Start planning your trip
มาเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่นกัน! วิธีเปิด ความแตกต่างของแต่ละธนาคาร และค่าธรรมเนียม
บทความนี้ขอแนะนำวิธีการเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่นซึ่งขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น พร้อมแนะนำธนาคารที่ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นใช้บริการได้ง่าย จุดเด่นของธนาคารขนาดใหญ่ ธนาคารท้องถิ่น และธนาคารออนไลน์
รู้จักจุดเด่นของธนาคารในญี่ปุ่นแต่ละเจ้า แล้วมาเปิดบัญชีธนาคารกัน!
สิ่งแรกที่ผู้เริ่มต้นใช้ชีวิตในญี่ปุ่นต้องรู้ไว้ก็คือแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินจะดำเนินการผ่านบัญชีธนาคาร ตั้งแต่การรับเงินเดือนโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคาร และการชำระค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าธรรมเนียมอินเทอร์เน็ต ด้วยวิธีหักจากเงินบัญชีธนาคาร และอื่นๆ
การเปิดบัญชีเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่มีธนาคารหลายแห่งในญี่ปุ่น หลายคนอาจไม่รู้ว่าจะเปิดบัญชีกับธนาคารไหนดี ดังนั้นในฐานะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น บรรณาธิการชาวไต้หวันของ MATCHA จึงขอแนะนำวิธีการเปิดบัญชีธนาคาร จุดเด่นของธนาคารในญี่ปุ่น และธนาคารที่ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นนิยมใช้กัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
สารบัญ
- 1. วิธีการเปิดบัญชีธนาคาร
- 2. ประเภทและจุดเด่นของธนาคารในญี่ปุ่น
- 3. ธนาคารที่ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นนิยมใช้กัน
วิธีการเปิดบัญชีธนาคาร
กล่าวได้ว่าบัญชีธนาคารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ก่อนอื่นมาตรวจสอบสิ่งที่ต้องใช้ในการเปิดบัญชีและขั้นตอนในการเปิดบัญชีกัน
สิ่งที่ต้องใช้ในการเปิดบัญชี
Photo by pixta
ชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ โดยต้องเตรียมตราประทับ (Inkan - 印鑑), ไซริวการ์ด (在留カード บัตรประจำตัวชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่น) ซึ่งมีรายละเอียดที่อยู่, หนังสือเดินทาง และเอกสารแสดงสังกัดโดยคนทำงานก็คือใบรับรองการทำงาน (在職証明書) ส่วนนักเรียนต่างชาติก็คือใบอนุญาตเข้าศึกษา (入学許可証)
เมื่อเอกสารครบก็ไปดำเนินเรื่องที่ธนาคารสาขาใกล้บ้านที่สุดได้เลย เนื่องจากมีบางกรณีที่ไม่สามารถเปิดบัญชีในสาขาที่อยู่ไกลบ้านได้
ขั้นตอนการเปิดบัญชี
Photo by pixta
ไปที่ธนาคารแล้วบอกพนักงานที่เคาน์เตอร์ว่า คุณต้องการเปิดบัญชี (口座を開設したい อ่านออกเสียง Kōza o kaisetsu shitai desu: โคซะ โอะ ไคเซสึ ชิไตเดส)
- จากนั้น กรอกข้อมูลส่วนบุคคลพื้นฐานในแบบฟอร์ม ยื่นให้พนักงาน รอสักครู่จนกว่าพนักงานจะเรียก
- พนักงานจะพาไปยังเคาน์เตอร์ ตรวจสอบเอกสาร และอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชี
- การเปิดบัญชีธนาคารเสร็จเรียบร้อย
- หลังทุกอย่างเรียบร้อย ประมาณ 1 สัปดาห์ บัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (บัตรเอทีเอ็ม) จะส่งมาที่บ้าน
ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีธนาคารบางแห่งเข้มงวดเรื่องการเปิดบัญชีของชาวต่างชาติมากขึ้น จึงอาจไม่สามารถเปิดบัญชีได้ ในกรณีนี้ลองไปเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่นๆ แทนดู
ธนาคารทั่วไปที่มีเคาน์เตอร์ให้บริการกับธนาคารออนไลน์ แบบไหนดีกว่า?
Photo by pixta
ที่ญี่ปุ่นมีผู้ใช้บริการธนาคารออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วการเปิดบัญชีกับธนาคารทั่วไปที่มีเคาน์เตอร์ให้บริการหรือธนาคารออนไลน์ แบบไหนดีกว่ากันนะ?
กรณีมาศึกษาต่อญี่ปุ่นในระยะสั้นหรือมาพำนักระยะสั้น จะเปิดบัญชีแบบไหนก็ไม่ต่างกันมากนัก ท่านที่มาอยู่ญี่ปุ่นได้ไม่นาน ธนาคารออนไลน์เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะสามารถจัดการทุกอย่างทั้งขั้นตอนการเปิดบัญชี ฝากเงิน และตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ และอื่นๆ ได้จบครบทางออนไลน์ เมื่อเทียบกับธนาคารทั่วไป มีข้อดีทั้งขั้นตอนการเปิดบัญชีที่แสนง่ายและค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าด้วยนะ
ในทางกลับกัน ท่านที่พำนักในญี่ปุ่นระยะยาวเพราะต้องทำงานหรืออื่นๆ ขอแนะนำให้ใช้บริการธนาคารทั่วไป เนื่องจากมีกรณีที่ไม่สามารถโอนจ่ายค่าสาธารณูปโภคด้วยธนาคารออนไลน์ได้
คำศัพท์ที่ใช้ในธนาคารญี่ปุ่น
ตารางด้างล่างเป็นภาษาญี่ปุ่นที่มักเจอในธนาคารและตู้เอทีเอ็ม จดจำไว้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น
อักษรคันจิ | การออกเสียง | ความหมาย |
銀行 | กิงโค (Ginkou) | ธนาคาร |
口座 | โคซะ (Kouza) | บัญชีธนาคาร |
通帳 | สึโจ (Tsuuchou) | สมุดบัญชีธนาคาร |
引き出し | ฮิคิดาชิ (Hikidashi) | ถอนเงิน |
預け入れ | อาซุเคอิเระ (Azukeire) | ฝากเงิน |
振込 | ฟุริโคมิ (Furikomi) | โอนเงิน |
預金 | โยะคิน (Yokin) | เงินฝาก |
手数料 | เทซูเรียว (Tesuuryou) | ค่าธรรมเนียม |
残高 | ซังดาคะ (Zandaka) | ยอดเงินคงเหลือ(ในบัญชี) |
ถัดไป ขอแนะนำจุดเด่นของธนาคารในญี่ปุ่นแต่ละประเภท
ประเภทของธนาคารในญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่นมีธนาคารขนาดใหญ่ ธนาคารท้องถิ่น และธนาคารแบบอื่น ๆ เรามาดูจุดเด่นของธนาคารต่างๆ กันดีกว่า
ธนาคารขนาดใหญ่ (ธนาคารหลักในตัวเมือง)
Photo by pixta
ธนาคารขนาดใหญ่ (ธนาคารที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ และมีสาขาอยู่ในแต่ละท้องที่ ซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของญี่ปุ่น : Financial Services Agency) คือธนาคารยักษ์ใหญ่หรือกลุ่มธนาคารที่มีผลกำไรมหาศาล ที่ญี่ปุ่นมีธนาคารยักษ์ใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารมิซูบิชิ ยูเอฟเจ (Mitsubishi UFJ Bank; MUFG Bank) ธนาคารมิซุยซูมิโตโม (ภาษาอังกฤษเขียนว่า Sumitomo Mitsui Bank; SMBC) ธนาคารมิซูโฮะ (Mizuho Bank) และธนาคารรีโซนะ (Resona Bank)
ธนาคารขนาดใหญ่จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมเมื่อถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารด้วยบัตรเอทีเอ็มในช่วงเวลาที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนด ธนาคารขนาดใหญ่มีความร่วมมือเชื่อมต่อกับธนาคารท้องถิ่น ธนาคารไปรษณีย์ญี่ปุ่น (Japan Post Bank หรือยูโจะ) และธนาคารของร้านสะดวกซื้อ
ดังนั้น จึงสามารถใช้บัตรของ MUFJ ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของยูโจะและอื่นๆ ได้ แต่กรณีนี้มักจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ตู้เอทีเอ็มต่างธนาคาร
ธนาคารขนาดใหญ่จะมีสาขาในเมืองหลักๆ ของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงถอนเงินในพื้นที่อื่นนอกจากบริเวณที่อาศัยอยู่ได้ แต่กรณีที่ไม่เจอตู้เอทีเอ็มของธนาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ชนบท ก็คงต้องใช้ตู้เอทีเอ็มของ JP Bank หรือร้านสะดวกซื้อ และจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ตู้เอทีเอ็มต่างธนาคาร
ถัดไป เรามาดูค่าธรรมเนียมการถอนเงินของธนาคารขนาดใหญ่กัน
ธนาคารมิซูบิชิ ยูเอฟเจ
Mitsubishi UFJ Bank - 三菱UFJ銀行 (ตัวย่อ MUFG)
MUFG Bank ไม่เก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่เวลา 8:45 - 21:00 ทั้งในวันธรรมดา วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด นอกจากเวลานั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการถอนเงิน 110 เยน
Mitsubishi UFJ Bank | |
เว็บไซต์ทางการ | https://www.bk.mufg.jp/global/ |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.bk.mufg.jp/tesuuryou/furikomi.html (ภาษาญี่ปุ่น) |
ธนาคารมิซุยซูมิโตโม
Sumitomo Mitsui Bank - 三井住友銀行 (ตัวย่อ SMBC)
Sumitomo Mitsui Bank ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินตั้งแต่เวลา 8:45 - 18:00 ในวันธรรมดา และไม่คิดค่าธรรมเนียมตลอดวันสำหรับวันที่ 25 และ 26 ตลอด นอกนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 110 เยน ส่วนการฝากเงินไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
Sumitomo Mitsui Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.smbc.co.jp/kojin/sougou/language/index.html?language=en |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.smbc.co.jp/kojin/fee/ (ภาษาญี่ปุ่น) |
ธนาคารมิซูโฮะ
Mizuho Bank - みずほ銀行
Mizuho Bank จะเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงิน 110 เยนในวันธรรมดาตั้งแต่เวลา 8:00 - 8:45 ให้บริการฟรีตั้งแต่เวลา 8:45 - 18:00 และเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงิน 110 เยนอีกครั้งตั้งแต่เวลา 18:00 - 23:00 ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ เก็บค่าธรรมเนียม 110 เยนตั้งแต่ 8:00 - 22:00 วันและเวลานอกเหนือจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียม 220 เยน
Mizuho Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.mizuhobank.co.jp/retail/index.html (ภาษาญี่ปุ่น) |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.mizuhobank.co.jp/rate_fee/index.html (ภาษาญี่ปุ่น) |
ธนาคารรีโซนะ
Resona Bank - りそな銀行
Resona Bank ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินในวันธรรมดาตั้งแต่เวลา 8:45 - 18:00 ส่วนเวลาอื่นจะเก็บค่าธรรมเนียม 110 เยน สำหรับวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ จะเก็บค่าธรรมเนียม 110 เยน
เคาน์เตอร์ของธนาคารทั่วไปจะปิดเวลา 15:00 แต่ที่ Resona Bank จะเปิดถึง 17:00
Resona Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.resonabank.co.jp/ (ภาษาญี่ปุ่น) |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.resonabank.co.jp/kojin/kinri_kawase/tesuryo/ (ภาษาญี่ปุ่น) |
ธนาคารท้องถิ่น
Photo by pixta
ธนาคารท้องถิ่นคือธนาคารที่ดำเนินการในท้องถิ่นตามชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งชื่อตามท้องถิ่นหรือหรือพื้นที่ เช่น ธนาคารเกียวโต (Kyoto Bank) ธนาคารฮอกไกโด (Hokkaido Bank) และธนาคารโฮคุริคุ (Hokuriku Bank) เป็นต้น
ในท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารนั้นๆ จะหาสาขาหรือตู้เอทีเอ็มได้ง่ายขึ้น แต่พอไปพื้นที่อื่นจะหาตู้เอทีเอ็มได้ยาก
ธนาคารท้องถิ่นบางแห่งร่วมให้บริการกับตู้เอทีเอ็มในร้านสะดวกซื้อ จึงสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารท้องถิ่นถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มในร้านสะดวกซื้อได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการถอนเงินถึง 3 ครั้งต่อเดือน
หากอาศัยอยู่ในเมืองรอบนอกโตเกียว การเปิดบัญชีกับธนาคารท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งนะ
ธนาคารอื่นๆ : ธนาคารรูปแบบใหม่
ธนาคารรูปแบบใหม่เป็นคำศัพท์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของญี่ปุ่น ใช้เรียกธนาคารที่ดำเนินธุรกิจที่ธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารท้องถิ่นไม่ทำ
ธนาคารรูปแบบใหม่ ได้แก่ ธนาคารลอว์สัน (Lawson Bank - ローソン銀行) ที่อยู่ในเครือร้านสะดวกซื้อ ธนาคารอิออน (AEON Bank -イオン銀行) ที่อยู่ในเครือห้างสรรพสินค้า รวมทั้งธนาคารออนไลน์อย่างธนาคารโซนี่ (Sony Bank - ソニー銀行) และธนาคารราคุเท็น (Rakuten Bank - 楽天銀行) เป็นต้น
เนื่องจากเป็นธนาคารที่ไม่เคาน์เตอร์ให้บริการ การสมัครและขั้นตอนต่างๆ จึงทำทางออนไลน์ ธนาคารประเภทนี้จึงมีข้อดีหลายประการ เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมเมื่อถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่น และได้รับแต้มสะสมเมื่อช็อปปิ้งทางออนไลน์ ฯลฯ
ธนาคารซึ่งชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นนิยมใช้บริการ
Photo by pixta
ขอแนะนำธนาคารต่างๆ ซึ่งชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นนิยมใช้บริการ
ธนาคารชินเซ (Shinsei Bank - 新生銀行)
Shinsei Bank รู้จักกันดีว่าเป็นธนาคารซึ่งชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นเปิดบัญชีได้ค่อนข้างง่าย นอกจากจะสามารถโอนเงินและเช็คยอดคงเหลือทางออนไลน์แล้ว ยังมีเคาน์เตอร์ให้บริการด้วย
ธนาคารยังมีความร่วมมือในเรื่องตู้เอทีเอ็มกับ Seven Bank, Lawson Bank, AEON Bank และ Japan Post Bank (ยูโจะ) จึงสามารถถอนเงินได้ทั่วประเทศ
Shinsei Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.shinseibank.com/english/ |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.shinseibank.com/powerflex/fee_list.html (ภาษาญี่ปุ่น) |
ธนาคารราคุเท็น (Rakuten Bank - 楽天銀行)
Rakuten Bank เหมาะกับผู้ชอบช้อปปิ้งออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Rakuten Ichiba (楽天市場) เพียงเชื่อมโยงบัญชีของ Rakuten Bank กับบัตรราคุเท็น (Rakuten Bank Card) เพื่อชำระเงินจะได้รับแต้ม Rakuten points ทุกเดือน
ธนาคารยังมีความร่วมมือในเรื่องตู้เอทีเอ็มกับธนาคารหลายแห่ง จึงสามารถถอนเงินได้ทุกที่ทั่วญี่ปุ่น และสามารถใช้ตู้เอทีเอ็มของธนาคารที่ร่วมมือกันได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมสูงสุด 7 ครั้งต่อเดือนด้วยนะ
เนื่องจากธนาคารไม่มีเคาน์เตอร์ให้บริการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว เช่น เปลี่ยนหรือต่ออายุวีซ่า จำเป็นต้องส่งเอกสารเพื่ออัปเดต จึงอาจมีความยุ่งยากกว่าธนาคารที่มีเคาน์เตอร์ให้บริการเล็กน้อย
Rakuten Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.rakuten-bank.co.jp/english/account/opening/ |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.rakuten-bank.co.jp/charge/ (ภาษาญี่ปุ่น) |
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ธนาคารไปรษณีย์ญี่ปุ่นหรือ "ยูโจะ" (Japan Post Bank - ゆうちょ銀行)
ธนาคารไปรณีย์ญี่ปุ่นหรือที่มักเรียกกันว่ายูโจะ (Yuucho) เป็นธนาคารที่บริหารงานโดย Japan Post Holdings Co., Ltd. บริษัทลูกในเครือของที่ทำการไปรษณีย์ญี่ปุ่น (Japan Post Group) เป็นที่รู้จักในฐานะธนาคารซึ่งชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นสามารถเปิดบัญชีได้ง่าย มีตู้เอทีเอ็มตั้งอยู่ในที่ทำการไปรษณีย์และไม่มีค่าธรรมเนียมการถอนเงิน แต่มีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินนะ
จุดเด่นของ JP Bank คือเป็นธนาคารที่นิยมมากในหมู่คนญี่ปุ่นและมีตู้เอทีเอ็มที่มากที่สุดในญี่ปุ่น เพราะมีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ทั่วญี่ปุ่นนั่นเอง สามารถใช้ตู้เอทีเอ็มได้ทุกที่ทั่วญี่ปุ่น
แต่ต้องระวังด้วยว่าในวันธรรมดาที่ทำการไปรษณีย์ส่วนใหญ่จะปิดทำการในเวลา 17:00 และไม่เปิดทำการในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ หากตู้ไปรษณีย์ตั้งอยู่ในส่วนที่ปิดประตูไป ก็อาจเข้าไปใช้บริการไม่ได้ในเวลาที่ไปรษณีย์ไม่ได้เปิดทำการค่ะ แนะนำให้ตรวจสอบสาขาใกล้บ้านดูนะ
Japan Post Bank | |
เว็บไซด์ทางการ | https://www.jp-bank.japanpost.jp/ (ภาษาญี่ปุ่น) |
รายการค่าธรรมเนียม | https://www.jp-bank.japanpost.jp/ryokin/rkn_index.html (ภาษาญี่ปุ่น) |
มาเปิดบัญชีกับธนาคารในญี่ปุ่นที่เหมาะกับตัวเองกัน!
Photo by pixta
บัญชีธนาคารเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น แต่ละธนาคารมีค่าธรรมเนียมและจุดเด่นต่างกัน มาหาธนาคารที่ตรงกับความต้องการกับตัวเองมากที่สุดและเปิดบัญชีกัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Main image by pixta
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง