【จังหวัดมิยาซากิ】เพลิดเพลินไปกับทั้งภูเขาและท้องทะเล! ออกสำรวจมนต์เสน่ห์แห่งธรรมชาติที่ยังไม่ถูกค้นพบ

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบท้ายด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

จากคนที่เคยเกลียดคาราโอเกะ ตอนนี้กลายเป็นต้องไปคาราโอเกะสัปดาห์ละครั้ง หลังจากร้องเพลงจนเหนื่อยก็ไปเติมพลังด้วย ทงคตสึโชยุราเม็ง ราเม็งซุปกระดูกหมูผสมซอสโซยุรสเข้มข้นแสนอร่อยที่กินยังไงก็ไม่เบื่อ

บทความโดย

อาหารญี่ปุ่นที่ชอบที่สุดคือราเม็งทงคตสึโชยุ เข้มข้นและเค็ม! ส่วนขนมขอยกให้มิตาราชิดังโกะ เห็นที่ไหนต้องแวะซื้อตลอด ว่างๆ ก็ออกไปถ่ายรูปบ้างพอให้มีอะไรที่เรียกว่าเป็นงานอดิเรก
more

คนต่างชาติในญี่ปุ่นทำอะไรในวันหยุด

หลายคนน่าจะต้องเคยได้ยินคำว่าคาราโอเกะกับราเม็ง ยิ่งถ้ามาญี่ปุ่นไม่ว่าจะไปเมืองไหนก็ต้องได้เห็นร้านคาราโอเกะกับร้านราเม็งแน่นอน สองอย่างนี้ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นไปแล้ว เอาจริงๆ แล้วราเม็งนี่ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นรับมาจากประเทศจีน แต่ก็มีการปรับและเปลี่ยนจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไปแล้ว และสองอย่างนี้แหละที่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ฟ้าส่งมาโปรดยามเหนื่อยล้า ยามต้องการที่ปลดปล่อยและพักผ่อน ประหนึ่งโอเอซิสกลางทะเลทรายจริงๆ

คาราโอเกะ โลกต่างมิติในห้องสี่เหลี่ยม

เดิมทีสมัยอยู่ประเทศไทยบ้านเกิด ผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ชอบไปคาราโอเกะมาก เรียกว่าเกลียดเลยก็ได้เพราะไม่ชอบฟังเสียงตัวเอง ยังไม่นับเรื่องร้องเพี้ยนไม่ตรงคีย์อีกนะ เวลาเพื่อนชวนไปก็มักจะรับตำแหน่งกองเชียร์เป็นหลัก แต่ครั้งนี้ที่ได้มาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น อยู่ๆ กลับติดคาราโอเกะขึ้นมาเสียงั้น จนตอนนี้ต้องไปร้องคาราโอเกะอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

คาราโอเกะ มาจากคำว่า คาราโอเคซุโทระ
คาระ (Kara : から) เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าว่างเปล่า
โอเคซุโทระ (Okesutora : オーケストラ) สำเนียงญี่ปุ่นของคำว่าออเคสตรานั่นแล

แล้วก็ย่อเหลือแค่ คาราโอเคะ การย่อแบบนี้ก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาญี่ปุ่นเหมือนกันนะ อย่าง โปเกมอน (เสียงญี่ปุ่นอ่านว่า โพเกมง) ก็ย่อมาจาก พอกเก็ต มอนสเตอร์ (โพเก็ตโตะ มนซุตา)

เรื่องที่มาของคำนี้มีหลายเรื่องเล่า เช่น เกิดจากวงการโทรทัศน์ แต่ก่อนเวลาแสดงโชว์ร้องเพลงต้องจ้างนักดนตรีออเคสตราทั้งวงมาแสดงสดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการอัดเสียงเฉพาะส่วนดนตรีบรรเลงล่วงหน้าโดยไม่มีเสียงคนร้อง แล้วค่อยเอามาเปิดให้นักร้องร้องคลอตอนแสดงจริง เลยเป็นที่มาของคำว่าออเคสตราเปล่าๆ ที่ปราศจากเสียงร้อง

หลังจากนั้นก็มีบริษัทที่ผลิตเครื่องเล่นคาราโอเกะพร้อมไมโครโฟนให้ร้านกินดื่มเช่าไปตั้งในร้านเพื่อให้ลูกค้าร้องเพลง และกลายเป็นที่มาของร้านคาราโอเกะในทุกวันนี้

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

ถ้าถามว่าคาราโอเกะของญี่ปุ่นต่างจากคาราโอเกะที่เคยไปมาตอนอยู่ไทยยังไงก็น่าจะเป็นฟังก์ชั่นหลากหลายที่เพิ่มความสนุกสนานในการร้อง เช่น มีเสียงเอฟเฟกต์ปรบมือร้องเชียร์ให้กดเล่นตอนเพื่อนร้องเพลง ใส่เอฟเฟกต์เปลี่ยนเสียงร้องเป็นชายหญิงหรือมนุษย์ต่างดาว ระบบให้คะแนน แถบบอกคีย์เสียง ระบบล็อกอินเก็บเพลงที่ชอบ แล้วยังสามารถแข่งขันคะแนนกับเพื่อนหรือผู้ใช้คนอื่นๆ ทั่วประเทศได้ด้วย

พอมันมีคะแนนบอกมันก็เหมือนมีตัวชี้วัดให้รู้ว่าเราร้องได้แค่ไหน คราวหน้าจะได้พยายามร้องให้คะแนนสูงกว่าเดิม ที่สำคัญคือพอมีแถบคีย์บอกก็ทำให้ร้องเพี้ยนน้อยลงด้วย

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

อีกหนึ่งบริการที่เห็นบ่อยในร้านคาราโอเกะและร้านแฟมิลีเรสโตรองต์คือ ดริงก์บาร์ (Drink Bar) โซนเครื่องดื่มบริการตัวเองแบบไม่อั้น ส่วนใหญ่เป็นซอฟต์ดริงก์อย่างโคล่า น้ำอัดลม คาลพิส (ชอบมาก!) กาแฟร้อน ชาเป็นซอง บางที่จะมีเครื่องดื่มรสซุปข้าวโพดร้อนด้วย ซดแล้วอุ่นคอดี

ร้านคาราโอเกะบางเจ้าอย่าง มาเนกิเนโกะ (Manekineko) เค้าอนุญาตให้เราเอาของกินที่ซื้อจากข้างนอกเข้าไปกินข้างในได้ตามสบายด้วย ขอแค่เป็นอะไรที่ไม่มีกลิ่นรุนแรงก็พอ ส่วนตัวที่ซื้อเข้าไปกินบ่อยสุดก็คือเบอร์เกอร์ ใครขี้เกียจซื้อเองก็ไปสั่งเอาจากเมนูที่ร้านเค้ามีให้ได้ ทั้งทาโกยากิ พาสต้า เฟนช์ฟราย ข้าวหน้าหมูทอดราดแกงกะหรี่ยังมีเลย!

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

สำหรับชาวญี่ปุ่นบางคนคาราโอเกะเป็นเหมือนหนึ่งในสถานที่ปลดปล่อยความเครียดจากชีวิตประจำวัน อยากจะแหกปากตะโกนร้องเท่าไหร่ก็ได้ และยังเป็นเหมือนที่สังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน อย่างของที่ออฟฟิศ MATCHA ก็เคยรวมตัวกันไปร้องคาราโอเกะ แต่ละคนนี่ร้องเก่งๆ ทั้งนั้น

ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเลือกใส่เพลงกันคนละเพลงแล้วร้องเพลงใครเพลงมัน เพื่อนๆ อาจช่วยร้องบ้างท่อนคอรัส ซึ่งก็เหมือนกับที่ไทยนะ แต่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้คุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นที่ไปอยู่ออสเตรเลียมา เค้าบอกว่าคาราโอเกะที่นู่นคือไม่ว่าใครจะเป็นคนเลือกเพลง พอเพลงขึ้นปุ๊บทุกคนก็ร้องพร้อมกันหมดอยู่ดี เหมือนว่ามาเพื่อสนุกไปด้วยกัน ไม่รู้ว่าของประเทศอื่นเป็นยังไงกันบ้าง

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

ส่วนตัวแล้วเวลาไม่กี่ชั่วโมงในห้องคาราโอเกะเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ได้หลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรให้มากมาย จดจ่ออยู่กับเพลงตรงหน้าก็พอ พูดอีกแง่ก็เหมือนฝึกสมาธิอยู่เหมือนกัน

แล้วก็เหมือนเป็นคอร์สประจำที่พอร้องคาราโอเกะเสร็จจะต้องไปทานราเม็ง

ทงคตสึโชยุราเม็ง หอมกระดูกหมูถึงใจ

"ชอบอาหารญี่ปุ่นอะไรมากที่สุด" คือหนึ่งในคำถามที่คนต่างชาติอย่างเราโดนถามบ่อยที่สุด

ไม่ว่าจะโดนถามกี่ครั้งคำตอบก็คือ ทงคตสึโชยุราเม็งของร้านเซยะ พอตอบอย่างนี้ก็อาจโดนแซวกลับว่าราเม็งไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นซะหน่อย! ไม่เป็นไรเราถือว่าราเม็งเนี่ยถูกพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในอาหารญี่ปุ่นไปแล้ว

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

ครั้งแรกที่ได้ลองกินราเม็งของร้านเซยะ (Ramen Seiya) คือตอนปี 2008 ที่มาเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นถ้าพูดถึงราเม็งในเมืองไทยทุกคนต้องนึกถึงร้านฮะจิบังราเม็ง เมนูก็เป็นโชยุราเม็ง มิโซะราเม็ง ชิโอะราเม็ง หรือทงคตสึราเม็งแบบเบสิค ซึ่งส่วนตัวแล้วรู้สึกว่ารสมันจืดเกินไปไม่ถึงใจ

พอได้มาลองกินราเม็งที่ร้านเซยะ แค่ซดน้ำซุปเข้าไปคำแรกเท่านั้นแหละ กลิ่นกระดูกหมูฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วปาก เกิดมาเพิ่งเคยได้รับรู้รสชาตินี้เป็นครั้งแรก แถมราคาถูกมาก ชามละ 500 เยน! เทียบกับร้านอื่นทั่วไปจะราคาประมาณ 700 - 800 เยนขึ้นไป

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

ตอนนั้นที่ไปกินประจำคือร้านเซยะสาขาคามาตะเพราะอยู่ใกล้โรงเรียนมาก หลังจากนั้นก็ลองสั่งท้อปปิ้งอื่นบ้างคือ เนกิราเม็ง มีเพิ่มต้นหอมซอยโปะมาข้างบน และก็เป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่ได้รู้จักกับ ชิรากะเนกิ (Shiraganegi)

ชิรากะเนกิมาจากคำว่า
ชิรากะ (Shiraga : 白髪) แปลว่า ผมขาว
เนกิ (Negi : ねぎ) แปลว่า ต้นหอม

ถ้าดูจากรูปก็น่าจะเข้าใจที่มาของชื่อนี้ มันคือต้นหอมญี่ปุ่นซอยเป็นฝอยจนดูเหมือนผมขาวนั่นเอง ร้านเซยะจะคลุกกับพริกให้ออกรสเผ็ด มันอร่อยมาก มากจนหลังจากนั้นสั่งแต่เนกิราเม็งมาตลอดเลย

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

เส้นแบบปกติจะเป็นเส้นใหญ่ เรียกว่าฟุโตเม็ง (Futomen : 太麺) แต่ก็สามารถเลือกสั่งเป็นเส้นเล็ก โฮโซะเม็ง (Hosomen : 細麺) ได้ แต่อยากแนะนำเส้นใหญ่มากกว่า รู้สึกถูกปากกว่า

และที่พิเศษสำหรับร้านทงคตสึโชยุราเม็งสไตล์นี้คือสามารถเลือกปรับแต่งรสชาติได้ด้วย!
รสชาติ (Aji : 味) :
อ่อน (Usume : うすめ) / ธรรมดา (Futsu : 普通) / เข้มข้น (Koime : 濃いめ)
น้ำมัน (Abura : 油) :
น้อย (Sukuname : 少なめ) / ธรรมดา (Futsu : 普通) / เยอะ (Ome : 多め)
เส้น (Men : 麺) :
นิ่ม (Yawame : やわめ) / ธรรมดา (Futsu : 普通) / แข็ง (Katame : かため)

ปกติจะเลือกไม่สั่งอะไรเป็นพิเศษ ก็คือเอาแบบธรรมดาหมดเลยเพราะรู้สึกว่ากำลังดีแล้ว

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

ราเม็งเซยะ สาขาชิโมซะนาคายามะ

ราเม็งแบบทงคตสึโชยุราเม็งนี้มีอีกชื่อเรียกว่า อิเอะเค (Ie-kei Ramen : 家系) หรือ โยโกฮาม่าราเม็ง (Yokohama Ramen) เพราะผู้คิดค้นราเม็งสูตรนี้คือร้านราเม็งโยชิมุระยะ ในเมืองโยโกฮาม่า

ถึงหลังๆ มาจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปแถวคามาตะ แต่ก็โชคดีที่แถวชิบะที่อยู่ตอนนี้มีร้านราเม็งเซยะ สาขาชิโมซะนาคายามะ เลยไปกินได้ไม่ยาก ลองดูสาขาอื่นๆ ได้จากเว็บไซต์ของร้านราเม็งเซยะ

ทำอะไรในวันหยุดที่ญี่ปุ่น ร้องคาราโอเกะแล้วตบด้วยทงคตสึโชยุราเม็ง

พอกินราเม็งเซยะทีไรก็เหมือนได้ระลึกความหลังสมัยที่มาเรียนญี่ปุ่นใหม่ๆ ยังไงยังงั้น อิ่มใจและอิ่มท้องในคราวเดียวกัน แค่นี้ก็เหมือนได้ชาร์จพลังเตรียมพร้อมรับสัปดาห์ใหม่แล้ว!

บทความโดย

TeiChayangkul

อาหารญี่ปุ่นที่ชอบที่สุดคือราเม็งทงคตสึโชยุ เข้มข้นและเค็ม! ส่วนขนมขอยกให้มิตาราชิดังโกะ เห็นที่ไหนต้องแวะซื้อตลอด ว่างๆ ก็ออกไปถ่ายรูปบ้างพอให้มีอะไรที่เรียกว่าเป็นงานอดิเรก
more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ