ตามรอย "โจบังโมโนะ" แบรนด์ปลาทะเลรสเลิศของฟุกุชิมะ! (Fukushima)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

เมืองโซมะทางเหนือของฮามาโดริในจังหวัดฟุกุชิมะเป็นเมืองท่าแหล่งจับปลา "โจบังโมโนะ" แสนอร่อย อะไรคือกระบวนการและเคล็ดลับความอร่อยของปลาจากฟุกุชิมะกันนะ? ในครั้งนี้เราจะไปเยือนท่าเรือประมงตรงอ่าวมัตสึคาวะอุระในเมืองโซมะแห่งนี้กัน

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

"ปลาจากฟุกุชิมะ" อาหารชั้นเลิศที่โดดเด่นทั้งด้านรสชาติ หน้าตา และรสสัมผัส

福島

หลังจากที่ฝ่ายบรรณาธิการของ MATCHA ได้ยินมาว่าจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) มีปลาทะเลแสนอร่อยให้เลือกทานได้อย่างจุใจก็ไม่รอช้า รีบมุ่งหน้ามาฟุกุชิมะในทันทีเลย

ที่นี่คือท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (Matsukawaura fishing port) ตั้งอยู่ในเขตฮารากามะ เมืองโซมะ ทางเหนือของบริเวณฮามาโดริในจังหวัดฟุกุชิมะ

福島

ทะเลในแถบนี้เป็นจุดบรรจบกันของกระแสน้ำคุโระชิโอะและโอยะชิโอะ (*1) จึงเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารปลาเลยมีปลาชุกชุม ทำให้ตรงนี้ป็นเขตที่เหมาะกับการทำประมงมาก

ปลาทะเลที่จับได้ตลอดปีมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นปลาแองเกลอร์ ปลาฮิราเมะ ปลาคาเร (ปลาเนื้อขาวชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาลิ้นหมาตาข้างขวา) ปลาโคนาโกะ หมึกยักษ์ หอยเม่น และปูหิมะซุไว

เนื้อเยอะ เกล็ดเงางาม และความสด คุณภาพอันยอดเยี่ยมของปลาทะเลที่นี่เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในชื่อ "โจบังโมโนะ"

*1 : คุโระชิโอะและโอยะชิโอะ ... คุโระชิโอะ คือ กระแสน้ำอุ่นที่ไหลจากทิศใต้ของหมู่เกาะญี่ปุ่นขึ้นมายังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนโอยะชิโอะ คือ กระแสน้ำเย็นที่ไหลจากทิศเหนือของหมู่เกาะญี่ปุ่นลงมายังมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณที่กระแสน้ำทั้งสองมาบรรจบกันเป็นเขตที่มีปลาชุกชุมเหมาะกับการทำประมง

福島

"เซ็ตข้าวหน้าหอยปีกนกพร้อมปลาย่าง" ของร้านอาซาฮิเท (ราคาไม่รวมภาษี 1,574 เยน)

พอลองแวะไปที่ร้านอาหารอาซาฮิเท (Asahitei) แถวสะพานปลาก็ได้พบกับเมนูอาหารที่ใช้ปลาจากทะเลแถวเมืองโซมะแบบจัดเต็ม

ปลาคาเรย่าง (ซ้ายบน) และซุปหอยลาย (ขวาล่าง) ปลาคาเรตัวหนาย่างไฟจนเนื้อฟูกับรสเค็มนิดๆ กำลังดี หอยลายก็ตัวใหญ่กว่าปกติที่เคยทานเยอะเลย

ส่วนข้าวหน้าหอยปีกนกทางซ้ายล่างก็อร่อยไม่แพ้กัน เนื้อด้านบนคือหอยสองฝาที่ชื่อหอยปีกนก ส่วนข้าวด้านล่างก็คลุกเคล้าด้วยซุปดาชิที่ทำจากหอยปีกนกเหมือนกัน นี่เป็นเมนูดังของเมืองโซมะเลยนะ

ยิ่งเคี้ยวไปเท่าไหร่ กลิ่นและรสชาติอร่อยๆ ของอาหารทะเลก็อบอวลไปทั่วทั้งปากเท่านั้น อร่อยมากจริงๆ

อุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะที่เน้นความอร่อยและความปลอดภัย

福島

ก่อนจะมาเป็นอาหารจานอร่อยให้เราได้ทาน ปลาและอาหารทะเลทั้งหลายถูกจับมาจากไหน มีที่มายังไง ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้างนะ

เรื่องแบบนี้สิบปากว่าก็ไม่เท่าตาเห็น เราเลยขอไปพบกับเหล่าชาวประมงในโซมะเสียเลย

ออกเรือตอนกลางดึก

福島

ที่ท่าเรือประมงเวลาตี 1 ครึ่ง รถค่อยๆ ทยอยขับมาจอดคันแล้วคันเล่า

福島

แล้วแสงสว่างบนเรือก็สว่างขึ้นพร้อมกัน

อากาศในช่วงปลายเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 1 องศาเท่านั้น ชาวประมงทั้งหลายต่างตั้งหน้าตั้งตาจัดเตรียมเรือกันท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นและลมที่พัดแรงจนมือเท้าแทบจะชาไปหมด การออกหาปลากำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

การเตรียมตัวเป็นไปอย่างเงียบๆ แทบไม่มีเสียงพูดคุยให้ได้ยินเลย ถือเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความคาดหวังและความกดดันก่อนออกหาปลาเลยก็ว่าได้

福島

ในตอนนี้อุตสาหกรรมประมงชายฝั่งในจังหวัดฟุกุชิมะ รวมถึงท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระแห่งนี้จะมีการจับปลาทดสอบด้วย

หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูฟุกุชิมะไดอิจิจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2011 ก็เกิดกระบวนการตรวจสอบสารกัมมันตรังสีจากปลานอกชายฝั่งทะเลในจังหวัดฟุกุชิมะขึ้นทันที เริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาคัดเลือกหาสายพันธุ์ปลาที่ปลอดภัย เพื่อจะให้สามารถจับมาขายได้ และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงในฟุกุชิมะอีกครั้ง

ในปัจจุบัน (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2019) ปลาที่ถูกส่งออกจำหน่ายทั้งหมดล้วนได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยตามขั้นตอนแล้ว เดิมการทำประมงในช่วงก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะออกทะเลหาปลาถึงสัปดาห์ละ 5 วัน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะลดความถี่ลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 - 3 วันเท่านั้น แต่กระบวนการนี้ก็เป็นการเตรียมตัวเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะได้กลับมาดำเนินต่ออย่างเต็มตัว

福島

เมื่อถึงตี 2 ก็ได้เวลาออกเรือแล้ว เรือประมงค่อยๆ แล่นออกไปยังท้องทะเลอันกว้างใหญ่ยามค่ำคืนทีละลำท่ามกลางเสียงเครื่องยนต์ที่ดังก้อง

ที่เห็นในภาพเป็นเรือแบบโซโกะฮิคิอามิเกียว หรือเรืออวนลาก (*2) ที่มุ่งหน้าไปยังเขตประมงที่ห่างจากชายฝั่งราว 20 - 60 กิโลเมตรเพื่อจับปลาอยู่หลายชั่วโมงก่อนกลับมายังท่าเรือ รวมต้องใช้เวลาอยู่บนเรือกลางท้องทะเลนานถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว

*2 : โซโกะฮิคิอามิเกียว ... เรืออวนลาก จับปลาโดยการหว่านอวนลงไปยังก้นทะเลแล้วลากขึ้นมา

ร่วมกันลำเลียงปลาลงจากเรือทั้งครอบครัว

福島

เวลา 10:30 ที่ริมท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) มีกลุ่มผู้หญิงมายืนรอการกลับมาของเรืออยู่ข้างสะพานปลา

ในเมืองโซมะ เมื่อสามีกลับมาจากการออกเรือหาปลา เหล่าภรรยาก็จะมาช่วยรับงานต่อกันเป็นปกติ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างหนึ่งเลย

福島
福島

ปลาที่จับมาถูกลำเลียงลงจากเรืออย่างเบามือเพื่อไม่ให้ปลาช้ำจนสูญเสียความสดและถูกส่งต่อไปยังตลาดทันที

福島
福島

ปลาจะถูกคัดแยกตามชนิดและขนาด

ตลาดบางแห่งก็วางปลาที่จับมาได้บนพื้นทั้งอย่างนั้น แต่สำหรับตลาดของท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) แห่งนี้จะใส่ปลาเอาไว้ในตะกร้าเพื่อสุขอนามัยที่ดี

การประมูลปลาสุดคึกคัก

福島

ตลาดที่เคยเงียบสงบกลับมีบรรยากาศครึกครื้นขึ้นมาในทันที

เหล่าพ่อค้าคนกลางและผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารต่างเดินทางมารวมตัวกันเพื่อเริ่มการประมูลปลา

福島

หากพ่อค้าคนกลางเจอปลาที่ถูกใจก็จะเขียนราคาลงบนด้านหลังป้ายหมายเลขของตัวเอง แล้วใส่ไว้ในตะกร้า

福島

เมื่อได้รับสัญญาณให้เริ่มนับผล ป้ายจะถูกหงายขึ้นเพื่อดูราคาที่ทุกคนเสนอ ผู้ที่เสนอราคาสูงที่สุดจะได้สิทธิ์ในการซื้อปลาในตะกร้านั้นไป ปลาที่ได้รับความนิยมจะมีคนเสนอราคาพร้อมกันทีละหลายเจ้าเลย ดูได้จากจำนวนป้าย

ลำเลียงปลาลงจากเรือ คัดแยก และจัดประมูล ขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะจบตั้งแต่ช่วงเช้าในขณะที่ปลายังคงสดอยู่

หลังจากนั้นปลาก็จะถูกส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลาง นำไปวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าทั่วไป จนมาถึงผู้บริโภคอย่างเรา

การตรวจสอบอันเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย

福島

ท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) มีอีกหนึ่งขั้นตอนที่แตกต่างออกไปจากท่าเรือประมงของจังหวัดอื่น นั่นก็คือการตรวจค่ารังสี

ตลาดขายตรงทุกแห่งในจังหวัดฟุกุชิมะจะมีขั้นตอนการตรวจรังสีจากผลิตภัณฑ์ทางทะเลทั้งหมดที่จับมาได้ในแต่ละวันเพื่อความปลอดภัย

หลังจากปี 2012 ที่เริ่มกระบวนการจับปลาทดสอบเป็นต้นมา ผลการตรวจสอบทั้งหมดจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสมาคมสหกรณ์การประมงจังหวัดฟุกุชิมะ

福島

การตรวจนี้จัดขึ้นภายในห้องกระจกของอาคารที่ติดกับตลาด ทุกคนสามารถเห็นกระบวนการตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

ปลาจะถูกบดเป็นชิ้นละเอียดที่ห้องด้านหน้า ก่อนถูกส่งต่อไปตรวจสอบด้วยเครื่องจักรที่ห้องด้านในสุด

ในปัจจุบันค่ามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารทั่วไปตามกฎหมายญี่ปุ่นคือต้องมีธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมต่ำกว่า 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

นับว่าเป็นค่ามาตรฐานที่เข้มงวดมากเมื่อเปรียบเทียบกับทาง EU (1,250 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม) และอเมริกา (1,200 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม)

สำหรับสมาคมสหกรณ์การประมงจังหวัดฟุกุชิมะยิ่งกำหนดค่ามาตรฐานที่เข้มงวดเข้าไปใหญ่ถึง 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว หากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ทางทะเลมีค่าสูงกว่ามาตรฐานจะถูกระงับการส่งจำหน่ายทันที

พื้นที่ ค่ามาตรฐานของธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมในอาหารทั่วไป
EU 1,250 เบคเคอเรล / กิโลกรัม
ประเทศสหรัฐอเมริกา 1,200 เบคเคอเรล / กิโลกรัม
ประเทศญี่ปุ่น 100 เบคเคอเรล / กิโลกรัม
จังหวัดฟุกุชิมะ 50 เบคเคอเรล / กิโลกรัม

นอกจากนี้ หากจับปลาที่มีค่าสูงเกิน 25 เบคเคอเรล / กิโลกรัมได้ภายในจังหวัดฟุกุชิมะก็จะต้องนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งด้วย

ถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบจริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ทางทะเลมากกว่า 99% จะไม่พบธาตุกัมมันตรังสีซีเซียม แต่ปริมาณการจับปลาก็ยังคงลดลงกว่าช่วงก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นอย่างมาก เพราะยังมีกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่

การต่อสู้กับความเสียหายจากกระแสข่าวลือด้านลบ

福島

คุณทาคาฮาชิ โทรุ เจ้าของเรืออวนลากในท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) เล่าให้ฟังว่า "เพียงแค่มีข่าวไม่ดีออกมา 1 เรื่อง สิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมาอย่างมุ่งมั่นก็พังทลายลงไม่เหลือชิ้นดี แล้วเรื่องราวก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ"

"ถึงแม้ว่าสายพันธุ์และปริมาณปลาที่จับได้จะเพิ่มมากขึ้น แต่พอมีข่าวเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีและน้ำปนเปื้อนแพร่ออกไป เราก็ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง"

"เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ผ่านมามากกว่า 7 ปีแล้ว แต่เราก็ยังคงได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวด้านลบต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน"

福島

คุณทาคาฮาชิเป็นเหมือนผู้นำของท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) เขาเกิดที่เมืองโซมะและประกอบอาชีพเป็นชาวประมงมาตลอดตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึงตอนนี้ก็ร่วม 50 ปีแล้ว คุณทาคาฮาชิรู้สึกเสียใจกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างมาก

"หากมีปลาชนิดเดียวกันที่จับมาได้จากแหล่งอื่นจังหวัดอื่นก็จะโดนเปรียบเทียบทันที พอถึงเวลาเลือกผู้คนก็ย่อมเลือกปลาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ของฟุกุชิมะ"

"ถึงแม้ว่าจะพยายามแสดงค่าตัวเลขต่างๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของเราปลอดภัยขนาดไหน แต่ก็มักจะโดนปฏิเสธเพียงเพราะว่ามาจากฟุกุชิมะ"

"ทุกคนพูดถึงแต่เรื่องการบูรณะฟื้นฟู แต่สิ่งที่พวกเราทำอยู่มันเป็นขั้นตอนก่อนหน้านั้นซะอีก นี่คือ 'การทำให้ฟื้นคืนชีพ' หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมประมงของโซมะจะต้องจบลงแน่นอน ผมรู้สึกแบบนั้น"

ส่งต่อปลาทะเลแสนอร่อยสู่รุ่นต่อไป

福島

คุณทาคาฮาชิกล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า "แต่สถานการณ์ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆ เพราะว่าปริมาณของปลาที่จับได้จากอวนก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผมคิดว่านี่ก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน"

สายพันธุ์ของปลาที่ได้รับการรับรองเรื่องความปลอดภัยและสามารถส่งขายได้เริ่มมากขึ้น ในช่วงต้นปี 2012 มีปลาแค่ 3 ชนิดเท่านั้น แต่ในตอนนี้เราสามารถส่งจำหน่ายปลาได้เกือบทุกชนิดแล้ว

ปริมาณการจับปลาในโซมะที่ลดลงเหลือแค่ 160 ตันหลังช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฟื้นตัวกลับมาเป็น 3,000 ตันในปี 2017 รวมถึงราคาจำหน่ายปลาเองก็ค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้กับราคามาตรฐานช่วงก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวทีละนิดแล้ว

福島

เมียวจินมารุ เรือประมงของคุณทาคาฮาชิ

ท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) เริ่มกลับมาเรียงรายไปด้วยเรือประมงเหมือนแต่ก่อน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เมียวจินมารุ เรือประมงของคุณทาคาฮาชินั่นเอง

คุณทาคาฮาชิได้สูญเสียเรือประมงที่มีไปจากภัยพิบัติสึนามิหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2011 เรือเมียวจินมารุในปัจจุบันเป็นเรือที่สร้างขึ้นใหม่จากเงินช่วยเหลือของรัฐบาล

โดยตอนนี้ยกให้กับลูกชายทั้ง 2 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

福島

จากซ้าย คุณฮิโรทากะ ลูกชายคนรอง คุณทาคาฮาชิ และ คุณทาคุมิ ลูกชายคนโต

คุณทาคาฮาชิตัดสินใจถอยออกมาจากเส้นทางการเป็นชาวประมงกว่า 50 ปี

"ผมต้องเริ่มปูทางให้กับเด็กรุ่นใหม่แล้วล่ะครับ"

เพราะว่าท้องทะเลของโซมะไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง จึงต้องตัดสินใจมอบหมายให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยปกป้องท้องทะเลของโซมะต่อไป

ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคุณทาคาฮาชิ ลูกชายทั้งสอง ชาวประมงในโซมะและทั่วทั้งจังหวัดฟุกุชิมะต่างตัดสินใจออกทะเลด้วยความรักความมุ่งมั่นกันทั้งนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของโซมะกลับมารุ่งเรืองเหมือนในอดีต นี่คือการเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่

เพียงได้ลองสักครั้งจะต้องลืมไม่ลง

福島

ก่อนอื่นก็อยากให้ทุกคนได้ลองทานอาหารทะเลของที่นี่กันดู เพียงแค่ลิ้มลองก็จะรู้ซึ้งถึงความอร่อยได้ทันที

คุณทาจิยะ คันจิ ประธานกรรมการบริหารสหกรณ์การประมงโซมะฟุตาบะกล่าวว่า "ปลาจากโซมะเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศที่โดดเด่นเรื่องความเงางามและเนื้อหนา จนได้รับชื่อเรียกว่าโจบังโมโนะมาแล้ว"

แต่เดิมปลาจากโซมะเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นในเรื่องคุณภาพอันยอดเยี่ยม ถึงขนาดว่าถูกนำไปวางขายในทำเลทองของตลาดสึคิจิมาแล้ว เรื่องรสชาติและความปลอดภัยนี่หายห่วง เหลือแค่รอให้ทุกคนมาลองทานเท่านั้น

คุณทาจิยะพูดด้วยความมั่นใจว่า "ความอร่อยของปลาจากโซมะ ถ้าได้ลองชิมสักครั้งรับรองลืมไม่ลงแน่นอน"

ไปลิ้มรสความอร่อยของเมืองโซมะกัน!

福島

ถ้ามาแถวท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ (เขตฮารากามะ) จะมีร้านอาหารที่สามารถหาทานปลาจากโซมะได้มากมาย อย่างร้านอาซาฮิเทที่ได้แนะนำไปในช่วงต้นบทความก็เป็นหนึ่งในนั้น

ว่ากันว่ามีลูกค้าประจำลงทุนเดินทางไกลมาทานซ้ำหลายครั้งเพราะติดใจในความอร่อยกันมากมายเลยครับ

福島

ยังไงก็ขอเชิญชวนให้ทุกคนแวะมาลิ้มลอง "โจบังโมโนะ" อาหารทะเลรสเลิศอันแสนภาคภูมิใจของชาวประมงในฟุกุชิมะกันให้ได้นะครับ

All photos by Shiho Kito
In cooperation with สหกรณ์การประมงโซมะฟุตาบะ, คุณทาคาฮาชิ โทรุ, ร้านอาหารอาซาฮิเท
Sponsored by Ministry of Economy, Trade and Industry

raw output

raw output

Written by

Avatar

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง