ฟุกุชิมะ ข้ามผ่านภัยพิบัติด้วยของอร่อยจากท้องถิ่น

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

10 ปีผ่านไปนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทางญี่ปุ่นตะวันออกในวันที่ 11 มีนาคม 2011 เมืองที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นจะเป็นอย่างไรในเวลานี้ เราได้ไปลองของอร่อยจากเมืองอิวากิ นามิเอะ และโซมะ เมืองชายฝั่งทะเลของจังหวัดฟุกุชิมะ และฟังเรื่องราวของผู้คนท้องถิ่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองหลังภัยพิบัติ

บทความโดย

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

more

เยือนปัจจุบันของฟุกุชิมะ เมื่อภัยพิบัติพัดผ่านครบ 10 ปี

10 ปี...

ถ้าเป็นเด็กแรกเกิดป่านนี้ก็คงเข้าเรียนอยู่ประมาณชั้นประถม 4 บ้านเรือนในเมืองเองก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

いわき駅

หน้าสถานี JR อิวากิ

เป็นเวลา 10 ปีแล้วตั้งแต่เกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ญี่ปุ่นตะวันออกในวันที่ 11 มีนาคม 2011

ช่วงเวลา 10 ปีนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ครั้งนี้เราเลยถือโอกาสไปยังฮามะโดริ พื้นที่ฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิกของจังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อพูดคุยกับผู้คนในเมืองอิวากิ (Iwaki) นามิเอะ (Namie) และโซมะ (Soma) ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และสึนามิ ว่าพวกเขากำลังทำอะไรและหวังว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

โยอาเกะอิจิบะ ตรอกกินดื่มย่ำรุ่งที่มุ่งสร้างเสน่ห์ให้เมืองอิวากิ

夜明け市場

เดินจากสถานี JR อิวากิประมาณ 3 นาที ก็จะพบกับป้ายสีแดงหน้าตรอกเล็กๆ ที่มีร้านเรียงรายเป็นตับอยู่สองฝั่ง ที่นี่คือโยอาเกะอิจิบะ (Yoake Ichiba : 夜明け市場) ตรอกรวมร้านอาหารหลากสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่างยากิโทริ อาหารอิตาเลียน อาหารท้องถิ่นและร้านกินดื่มรวม 15 ร้าน เปิดทำการเป็นครั้งแรกหลังจากเมืองประสบกับภัยพิบัติไปเพียง 7 เดือน ผ่านการริเริ่มโครงการโดยบริษัท 47PLANNING

夜明け市場

"10 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้พวกเราได้หันกลับมามองและเห็นว่าจังหวัดฟุกุชิมะเต็มไปด้วยขุมทรัพย์มากมายที่ยังหลับใหลอยู่" คุณซุซุกิ นาโอกิ (Suzuki Naoki) ผู้รับผิดชอบโครงการโยอาเกะอิจิบะบอกให้พวกเราฟัง

อิคุระ (ไข่ปลาแซลมอน) จากแม่น้ำคิโดะกาวะก็เป็นหนึ่งในขุมทรัพย์นั้น

การค้นพบเสน่ห์ที่หลับใหล จุดเริ่มต้นของเทศกาลอิคุระแห่งแม่น้ำคิโดะกาวะ

木戸川いくら祭り

Picture courtesy of Yoake Ichiba

ราวเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นฤดูของอิคุระพอดี ทางโยอาเกะอิจิบะจะจัดเทศกาลอิคุระแห่งแม่น้ำคิโดะกาวะ ร้านรวงต่างๆ จะร่วมกันทำเมนูพิเศษโดยมีอิคุระจากแม่น้ำคิโดะกาวะเป็นวัตถุดิบ

ซุซุกิซังอธิบายเพิ่มให้ฟังว่าแหล่งผลิตอิคุระหลักๆ ของญี่ปุ่นคือจังหวัดฮอกไกโด แต่แม่น้ำคิโดะกาวะที่อยู่จังหวัดฟุกุชิมะนี้อยู่ห่างจากฮอกไกโดลงมาทางใต้อีกหลายร้อยกิโลเมตร นั่นทำให้ปลาแซลมอนต้องใช้เวลานานและใช้พลังมากขึ้นในการว่ายมาถึงที่นี่ จำเป็นต้องเก็บสารอาหารในตัวให้มากพอ ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นก็ถูกส่งต่อมายังไข่ปลาเหล่านี้

木戸川いくら祭り

Picture courtesy of Yoake Ichiba

จุดเด่นของอิคุระจากแม่น้ำคิโดะกาวะคือความใหญ่ของไข่แต่ละฟอง แต่กลายเป็นว่าคนในจังหวัดฟุกุชิมะเองกลับไม่ค่อยรู้จัก เลยถูกขายออกไปยังร้านอาหารที่จังหวัดอื่นๆ ในราคาที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ

夜明け市場

เพื่อให้อิคุระจากแม่น้ำคิโดะกาวะได้รับคุณค่าที่คู่ควร จึงมีแผนพัฒนาสินค้าจนสำเร็จออกมาเป็น SUZUKO ในปี 2020

อิคุระฟองโตคุณภาพเยี่ยมจากการคัดเลือกของชาวประมง ได้รับการปรุงรสชาติโดยเชฟมิชลินสามดาวจากเกียวโต วงกลมสีแสดแทนอิคุระ ดูเหมือนพระอาทิตย์ยามพ้นขอบฟ้าในเวลาย่ำรุ่งยังไงยังงั้น

夜明け市場

ทั้งสีสันทั้งความเงาดูสวยอย่างกับอัญมณี แค่เห็นก็ชวนน้ำลายสอขึ้นมาทันที ตอนที่ไข่ปลาแต่ละฟองแตก จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วปาก

ตอนนี้ SUZUKO ถูกใช้เป็นสินค้าตอบแทนสำหรับระบบภาษีสนับสนุนท้องถิ่นฟุรุซาโตะโนเซเท่านั้น จากนี้มีแผนจะขยายช่องทางจำหน่ายอื่นเพื่อให้ทุกคนได้ลิ้มลองมากขึ้น

จุดไฟส่องสว่างให้กับเมืองที่มืดมน

夜明け市場

ในอดีตที่นี่เคยเต็มไปด้วยร้านสแน็กนั่งดื่ม สมัยเด็กซุซุกิซังมักจะได้ยินผู้ใหญ่บอกว่าอย่ามาแถวนี้เพราะมันอันตราย แต่นานวันเข้าความครึกครื้นเหล่านั้นได้หายไป หลงเหลือไว้เพียงห้องร้างและร้านสแน็กสองสามร้าน

"ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ ที่นี่เงียบเหงามากครับ" ซุซุกิซังเล่า

หลังจากภัยพิบัติ กลุ่มของซุซุกิซังตัดสินใจว่าควรจะสร้างถนนรวมร้านอาหารให้ผู้คนได้มีที่มารวมตัวกัน ระหว่างซอกซอนไปตามซอกซอยเพื่อหาทำเลก็ได้กลับมาพบกับที่นี่โดยบังเอิญ และกลายมาเป็นโยอาเกะอิจิบะในปัจจุบัน

夜明け市場

ตอนที่เริ่มเปิดทำการมีร้านเปิดแค่ 2 ร้านเท่านั้น แต่ไม่นานเจ้าของร้านอื่นๆ ที่ได้ยินข่าวและเข้าใจถึงความตั้งใจของโครงการนี้ก็ค่อยๆ มารวมตัวกัน "เหมือนดวงไฟค่อยๆ ติดขึ้นมาทีละดวงทีละดวง จนทำให้เมืองที่มืดมนดูสว่างไสวขึ้นมาเลยครับ" ซุซุกิซังกล่าว

"ตอนที่เราเริ่มโครงการ เราหวังกันไว้ว่า 10 ปีให้หลัง เราจะต้องทำให้ที่นี่มีเสน่ห์มากกว่าก่อนเกิดภัยพิบัติให้ได้ มาถึงตอนนี้เรารู้สึกว่ายังมีอะไรที่ต้องทำเหลืออยู่อีกเยอะเลย หนึ่งในนั้นก็คือไม่ใช่แค่ที่โยอาเกะอิจิบะ แต่เราอยากเพิ่มชีวิตชีวาให้กับฮามะโดริทั้งพื้นที่เลยครับ"

ส่งตรงความอร่อยของเมืองนามิเอะสู่ทั่วญี่ปุ่น

เชื่อว่าหลายคนคงมีอาหารของบ้านเกิดที่รสชาติคุ้นปากไม่เคยลืม สำหรับเมืองนามิเอะก็มีนามิเอะยากิโซบะ บะหมี่ยากิโซบะเส้นหนาใหญ่กว่าปกติถึง 3 เท่าเป็นของอร่อยประจำถิ่น

道の駅なみえ

วัตถุดิบมีแค่ 3 อย่างเท่านั้นคือ เส้น ถั่วงอก และหมูสามชั้น เส้นหนานุ่มกับถั่วงอกกรุบกรอบ ผัดมาด้วยซอสรสเข้มกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศเข้ากันอย่างลงตัว

道の駅なみえ

เราได้มาพบเพื่อพูดคุยกับคุณซุซุกิ อากิโยชิ จากอาซาฮิยะ โรงงานผู้ผลิตเส้นบะหมี่สำหรับนามิเอะยากิโซบะที่ได้รับการรับรองเพียงแห่งเดียวของเมือง

"สำหรับคนที่เติบโตมาในเมืองนามิเอะ นามิเอะยากิโซบะถือเป็นรสชาติที่คุ้นเคยมากครับ เพราะเมนูนี้มักจะถูกเสิร์ฟเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมกับมัธยมต้นด้วย" ซุซุกิซังเองก็เกิดที่เมืองนามิเอะ เมื่อไหร่ที่ได้กินนามิเอะโซบะก็จะรู้สึกเหมือนได้กลับมายังบ้านเกิดที่คุ้นเคยเสมอ

พอเป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิธีอร่อยไปกับนามิเอะโซบะก็คือการโรยพริกป่นอิจิมิ แล้วกินประหนึ่งเป็นกับแกล้มคู่กับเครื่องดื่มเย็นๆ

道の駅なみえ

พริกป่นอิจิมิช่วยเพิ่มความเผ็ดซาบซ่านให้กับรสหวานของซอส เข้ากับเครื่องดื่มได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย

มีแฟนๆ ผู้ชื่นชอบนามิเอะยากิโซบะอยู่ทั่วประเทศ ถึงขนาดมีการจัดงานสังสรรค์ออนไลน์ของกลุ่มแฟนคลับเมื่อเดือนตุลาคม 2020 เลยทีเดียว พวกเราก็ได้ชิมกันมาแล้ว รสชาติเข้มข้นลองแล้วจะติดใจ!

ลิ้มรสความอร่อยของท้องถิ่นที่ จุดพักรถนามิเอะ

道の駅なみえ

นามิเอะยากิโซบะมีขายแบบเป็นแพ็กให้ซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านของฝากทั่วจังหวัดฟุกุชิมะ แต่ถ้าอยากกินแบบของจริงถึงถิ่นขอให้แวะมาที่จุดพักรถนามิเอะ (Michinoeki Namie)

ฟู้ดคอร์ทด้านในมีร้านอาหารและร้านขนมอยู่หลายร้าน อีกร้านที่อยากแนะนำคือ Fukushima Fruits Lab มีเครื่องดื่มและพาร์เฟ่ต์ที่ใช้ผลไม้ของฟุกุชิมะเป็นวัตถุดิบ

道の駅なみえ

เมนูเด่นของร้านที่อยากให้ลองคือสมูตตี้หอมใหญ่นามิเอะ (なみえ玉ねぎスムージー) ราคารวมภาษี 500 เยน และพาร์เฟ่ต์นามิเอะโนะโซระ (パフェなみえの空) ราคารวมภาษี 750 เยน

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะย้อนกลับไปอ่านประโยคข้างบนซ้ำอีกครั้ง ขอยืนยันว่าสมูตตี้หอมใหญ่นามิเอะนี้ทางร้านใส่หอมใหญ่มาปั่นผสมกับผลไม้อื่นจริงๆ ดูดไปช่วงแรกจะยังไม่รู้สึก แต่สักพักจะได้กลิ่นหอมของหอมใหญ่ลอยขึ้นจมูก บางคำก็จะมีเนื้อหัวหอมกรุบๆ ให้เคี้ยวด้วย

ส่วนพาร์เฟ่ต์หน้าตาน่ารักเหมือนจับเอาก้อนเมฆมาไว้ในถ้วยนี้ก็มาจากชื่อที่แปลว่าท้องฟ้าของนามิเอะ ซอสผลไม้รสเปรี้ยวหวานชื่นใจทำมาจากเนื้อผลไม้หลากชนิดเช่น แอปเปิ้ล สตรอเบอร์รี่ กีวี่ ส้ม และบลูเบอร์รี่ ครีมสีขาวทำมาจากโยเกิร์ต กินได้หมดถ้วยแบบไม่เลี่ยนเลย

道の駅なみえ

จุดพักรถนามิเอะ เปิดทำการเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 นอกจากฟู้ดคอร์ทก็มีร้านขนมปัง และร้านของฝากที่มีของฝากสารพัดชนิดและผลิตผลทางการเกษตรของเมือง

ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในสถานที่เผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวและทำหน้าที่ประหนึ่งสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูเมืองหลังภัยพิบัติ เพื่อนำความครึกครื้นกลับมาสู่เมืองนามิเอะ

道の駅なみえ

ร้านขนมปังโฮโนกะ (ほのか) ด้านในมีขายขนมปังสอดไส้นามิเอะยากิโซบะ รสหวานของขนมปังเข้ากับยากิโซบะรสเข้มข้น แถมมีพริกอิจิมิเป็นซองมาให้ลองเปลี่ยนรสชาติระหว่างกินไปด้วย ขนมปังมีให้เลือก 2 ขนาด ขนาดใหญ่ราคา 300 เยน ขนาดเล็กราคา 180 เยน

สด ถูก อร่อย อาหารทะเลจากตลาดเพื่อท้องถิ่น ฮามะโนะเอคิ มัตสึคาวะอุระ

"ความสดคือหัวใจของอาหารทะเล ที่นี่อยู่ห่างจากสะพานปลาแค่ 100 เมตร เรียกว่าจับขึ้นท่าปุ๊บก็ส่งตรงมาขึ้นเขียงได้ปั๊บ"

くぁせっと

คุณโทโคโยดะ ทาคาชิ ผู้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการของฮามะโนะเอคิ มัตสึคาวะอุระ (Hamanoeki Matsukawaura) ร้านจำหน่ายผลิตผลท้องถิ่นริมทะเลในเมืองโซมะบอกกับเรา

อันที่จริงโทโคโยดะซังเป็นคนจังหวัดชิบะ หลังจากเกิดภัยพิบัติก็ได้เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างฟุกุชิมะกับชิบะ จนในที่สุดก็ตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่เลยในปี 2015

浜の駅松川浦

เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์ชุมชนที่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมาใช้งานกันและมีร้านขายตรงอาหารทะเลจากสะพานปลาที่อยู่ติดกันด้วย

ทั้งหมดนั้นถูกคลื่นสึนามิพัดทำลายราบในชั่ววัน หลังจาก 5 ปีของการพื้นฟูพื้นที่ ฮามะโนะเอคิ มัตสึคาวะอุระก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวมตัวสำหรับผู้คนอีกครั้งหนึ่ง

浜の駅松川浦

"พอคนจากต่างที่ได้มาเห็นคนท้องถิ่นกินอาหารท้องถิ่นอย่างเอร็ดอร่อย พวกเขาก็ต้องรู้สึกอยากลองกินขึ้นมาบ้างแน่นอน"

โทโคโยดะซังเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่เขาตั้งใจทำที่สุดคือการทุ่มเทหาปลาสดๆ มาให้คนท้องถิ่นได้ซื้อ ผลก็คือหลังจากเปิดทำการในเดือนตุลาคม ปี 2020 ผ่านมาแค่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้นก็มีคนนอกพื้นที่แวะเวียนมาหาซื้ออาหารทะเลกันมากมาย บางคนอาศัยอยู่ห่างออกไปเป็น 100 กิโลเมตรก็ยังอุตส่าห์มา

ลิ้มรสปลาสดจากท้องถิ่นที่ร้านอาหาร QUASETTO

浜の駅松川浦

เราสามารถมานั่งกินอาหารทะเลสดๆ ที่เพิ่งขึ้นท่ากันได้ที่ร้านอาหาร QUASETTO ด้านในสุดของฮามะโนะเอคิ มัตสึคาวะอุระ

浜の駅松川浦

ข้าวหน้าปลาดิบประจำฤดู ครั้งนี้มีปลาฮิราเมะและซุซุกิ

เมนูที่ผู้จัดการร้านแนะนำมาคือ ข้าวหน้าปลาดิบประจำฤดู (地魚丼) ราคารวมภาษี 900 เยน ข้ามสวยมาพร้อมปลาดิบ 2 ชนิด โดยจะเลือกจากปลาที่จับได้ในแต่ละวันแต่ละฤดู มีวิธีทานให้ได้อร่อยถึง 3 รสชาติ วิธีแรกให้ลองจิ้มปลาดิบกับซอสโชยุที่ผสมวาซาบิกันก่อน

くぁせっと

ถัดไป ตรงโต๊ะริมหน้าต่างจะมีเตรียมซอสสำหรับข้าวหน้าปลาดิบ (漬け丼のタレ) และงาคั่ว (いりごま) ไว้ให้ ราดซอสแล้วโรยงาลงในชามเล็กน้อย จะได้เปลี่ยนจากรสเค็มของโชยุมาเป็นรสหวานเข้มข้นหอมกลิ่นงาแทน

くぁせっと

สุดท้ายให้เลือกราดน้ำซุปแบบใดแบบหนึ่งจากที่เตรียมไว้ให้ 2 รสชาติ เพื่อกินแบบข้าวต้มโอฉะสึเกะ กลิ่นหอมและรสชาติอ่อนๆ ของซุปทำให้ไม่เลี่ยนแถมคล่องคอจนเผลอแป๊บเดียวก็กินจนหมดชาม

ซุปมิโซะในถ้วยสีแดงนี้ทางร้านจะให้ถ้วยเปล่ามา เราสามารถไปเลือกตักได้จากหม้อซุป 2 หม้อหน้าเคาน์เตอร์รับอาหาร

くぁせっと

ปลาดิบซาชิมิ ปลานึ่ง ปลาทอด สามความอร่อยในเซ็ตเดียวกับเมนูสุดไฮโซ ชุดปลาคาเรสามชนิด (旬のカレイ三種御前) ราคารวมภาษี 1,800 เยน เมนูนี้มีจำนวนจำกัดเพียงวันละ 5 ชุดเท่านั้น ถ้าอยากลองขอแนะนำให้รีบมาตั้งแต่ร้านเปิด

สถานที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภค

くぁせっと

แต่ก่อนชาวประมงในเมืองโซมะแทบไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าใครเป็นคนซื้อปลาที่ตัวเองจับมา แต่เหตุภัยพิบัติทำให้การประมงบริเวณนี้ถูกจำกัด ชาวประมงจึงพยายามใช้เวลาในการสื่อสารกับผู้บริโภคมากขึ้น นานวันเข้าเมื่อได้เห็นการตอบรับจากผู้คนโดยตรง ก็ทำให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่าของงานที่ตนกำลังทำ

โทโคโยดะซังบอกทิ้งท้ายว่า "จากนี้ไป ผมอยากทำให้ที่นี่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ได้"

ชาวประมงออกแรงจับปลา ส่วนลูกค้าก็กินอย่างเอร็ดอร่อย ต่างคนต่างสนับสนุนกันและกันในแบบของตน นี่อาจจะเป็นอะไรที่เยี่ยมกว่าปลารสยอดไหนๆ เลยก็ได้

ก้าวต่อไปของการฟื้นฟู

หลังผ่านการสูญเสียไปมากมาย ปัจจุบันฟุกุชิมะยังอยู่ระหว่างการพยายามฟื้นฟูตั้งตัวใหม่ การมาเยือนฟุกุชิมะในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นภาพของเหล่าผู้คนที่ค้นพบเสน่ห์ของฟุกุชิมะอีกครั้ง และพยายามที่จะนำเสนอเสน่ห์เหล่านั้นสู่สายตาผู้คนภายนอก

ปลายทางของการฟื้นฟูในครั้งนี้ไม่ใช่การทำให้กลับไปใกล้เคียงสภาพเดิม แต่เป้าหมายที่พวกเขากำลังมุ่งไปคือ "ทำให้เสน่ห์ของฟุกุชิมะเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าก่อนภัยพิบัติให้ได้"

Photos by TeiChayangkul
In cooperation with Yoake Ichiba, Michi no Eki : Namie, Hama no Eki Matsukawaura
Sponsored by Ministry of Economy, Trade and Industry

บทความโดย

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง