริงๆ"

แต่ถึงอย่างนั้น ใบหน้าของทุกคนก็ยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มในขณะที่พูดถึงอนาคตอันเต็มไปด้วยความหวัง

"ก่อนที่จะเชื่อทุกอย่างที่สื่อเสนอ ผมอยากให้คนได้รู้ถึง 'ปัจจุบันของฟุกุชิมะ' และดีที่สุดคือการมาเห็นและสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ ที่ฟุกุชิมะ" คุณต้าเว่ยกล่าว

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Photo by pixta

สถานที่ชื่อดังของจังหวัดฟุกุชิมะที่คุณต้าเว่ยชอบที่สุดคือ ถ้ำอาบุคุมะ (Abukuma Cave) ในเมืองทามุระ (Tamura) ภายในเป็นถ้ำหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ที่สวยงามราวกับสร้างขึ้นด้วยมือของเทพเจ้า ถูกค้นพบโดยบังเอิญระหว่างทำเหมือนหินปูน ว่ากันว่ากว่าจะเป็นอย่างที่เห็นนี้ต้องใช้เวลานานถึง 80 ล้านปีเลยทีเดียว

ถ้ำมีความยาวโดยรวมประมาณ 600 เมตรและมีประเภทหินงอกหินย้อยมากที่สุดในซีกโลกตะวันออก ภายในถ้ำทำทางเดินไว้อย่างดีจึงไม่ต้องกังวลว่าเท้าจะเปียก แต่บางส่วนอาจต้องก้มๆ เงยๆ เดินขึ้นบันไดและผ่านทางแคบๆ ขอแนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่เคลื่อนไหวได้สะดวกมา

2. หลี่หยุนเฟย

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima
คุณหยุนเฟยอยู่ที่โตเกียวมา 6 ปี แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เดินทางมาฟุกุชิมะ ก่อนเดินทางก็มีอิมเมจที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับฟุกุชิมะเท่าไหร่ อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดบ้างหละ อันตรายบ้างหละ เพราะมักจะได้ยินเรื่องราวแบบนั้นจากข่าวอยู่บ่อยๆ

"พอได้เดินทางมาจริงๆ ถึงได้รู้ว่าสิ่งที่ทุกคนในฟุกุชิมะตั้งเป้าหมายเอาไว้ไม่ใช่แค่ 'การฟื้นฟู' แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีล่าสุดของญี่ปุ่นอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้ชาวเมืองสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งกว่าตอนก่อนเหตุภัยพิบัติ"

คุณหยุนเฟยเล่าให้ฟังว่าตอนที่เดินทางไปโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เคร่งเครียด "เหล่าฮีโร่ที่ไม่รู้ชื่อมากมายได้ทุ่มเทอย่างถึงที่สุด สปิริตในการเสียสละตัวเองคือเกียรติอันยิ่งใหญ่เลย"

เธอก็อยากบอกเล่าสถานการณ์ปัจจุบันของจังหวัดฟุกุชิมะผ่านทาง Pop Up Fukushima และหวังว่าทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความพยายามของชาวเมืองฟุกุชิมะทุกคน

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of LEE YUN FEI

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดฟุกุชิมะที่คุณหยุนเฟยชอบมากที่สุดคือ ออนเซ็นโอคาวะโซ (Onsen Ookawaso) ในไอซุ อาชิโนะมากิออนเซ็น (Aizu Ashinomaki Onsen) ทางเดินขั้นบันไดที่ซับซ้อนภายในออนเซ็นโอคาวะโซเหมือนกับฉากหนึ่งในอนิเมะชื่อดังของญี่ปุุ่นจนกลายเป็นที่พูดถึงไปทั้งญี่ปุ่นและต่างประเทศ

ออนเซ็นโอคาวะโซเป็นโรงแรมออนเซ็นชื่อดังที่มีสื่อโทรทัศน์หลายช่องมาถ่ายทำตั้งแต่เมื่อก่อนและตอนนี้น่าจะยิ่งมีแฟนอนิเมะจำนวนมากเดินทางมาพัก เวทีสีแดงที่อยู่ในรูปด้านบนมีการแสดงดนตรีซามิเซ็นตามเวลากำหนดเป็นรอบๆ ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศที่ดูเหนือจริงแสนแฟนตาซี

3. ชิราอิชิ เอริกะ

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima

คุณชิราอิชิ เอริกะอยู่ญี่ปุ่นมา 6 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่ที่จังหวัดโอกินาวะ สำหรับเธอแล้วมหาภัยพิบัติในครั้งนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผูกพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับประเทศญี่ปุ่น คุณชิราอิชิชอบภูมิภาคโทโฮคุมากขนาดที่บริจาคเงินช่วยเหลือทุกปีหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ สำหรับจังหวัดฟุกุชิมะนี้เธอเคยเดินทางมาแล้วด้วยกัน 3 ครั้ง

ภายในภูมิภาคโทโฮคุนี้เธอชอบจังหวัดฟุกุชิมะเป็นพิเศษ มนุษยสัมพันธ์ของคนในจังหวัดและขนบธรรมเนียมประเพณี วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม อาหาร และอีกมากคือสิ่งที่ดึงดูดเธอ

"อยากให้คนญี่ปุ่นทุกคนรับรู้ถึงมุมมองของคนไต้หวัน ยิ่งเราพบปะพูดคุยกันมากเท่าไหร่ ความเข้าใจต่อฟุกุชิมะก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะคนไต้หวันหรือญี่ปุ่น เราก็อยากให้มาเที่ยวฟุกุชิมะกันเยอะๆ ค่ะ" คุณชิราอิชิบอก

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Shiraishi Erika

สถานที่ที่คุณชิราอิชิชอบมากที่สุดในฟุกุชิมะคือ ตำบลโอดากะ (Odaka-ku) ในเมืองมินามิโซมะ (Minamisoma) ผู้คนของที่นี่ให้การต้อนรับดูแลอย่างอบอุ่นและมีจิตใจโอบอ้อมอารีที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงทำให้เธอประทับใจอย่างตราตรึง

นอกจากนี้เธอยังได้ไปที่ศาลเจ้าโซมะโอดากะ (Somaodaka Shrine) ที่จัดงานเทศกาลโซมะ โนมะโออิ (Soma Nomaoi) เทศกาลใหญ่ของท้องถิ่นซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกชาติด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่มีรูปร่าง โซมะโออิคือพิธีกรรมนำม้าป่าไปที่ศาลเจ้าเพื่อบวงสรวงให้เป็นม้าเทพและว่ากันว่าพิธีกรรมนี้คือต้นแบบของแผ่นป้ายขอพรเอมะ

ศาลเจ้าโอดากะยังเป็นสถานที่ชมดอกซากุระชื่อดัง ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตซากปราสาทโอดากะซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของคนท้องถิ่น

4. ฉือเฉินเหวย

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima

คุณฉือเฉินเหวยเป็นนักเรียนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในโตเกียว ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่เดินทางมาจังหวัดฟุกุชิมะ ก่อนที่จะเดินทางไปเขาคิดว่า "ตอนนี้ก็น่าจะยังคงเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเพราะผลกระทบจากภัยพิบัติ"

เขาเล่าว่า "พอได้มาที่ฟุกุชิมะจริงๆ และได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคนท้องถิ่นก็ตระหนักได้ว่าฟุกุชิมะแทบไม่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นในญี่ปุ่นเลย"

ยิ่งได้เห็นความพยายามตลอด 10 ปีของชาวเมือง และได้ฟังความตั้งใจที่อยากให้ผลผลิตที่ตนฟูมฟักมาด้วยมือส่งถึงทุกคนในญี่ปุ่นของเหล่าเกษตรกร ก็ทำให้คุณฉือเฉินเหวยซาบซึ้งและอยากเป็นหนึ่งในเสียงเล็กๆ ที่จะมีส่วนช่วยเหลือทุกคนที่นี่ขึ้นมา

"อยากให้ทุกคนได้รับรู้ถึงเรื่องราวของจังหวัดและผู้คนในจังหวัดฟุกุชิมะครับ" คุณฉือเฉินเหวยกล่าว

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of pixta
สถานที่ที่คุณเฉินเหวยประทับใจเป็นพิเศษคือเมืองยานาอิซุมาจิ (Yanaizu) ในภูมิภาคไอซุ ฝั่งด้านในของจังหวัด ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรประมาณ 3,000 คน ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นถิ่นกำเนิดอากาเบโกะ (Akabeko) เครื่องรางนำโชคของจังหวัดฟุกุชิมะ

มีเรื่องราวเล่าต่อกันมาว่ามากกว่า 400 ปีที่แล้ว อุโบสถหลักของวัดเอ็นโซจิ (Enzoji) ที่อยู่ในบริเวณนี้ถล่มเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ระหว่างการบูรณะได้มีฝูงวัวขนสีแดงมาช่วยแบกไม้ ผู้คนจึงเรียกฝูงวัวขนแดงนี้ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งว่า "อากาเบโกะ"

อากาเบโกะเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่ไม่ย่อท้อและความเข้มแข็ง ปัจจุบันนี้ของฝากที่เกี่ยวกับอากาเบโกะก็ยังคงได้รับความนิยม ร้านของฝากบางร้านยังมีกิจกรรมระบายสีอากาเบโกะด้วย

5. เชี่ยปิงเฉิน

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of Popup Fukushima

คุณปิงเฉินเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่อาศัยอยู่ในเกียวโต อิมเมจของจังหวัดฟุกุชิมะที่เขามีก็เหมือนกับหลายๆ คนคือเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิด และคิดว่าถ้าไปฟุกุชิมะก็คงจะได้เห็นร่องรอยความเสียหายขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติ

แต่พอได้ไปจริงๆ แล้วก็ได้เห็นกับตาตัวเองว่าทั้งภาครัฐและประชาชนได้รวมกันเป็นหนึ่ง ร่วมมือกันฟื้นฟูโดยใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยและหลากหลายได้อย่างเต็มที่

เขาประทับใจที่ได้เห็นชาวเมืองไม่อยากละทิ้งแผ่นดินนี้และอยากฟื้นฟูบ้านเกิดด้วยสองมือของตนให้ถึงที่สุด

คุณปิงเฉินได้เล่าถึงความหมายของการรณรงค์ของ Pop Up Fukushima ว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้เข้าใจถึงสภาพปัจจุบันที่แท้จริงรวมถึงความคิดของผู้คนในจังหวัดฟุกุชิมะ

加入「福島前進團」 應援福島縣震災復興!

Picture courtesy of HSIEH PING CHENG
สถานที่ที่คุณปิงเฉินรู้สึกตราตรึงมากที่สุดคือโรงเรียนประถมอุเคโดะ (Ukedo Elementary School) ในเมืองนามิเอะ (Namie) หนึ่งในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมหาศาล ตอนที่คลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มโรงเรียน นักเรียนและครูร่วม 100 คนต่างพากันวิ่งหนีคลื่นยักษ์จนลี้ภัยขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตรได้สำเร็จ

อาคารเรียนของโรงเรียนประถมอุเคโดะได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นสถานที่ระลึกถึงภัยพิบัติ ปัจจุบันนี้ที่ด้านบนของอาคารก็ยังแขวนนาฬิกาที่ชี้บอกเวลาที่คลื่นสึนามิได้ถาโถมเข้ามาไว้อยู่ เราสามารถคาดเดาถึงความรุนแรงของคลื่นสึนามิได้จากซากปรักหักพังของอาคารเรียน สถานที่นี้จึงเป็นที่ที่ทำให้ได้ตระหนักถึงแผ่นดินไหวและสึนามิได้ดี

มาร่วมกันสนับสนุนฟุกุชิมะกันเถอะ!

ถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ญี่ปุ่นตะวันออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 จังหวัดฟุกุชิมะได้ก้าวผ่านความยากลำบากมามากมาย ด้วยความร่วมมือของชาวไต้หวันทั้ง 5 คน เราจึงได้รับรู้ถึงความเป็นไปในปัจจุบันของฟุกุชิมะที่พวกเขาได้พบเจอมา

สำหรับผู้ที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ในจังหวัดฟุกุชิมะสามารถติดตามผ่านกิจกรรมของ Pop Up Fukushima ได้ที่เว็บไซต์ทางการของ Pop Up Fukushima (ภาษาญี่ปุ่น)

ถ้ารู้ภาษาจีนตัวเต็มก็สามารถเข้าร่วมกลุ่มเฟซบุ๊ก 福島前進|福島情報自由分享區 เพื่อติดตามข่าวสารมากมายจากจังหวัดฟุกุชิมะได้

Sponsored by Ministry of Economy, Trade and Industry
Written by Jacky Chen
Main image courtesy of Popup Fukushima

Written by

Avatar

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง