Start planning your trip

พูดถึงชาของประเทศญี่ปุ่นแล้ว บางทีเราจะเรียกรวมแต่ชาเขียวๆ แต่จริงๆ ชาญี่ปุ่นมีหลากหลายประเภททั้งมัทฉะ เซ็นฉะ โฮจิฉะ และอื่นๆ มาดูกันว่าชาแต่ละแบบเป็นอย่างไรและมีชื่อว่าอะไรกันบ้าง!
ในญี่ปุ่นมีเครื่องดื่มมากมายที่เรียกว่า "ชา" ทว่าแม้แต่คนญี่ปุ่นหลายคนเองก็ยังไม่สามารถอธิบายความแตกต่างของเครื่องดื่มเหล่านั้นได้ แถมบางครั้งเครื่องดื่มที่เรียกว่า "ชา" หรือมีตัวอักษรว่า "茶" อยู่ในชื่อนั้นกลับไม่มีส่วนผสมของใบชาเลยด้วยซ้ำ
ในบทความนี้เราจะขออธิบายเครื่องดื่มชาญี่ปุ่นต่างๆ ที่ดูเผินๆ แล้วก็เหมือนๆ กัน แต่แท้จริงแล้วเป็นชาคนละอย่าง มีความแตกต่างกันมากมาย
มาเรียนรู้ไว้อร่อยกับชาและใช้ช่วยเลือกเวลาหาซื้อชาตามร้านต่างๆ กันนะคะ
ชาเขียว หรือ Green Tea เป็นขื่อเรียกรวมของชาประเภทหนึ่ง ชาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็คือชาเขียนี่ล่ะ คำว่า "ชาเขียว" นั้นหมายถึงการนำใบจากต้นชาไปผ่านความร้อน แต่จะไม่มีกระบวนการหมัก บางครั้งเรียกกันว่า "ชาที่ไม่ได้ผ่านการหมักบ่ม (Unfermented tea)"
มัทฉะคือชาที่ปลูกโดยจำกัดแสงสว่าง จากนั้นทำใบชาให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงด้วยโม่หิน มีกลิ่นสดชื่นเฉพาะตัว ชามัทฉะที่คุณภาพดีจะยิ่งมีกลิ่นหอมและความอร่อยจากอุมามิ
ชาชนิดนี้ก็คือชาที่ใช้ชงต้อนรับแขกในห้องพิธีชงชาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า "พิธีชงชา" นั่นเอง
ในบรรดาชาเขียวทั้งหมด "เซ็นฉะ" ถือเป็นชาที่ดื่มกันเยอะและอยู่ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ผลิตโดยเด็ดใบชามานึ่ง แล้วนวดพลางทำให้แห้ง รสชาติมีความสมดุลย์ระหว่างความอร่อยและความขม ให้ความรู้สึกสดชื่นเวลาดื่ม
ชาเขียวเกียคุโระถือเป็นชาชั้นสูงซึ่งผลิตโดยการควบคุมปริมาณแสงที่ต้นใบชาจะได้รับเหมือนกับการผลิตมัทฉะ มีจุดเด่นที่ความหวานละมุนกลมกล่อม และมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าเมื่อเทียบกับชาประเภทอื่น
โฮจิฉะผลิตโดยการนำใบชาผ่านความร้อนสูงหรือการคั่วใบชาให้กลิ่นยิ่งหอมหวลนั่นเอง กระบวนการคั่วทำให้ปริมาณคาเฟอีนลดลงอีกด้วย จึงได้รสชาติเบาๆ ไม่ขมมาก ดื่มง่าย
เก็นไมฉะ คือ ชาข้าวคั่ว ทำจากการนำข้าวนึ่งแล้วไปคั่ว ก่อนนำไปผสมกับใบชาอย่างเซ็นฉะในอัตราส่วนเท่าๆกัน จุดเด่นของชานี้คือความหอมของข้าวคั่ว ชาเก็นไมมีใบชาน้อยกว่าประเภทอื่นจึงมีคาเฟอีนน้อยด้วย
ชาบังฉะต่างจากชาอื่นที่ไม่ได้ผลิตจากใบชาอ่อน มีวิธีการผลิตต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เมื่อชงแล้วมีทั้งแบบที่ได้น้ำชาสีเขียวและแบบที่ได้ชาสีน้ำตาล
นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ที่เรียกกันว่า "ชา" แต่ถูกเรียกว่าชารวมถึงมักถูกจัดอยู่ในประเภทของชา แม้จะไม่ได้มีส่วนผสมของใบชา
เนื่องจากไม่ได้ใช้ใบชา จึงไม่มีคาเฟอีน
ชามุกิคือ "ชาข้าวบาร์เลย์" เป็นเครื่องดื่มชาอีกอย่างที่ดื่มกันบ่อยมากในญี่ปุ่นไม่ต่างจากชาเขียวเซ็นฉะ โดยนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์ไปคั่ว สามารถดื่มได้ทั้งชงน้ำร้อนหรือแช่ในน้ำเย็น มีปริมาณแร่ธาตุมาก จึงเป็นเครื่องดื่มเย็นๆ ยอดนิยมในฤดูร้อนที่เสียเหงื่อเยอะ
คมบุฉะ คือ ชาสาหร่ายคมบุ ผลิตโดยการนำสาหร่ายคมบุไปทำให้แห้ง แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือบดเป็นผง ชงใส่น้ำร้อนดื่มเป็นชา
ชาสาหร่ายคมบุมีแบบผสมเกลือเล็กน้อย หรือผสมเนื้อบ๊วยตากแห่งเรียกว่า "อุเมะคมบุฉะ (Ume Kombu-cha)" หรือชาสาหร่ายคมบุและบ๊วยเป็นชายอดนิยมในญี่ปุ่นเช่นกัน จุดเด่นของชานี้คือรสเค็มอ่อนๆ
วะโคฉะ หมายถึงชาฝรั่ง (โคฉะ) ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นจากต้นชาประเภทเดียวกับที่ใช้ผลิตชาเขียว มีรสฝาดน้อย ได้รสอ่อนๆ กลมกล่อม
เมื่อเทียบกับชาเขียวแล้วยังมีปริมาณการผลิตน้อยกว่า จึงมักหาซื้อได้แค่ในร้านเฉพาะทางด้านชาเป็นหลัก
หากลองไปเยือนร้านที่เชี่ยวชาญด้านชาโดยเฉพาะ เราจะได้พบกับชามากมายหลากหลายประเภทพจากทั่วประเทศ ในปัจจุบันนี้นอกจากชาเขียวแล้วยังมีชาแบบอื่นๆ อย่างชาสมุนไพรอีกด้วย
ถ้าหากรู้ถึงความแตกต่างของชาขั้นพื้นฐานเรียบร้อย ต่อไปก็ได้เวลากระโดดเข้าไปอร่อยและสนุกในโลกแห่งชาญี่ปุ่นอันลึกซึ้งต่อแล้วล่ะ!
All Photos by Pixta
บทความโดย
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก