Start planning your trip
ต้องเตรียมเงินสักเท่าไหร่นะ? เรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนเช่าห้องพักในญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะมาอยู่ญี่ปุ่นระยะสั้นหรือยาว เรื่องสำคัญอย่างแรกเลยก็คือการหาที่อยู่แสนสบายของเรา บทความนี้จะขอแนะนำเรื่องพื้นฐานที่ควรรู้ในแวดวงฟุโด้ซัง (บริษัทหาบ้าน) ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องติดต่อหรือเตรียมตัวอย่างไร ศึกษาเอาไว้ก่อน แล้วไปหาบ้านในฝันกันเลย
เรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนเช่าห้องในญี่ปุ่น
หากอยากปลูกต้นไม้ให้งอกงาม ก็ต้องให้ความสำคัญกับราก
และหากอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ในญี่ปุ่นให้ดีก็ต้องให้ความสำคัญกับการหาห้องพักของเราเช่นกัน!
บทความนี้ขอรวมเอาเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนการเช่าห้องพักในญี่ปุ่น รวมถึงกฎทั่วไปในการเช่าห้องพัก และคำศัพท์ที่ควรรู้ไว้ในแวดวงฟุโด้ซังยะ (ผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์และจัดหาบ้าน)
สารบัญ
- 1. แวดวงการเช่าห้องในญี่ปุ่นและค่าแรกเข้า
- 2. วิธีการดูห้องและเช่าห้อง
- 3. แนะนำบริษัทจัดหาบ้านและเว็บไซต์หาบ้าน
ตลาดการเช่าบ้านในญี่ปุ่นและโตเกียวเป็นอย่างไร
ราคาค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่นจะแตกต่างกันด้วยความสะดวกของที่ตั้งและระยะห่างจากสถานีรถไฟ
หากเป็นในโตเกียวที่การเดินทางแสนสะดวกแล้วล่ะก็ ค่าเช่าห้องแบบห้องสตูดิโอ (1R หรือ วันรูม) ตามสายยามาโนะเตะ จะมีค่าเช่าอยู่ราว 80,000 เยน ถัดออกมาตามสถานีสายอืนๆ จะอยู่ราว 60,000 เยน
ห้องเช่าของญี่ปุ่นนั้นเกือบทั้งหมดเป็นห้องเปล่า ไม่มีเฟอร์นิเจอร์มาให้ ฉะนั้นหากเป็นห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว ค่าเช่าจะสูงขึ้นอีก หากใครมีงบไม่มากและตั้งใจจะอยู่อาศัยระยะยาว เราขอแนะนำให้หาห้องเปล่าแล้วซื้อเฟอร์นิเจอร์เองดีกว่า
ส่วนใครที่กะว่าจะอยู่สักประมาณ 1 ปี แนะนำให้ลองหาห้องเช่าแบบแชร์เฮาส์หรือหาห้องแบบที่มีเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว
ค่าแรกเข้าประมาณเท่าไหร่?
แต่ละสถานที่และห้องจะแตกต่างกันไป แต่โดยปกติแล้วมักจะมีค่าใช้จ่ายแรกเข้ารวมแล้วประมาณ 4-6 เท่าของค่าเช่าห้อง ซึ่งจะรวมถึงค่ามัดจำ (ชิคิคิน 敷金) ค่าตอบแทน (เรคิน 礼金) และค่านายหน้า (จูไกเทซูเรียว 仲介手数料) เช่น หากค่าเช่าห้องอยู่ที่ 70,000 เยน ค่าแรกเข้ารวมแล้วจะประมาณ 280,000 - 420,000 เยน
ในค่าแรกเข้านี้รวมถึงอะไรบ้าง เราจะอธิบายอย่างละเอียดด้านล่างนี้ค่ะ
ค่าเช่าห้องต่อเดือน
ค่าเช่าห้องต่อเดือนบางครั้งจะมีค่าดูแลอาคาร (คันริฮิ 管理費) และค่าส่วนกลาง (เคียวเอคิฮิ 共益費) ด้วย เวลาจะเช่าอย่าลืมสังเกตว่ามีหรือไม่และรวมในค่าเช่าแล้วหรือยัง หากมีเวลาชำระจะชำระรวมไปกับค่าเช่าห้องเลย
เรคินหรือค่าตอบแทน (Reikin - 礼金)
ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่า "เรคิน" พึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่บ้านเรือนมีไม่เพียงพอ จึงเริ่มมีการให้ค่าตอบแทนกับเจ้าของบ้านที่ยอมให้เช่าห้องพัก โดยปกติแล้วเรคินจะจ่ายอยู่ที่ 1-2 เท่าของค่าเช่าห้อง เงินก้อนนี้ต่างจากค่ามัดจำตรงที่จะไม่มีการคืนเงิน
บางห้องอาจจะไม่มีการเรียกรับเรคิน และเมื่อเลยช่วงที่มีการย้ายบ้านกันมาก (ช่วงกุมภาพันธ์ - เมษายน) จะมีห้องเหลืออยู่ เจ้าของห้องหลายคนจึงอาจเริ่มปล่อยห้องโดยไม่รับเรคิน
ชิคิคินหรือค่ามัดจำ (Shikikin - 敷金)
ชิคิคินหมายถึงค่ามัดจำ มักคิดอยู่ที่ 1-2 เท่าของค่าเช่าห้อง เป็นเงินที่มัดจำเอาไว้สำหรับเป็นค่าทำความสะอาดหรือซ่อมแซมห้องสำหรับผู้ให้เช่า เงินก้อนนี้จะได้รับคืนส่วนหนึ่งเมื่อยกเลิกการเช่าห้อง โดยจะหักค่าทำความสะอาดต่างๆ ออกไปก่อน
จูไกเทซูเรียวหรือค่านายหน้า (Chuukai Tesuuryou - 仲介手数料)
ส่วนจูไกเทซูเรียวหรือค่านายหน้าเป็นค่าตอบแทนให้กับบริษัทจัดหาบ้านในการจัดหาห้องและทำสัญญา มักจะคิดค่าตอบแทนเท่ากับค่าเช่า 1 เดือน
ค่าโฮะโชนินหรือค่าผู้ค้ำประกัน (Hoshounin Hiyou - 保証人費用)
สำหรับชาวต่างชาติที่จะเช่าห้อง จะต้องมีผู้ค้ำประกันเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย แต่ถ้าหาใครมาค้ำไม่ได้ก็สามารถใช้บริการของบริษัทค้ำประกัน (Hoshoukaisha - 保証会社) ได้
ค่าบริการของบริษัทค้ำประกันจะอยู่ราวๆ 50-120% ของค่าเช่าห้อง บริษัทค้ำประกันอาจมีการคัดเลือกผู้เช่าห้องและผู้เช่าห้องจะต้องผ่านการตรวจสอบจากบริษัทเพื่อทำสัญญาด้วย
คะไซโฮเคงหรือค่าประกันอุบัติภัย (Kasai Hoken - 火災保険)
ในการเช่าห้องที่ญี่ปุ่นจะต้องทำประกันอุบัติภัยสำหรับการรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับห้องพักเช่นน้ำท่วม ไฟไหม้และอื่นๆ มักมีค่าประกันราว 20,000 เยน/2 ปี จึงมักทำการจ่ายควบคู่ไปกับการต่อสัญญาเช่าห้องที่นิยมทำทีละ 2 ปีเช่นกัน
ค่าเปลี่ยนกุญแจ (Kagikoukan - 鍵交換費用)
เมื่อมีการเช่าห้องพักใหม่จะมีการเปลี่ยนกุญแจห้องเพื่อความปลอดภัย มีค่าใช้จ่ายราว 1-2 หมื่นเยน
ค่าต่อสัญญา (Koushinryou - 更新料)
สัญญาเช่าห้องโดยปกติจะทำทีละ 2 ปี หากต้องการอาศัยในห้องนั้นต่อจะต้องชำระค่าต่อสัญญา โดยมากแล้วจะคิดเท่ากับค่าเช่า 1 เดือน แต่อาจแตกต่างไปตามพื้นที่และลักษณะห้องได้
วิธีการเช่าห้องพักในญี่ปุ่น
หากหาห้องที่ต้องการได้แล้ว จะต้องกรอกเอกสารคำร้องขอเช่าให้แก่บริษัทจัดหาบ้าน รวมถึงต้องยื่นเอกสารแสดงเลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทรศัพท์ และเอกสารยืนยันตัวอย่างไซริวการ์ด (บัตรประจำตัวชาวต่างชาติ)
เมื่อยื่นเอกสารแล้ว เจ้าของห้องจะทำการตรวจสอบรายละเอียด หากตัดสินใจให้เช่าแล้วจะต้องดำเนินการเรื่องเช่าห้องต่อ โดยอาจมีการโทรศัพท์หรือนัดหมายพบปะกับเจ้าของห้อง แต่ในบางกรณีอาจแค่ติดต่อกับบริษัทนายหน้าโดยไม่ได้พบกับเจ้าของห้องก็เป็นไปได้เช่นกัน
เมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้วจึงควรรีบเปิดบัญชีธนาคารและโทรศัพท์มือถือเสียก่อน จะได้ทำเรื่องเช่าห้องได้ค่ะ
ห้องแต่ละแบบในญี่ปุ่น
ห้องที่ให้เช่ามีประเภทดังต่อไปนี้
อพาร์ตเมนต์ (Apaato - アパート) หมายถึงอาคารโครงสร้างไม้ที่มี 1-2 ชั้น ไม่มีผู้ดูแลและไม่มีส่วนกลาง ความสามารถในการเก็บเสียง กันแผ่นดินไหว ความปลอดภัยด้อยกว่าอาคารแบบแมนชั่น แต่ค่าเช่าก็ถูกกว่าเช่นกัน เหมาะสำหรับผู้มีงบน้อย
แมนชั่น (Manshon - マンション) หมายถึงอาคารโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป มีผู้ดูแล มีความปลอดภัยสูงกว่าอพาร์ตเมนต์ แต่ค่าเช่าก็สูงกว่าเช่นกัน
บ้านเช่า (Kashiya - 貸家) หมายถึงบ้านเดี่ยวให้เช่า
เวลาหาห้องเช่าเรามักจะเจอคำว่า "2LDK" หรือ "3DK" และอื่นๆ มันหมายถึงอะไร มาดูกัน
L : ย่อมาจาก Living Room หมายถึงห้องนั่งเล่น/ห้องรับแขก
D : ย่อมาจาก Dining Room หมายถึงห้องอาหาร
K : ย่อมาจาก Kitchen หมายถึงห้องครัว
ส่วนตัวเลขหมายถึงจำนวนของห้อง เช่น 2LDK หมายถึงมีห้อง 2 ห้อง และมีห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องครัว ส่วน 3DK หมายถึงมีห้อง 3 ห้องกับห้องอาหารและห้องครัว
นอกจากนี้ยังมี R ย่อมาจาก Room หมายถึงห้องธรรมดา เช่น 2R จะหมายถึงมีห้องเปล่าๆ 2 ห้อง ยกเว้นในกรณีของ 1R นั้นมักจะหมายถึงห้องแบบสตูดิโอ คือมีพื้นที่สำหรับทำครัวอยู่ภายในห้องเลย
เทคนิคในการเลือกห้อง ตำแหน่งห้อง ขนาดห้องแบบญี่ปุ่น
ในการเลือกห้องก็มีเทคนิคอีกหลายอย่างค่ะ
อย่างแรกคือพยายามเลือกห้องที่อยู่ตรงมุมอาคาร (Kadobeya - 角部屋) เนื่องจากจะมีกำแพงฝั่งหนึ่งที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ช่วยลดปัญหาเรื่องเสียงรบกวนได้ ค่าเช่าอาจจะแพงขึ้นเล็กน้อย แต่ใครอยากอาศัยอย่างสบายใจก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ
ทิศทางของห้องที่นิยมในญี่ปุ่นคือห้องที่หันไปทิศใต้ (Minamimuki - 南向き) บางครั้งห้องที่หันไปทิศใต้อาจมีค่าเช่าแพงกว่าห้องที่หันทิศอื่นๆ ในชั้นเดียวกันถึง 2,000 เยนขึ้นไป สาเหตุของความนิยมนี้คือทิศนี้จะรับแสงแดดได้ดี ในเวลากลางวันอาจไม่ต้องเปิดไฟเลยทีเดียว เวลาซักผ้าก็แห้งเร็ว เหมาะสำหรับคนที่อยากอยู่อาศัยระยะยาว
บางห้องอาจระบุขนาดไว้เป็นแบบญี่ปุ่น คือ เรียกเป็นเสื่อ (ทาทามิ - 畳) ห้องขนาด 6 เสื่อหมายถึงห้องขนาด 10 ตารางเมตร
ควรติดต่อผ่านบริษัทจัดหาบ้านไหม?
เมื่อชาวต่างชาติจะเช่าห้อง ผู้ให้เช่ามักมีความกังวลเรื่องการติดต่อพูดคุยโดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษาญี่ปุ่น หากพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ เจ้าของห้องหลายคนอาจไม่ให้เช่าห้อง
ดังนั้นจึงสะดวกกว่าที่จะหาห้องผ่านบริษัทจัดหาบ้าน เนื่องจากเขาจะเป็นธุระพูดคุยเรื่องต่างๆ กับเจ้าของห้องให้
เมื่อกำหนดได้แล้วว่าอยากเช่าห้องแถวไหน ลองไปปรึกษาบริษัทจัดหาบ้านในย่านนั้น ถามหาห้องที่ชาวต่างชาติเเช่าได้ แล้วให้เขาแนะนำห้องให้จะดีกว่า
ด้านล่างนี้คือรายการเว็บไซต์หาห้องเช่าที่เราอยากแนะนำ บางเจ้านั้นมีบริการในภาษาต่างประเทศและภาษาไทยด้วยนะ
เว็บไซต์หาห้องเช่าแนะนำ
รายการด้านล่างนี้คือเว็บไซต์หาห้องเช่าที่เราอยากแนะนำค่ะ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละเจ้า สามารถอ่านได้ในบทความด้านล่างนี้เลย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ | ข้อดี | จุดเด่นอื่นๆ |
BEST-ESTATE.JP | มีเจ้าหน้าที่คนไทย | สามารถปรึกษา ขอชมห้อง และทำสัญญาทางออนไลน์ได้ และทำสัญญาจากต่างประเทศได้ |
OYO LIFE | เดือนเดียวก็เช่าได้ ไม่ต้องเสียเงินค่าชิคิคิง เรคิง | ทำสัญญาออนไลน์ได้ จากต่างประเทศก็ทำสัญญาได้ |
SOCIAL APARTMENT | มีความเป็นส่วนตัว และมีพื้นที่รวมให้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เช่าคนอื่นได้ | การออกแบบสวย มีพื้นที่ส่วนรวมเยอะ |
YUZU | เน้นนักเรียนต่างชาติ ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นทั่วไปก็เช่าได้ | ห้องใกล้สถานศึกษาเยอะ มีส่วนลดสำหรับนักศึกษา |
OAKHOUSE | บริษัทเป็นคนดูแลอาคารเอง มีทั้งแชร์เฮาส์และอพาร์ตเมนต์ | รองรับหลายภาษา มีจัดอีเวนต์ |
SUUMO | จำนวนห้องให้เลือกเยอะ อัพเดทใหม่เรื่อยๆ | เลือกค้นหาตามเงื่อนไขได้ง่าย |
MUJI×UR | ไม่ต้องเสียเงินค่าชิคิคิง เรคิง | ห้องรีโนเวตใหม่ เท่ตามสไตล์มูจิ |
ตามหาห้องสำหรับคุณในญี่ปุ่น
การเช่าห้องในญี่ปุ่นปกติจะทำสัญญาทีละ 2 ปี และยังมีค่าใช้จ่ายทั้งชิคิคิน เรคิน ค่าเฟอร์นิเจอร์ สำหรับผู้ที่มาอยู่ระยะสั้นอาจเหมาะกับแชร์เฮาส์หรืออพาร์ตเมนต์พร้อมเฟอร์นิเจอร์รายเดือนมากกว่า
ญี่ปุ่นเริ่มมีบริษัทจัดหาบ้านที่มีบริการเพื่อคนต่างชาติเพิ่มขึ้น ลองเปิดดูเว็บไซต์ตามรายการด้านบนแล้วหาห้องที่จะมาเป็น "บ้าน" ของคุณในญี่ปุ่นดูนะคะ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
All Photos by Pixta
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง