ความจริง 5 อย่างที่รู้จากการเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ในปัจจุบัน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ที่เกิดเหตุปี 2011 ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง? ด้านในดูเหมือนสถานที่ก่อสร้างทั่วไป? ไม่ต้องใส่หน้ากากก็เดินข้างในได้แล้ว? มาฟังเสียงจากชาย 2 คนที่เข้าไปชมสถานที่จริงอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงเสียงจากผู้อยู่อาศัยโดยรอบกัน
ที่นี่คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง
"รู้ไหมครับว่าตอนนี้พวกผมอยู่ที่ไหน?"
ที่นี่คือ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1" ที่ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ "นั้น" นั่นเอง
แล้วตอนนี้ ฟุกุชิมะเป็นอย่างไรบ้าง?
วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นโดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก (ต่อไปจะเรียกว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น) ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ของ บริษัทไฟฟ้าโตเกียว (Tokyo Electric Power Company : TEPCO) (ต่อไปจะเรียกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของฟุกุชิมะเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา
โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เนต และสื่อต่างๆ พากันประโคมข่าวที่ไม่แน่ชัดเกี่ยวกับภัยคุมคามจากการกัมมันตภาพรังสีที่มองไม่เห็น จนผู้คนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเชื่อถือข้อมูลไหนดี
นับจากเหตุการณ์นั้นเวลาก็ผ่านไป 8 ปีแล้ว ...
จังหวัดฟุกุชิมะและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ขณะนี้จะเป็นอย่างไรบ้างนะ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ในสายตาผู้รายงาน 2 คนที่ได้เห็นมา
คุณโคล (คนทางซ้าย) และคุณแฟรงค์ (คนทางขวา)
ผู้ที่เดินทางมายังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 นี้คือ คุณโคลชาวอเมริกัน และ คุณแฟรงค์ชาวเนเธอร์แลนด์
ทั้ง 2 คนต่างอาศัยอยู่ในโตเกียว คุณโคลเป็นพนักงานบริษัท ส่วนคุณแฟรงค์ยังเป็นนักเรียน พวกเขารู้เรื่องฟุกุชิมะจากสื่อ ไม่ได้ศึกษาเฉพาะทางเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเรื่องเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี และจริงๆ แล้ว พวกเขาพึ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรกด้วย
เพื่อขจัดความวิตกกังวลที่คลุมเครือ
ทั้่ง 2 คน มีข้อสงสัย ข้อกังวลอยู่หลายเรื่อง
"มันปลอดภัยที่จะเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 จริงๆ หรือ?"
"สถานที่เกิดเหตุเป็นอย่างไรบ้าง?"
"จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต?"
ล้วนแต่เป็นความกังวลที่คลุมเครือ ไม่รู้เหนือใต้ทั้งตอนนี้เป็นอย่างไร และต่อไปจะเป็นอย่างไร
มีหลายเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของฟุกุชิมะในตอนนี้
เอาล่ะ เรามาตามไปดูพร้อมกับทั้งสองกันเลย
* ทาง MATCHA ได้รับอนุญาติเป็นพิเศษในการเข้าทัศนศึกษาภายในเขตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับเขียนบทความ
* บทความนี้เขียนขึ้นจากข้อมูลที่เก็บได้ในช่วงวันที่ 15-16 มกราคม 2019
สารบัญ :
Part 1 : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง? 5 สิ่งที่ได้รู้จากการเข้าไปเดินในสถานที่จริง
- 1. ปลอดภัยไหมที่จะเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
- 2. เกิดอะไรขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
- 3. สถานที่เกิดเหตุเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
- 4. ขณะนี้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ทำอะไรกันอยู่
- 5. จากนี้ไปโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 จะเป็นอย่างไร
Part 2 : พื้นที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ตอนนี้เป็นอย่างไร?
- 1. ตำบลนามิเอะ : ทันตแพทย์กับคลีนิกใหม่ในรอบ 7 ปีครึ่งและบทบาทใหม่ในฐานะที่ปรึกษา
- 2. ตำบลโอดากะ อำเภอมินามิโซมะ : "แนวพรมแดน" ในรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
1. ปลอดภัยไหมที่จะเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
จังหวัดฟุกุชิมะตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮคุ) ของญี่ปุ่น มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น
ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งมหาสมุทรของจังหวัดฟุกุชิมะ
เขตที่ระบุให้อพยพจริงๆ แล้วมีแค่ 2.7% ของทั้งจังหวัด
พื้นที่ทั้งจังหวัดฟุกุชิมะกับเขตที่ระบุให้อพยพในปัจจุบัน ช่วงที่เกิดเหตุได้กำหนดเขตที่ระบุให้อพยพไว้ที่รัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปบางส่วนแล้ว
รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ปัจจุบันยังมีบางพื้นที่ถูกกำหนดเป็นเขตที่ระบุให้อพยพ แต่ก็ทยอยยกเลิกกันไปเรื่อยๆ
ทั้งจังหวัดฟุกุชิมะมีพื้นที่ 13,783 ตารางกิโลเมตร แต่เขตที่ระบุให้อพยพในตอนนี้มีพื้นที่ราว 370 ตารางกิโลเมตร เทียบกับพื้นที่ทั้งจังหวัดฟุกุชิมะแล้วก็นับเป็นพื้นที่เพียง 2.7% เท่านั้น (ข้อมูลเมื่อเมษายน 2017)
ผู้คนต่างทยอยกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น
มะจิ-นามิ-มารูเช่ (Machi - Nami - Maruche) ถนนร้านค้าที่ตั้งขึ้นชั่วคราวในตำบลนามิเอะ มีร้านอาหารและร้านขายของชำเรียงราย เป็นที่พักผ่อนของชาวเมือง
ช่วงที่มีคนอพยพหนีออกไปทั้งนอกและในจังหวัดฟุกุชิมะสูงที่สุด (พฤษภาคม 2012) มีมากกว่า 1.6 แสนคน แต่ในปัจจบุันมีผู้อพยพทั้งในและนอกจังหวัด (ณ กรกฏาคม 2018) เหลือราว 45,000 คน เห็นได้ว่ามีผู้คนทยอยกลับมาภูมิลำเนากันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ทุกคนเป็นห่วงก็มีแนวโน้มลดลง จากเอกสารของคณะกรรมการกฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2011 แล้ว ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในบรรยากาศภายในรัศมี 80 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 นั้นลดลงถึงราว 74% (*1)
ในการเก็บข้อมูลคราวนี้ ทีมของเราไปยังตำบลโอดากะ อำเภอมินามิโซมะที่ยกเลิกคำสั่งอพยพไปเมื่อปี 2016 และตำบลนามิเอะที่ยกเลิกคำสั่งอพยพไปเมื่อปี 2017 ซึ่งเราได้สัมภาษณ์ผู้คนที่กลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย สามารถอ่านรายละเอียดได้ในครึ่งหลังของบทความ
*1 : ข้อมูล ณ กันยายน 2017 โดยใช้ค่าเฉลี่ยอัตรากัมมันตภาพรังสีในจุดที่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร
เส้นทางโดยรอบที่มีรถปฏิบัติการวิ่งสวนไปมา
ตำบลโทมิโอกะ
แล้วพวกเราทุกคนก็ขึ้นรถบัส มุ่งหน้าไปโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 กัน
รถของเราแล่นผ่านตำบลโทมิโอกะ (Tomioka) ที่อยู่ทางใต้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เข้าสู่ตำบลโอคุมะ (Okuma) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
ปัจจุบันนี้บางส่วนของตำบลโทมิโอกะและเกือบทั้งของตำบลโอคุมะยังถูกสั่งให้เป็นเขตที่ระบุให้อพยพอยู่
ในรูปคือ แม่น้ำโทมิโอกะ หนึ่งจุดในตำบลโทมิโอกะที่ถูกยกเลิกจากการเป็นเขตที่ระบุให้อพยพแล้ว สายน้ำอุดมสมบูรณ์ไหลลงมาจากภูเขา ว่ากันว่าในฤดูใบไม้ร่วงจะมีปลาแซลมอนจะว่ายทวนน้ำขึ้นมา
ตำบลโอคุมะ (Okuma) ที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่ง 1
ระหว่างทางเราได้สวนกับรถบรรทุกขนาดใหญ่หลายคัน ซึ่งเป็นรถปฏิบัติการเกี่ยวกับงานปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณู หรือเป็นรถปฏิบัติการขจัดสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในพื้นที่
คุณโคลกล่าวขึ้นมาว่า "ผมคิดว่าไม่มีใครอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 แล้วเสียอีก แต่จริงๆ ยังมีรถปฏิบัติการสัญจรไปมามากขนาดนี้เลยนะครับ"
พอรถเลี้ยวออกจากทางหลวงก็เข้ามาอยู่ภายในบริเวณของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
เริ่มด้วยการเช็คค่าสารกัมมันตภาพรังสีในร่างกาย
ในที่สุดเราก็มาถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 จากหน้าต่างของอาคารพักผ่อนขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ทั่วบริเวณ
หากเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเป็นยังไงนะ?
เราต้องระงับความตื่นเต้นไว้ก่อน แล้วเริ่มด้วยการตรวจเช็คร่างกายภายในอาคารพักผ่อนขนาดใหญ่แห่งนั้น
เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องที่มีชื่อว่า เครื่องวัดรังสีทั่วร่างกาย (whole body counter) มาทำการวัดกัมมันตภาพรังสีที่มีอยู่ในตัวเราว่าเป็นเท่าไร เพื่อตรวจสอบว่าหลังจากทัศนศึกษาภายในแล้วจะมีค่าต่างกันหรือไม่ อย่างไร
เครื่องวัดรังสีทั่วร่างกายนี้จะวัดจำนวนรังสี (รังสีแกมมา) ที่ปล่อยออกมาในช่วง 1 นาที ก่อนและหลังที่เข้าไปในบริเวณภายใน ถ้ามีค่าเพิ่มขึ้น 1,500 cpm (ย่อมาจาก counts per minute) แสดงถึงความเป็นไปได้ที่ร่างกายจะดูดซับกัมมันตภาพรังสีเข้าไป
ในการตรวจวัดครั้งนี้ คุณโคล วัดได้ 907 cpm ก่อนเข้าและวัดได้ 954 cpm หลังจากทัศนศึกษา ส่วนคุณแฟรงค์ วัดได้ 1,488 cpm ก่อนเข้าและวัดได้ 1,339 cpm หลังจากทัศนศึกษา ค่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่เราจะเห็นได้ว่าค่าที่วัดได้ก่อนและหลังเข้าชมไม่ได้แตกต่างกันมากเลย
ปริมาณรังสีไม่ถึง 1/7 เทียบกับการเอ็กซเรย์
แต่ว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีภายในบริเวณนั้นเป็นค่าที่ไม่มีปัญหาจริงๆ หรือ?
เรามาดูค่าที่วัดได้จริงภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 กัน นี่คือปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่วัดได้จากหน้าอาคารเตาปฎิกรณ์หน่วยที่ 4 มีค่าอยู่ที่ 0.008 mSv/h (*2)
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตัวเลขนี้ยังต่ำว่า 1/7 ส่วนของปริมาณรังสีที่เราได้จากการฉายเอ็กซเรย์ทรวงอก 1 ครั้งเสียอีก โดยปกติการฉายเอ็กซเรย์ทรวงอก 1 ครั้ง จะได้รับรังสีประมาณ 0.06 mSv สำหรับพื้นที่นี้ที่อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุวัดปริมาณรังสีได้เพียง 0.008 mSv ต่อ 1 ชั่วโมง จึงนับว่ามีปริมาณรังสีที่ต่ำมาก
เพื่อประกอบการพิจารณา ลองมาเปรียบเทียบดูปริมาณการอาบรังสีภายใต้สถานการณ์ทั่วๆ ไปในชีวิตของเรากัน
*2 : เครื่อมือในภาพแสดงค่าเป็นหน่วย μSv/h เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในบทความนี้จึงใช้ค่า mSv/h ให้เหมือนกันหมดทั้งบทความ โดย 1mSv/h = 1,000μSv/h
ค่าการปล่อยรังสีในสถานการณ์ต่าง ๆ | หน่วย (mSv) |
ปริมาณรังสีที่รับจาการแผ่รังสีตามธรรมชาติใน 1 ปี (เฉลี่ยทั่วโลก) | 2.4 |
ภายในเครื่องบินไปกลับโตเกียว - นิวยอร์ก | 0.11 - 0.16 |
ฉายเอ็กซเรย์ทรวงอก (1 ครั้ง) | 0.06 |
การสังเกตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ครั้งนี้ (ประมาณ 5 ชั่วโมง) | 0.04 |
อยู่ที่สถานีฟุกุชิมะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง (*3) | 0.0002 |
อยู่ที่นิวยอร์กเป็นเวลา 1 ชั่วโมง (*4) | 0.00005 |
อ้างอิง : https://www.env.go.jp/chemi/rhm/kisoshiryo/attach/201510mat1s-01-6.pdf
ในการเก็บข้อมูลคราวนี้เราอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ราว 5 ชั่วโมง เมื่อวัดค่ารังสีที่เพิ่มขึ้นในร่างกายตอนท้ายแล้วก็เพิ่มขึ้นมาเพียง 0.04 mSv ซึ่งถือว่าเป็นเพียง 2/3 ของการฉายเอ็กซเรย์ทรวงอกหนึ่งครั้งเท่านั้น
*3 : ทำการวัดที่ ลานกว้างโครัสเซ่ (Corasse Hiroba) ใกล้กับสถานีฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2019 โดยปัดเศษทศนิยม 5 ตำแหน่งด้วยวิธีการปัดแบบปกติ
อ้างอิง : http://fukushima-radioactivity.jp/pc/
*4 : ค่าที่วัดได้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2018 ปัดเศษทศนิยม 6 ตำแหน่งด้วยวิธีการปัดแบบปกติ
อ้างอิง : https://www.jnto.go.jp/eq/eng/04_recovery.htm
แต่งตัวแบบสบายๆ เข้าไปทัศนศึกษาได้ไหม?
เมื่อจะเข้าไปทัศนศึกษาภายในโรงไฟฟ้า ทางโรงงานจะมีหมวก หน้ากาก ถุงเท้า ถุงมือ เสื้อกั๊ก และอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ ให้สวมทับไปบนชุดธรรมดาของตัวเอง
ในเสื้อกั๊กมีเครื่องวัดรังสีแบบพกพา (รูปขวาล่าง) เพื่อทำการวัดปริมาณการอาบรังสีระหว่างทัศนศึกษาว่าเป็นเท่าไร
เห็นอย่างนี้แล้วอาจจะคิดว่า "ใส่แค่นี้เองหรือ?"
เพราะปริมาณรังสีภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ลดลงทุกปีและยังมีการขจัดสิ่งปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง เราจึงสามารถแต่งกายแบบสบายๆ ระหว่างการทัศนศึกษาภายในได้เลย (ณ มกราคม 2019)
ถึงไม่ใส่หน้ากาก ก็เดินไปไหนมาไหนได้
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานโดยไม่ต้องใส่ชุดป้องกันอย่างหน้ากากแบบครอบทั้งหน้าได้ในพื้นที่ 96% ของโรงไฟฟ้าแล้ว
ดังนั้นในบางพื้นที่เราจึงสามารถเดินไปมาได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากเหมือนที่เห็นในรูปเลย
ผังแสดงภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
ที่ทั้ง 2 คนเดินอยู่คือ "ถนนซากุระ" หน้าอาคารพักผ่อนใหญ่ เป็นถนนที่อยู่ห่างอาคารเตาปฏิกรณ์ประมาณ 1,500 เมตร
2. เกิดอะไรขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีนาคม 2011
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 เป็นโรงไฟฟ้าที่บริหารโดย TEPCO กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากที่นี่จะถูกส่งไปยังภูมิภาคคันโตที่อยู่ห่างจากจุดนี้กว่า 200 กิโลเมตร
แต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 15 เมตรถาโถมเข้าใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2011 จากซ้ายมือไปเป็นอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 - 4
Picture courtesy of TEPCO
ผลจากสึนามิทำให้อาคารเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่สูงกว่าน้ำทะเลถึง 10 เมตรได้รับความเสียหาย และกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด
นั่นส่งผลให้ระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน ทำให้ภายในเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1-3 อยู่ในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงมาก จนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกิดปรากฏการณ์หลอมละลายที่เรียกกันว่า "melt down" (*5)
*5 : หน่วยที่ 4 อยู่ระหว่างการตรวจเช็คสภาพตามกำหนดจึงไม่เกิดการหลอมละลาย
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2011 อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3 (ซ้ายมือ) และหน่วยที่ 4 (ขวามือ) เกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้น
Picture courtesy of TEPCO
ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้นที่อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1, 3 และ 4 การหลอมละลายและการเกิดระเบิดไฮโดรเจนต่อเนื่องกันทำให้กัมมันตภาพรังสีเกิดการรั่วไหลไปในชั้นบรรยากาศ พื้นดิน ทะเล และทางอื่นๆ
อาจมีบางท่านที่จำภาพช็อคโลกรูปด้านบนนี้ได้ แล้วสภาพในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ...
วันนี้คุณอาเบะ และคุณคิโมโตะ ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ของบริษัท TEPCO จะมาเป็นผู้นำทางให้พวกเรา
3. สถานที่เกิดเหตุเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
เรากำลังมุ่งหน้าไปยัง "สถานที่แห่งนั้น" อาคารเตาปฏิกรณ์ที่เกิดการหลอมละลายและระเบิดไฮโดรเจนขึ้นนั่นเอง
เนื่องจากพื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 กว้างใหญ่มาก จึงต้องใช้รถบัสในการเดินทาง
ภายในที่ดูเป็นระเบียบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง คุณโคลก็พูดขึ้นด้วยความประหลาดใจกับภาพที่เห็น
"ในนี้ดูสะอาดกว่าที่คิดไว้เยอะเลย ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดีนะครับ"
คุณแฟรงค์เองก็พยักหน้าเห็นด้วย "ดูเหมือนสถานที่ก่อสร้าง หรือเขตอุตสาหกรรมที่เห็นได้ทั่วไปเลย"
มีเพียงภาพของเจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติงานเท่านั้นที่ทำให้เราระลึกได้ว่าที่นี่คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
เพียง 100 เมตรจากอาคารเตาปฏิกรณ์
จากซ้าย อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 และ 2
นั่งรถบัสราว 5 นาทีก็มาถึงแท่นสูงแห่งหนึ่ง สิ่งก่อสร้างที่เรียงรายอยู่ตรงหน้าคืออาคารเตาปฏิกรณ์
ด้านซ้ายคือหน่วยที่ 2 อาคารที่มีหลังคาทรงโดมคือหน่วยที่ 3 และที่อยู่ไกลที่สุดคือหน่วยที่ 4
เราอยู่ห่างจากอาคารตรงหน้าแค่ราว 100 เมตรเท่านั้น
คุณแฟรงค์กล่าวขึ้นว่า "พอได้เห็นสภาพอาคารที่พังอยู่นี่ ก็ทำให้ผมได้รู้สึกขึ้นมาว่าที่นี่ล่ะคือสถานที่เกิดเหตุ"
และตอนนี้เองที่คุณอาเบะ เจ้าหน้าที่ของ TEPCO พูดขึ้นว่า "ลองเข้าไปใกล้กว่านี้กันอีกหน่อยดีกว่า"
ทำให้คุณโคล คุณแฟรงค์ พากันตกใจว่า "เข้าไปใกล้กว่านี้ได้อีกหรือครับ?"
เพียงไม่กี่เมตรจะถึงอาคารเตาปฏิกรณ์
ที่อยู่ด้านหลังคืออาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3
เรามายังทางเดินระหว่างอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 กับ 3 อีกเพียงไม่กี่เมตรจะถึงอาคารเตาปฏิกรณ์ ส่วนบนของอาคารมีร่องรอยจากของระเบิดไฮโดรเจน ส่วนด้านล่างก็มีร่องรอยขูดขีดแตกร้าวจากเศษหินเศษปูนที่ถูกสึนามิพัดมาชนหลงเหลืออยู่อย่างแจ่มชัด
ว่าแต่ ... เข้ามาใกล้ขนาดนี้จะปลอดภัยหรือ?
คุณอาเบะ (ด้านขวา) กำลังอธิบายให้พวกเราฟังอยู่ด้านหน้าอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2
คุณอาเบะอธิบายว่า "หลังพฤษภาคม 2018 เป็นต้นมาเราถึงเริ่มแต่งตัวแบบนี้มาเดินแถวนี้ได้"
"ที่พื้นเราปูแผ่นเหล็กกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และดำเนินการกำจัดพวกเศษซากปรักหักพังออกไปเรื่อยๆ ทำให้ปริมาณรังสีลดลง และเรายังคงควบคุมฝุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง "ฝุ่น" ที่เราพูดถึงในที่นี้คือฝุ่นผงต่างๆ ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่กระจายอยู่ในอากาศ เราต้องเฝ้าติดตามกัมมันตภาพรังสีอยู่ตลอดเวลา"
ตอนนี้ขอบเขตที่เจ้าหน้าที่ในชุดทำงานปกติสามารถเข้าถึงได้ก็ค่อยๆ ขยายกว้างออกไปทุกปี
4. ขณะนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ทำอะไรกันอยู่
แล้วตอนนี้เขาทำอะไรกันอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ถูกกำหนดให้ปลดระวางแล้ว งานที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. เก็บเชื้อเพลิงออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์
2. มาตราการจัดการกับน้ำปนเปื้อน
1. เก็บเชื้อเพลิงออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์
การใช้เครนขนย้ายเศษซากปรักหักพังออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1
เชื้อเพลิงที่ผ่านการใช้งานในอาคารเตาปฏิกรณ์แล้วจะไม่นำมาใช้อีก ปฏิบัติการนำเชื้อเพลิงเหล่านั้นออกจากเตายังคงดำเนินการต่อไปเพื่อนำไปสู่การปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณู
หน่วยที่ 1, 2 และ 3 ที่เกิดการหลอมละลายทำให้มีกัมมันภาพรังสีตกค้างอยู่ในอาคารมาก การดำเนินการจึงแบ่งออกเป็นขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ
เศษซากที่ต้องขนออกมาจากหน่วยที่ 1 ยังมีอยู่อีกเยอะ ต้องบังคับเครนจากระยะไกลเพื่อขนย้ายไปกำจัดทีละนิด ส่วนหน่วยที่ 2 ไม่ได้เกิดระเบิดไฮโดรเจน แต่ภายในอาคารยังมีสารกัมมันตภาพรังสีหลงเหลืออยู่ จึงได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบภายในอาคารแล้ว
(ภาพซ้าย) หน่วยที่ 3 ขณะที่เกิดเหตุ ถ่ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2011 (ภาพขวา) หลังจากที่ครอบหลังคาโดมแล้ว ถ่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2018
Picture courtesy of TEPCO
ส่วนอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3 ดำเนินการขนย้ายเศษซากและขจัดการปนเปื้อนเสร็จแล้ว จึงอยู่ในขั้นตอนติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับนำเชื้อเพลิงออกมา เช่น หลังคาโดมในรูปขวามือ
ณ ปัจจุบัน เดือนมกราคม 2019 งานปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูที่คืบหน้าไปมากที่สุดคือ หน่วยที่ 4 (ในรูป)
หน่วยที่ 4 เกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้นก็จริง แต่ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวหน่วยที่ 4 ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเนื่องจากต้องตรวจเช็คเครื่องตามกำหนด ทำให้ไม่เกิดการหลอมละลายขึ้น ดังนั้นในหน่วยนี้จึงเข้าไปดำเนินการได้สะดวกกว่า
ในปี 2014 เชื้อเพลิงทั้งหมดถูกขนออกมาและย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่สระน้ำส่วนรวมใกล้ๆ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างปลอดภัย จึงเรียกได้ว่าปฏิบัติการเกี่ยวกับอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 4 เสร็จเรียบร้อยและอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแล้ว
สำหรับหน่วยที่ 1 - 3 จำเป็นต้องนำเชื้อเพลิงที่หลอมละลายเป็นแท่งเชื้อเพลิงหลอมเหลวปนเปื้อนกับสิ่งอื่น (Fuel Debris) ออกมาก่อน ในเวลานี้จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการโดยใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำการตรวจสอบภายใน
เราสามารถคลิกที่นี่เพื่อเข้าไปดูคลิปวีดีโอการตรวจสอบภายในอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3 ที่สำรวจไปในเดือนกรกฎาคม 2017 ได้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก็พึ่งมีปฏิบัติการตรวจสอบเศษตะกอนภายในหน่วยที่ 2 โดยตรงอีกด้วย
เครื่องจักรที่มีลักษณะคล้ายนิ้ว 2 นิ้ว (รูปซ้าย) กำลังหนีบเศษตะกอนที่เป็นรูปทรงเหมือนเป็นหินก้อนเล็กๆ ขึ้นมา (รูปขวา) รูปทางขวามือเป็นรูปถ่ายจากหน่วยที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019
Picture courtesy of Toshiba Energy Systems & Solutions Corporation (รูปซ้าย) และ TEPCO (รูปขวา)
2. มาตราการจัดการกับน้ำปนเปื้อน
เพื่อลดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในบรรยากาศ และป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลซึมลงใต้ดิน ด้านในจึงทำเป็นถนนลาดยางมะตอย
สิ่งที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการเอาเชื้อเพลิงออกมา คือ มาตราการจัดการกับน้ำปนเปื้อน
อุบัติเหตุในปี 2011 ไม่เพียงปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาในอากาศเท่านั้น แต่ยังมีรั่วไหลไปสู่ทะเลและพื้นดินด้วย
ณ วันที่มาเก็บข้อมูล (เดือนมกราคม 2019) แม้สารกัมมันตรังสีในทะเลรอบบริเวณของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 จะมีความเข้มข้นต่ำมากแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีการดำเนินมาตราการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงอยู่
"กำแพงน้ำแข็ง" ล้อมรอบอาคารเตาปฏิกรณ์
ท่อต่างๆ ถูกวางไว้ใต้ดินรอบอาคารเตาปฏิกรณ์ ก่อให้เกิดกำแพงน้ำแข็งลึกถึง 30 เมตร
แม้ในขณะนี้ใต้ดินของอาคารเตาปฏิกรณ์ยังเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ จึงมีการขุดดินรอบโรงเตาปรมาณูในระยะ 1.5 กิโลเมตรเพื่อทำกำแพงน้ำแข็งล้อมไม่ให้น้ำจากภายนอกไหลเข้าไปอีก
Picture courtesy of TEPCO
และอีกด้านหนึ่ง ฝั่งที่ติดกับทะเลได้สร้างกำแพงเหล็กดังภาพที่เห็นด้านบน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนเล็ดลอดไหลลงทะเล
เครื่องขจัดสารกัมมันตรังสีหลายชนิด(ALPS)
คุณโคลถามขึ้นว่า "แต่ในใต้ดินของอาคารเตาปฏิกรณ์ มีน้ำปนเปื้อนเกิดขึ้นใช่ไหมครับ แล้วทำยังไงกับน้ำเหล่านั้น?"
คุณอาเบะจากบริษัท TEPCO ตอบว่า "น้ำปนเปื้อนที่เกิดขึ้นภายในนั้น เราใช้เครื่องขจัดสารกัมมันตรังสีหลายชนิด (ALPS) และเครื่องต่างๆ อีกหลายเครื่องในนั้นทำการบำบัดน้ำให้สะอาด กำจัดธาตุซีเซียม (Caesium) ธาตุสตรอนเชียม (Strontium) ที่เป็นสารกัมมันตรังสีมีอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ออกไป
ทำยังไงกับน้ำที่บรรจุในแท็งก์?
แท็งก์ที่บรรจุน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว
เฉพาะสารกัมมันตรังสีที่ชื่อว่า ทริเทียม (Tritium) ยังไม่มีเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถขจัดมันออกไปได้ จึงเก็บน้ำที่ขจัดสารอื่นหมดแล้วยกเว้นทรีเทียมไว้ในแท็งก์ที่ติดตั้งไว้ภายในโรงไฟฟ้า
แท็งก์ภายในโรงไฟฟ้า
คุณแฟรงค์จึงถามต่อไปว่า "แล้วจะจัดการยังไงต่อไปกับน้ำในแท็งก์ครับ?"
ปัจจุบัน ณ เดือนมกราคม 2019 ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 มีแทงค์น้ำราวราว 940 แทงค์ เก็บน้ำเอาไว้รวมถึง 1.1 ล้านตัน แต่ตามแผนที่วางไว้โดยคำนึงถึงลักษณะของพื้นที่แล้วมีแผนจะติดตั้งแทงค์รองรับน้ำถึง 1.37 ล้านตัน
"เราได้หารือกันอยู่ตลอดทั้งระดับประเทศและกับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นี้ว่าจะจัดการกับน้ำพวกนี้อย่างไร" คุณคิโมโตะจากบริษัท TEPCO ตอบไว้เช่นนั้น
ผู้คนที่ทำงานอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
ในปฏิบัติการเก็บเชื้อเพลิงและมาตราการจัดการกับน้ำปนเปื้อน ภารกิจสำคัญที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 แบกรับไว้อยู่ในขณะนี้มีคนปฏิบัติงานถึง 4,000 - 5,000 คนต่อวัน
คุณโคลกล่าวไว้ว่า "นี่ก็ทำให้ผมประหลาดใจเหมือนกัน ผมคิดว่าภายในโรงไฟฟ้าจะถูกปล่อยทิ้งไว้ในสภาพเหมือนเมื่อตอนเกิดเหตุ และมีคนเพียงน้อยนิดปฏิบัติงานอยู่เสียอีก ไม่คิดเลยว่าจะมีคนอยู่มากถึงขนาดนี้"
เหตุการณ์ผ่านไป 8 ปีแล้ว สภาพแวดล้อมในที่ทำงานได้รับการปรับปรุงอย่างมากเช่นเดียวกัน
อย่างเช่นเรื่องของอาหารการกิน ในปี 2015 ได้ตั้งโรงอาหารขึ้นมาในเขตโรงไฟฟ้า จึงมีอาหารอุ่นๆ ให้รับประทาน โดยที่ก่อนหน้านั้นจะต้องนำอาหารจากข้างนอกเข้ามา แน่นอนว่ากว่าจะได้ทาน อาหารก็เย็นชืดหมดแล้ว
"ทุกคนนั่งล้อมวงกินข้าวหม้อเดียวกัน สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วนี่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างทีมเวิร์คให้แน่นแฟ้นขึ้น"
คุณอาเบะผู้รู้เรื่องหน้างานจริงตั้งแต่ในสมัยนั้นกล่าวด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง
"อยากจะทำอะไรบางอย่าง" เพื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1
คุณคิโมโตะจากบริษัท TEPCO (ขวามือในรูป) ผู้มานำทางให้เราในวันนี้เป็นคนหนึ่งที่เคยปฏิบัติอยู่หน้างาน ขณะเกิดเหตุเขาอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 2 ซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร หลังภัยพิบัติแผ่นดินไหว เขาต้องคอยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันเขารับหน้าที่ในการแถลงข่าวต่อสื่อและประชาสัมพันธ์ต่างๆ
"ที่ผ่านมาผมทำงานด้วยความเชื่อมั่นในพลังงานปรมาณู พอเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น โดยส่วนตัวแล้วผมเองก็ช็อกมาก ผมปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ผมรู้สึกได้ว่านี่คือภารกิจของผม ผมถึงได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ครับ"
ส่วนคุณอาเบะจากบริษัท TEPCO ก็เช่นกัน
"พวกเราคิดว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าอับอายมากของพวกเรา" เขาพูดด้วยความรู้สึกจากใจจริง
"พวกเราต้องอธิบายความผิดพลาดความล้มเหลวที่พวกเราได้ทำไว้อย่างหมดเปลือก ไม่ว่าจะต้องพูดซ้ำกี่ครั้งกี่หน แต่นั่นเป็นเรื่องที่พวกเราสามารถทำได้ในเวลานี้ และพวกเรายังรู้สึกว่าเราต้องทำด้วย"
5. จากนี้ไปโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 จะเป็นอย่างไร?
การปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 คาดว่าต้องใช้เวลา 30 - 40 ปี
ทั้งการขนเศษซากทั้งหลาย นำเชื้อเพลิงออกจากเตา เอาแท่งเชื้อเพลิงหลอมเหลวปนเปื้อนกับสิ่งอื่นออกมา บำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง และจะจัดการกับน้ำในแท็งก์อย่างไร ... ยังคงเหลือประเด็นปัญหาอีกมากมายเป็นภูเขา
การดำเนินงานเรื่องปลดระวางมีความคืบหน้าเพียงใด เหตุการณ์ในปี 2011 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีสถานที่หนึ่งที่จะช่วยบอกเราได้
Picture courtesy of TEPCO
จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ลงไปทางใต้ราว 10 กิโลเมตรในตำบลโทมิโอกะ มีพิพิธภัณฑ์การปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูของ TEPCO (TEPCO Decommissioning Archive Center) ที่นี่เปิดให้บริการในปี 2018 ภายในมีวีดีโอ รูปภาพ งานจัดแสดงที่ช่วยให้รู้รายละเอียดของเหตุการณ์คราวนั้นทั้งหมด รวมไปถึงสภาพการปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณู
ท่านใดที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่นี่ สามารถเปิดดูจากเว็บไซต์ของบริษัท TEPCO หรือดูจาก ทัวร์เสมือนจริง (Virtual Tour) ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ที่เผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ ก็จะเข้าใจสภาพภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 และสถานการณ์การปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูในปัจจุบัน
อยากรู้เรื่องฟุกุชิมะมากขึ้นอีก
หลังจบการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 คุณแฟรงค์กล่าวว่า
"ก่อนอื่นขอบอกว่าผมตกใจมากเพราะไม่คิดว่าจะเดินเข้าไปดูที่เกิดเหตุได้ใกล้ถึงขนาดนั้น พอเดินเข้าไปในเขตของโรงไฟฟ้า ผมมีความรู้สึกว่าด้านในได้รับการควบคุมเป็นอย่างดีเหนือความคาดหมายของผมเสียอีก"
ส่วนคุณโคลเองก็กล่าวว่า "ผมเองก็รู้สึกเหมือนกันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่ชัดเจนอย่างการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงเรื่องของกัมมันตภาพรังสีที่เรียกได้ว่าเกินความสามารถที่มนุษย์จะจัดการได้ แต่ผมประทับใจมากกับผู้คนที่ทำงานอยู่ในนั้น ที่ต่างมีหัวใจของมืออาชีพและลงมือทำงานอย่างสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้"
คุณโคลพูดเสริมขึ้นอีกว่า "เรามองไม่เห็นกัมมันตภาพรังสี สิ่งที่เรามองไม่เห็น จึงเข้าใจยากและเกิดความไม่สบายใจ แต่พอมีความรู้และได้เข้ามาดูสถานที่จริง ความรู้สึกกลัวก็หายไป"
เรามักกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ถ้าได้รู้จักตัวตนของมันแล้ว ความหวาดกลัวก็จะค่อยๆ ลดลง
เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของฟุกุชิมะมากขึ้นอีก หลังจบการทัศนศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 แล้วพวกเราทั้งหมดจึงมุ่งหน้าไปยังอีกสถานที่หนึ่ง
บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง