Start planning your trip
เลือกซื้อชาญี่ปุ่นกับร้านที่รู้จริง โอคุมูระเอ็น
หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบและต้องการพบกับชาญี่ปุ่นนานาชนิด เราขอแนะนำ ร้านน้ำชา "โอคุมูระเอ็น" ในโตเกียว ร้านที่รวบรวมใบชาหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อ และยังมีเวิร์คชอปแนะนำเทคนิคการชงชาให้ได้รสดีที่สุดโดยผู้เชี่ยวชาญด้านชาอีกด้วย ในบทความนี้เราจะเจาะลึกเรื่องของชาญี่ปุ่นตามแบบฉบับของร้านชาค่ะ
ชาญี่ปุ่นรสเลิศนั้นอยู่ที่ไหน
ทุกคนซื้อชาญี่ปุ่นจากที่ไหนกันคะ
หลายๆ คนคงจะเลือกซื้อชาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่วางขายถุงละ 100 กรัม บางคนอาจจะซื้อจากร้านขายของฝากตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือซื้อทางช่องทางออนไลน์
ในญี่ปุ่นนั้นคนส่วนใหญ่มักจะดื่มชาเป็นประจำในทุกๆ วัน เราจะพบเห็นร้านขายชาได้มากมายอยู่ทั่วไปตามท้องถนน เคยสงสัยกันมั้ยคะว่าใบชาที่วางขายในร้านขายชานั้นแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร
ในครั้งนี้เราจะพาไป โอคุมูระเอ็น (Okumuraen) ร้านขายใบชาในโตเกียวที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านชาเพื่อฟังคำแนะนำและเทคนิคการเลือกซื้อใบชาค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
โอคุมูระเอ็น ร้านขายชาบนถนนร้านค้าในโตเกียว
โอคุมูระเอ็น ตั้งอยู่บนถนนร้านค้าเซกิบาระ ซันโจเมะ ในเขตอาดาจิทางตอนเหนือของโตเกียว หากจะเล่าถึงประวัติความเป็นมาของร้านนี้ ก็คงต้องย้อนไปไปไกลถึงยุคสมัยไทโช
แต่ก่อนร้านชาโอคุมูระเอ็นจะขายเฉพาะชาญี่ปุ่นที่ปลูกในเมืองโมริ จังหวัดชิซุโอกะเท่านั้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทางร้านได้นำชาจากเมืองอื่นจังหวัดอื่นมาขายด้วย
"เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อชา ทางร้านจึงนำใบชาชนิดอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมค่ะ" คุณโอคุมูระ ผู้จัดการร้านเล่าถึงจุดเริ่มต้น
คุณโอคุมูระได้รับใบอนุญาตผู้เชี่ยวชาญด้านชาญี่ปุ่น ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตนี้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้หลากหลายและกว้างขวางเกี่ยวกับชา ทั้งวิธีชงชาแต่ละประเภทให้ได้รสดีที่สุด วิธีผลิตชาประเภทต่างๆ จุดเด่นของใบชาในแต่ละภูมิภาค ไปจนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชา
ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ คุณโอคุมูระได้เล่าเรื่องของฉะสึโบะ ไหเก็บใบชาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยเอโดะให้เราฟังด้วย
ไหเก็บใบชากับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ด้านหลังของเคาน์เตอร์ร้านชาโอคุมูระเอ็นเรียงรายไปด้วยไหดินเผาที่เรียกกันว่า ฉะสึโบะ (茶壷) กล่าวกันว่าญี่ปุ่นในสมัยก่อนนั้นจะใช้ไหแบบนี้เก็บใบชาหรือใช้ในการขนส่งใบชาไปยังที่ต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งใบชาเป็นเครื่องบรรณาการให้รัฐบาลเอโดะจะเรียกว่า ฉะสึโบะโดจู
การเก็บเกี่ยวใบชาเพื่อส่งไปให้รัฐบาลเอโดะนั้น จะเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยจะเก็บเกี่ยวใบชาจากแหล่งผลิตชาที่เป็นที่นิยม เช่น เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโต และจังหวัดชิซุโอกะ เมื่อเก็บใบชาลงในไหจนเต็มแล้ว จะนำไหเก็บใบชานี้ไปเก็บไว้ในที่อากาศเย็นอย่างเช่นที่เชิงภูเขาไฟฟูจิ เชื่อกันว่าสภาพภูมิอากาศที่เย็นจะทำให้รสชาติของชาดียิ่งขึ้น
จากนั้นเมื่อถึงเวลานำใบชาไปส่งมอบ ผู้คนจะรวมตัวกันเป็นขบวนและเดินเท้าไปยังที่ตั้งของรัฐบาลเอโดะ (ปัจจุบันคือจังหวัดโตเกียว)
ปัจจุบันที่เมืองสึรุ จังหวัดยามานาชิ และเมืองชิโอจิริ จังหวัดนากาโนะ มีการจัดงานเทศกาลและจำลองการขนส่งใบชาในสมัยก่อนให้ชมกัน ใบชาที่ดีที่สุดสำหรับท่านโชกุนตำแหน่งสูงสุดจะถูกบรรจุอย่างปราณีตในกระป๋องเก็บชาลวดลายแบบญี่ปุ่น และวางลงตรงกลางไหเก็บใบชา ส่วนใบชาที่เหลือนั้นจะบรรจุลงรอบๆ
ภาพบรรยากาศของขบวนส่งใบชาได้รับการร้อยเรียงเป็นบทเพลง ปัจจุบันก็ยังถูกร้องเป็นเพลงกล่อมเด็กด้วย
5 ข้อดีของการซื้อชาในร้านเฉพาะทาง
ต่อจากเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ของชา เราไปดูเหตุผลที่เราควรซื้อชาจากร้านขายชากันค่ะ
1. สามารถเลือกซื้อตามความชอบส่วนตัวและโอกาสในการดื่ม
หากคุณกำลังตามหาชาสำหรับดื่มควบคู่กับอาหารแต่ละมื้อ หรือชาสำหรับต้อนรับคนสำคัญในโอกาสพิเศษ หรือชาสำหรับเวลาที่ต้องการสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสไหน ร้านขายชาเฉพาะทางจะช่วยแนะนำชาที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้ โดยทางร้านจะเลือกจากประเภทของชาและลักษณะเฉพาะของชาจากแต่ละพื้นที่ปลูก
ร้านชาจึงเป็นสถานที่และโอกาสอันดีที่จะได้พบกับชาอันแสนอร่อย ตรงกับความชอบและความต้องการค่ะ
2. เรียนรู้วิธีชงชาที่ถูกต้องเพื่อรสชาติที่ดีที่สุด
ภาพจากบทความ เวิร์คช็อปเรียนรู้วิถีการชงชาญี่ปุ่นที่นิชิอาไร
ด้านในของร้านจะมีพื้นที่สำหรับนั่งดื่มชา เราสามารถนั่งพักดื่มชากินขนมกันได้ตรงนี้ และพื้นที่ตรงนี้ยังใช้จัดเวิร์คชอปเพื่อเรียนรู้วิธีการชงชาญี่ปุ่นด้วย
ทุกคนทราบกันมั้ยคะว่าอุณหภูมิน้ำร้อนและเวลาที่เหมาะสมในการชงชาญี่ปุ่นแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน เพื่อให้เราสามารถดึงความดีงามของชาที่เราเลือกออกมาให้มากที่สุด อย่าลืมให้ทางร้านแนะนำวิธีการชงนะคะ หรือหากต้องการดื่มชาที่เน้นความสะดวก ชงได้ง่าย ทางร้านก็สามารถแนะนำให้ได้เหมือนกัน
3. ทางร้านจะแบ่งใบชาใส่ถุงเล็กๆ เพื่อคงความสดใหม่
เมื่อสัมผัสกับอากาศเป็นเวลานาน ใบชาจะสูญเสียความสดใหม่ และน้อยคนมากๆ ที่จะใช้ใบชาปริมาณ 100 กรัมหมดในเวลาสั้นๆ
ดังนั้นร้านชาโอคุมูระจะแบ่งใบชาใส่ถุงเล็กๆ ให้ ทีนี้เราก็จะสามารถเก็บรักษาความสดใหม่ของใบชา และสามารถดื่มชาที่สดใหม่รสชาติดีได้เสมอ
ถุงแบ่งชาของทางร้านจะมีให้เลือก 2 ลาย โดยเป็นลายออริจินอลหรูหราสวยงามสไตล์ญี่ปุ่น ทางร้านจะตวงน้ำหนักของใบชา แบ่งใส่ถุงแล้วปิดซีลให้ในปริมาณที่เราต้องการ แพกเกจจิ้งน่ารักแบบนี้ เหมาะสำหรับซื้อเป็นของฝากให้เพื่อนๆ ด้วยค่ะ
4. มีอุปกรณ์ชงชา ดื่มชาที่น่าสนใจให้เลือกซื้อ
ป้านชา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคนที่ต้องการชงชาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ภายในร้านมีป้านชาจากภูมิภาคต่างๆ ให้เลือกมากมาย มีทั้งแบบที่ใช้งานง่ายเหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันในราคาที่ย่อมเยา และแบบที่ผลิตมาอย่างสวยงามสำหรับมอบเป็นของขวัญ
นอกจากนี้กระป๋องสำหรับบรรจุใบชาก็เป็นที่นิยมค่ะ มีลายต่างๆ ให้เลือกมากมายทั้งสไตล์ญี่ปุ่น ลายตาราง ขนาดและลักษณะบรรจุภัณฑ์ก็มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ถ้าอุปกรณ์ครบมือ การดื่มชา ชงชาในแต่ละวันก็จะสนุกมากขึ้นแน่นอนค่ะ
5. เลือกซื้อชาพิเศษตามฤดูกาล
นอกจากใบชาแบบปกติของทางร้านแล้ว ยังมีใบชาพิเศษตามฤดูกาลให้เลือกซื้อด้วยค่ะ ในแต่ละครั้งที่มาที่ร้านจะพบกับชาชนิดพิเศษที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล หากเป็นฤดูใบไม้ผลิจะเป็นชาที่ผสมกับใบของซากุระเมื่อดื่มจะได้ความรู้สึกสดชื่น หรือหากมาในฤดูใบไม้ร่วง จะเป็นชาที่เข้ากับขนมประจำฤดูกาลอย่างขนมที่มีส่วนผสมของเกาลัดหรือมันอิโมะได้ดี
นอกจากนี้ยังมีเซ็ตกล่องของขวัญที่บรรจุใบชาหลายหลายประเภท ชาคุณภาพดีเยี่ยมในแพ็คเกจลวดลายญี่ปุ่นที่สวยงามจะทำให้ผู้รับประทับใจแน่นอน
ร้านชาจะทำให้การดื่มชาเป็นเรื่องสนุก
หากอยากรู้ว่าชาที่รสชาติอร่อยสุดๆ นั้นเป็นอย่างไร การชิมชาหลายๆ ประเภทจากหลากหลายแหล่งผลิตคือคำตอบ รวมถึงการไปร้านชาและให้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายถึงความแตกต่างของใบชาตามวิธีการปลูกและแหล่งเพาะปลูก
พอได้รู้เรื่องเกี่ยวกับใบชามากขึ้น เราก็จะสนุกและเพลิดเพลินกับการดื่มชาได้มากขึ้นแน่นอนค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
In cooperation with Chasho Okumuraen
เป็นบรรณาธิการที่ MATCHA ตั้งแต่ปี 2016 ความหลงใหลของฉันในละครโนะและศิลปะการแสดงของประเทศญี่ปุ่นคือสิ่งที่นำฉันมาที่นี่ เรื่องทุกอย่างที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นทุกวันคือสิ่งที่ทำให้ฉันอยู่ที่นี่
ฉันเรียนรู้การจัดดอกไม้อิเคบานะ (Ikenobo School) และพิธีสามัคคี (Omote Senke) ตั้งแต่ปี 2012 งานเขียนเรื่องสั้นและบทวิจารณ์ละครที่ฉันเขียนนอกเวลาทำงานสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์วรรณกรรมรวม "บังกุ คิงโย"
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง