"ฉันจึงเลือกอยู่ในฟุกุชิมะ" บทสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่อาศัยในฟุกุชิมะในปัจจุบัน
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวฟุกุชิมะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจนในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนต่อปีแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาสัมภาษณ์ชาวต่างชาติบางส่วนที่อาศัยอยู่ในฟุกุชิมะกันว่าทำไมพวกเขาถึง "เลือก" ที่จะอาศัยอยู่ที่นี่
เหตุผลที่พวกเขาเลือกมาอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะ
Pictures courtesy of สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ (ภาพซ้ายบนและขวาล่าง)
ฟุกุชิมะ (Fukushima) จังหวัดที่มีความงดงามและบรรยากาศอันหลากหลายแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นซากุระในฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง และหิมะขาวโพลนในฤดูหนาว
ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมากมายหลงใหลในเสน่ห์ของทัศนียภาพดั้งเดิมสไตล์ญี่ปุ่นในฟุกุชิมะและเดินทางมาเที่ยวฟุกุชิมะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับตามจำนวนคนต่อคืนที่เข้าพักรวมทั้งปีในช่วงหลังนี้พุ่งสูงเกิน 100,000 คนแล้ว
โดยในจำนวนนั้นก็มีชาวต่างชาติที่ตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะเลยด้วย ทำไมพวกเขาถึงเลือกมาอาศัยอยู่ที่ฟุกุชิมะกันนะ?
ในครั้งนี้เราเอาบทสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟุกุชิมะ 2 คนมาฝากกัน
1. "ฉันอยู่ได้ก็ต้องปลอดภัยสิคะ!" คุณโซอี้ ผู้ถ่ายทอดเสน่ห์ของจังหวัดฟุกุชิมะสู่สายตาชาวต่างชาติ
คนแรกที่เราจะมาแนะนำก็คือคุณโซอี้ วินเซนต์ (Zoë Vincent) ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะมา 3 ปีแล้ว
แผนภาพจังหวัดฟุกุชิมะและเมืองฟุกุชิมะ
คุณโซอี้ทำงานอยู่ที่สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ ในเมืองฟุกุชิมะ
เมืองฟุกุชิมะตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดฟุกุชิมะตามแผนที่ด้านบน
งานของเธอคือการเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวจังหวัดฟุกุชิมะ
เนื้อหาของงานค่อนข้างหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นคือการดูแลเว็บไซต์ "Rediscover Fukushima"
เว็บบล็อกที่คุณโซอี้ลงมือเขียนเองจากการเดินทางไปเก็บข้อมูลและถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดฟุกุชิมะ
บล็อกเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวฟุกุชิมะ
Picture courtesy of สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ
คติประจำใจของเธอคือ "ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้พบเจอในแต่ละสถานที่อย่างตรงไปตรงมา"
ตอนนี้บทความในเว็บบล็อกมีมากกว่า 130 บทความแล้ว สถานที่ที่แนะนำเกือบทั้งหมดเป็นที่ที่คุณโซอี้รู้สึกชอบหลังจากได้เดินทางไปเยือนด้วยตัวเองจริงๆ
"จังหวัดฟุกุชิมะเต็มไปด้วยแหล่งปีนเขาและเดินป่าขึ้นชื่อมากมาย ตอนฉันเขียนแต่ละบทความก็ต้องไปลองปีนลองเดินดูเองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพราะข้อมูลพวกนี้ที่เป็นภาษาอังกฤษยังมีน้อยมาก ไปเองจะได้เช็คด้วยว่าแต่ละเส้นทางเป็นยังไง ยากง่ายขนาดไหน ใช้เวลาเท่าไหร่"
นอกจากข้อมูลพื้นฐานอย่างมีป้ายภาษาอังกฤษไหม หรือพวกตารางเวลาของรถไฟกับรถบัสแล้ว คุณโซอี้ยังทำแผนที่หรือวาดภาพประกอบเองด้วย
Picture courtesy of สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ
บทความที่ชวนอ่านของคุณโซอี้เต็มไปด้วยคอมเมนต์มากมายเลยทีเดียว
"พอดีฉันกำลังวางแผนจะไปเที่ยวฟุกุชิมะ ที่นั่นมีแท็กซี่วิ่งให้บริการจากสถานีรถไฟไหม?"
"ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะมีป้ายภาษาอังกฤษรึเปล่า?"
"ถ้าพาเด็กไปเที่ยวด้วยจะไหวไหม?"
คุณโซอี้ก็คอยตอบคำถามแต่ละข้อของผู้อ่านให้ทั้งหมด แต่คำถามก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเหนื่อยแต่ก็น่าดีใจ
ช่วยให้เที่ยวได้อย่างราบรื่นด้วยแผ่นป้ายสื่อสาร
งานที่เธอกำลังทุ่มเทอยู่ในตอนนี้คือการทำให้การดูแลรับรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวฟุกุชิมะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
"เรียวกังและโรงแรมที่รองรับภาษาต่างประเทศในจังหวัดฟุกุชิมะยังมีน้อยมาก ฉันจึงจัดทำแผ่นป้ายสื่อสาร (Communication Board) แจกให้พนักงานตามเรียวกังและโรงแรมต่างๆ"
เพียงแค่ชี้นิ้วบนสิ่งที่ต้องการบอกบนแผ่นป้าย ทางโรงแรมก็สามารถสื่อสารกับแขกได้ (เช่น ข้อควรระวังเวลาเข้าพัก) หรือในทางกลับกัน แขกก็สามารถใช้ได้เช่นกัน (เช่น แจ้งอาการแพ้ สั่งอาหาร ถามทาง)
คุณโซอี้บอกกับเราว่า "หลังจากแจกไปตามเรียวกัง-โรงแรมแล้ว ฉันก็ออกไปสำรวจความคิดเห็นหลังจากใช้งานจริงและนำกลับมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ"
"ฉันอยู่ได้ก็ต้องปลอดภัยสิคะ!"
เวลาคุณโซอี้ไปเข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจที่ต่างประเทศ บางครั้งก็มีคนเข้ามาสอบถามว่า "ตอนนี้ฟุกุชิมะปลอดภัยที่จะไปเที่ยวหรือยัง?" เพราะกังวลเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูรั่วไหลในปี 2011
"ถ้าถูกถามอย่างนี้ ฉันจะตอบไปว่า 'ฉันอยู่ได้ก็ต้องปลอดภัยสิคะ!' "
เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวของฟุกุชิมะเท่าไหร่ พอฉันอธิบายไปว่าทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ พวกเขาก็ดูเหมือนว่าจะสบายใจขึ้น"
ทุกวันนี้คุณโซอี้ผู้มีรอยยิ้มพิมพ์ใจก็ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวและข้อมูลน่าสนใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถมาเที่ยวฟุกุชิมะได้อย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น
"ถึงแม้ว่าจังหวัดฟุกุชิมะจะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศเท่าเกียวโต แต่ที่นี่ก็เป็นสถานที่ที่สามารถสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมและทัศนียภาพอันงดงามได้ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ ในญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ แถมที่นี่ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ห่างไกลจากความวุ่นวายเหมาะกับทริปสบายๆ ฉันจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนแวะมาดื่มด่ำกับวิวสวยๆ และเหล้าญี่ปุ่นชั้นเลิศในฟุกุชิมะเพื่อสัมผัสเสน่ห์อันลึกซึ้งของญี่ปุ่นกันให้ได้ค่ะ"
Rediscover Fukushima : https://rediscoverfukushima.com/
2. "ผมกลายเป็นคนฟุกุชิมะไปแล้ว" : คุณฉี นักกิจกรรมประจำท้องถิ่น
เป้าหมายต่อไปของเราอยู่ที่เขตมิชิมะ (Mishima)
แผนภาพจังหวัดฟุกุชิมะและเขตมิชิมะ
เขตมิชิมะตั้งอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดฟุกุชิมะห่างจากแหล่งท่องเที่ยวไอซุวากามัตสึ (Aizuwakamatsu) ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งด้วยรถไฟ เป็นโซนที่หิมะตกหนักมากถึงขนาดว่ามีหิมะตกเกิน 2 เมตรในฤดูหนาวเลยทีเดียว
ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่คือคุณ ฉี ฉวนอี้ จากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ปัจจุบันเขาทำงานเป็นกลุ่มอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (*1) ของพื้นที่ โอคุไอซุ (Okuaizu) ในเมืองมิชิมะ
*1 : กลุ่มอาสาสมัครพัฒนาชุมชน ... ระบบส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่ประสบปัญหาเรื่องประชากรลดลงหรือสังคมสูงวัย โดยให้คนจากพื้นที่อื่นมาอาศัยและช่วยเหลือปฏิบัติงานอาสาสมัคร
คุณฉี ผู้อาศัยอยู่ในมิชิมะที่มีหิมะตกหนักและห่างจากไกลจากเมืองใหญ่
"เคยมีคนถามผมว่าไม่เหงาเหรอ? แต่คือผมเบื่อกับคนเยอะๆ แล้วเพราะผมโตที่เซี่ยงไฮ้" เขากล่าวพลางหัวเราะ
"มิชิมะเป็นเมืองที่สามารถสัมผัสกับฤดูกาลได้อย่างชัดเจน ผมเติบโตมาในเซี่ยงไฮ้และเพิ่งจะเคยอาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแบบนี้เป็นครั้งแรก จึงคิดว่าการมาญี่ปุ่นในครั้งนี้มันมีความหมาย ชาวเมืองที่นี่ใจดีกับชาวต่างชาติอย่างผมมาก ทำให้อยู่ง่ายมากเลยครับ"
เดินทางมายังฟุกุชิมะเป็นครั้งแรกก่อนวันเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่
คุณฉีสมัยทำงานอยู่ที่สำนักงานจังหวัดฟุกุชิมะ สาขาเซี่ยงไฮ้ (คนขวาบนของภาพ) Picture courtesy of Xu Quanyi
คุณฉีเดินทางมาที่จังหวัดฟุกุชิมะเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม 2011 ซึ่งตรงกับวันก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นพอดิบพอดี
ในตอนนั้นคุณฉีทำงานอยู่ที่สำนักงานจังหวัดฟุกุชิมะ สาขาเซี่ยงไฮ้ บ้านเกิดของเขาเอง
วันนั้นเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำในการพาบรรดาเด็กๆ ของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้กลับบ้านเกิดในฟุกุชิมะ หลังเสร็จงานระหว่างที่กำลังนั่งรถไฟ หนึ่งในงานอดิเรกของเขาเพื่อไปยังคันไซ ก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น
"ผมทิ้งบรรดาเด็กๆ ไว้ที่นั่นแล้วออกมาจากฟุกุชิมะ ผมรู้สึกว่าตัวเองหักหลังฟุกุชิมะ เพราะว่าผมไม่ได้อยู่ในฟุกุชิมะตอนเกิดแผ่นดินไหวก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเข้าใจจิตใจที่แท้จริงของผู้คนในฟุกุชิมะและไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ประสบภัยได้"
ความรู้สึกเสียใจที่ถาโถมเข้าสู่หัวใจของคุณฉีค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความตั้งใจอันแรงกล้าว่าสักวันหนึ่งจะต้องทำอะไรเพื่อฟุกุชิมะให้ได้
คุณฉีตอนทำงานโปรโมตจังหวัดฟุกุชิมะที่อาซากุสะ โตเกียว Picture courtesy of Xu Quanyi
เมื่อคุณฉีรู้ว่าในตอนนั้นกำลังมีการรับสมัครผู้ประสานงานระหว่างประเทศในจังหวัดฟุกุชิมะก็รีบไปสมัครทันทีอย่างไม่ลังเล
หลังจากได้เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว คุณฉีก็เริ่มวางแผนงานต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลของฟุกุชิมะให้ประเทศบ้านเกิดของตนด้วย
เขาทำใบขับขี่รถยนต์และขับรถไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด เพราะอยากเห็นเสน่ห์ของฟุกุชิมะที่แม้แต่คนฟุกุชิมะเองก็ยังไม่รู้
หลังจากงานผู้ประสานงานระหว่างประเทศที่เขาทำมากว่า 5 ปีจบลงในปี 2018 คุณฉีก็ยังไม่กลับประเทศจีน
อยากทำงานที่ฟุกุชิมะอีกสักครั้ง
คุณฉีเล่าให้ฟังว่า "ด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภัยพิบัติโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูรั่วไหล งานหลักๆ ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการเป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศจึงไม่ใช่งานต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวญี่ปุ่น แต่เป็นงานแปลข้อมูลของจังหวัดฟุกุชิมะเป็นภาษาจีน"
คุณฉีที่ยังคงรู้สึกว่าตัวเองยังไม่สามารถทำอะไรเพื่อฟุกุชิมะได้จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม กลุ่มอาสาสมัครพัฒนาชุมชนประจำโอคุไอซุต่อในทันที
ปัจจุบันคุณฉีทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของโซนโอคุไอซุ และช่วยสนับสนุนผู้คนที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่ใหม่
"พอได้ลองมาอาศัยอยู่ที่นี่จริงๆ แล้วก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดีๆ นะครับ ผมต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างทั้งความยากของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสถานการณ์ที่มีผู้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่น้อย"
บางครั้งเขาก็รู้สึกกลุ้มใจเหมือนกันว่าความหมายของการที่ตัวเองมาอยู่ที่นี่คืออะไร แต่คุณฉีก็ยังคงเล่าต่อด้วยสายตาแน่วแน่
"ฟุกุชิมะทำให้ผมได้พบกับความสุขที่สุดในชีวิตครับ รวมถึงการได้พบภรรยาและลูกๆ ทั้งสองของผมด้วย"
ปัจจุบันคุณฉีทำงานและอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสองทั้งคนในมิชิมะ
ฟุกุชิมะมีทั้งจุดที่เขาชอบและจุดที่เขาอยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นเพราะว่าคุณฉีกลายเป็น "คนฟุกุชิมะ" ไปแล้วนั่นเอง "ผมคิดว่าตัวเองคิดถึงเรื่องของฟุกุชิมะเป็น 2 เท่าของคนทั่วไปด้วยซ้ำ"
ทัศนียภาพที่ทำให้คุณฉีหลงใหล
ในวันที่ผู้เขียนเดินทางมาเก็บข้อมูลตรงกับวันที่คุณฉีเดินทางไปเที่ยวงานเทศกาลหิมะที่จัดขึ้นในท้องถิ่นพอดี
เขาเข้าร่วมประเพณีดั้งเดิมที่เรียกว่า "ดังโกะซาชิ" (*2) พลางพูดคุยทักทายกับผู้คนท้องถิ่น
*2 : ดังโกะซาชิ ... ประเพณีดั้งเดิมของโซนไอซุในฟุกุชิมะที่ผู้เข้าร่วมงานจะเสียบดังโกะไปที่กิ่งไม้เพื่อขอพรให้ผลผลิตทางเกษตรอุดมสมบูรณ์
แล้วในตอนแรกคุณฉีรู้จักฟุกุชิมะได้ยังไง?
"ผมรู้จักรถไฟสายทาดามิ (Tadami Line) จากหนังสือในสมัยที่เป็นนักเรียนน่ะครับ หวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้นั่งสักครั้งหนึ่ง"
รถไฟสายทาดามิเป็นรถไฟที่วิ่งให้บริการจากไอซุวากามัตสึ ผ่านมิชิมะ ไปยังนีงาตะ
รถไฟสายนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นรถไฟสายที่โรแมนติกที่สุดในโลก ทำให้มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาชมของจริงกันเป็นจำนวนมาก
จุดที่ว่ากันว่ารถไฟสายทาดามิดูงดงามที่สุดเลยก็คือจุดที่ตั้งห่างจากลานจัดงานเทศกาลหิมะไปประมาณ 3 นาทีด้วยรถยนต์
ทัศนียภาพที่ทำให้คุณฉีเริ่มหลงใหลในฟุกุชิมะคือภาพนี้ครับ
รถไฟที่แล่นออกมาจากหมู่ไม้อย่างช้าๆ ท่ามกลางหิมะที่โปรยปราย เสียงฉึกฉัก ฉึกฉัก ของรถไฟที่วิ่งข้ามสะพานดังก้องกังวานไปทั้งภูเขา
เมื่อรถไฟวิ่งผ่านไปแล้ว ฟุกุชิมะที่ปกคลุมไปด้วยหิมะก็กลับเข้าสู่บรรยากาศอันเงียบสงบอีกครั้ง
เหตุผลที่ผมเลือกอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะ
สุดท้ายเราได้ลองถามถึงเสน่ห์ของฟุกุชิมะดูอีกครั้งหนึ่ง คุณฉีตอบว่า "เสน่ห์ของที่นี่อยู่ตรงที่สามารถสัมผัสกับหัวใจอันอบอุ่นของผู้คนได้ครับ"
"เหตุผลที่ผมยังคงอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะต่อไปเป็นเพราะว่าผมสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นของชาวเมืองฟุกุชิมะทุกคน"
เสียงของเหล่าเด็กๆ ดังก้องกังวานไปทั่วลานจัดงานเทศกาลหิมะ
คุณฉีบอกว่าเคยโดนเพื่อนๆ ถามคล้ายกับคุณโซอี้เหมือนกันว่า "ไปอยู่ฟุกุชิมะปลอดภัยดีรึเปล่า?" คุณฉีกล่าวพร้อมกับมองตรงไปข้างหน้าว่า "ผมจะบอกแค่ว่า ผมกับทุกคนสบายดี ทุกคนใช้ชีวิตกันเป็นปกติในฟุกุชิมะ"
ออกไปค้นหาเสน่ห์ของฟุกุชิมะกัน
Picture courtesy of สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ (ภาพขวาล่าง)
คุณโซอี้และคุณฉีต่างมีบทบาทหน้าที่และภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือการเดินทางมาพิสูจน์ด้วยตาของตัวเอง
และสิ่งที่ทั้งคู่บอกเหมือนกันก็คือฟุกุชิมะยังมีเสน่ห์อีกมากมายที่คนอื่นๆ ยังไม่เคยรู้
พวกเรายังอยู่ได้ ยังไงก็ต้องปลอดภัยสบายใจหายห่วงแน่นอน
"ฟุกุชิมะ" สถานที่ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นของผู้คนแห่งนี้ยังมีเสน่ห์รอให้คุณเดินทางมาค้นหาด้วยตัวเอง
In cooperation with โซอี้ วินเซนต์, ฉี ฉวนอี้, สมาคมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำจังหวัดฟุกุชิมะ, "คารันโคลอน" อาคารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองมิชิมะ, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเมืองมิชิมะ
Pictures by Eri Miura
Sponsored by กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง