ไปรู้จักสาเกชั้นยอดและโรงผลิตสาเกรางวัลเหรียญทอง 6 ปีซ้อนที่ฟุกุชิมะ! (Fukushima)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
ไปรู้จักสาเกชั้นยอดและโรงผลิตสาเกรางวัลเหรียญทอง 6 ปีซ้อนที่ฟุกุชิมะ! (Fukushima)

รู้ไหมว่าจังหวัดฟุกุชิมะเป็นดินแดนแห่งสาเก! การันตีด้วยจำนวนโรงผลิตสาเกรางวัลเหรียญทองมากที่สุดในญี่ปุ่นถึง 6 ปีซ้อน! เราจะพาไปเยี่ยมชม 3 โรงสาเกอันโดดเด่น มีทั้งโรงสาเกเจ้าของเหรียญทอง 11 ปีซ้อน โรงสาเกผู้ผลิตสาเกหายาก และโรงสาเกที่เน้นความปลอดภัย

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :
MATCHA-PR

บทความโดย

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

เสน่ห์ของสาเกญี่ปุ่นจากฟุกุชิมะ จังหวัดที่มีโรงเหล้าเหรียญทองเยอะที่สุดถึง 6 ปีซ้อน!

福島日本酒

ในแต่ละปีจะมีการจัดงานประกวดสาเกญี่ปุ่นจากทั่วประเทศขึ้นหนึ่งครั้ง ชื่อว่า งานประกวดสุดยอดสาเกระดับประเทศ (Annual Japan Sake Awards)

โรงผลิตสาเกทั่วญี่ปุ่นกว่า 800 โรงจะนำสาเกญี่ปุ่นที่ตนภาคภูมิใจที่สุดมาส่งประกวดในงานที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี

สาเกซึ่งเป็นที่จับตามองในช่วงหลายปีมานี้คือสาเกญี่ปุ่นจากฟุกุชิมะ เพราะเป็นจังหวัดที่ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับประเทศมากที่สุดถึง 6 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2018 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลย

เพื่อค้นหาคำตอบว่าเหตุใดถึงได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง เราจึงไปเยี่ยมชมโรงผลิตสาเก 3 แห่งที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในปี 2018 และสิ่งที่ผู้ผลิตที่นั่นบอกกับเราก็เป็นคำพูดที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว!

"เป้าหมายไม่ใช่การทำสาเกที่โดดเด่นเป็นตัวชูโรง แต่เป็นสาเกตัวประกอบที่ไม่รบกวนรสชาติอาหารครับ"

ช่างเป็นคำพูดที่ถ่อมตัว แต่นี่ล่ะคือสาเกที่ครองใจผู้ที่ได้ดื่ม เรามาลองค้นหาเสน่ห์อันล้ำลึกของสาเกจากฟุกุชิมะกันดีกว่า

1. คกเค็นชุโซ (Kokkenshuzou) ในมินามิไอซุ (Minamiaizu)
ความเอาใจใส่ในการผลิตนำมาซึ่งเหรียญทอง 11 ปีซ้อน!

福島日本酒

เวลา 8:30 ยามเช้าอันหนาวเหน็บในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว ชายทั้งหลายกำลังสร้างสรรค์ผลงานภายใต้ไอน้ำสีขาวหนาทึบที่ลอยคลุ้ง

สถานที่ที่เรามาเยือนเป็นแห่งแรกคือโรงผลิตสาเก คกเค็นชุโซ (Kokken Shuzou) สาเก คกเค็น (Kokken) ซึ่งผลิตขึ้นที่นี่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดสุดยอดสาเกระดับประเทศต่อเนื่องกันถึง 11 ปี (2008 - 2018)

จะเรียกว่าเป็นโรงผลิตสาเกที่เป็นหน้าเป็นตาของฟุกุชิมะเลยก็ได้

ว่าแต่สาเกญี่ปุ่นนั้นมีวิธีการผลิตอย่างไร? คราวนี้เราได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้เข้าชม "ชุโซ" หรือก็คือโรงผลิตสาเกญี่ปุ่นด้วย มาดูวิธีการผลิตสาเกของคกเค็นชุโซกัน!

ใช้ข้าวที่ปลูกขึ้นเพื่อการหมักสาเก

福島日本酒

กระบวนการในวันแรกจะเริ่มตั้งแต่การนึ่งข้าว

福島日本酒

สาเกญี่ปุ่นเป็นเหล้าที่ผลิตจากข้าว แต่ไม่ได้ใช้ข้าวที่ทานกันตามปกติ จะใช้ข้าวเฉพาะที่เรียกว่า ซากาไม ซึ่งหมักขึ้นง่าย เหมาะกับการผลิตสาเก

福島日本酒

ข้าวที่นึ่งแล้วจะนำไปพักในเครื่องระบายความร้อนให้เย็นตัวลง จากนั้นจึงโรยเชื้อหมักโคจิ (*1) ลงไป อุณหภูมิของข้าวในขั้นตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะเย็นเกินไปหรือร้อนเกินไปไม่ได้

*1 : เชื้อหมักโคจิ ... จุลชีพชนิดหนึ่งที่ว่ากันมีเฉพาะในโลกแถบตะวันออกเท่านั้น นำมาใช้ในการหมักโชยุ มิโซะ และสาเกตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมการกินของชาวญี่ปุ่น

กระบวนการต้องวัดกันที่ความเร็ว!

福島日本酒

เมื่อกะอุณหภูมิได้พอเหมาะแล้ว ก็ตักข้าวใส่ถุงผ้าอย่างรวดเร็วแล้วรีบนำไปยังห้องหมักที่เรียกว่าโคจิมุโระทันที

จากนี้จะเป็นขั้นตอนในการทำให้เชื้อหมักโคจิเติบโตเพิ่มจำนวน ดังนั้นการรักษาอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปล่อยให้เชื้อโคจิเพิ่มจำนวนขึ้นในโคจิมุโระ 2-3 วันก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้

福島日本酒

อีกขั้นตอนหนึ่งที่ดำเนินการไปพร้อมกันคือการผลิตหัวเชื้อสาเก โดยนำยีสต์ จุลินทรีย์แลคติก โคจิ และน้ำใส่ลงในแทงก์ขนาดเล็กเพื่อให้เกิดการหมัก หัวเชื้อจะมีหน้าที่ทำให้การหมักในขั้นตอนต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่น

หมักไว้ 1 เดือนก็เป็นอันเสร็จ!

福島日本酒

ใกล้จะถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว! ซึ่งก็คือการนำหัวเชื้อจากขั้นตอนที่แล้ว ข้าวที่หมักไว้ โคจิ และน้ำ ไปใส่ในแทงก์ขนาดใหญ่แล้วปล่อยให้เกิดกระบวนการหมักบ่มขึ้น

หากใส่ทั้งหมดลงไปพร้อมกันทีเดียวการหมักจะเกิดขึ้นได้ยาก จึงมีเคล็ดลับว่าต้องแบ่งใส่เป็น 3 ส่วน ส่วนผสมในขั้นตอนนี้จะถูกเรียกว่าโมโรมิ (Moromi)

福島日本酒

ภายในโรงหมักตอนนี้ก็อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของสาเกแล้ว ระหว่างนั้นก็จะมีการมาคนเป็นครั้งคราวเพื่อปรับอุณหภูมิไปด้วย เป็นการบ่มเพื่อให้ได้สาเกรสดี

กระบวนนี้จะถูกปล่อยให้หมักอย่างช้าๆ ราว 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เมื่อคั้นโมโรมิออกมาก็จะได้เป็นสาเกญี่ปุ่น!

ถ้าน้ำรสชาติดี สาเกก็อร่อย

福島日本酒

โรงงานคกเค็นชุโซตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชื่อว่ามินามิไอซุของจังหวัดฟุกุชิมะ แถบนี้จะหนาวจัดและมีหิมะตกหนักในฤดูหนาว

คกเค็นชุโซใช้น้ำจากหิมะละลายในการผลิตสาเก

คุณโฮโซอิ โนบุฮิโระ ประธานบริษัทคกเค็นชุโซ บอกกับเราว่า "น้ำอ่อนเวลาดื่มจะให้สัมผัสนุ่มลิ้น พอเอามาใช้ทำสาเกก็ทำให้สาเกมีรสชาติกลมกล่อมครับ"

福島日本酒

คกเค็น เป็นสาเกคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นจากน้ำสะอาดในมินามิไอซุ

เมื่อลองชิม สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือกลิ่นหอมที่ลอยฟุ้งขึ้นจมูก จากนั้นก็เป็นรสสัมผัสละมุนลิ้นของน้ำจากหิมะละลาย ตามมาด้วยรสชาติสดชื่นที่กรุ่นอยู่ในปาก ก่อนจะจางหายไป

福島日本酒

คุณโฮโซอิ ประธานบริษัท ที่ด้านหน้าประตูทางเข้าโรงผลิตสาเก คกเค็นชุโซ

"สิ่งที่ผมอยากทำคือสาเกที่เหมือนกับ 'คัปปะเอบิเซ็น' น่ะครับ" คุณโฮโซอิกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

"คัปปะเอบิเซ็น" คือขนมยอดฮิตของญี่ปุ่นซึ่งมีสโลแกนว่า "หยุดไม่ได้ ยั้งไม่ไหว"

ดื่มเท่าไรก็ไม่พอ ดื่มเท่าไรก็ไม่เบื่อ

แม้แต่ในวันนี้ไอน้ำที่ก่อกำเนิดสาเกญี่ปุ่น "คกเค็น" ก็ยังคงลอยกรุ่นขึ้นจากโรงผลิตสาเก คกเค็นชุโซ

การเดินทาง : เดินจากสถานีไอซุทาจิมะ (Aizu-Tajima Station) รถไฟไอซุ (Aizu Railway) 5 นาที
*ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโรงผลิตสาเก แต่มีร้านค้าขายสาเกอยู่

location_on

บจก. โรงกลั่นเหล้าสาเกแห่งชาติ

4037 Kamimachiko, Tajima, Minamiaizu-cho, Minamiaizu-gun, ฟุกุชิมะ 967...

2. ชิเกะชุโซเท็น (Shike Shuzoten) ในอิวากิ (Iwaki)
สาเกท้องถิ่นน่าดื่มในอิวากิ

福島日本酒

สถานที่ถัดไปที่อยากแนะนำคือชิเกะชุโซเท็น (Shike Shuzoten) เป็นโรงผลิตสาเกหายาก มาตะเบ (Matabe) ซึ่งแทบไม่ปรากฏให้เห็นที่อื่นนอกจังหวัดฟุกุชิมะ

มาตะเบ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดสุดยอดสาเกระดับประเทศถึง 15 ครั้งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ และมีอัตราการบริโภคในแถบอิวากิอันเป็นที่ตั้งของโรงผลิตสูงถึง 95% เลยทีเดียว

เรียกได้ว่าเป็นสาเกที่ได้รับความชื่นชอบจากผู้คนท้องถิ่น จึงแทบไม่มีวางขายที่อื่นนอกจากในแถบอิวากิ แม้แต่ในจังหวัดฟุกุชิมะเองก็แทบหาไม่ได้เช่นกัน

กรรมวิธีการผลิตที่ไม่เคยเปลี่ยนของโรงผลิตสาเกเก่าแก่

福島日本酒

เมื่อมาถึงก็จะพบกับประตูรั้วที่ดูมั่นคงภูมิฐาน อาคารหลังนี้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นโรงผลิตสาเกมาตลอดร่วม 100 ปี

ชิเกะชุโซเท็นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชื่อว่าอิวากิของจังหวัดฟุกุชิมะ ที่อิวากินี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเลยมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างอบอุ่น ต่างจากแถบมินามิไอซุของคกเค็นชุโซที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านในและมีหิมะตกหนัก

ด้วยเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการผลิตสาเก นอกจากโรงผลิตสาเก ชิเกะชุโซเท็นแล้วเลยมีโรงผลิตสาเกอีกเพียง 2 แห่งเท่านั้น

福島日本酒

โรงผลิตสาเก ชิเกะชุโซเท็นก่อตั้งในปี 1845 ผลิตสาเกในอิวากิมานานกว่า 170 ปีแล้ว

ภายในโรงผลิตสาเกยังมีลูกรอกไม้ที่เคยใช้สำหรับยกของขึ้นไปบนชั้น 2 อยู่ เห็นแล้วยิ่งรู้สึกได้ถึงความเก่าแก่

福島日本酒

แถบอิวากิมีอุณหภูมิร้อนหนาวแตกต่างกันมาก จึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด

ช่วงปลายปีจนถึงฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงเวลาสำหรับการผลิตสาเก ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตสาเกที่เรียกกันว่าโทจิจะเดินทางมาจากจังหวัดอิวาเตะเพื่อพักอาศัยและทุ่มเทให้กับการผลิตสาเกอยู่ที่นี่ราวครึ่งปี

福島日本酒

ในวันที่เราเดินทางมาเก็บข้อมูล หัวเชื้อสาเกกำลังมีฟองผุดขึ้นมาราวกับมีชีวิต กลิ่นหอมราวกับกลิ่นผลไม้ของสาเกก็อบอวลไปทั่ว

สาเกมาตะเบ ของชิเกะชุโซมีจุดเด่นเรื่องรสชาติสดชื่น เพราะอิวากิตั้งอยู่ใกล้ทะเล ผู้คนที่นี่เลยชื่นชอบรสชาติสดชื่นที่เข้ากันกับอาหารทะเล

คุณชิเกะ ฮิซาโอะ ประธานบริษัทชิเกะชุโซเท็น บอกว่า "ถ้าใส่ลูกแพร์ที่เก็บเกี่ยวในอิวากิลงไปก็จะอร่อยแบบแซงเกรีย (ไวน์พันช์) ครับ"

พอลองดื่มดูก็พบว่ามีกลิ่นหอมแบบผลไม้แต่ก็ไม่หวานจนเกินไป ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่นมากๆ จนไม่อยากหยุดเลย

福島日本酒

ประกาศนียบัตรที่เรียงรายเต็มกำแพง

ทั้งที่อร่อยขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ขยายตลาดไปทั่วประเทศล่ะ?

ผมถามด้วยความสงสัย คุณชิเกะก็ยิ้มเฝื่อนพร้อมตอบว่า "ผมไม่ค่อยถนัดเรื่องแบบนั้นเท่าไหร่ครับ" ถึงจะเป็นอย่างนั้นแต่ความอร่อยของสาเกก็ทำให้มีแฟนๆ จากทั่วประเทศสั่งซื้อเข้ามาไม่ขาด รวมไปถึงเหล่านักแสดงชื่อดังด้วย

"ผมไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ผลิตสาเกอย่างอย่างเต็มที่ครับ" คุณชิเกะกล่าวไว้

มาตะเบ เป็นสาเกที่แทบหาซื้อจากที่อื่นไม่ได้นอกจากในแถบอิวากิ ถ้าได้ลองดื่มสักครั้งจะเข้าใจความรู้สึกของคนในท้องที่ที่อยากจะเก็บสาเกแสนอร่อยนี้ไว้ในเมืองแน่นอนครับ

ลองมาที่อิวากิเพื่อลิ้มรสกันให้ได้นะครับ

*โรงเหล้านี้ไม่มีหน้าร้าน ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม

location_on

(ชื่อ) โรงหมักสาเกชิเกะ

14 Nakadaira, Uchigotakasakamachi, เมือง Iwaki, จังหวัด Fukushima 973-...

3. วาตานาเบะชุโซฮนเท็น (Watanabe Shuzo Honten) ในโคริยามะ (Koriyama)
สาเกที่ดื่มได้ทุกวันได้อย่างสบายใจ

福島日本酒

สาเกญี่ปุ่นจากฟุกุชิมะนั้นสามารถดื่มได้อย่างไม่ต้องกังวล ผู้ที่สามารถยืนยันเรื่องนั้นได้คือคุณวาตานาเบะ ยาซุฮิโระ จากวาตานาเบะชุโซฮนเท็น (Watanabe Shuzo Honten)

ยืนยันความปลอดภัยได้ด้วยตัวเลข

福島日本酒

คุณวาตานาเบะจัดทำเอกสารขึ้นด้วยตัวเองและนำไปอธิบายให้กับเกษตรกร

ในปี 2011 ตอนที่เกิดภัยพิบัติขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ คุณวาตานาเบะทำงานให้กับสมาคมผู้ผลิตสาเกจังหวัดฟุกุชิมะ โดยรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการจัดหาข้าวสำหรับทำสาเกให้กับโรงผลิตสาเกแต่ละแห่ง

"ก่อนอื่นก็ต้องแนบตัวเลขเพื่อยืนยันถึงความปลอดภัย" โดยเริ่มการสำรวจโรงผลิตสาเก 3 แห่งในฟุกุชิมะทันที หลังจากนั้นราว 10 วันหลังเกิดเหตุจึงมีการรายงานว่าผลที่ได้เป็นตัวเลขที่ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

คุณวาตานาเบะเรียนเอกปฐพีวิทยาในระดับมหาวิทยาลัย จึงทราบถึงผลกระทบของสารกัมมันตรังสีที่มีต่อดินและพืชผลทางการเกษตรเป็นอย่างดี ทำให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด

福島日本酒

จากนั้นคุณวาตานาเบะก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตข้าวที่ปลอดภัยได้

สิ่งสำคัญในการผลิตสาเกญี่ปุ่นคือข้าว หลังเกิดภัยพิบัติ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฟุกุชิมะเกิดความกังวลเป็นอย่างมากว่าธาตุซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีจะติดมาในข้าวหรือไม่

ในตอนนั้น คุณวาตานาเบะสนใจประเด็นที่ว่าธาตุซีเซียมมีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับธาตุโพแทสเซียมที่ใช้ในปุ๋ย จึงค้นพบว่า "หากใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมก็จะสามารถยับยั้งการดูดซึมซีเซียมได้"

คุณวาตานาเบะจึงขอให้เกษตรกรในฟุกุชิมะใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม ข้าวที่ปลูกได้จึงไม่พบสารกัมมันตรังสีเกินค่ามาตรฐาน แน่นอนว่าในสาเกที่ผลิตจากข้าวเหล่านั้นก็ตรวจไม่พบเช่นกัน

ปัจจุบัน มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป (รวมถึงเหล้าสาเก) ที่ญี่ปุ่นได้กำหนดไว้คือต้องมีไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียมต่ำกว่า 100 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเข้มงวดมากเมื่อเทียบกับมาตรฐาน EU (1,250 เบคเคอเรล/กิโลกรัม) และมาตรฐานอเมริกา (1,200 เบคเคอเรล/กิโลกรัม)

แต่สาเกจากฟุกุชิมะได้กำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก เป็น 1 ใน 10 ของมาตรฐานความปลอดภัยที่ญี่ปุ่นกำหนด หรือก็คือ "10 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม" และนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยพบค่าที่สูงกว่าค่ามาตรฐานเลย

การผลิตสาเก "ที่ไม่ทำให้เมา"

福島日本酒

สาเกญี่ปุ่นที่คุณวาตานาเบะเป็นผู้ผลิตคือ ยูกิโคะมาจิ (Yuki Komachi) ซึ่งใช้ข้าวท้องถิ่นฟุกุชิมะมากกว่า 95%

福島日本酒

คุณวาตานาเบะบอกว่าการผลิตสาเกก็เหมือนการเลี้ยงดูเด็ก พอรู้ว่าอุณหภูมิในแทงก์ใส่โมโรมิลดลงต่ำ ต่อให้เป็นช่วงกลางดึกก็ต้องรีบตื่น วิ่งเอาผ้ามาพันเพื่อให้ความอบอุ่น

"ผมคิดว่าสาเกที่ผลิตขึ้นด้วยวิธีการแบบนี้มีจิตใจของผู้ผลิตอยู่ในนั้นด้วยครับ" คุณวาตานาเบะกล่าวเอาไว้

ยูกิโคะมาจิ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยความรักนั้น ดื่มเข้าไปเพียงคำเดียว ความอร่อยก็แทรกซึมไปทั่วทั้งร่าง เป็นเรื่องน่าแปลกที่ต่อให้มากก็ไม่มีอาการเมาค้างให้กังวลใจ

คุณวาตานาเบะบอกว่า "เป้าหมายคือการผลิตสาเกที่ไม่ทำให้เมาครับ" เห็นว่าเป็นผลลัพธ์จากประสบการณ์และการใช้สูตรคณิตศาสตร์คำนวณเพื่อผลิตสาเกที่ร่างกายย่อยได้ง่ายค่ะ แต่เขาก็กล่าวไว้เช่นกันว่า "สูตรทางคณิตศาสตร์เป็นความลับทางการค้าครับ"

จนถึงวันนี้ คุณวาตานาเบะก็ยังคงเสาะแสวงหารสชาติที่เอร็ดอร่อยและความปลอดภัยบนพื้นฐานของทฤษฎีอันละเอียดอ่อนค่ะ

*โรงเหล้านี้ไม่มีหน้าร้าน ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม

ร้านค้าหลักโรงเหล้าสาเกวาตานาเบะ

ร้านค้าหลักโรงเหล้าสาเกวาตานาเบะ

963-0922 10 ซากุราอุจิ, ซันโชเมะ, นิชิดะ-โช, เมืองโคริยามะ, จังหวัดฟุก...
แบรนด์หลัก ``ยูกิโคมาจิ'' ใช้มิยามะ นิชิกิจากโคริยามะ ซึ่งปลูกโดยเกษตรกรที่ทำสัญญาในจุนไม ไดกินโจและไดกินโจ น้ำที่ใช้ต้มเป็นน้ำกระด้างปานกลางซึ่งมีแร่ธาตุจากถ้ำอาบุคุมะและน้ำจากโคริยามะที่สมดุลดี ทำให้ได้เนื้อแน่นแต่รสชาตินุ่มนวล

สาเกญี่ปุ่นจากฟุกุชิมะ อร่อยจนต้องทึ่ง!

福島日本酒

"สาเกจากฟุกุชิมะมีความน่าประหลาดใจอยู่ครับ อย่างแรกก็คือความอร่อยที่จิบนิดเดียวก็สัมผัสได้ อีกอย่างคือถ้าได้ลองดื่มสาเกหลายๆ แบบ จะยิ่งประหลาดใจว่าสาเกจากจังหวัดเดียวกัน แค่ต่างท้องที่ต่างโรงผลิต ก็ทำให้มีเอกลักษณ์และความอร่อยที่ต่างกันได้ถึงขนาดนี้" (คุณวาตานาเบะ จากวาตานาเบะชุโซฮนเท็น)

ฟุกุชิมะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการผลิตสาเกจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การที่มีโรงเหล้าได้รับรางวัลเป็นจำนวนมากที่สุดติดต่อกันถึง 6 ปีก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าโรงผลิตในแต่ละท้องที่สามารถผลิตสาเกคุณภาพดีออกมาได้

ในช่วงท้ายของการเก็บข้อมูลในคราวนี้ คุณโฮโซอิจากคกเค็นชุโซได้กล่าวไว้ว่า "ไม่ต้องเล่าเรื่องของพวกเราหรอกครับ กรุณาเล่าเรื่องสาเกของฟุกุชิมะเถอะ เล่าถึงความอร่อยของสาเกญี่ปุ่นจากฟุกุชิมะ"

ไม่ว่าจะถ่อมตัวอย่างไร ความอร่อยก็เป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นแล้วครับ ถ้ามีโอกาสขอเชิญมาชิมสุดยอดสาเกญี่ปุ่นที่ฟุกุชิมะกันให้ได้นะครับ

Photos by Eri Tashiro
In cooperation with Kokken Brewery Co.,Ltd., Shikeshuzoten General Partnership, Watanabe Shuzohonten Co.,Ltd.
Sponsored by Ministry of Economy, Trade and Industry

raw output

raw output

MATCHA-PR

บทความโดย

MATCHA-PR

Tokyo, Japan

บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

บทความพิเศษ

More.