เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

คาบูกิ ดูไม่ยากอย่างที่คิดที่โรงละครคาบูกิซะ ย่านกินซ่า (Kabukiza Theatre, Ginza)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

คาบูกิ (Kabuki) การแสดงที่มีประวัติยาวนานกว่า 400 ปี หลายคนอาจรู้สึกว่าคาบูกิเข้าถึงยาก แต่จริงๆ แล้วไม่ยากอย่างที่คิดเลย เราจะขอแนะนำวิธีการไปชมคาบูกิได้ง่ายๆ ที่โรงละครคาบูกิซะ ย่านกินซ่ากลางเมืองโตเกียวนี่เอง

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

ถ้ามาเที่ยวญี่ปุ่น ต้องไปชมคาบูกิให้ได้สักครั้ง!

คาบูกิ (Kabuki) ศิลปะการแสดงเก่าแก่อย่างหนึ่งของญี่ปุ่น หลายคนถึงจะไม่เคยดูของจริงแต่ก็ต้องเคยได้ยินชื่อผ่านหูกันมาบ้างอย่างแน่นอน

เชื่อไหมครับถ้าจะบอกว่าคาบูกิคือศิลปะการแสดงเก่าแก่ที่น่าจะหาดูได้ง่ายที่สุดในญี่ปุ่น ถ้าใครที่มาเที่ยวโตเกียวแล้วอยู่ๆ เกิดรู้สึกอยากลองไปชมละครคาบูกิดูสักครั้งขึ้นมา ขอให้ไปที่โรงละครคาบูกิซะเลยครับ มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะมีคาบูกิให้เราได้ดู แถมยังเป็นทีมนักแสดงระดับแนวหน้าของญี่ปุ่นด้วย

ครั้งนี้จะขอมาสาธยายเรื่องราวเกี่ยวกับคาบูกิให้ทุกคนได้ฟัง ตั้งแต่วิธีซื้อตั๋ว ความน่าสนใจของคาบูกิ เวลาดูควรสนใจอะไรตรงไหนเป็นพิเศษ ถึงจะมาดูเป็นครั้งแรกก็สนุกได้แน่นอนครับ

สารบัญ

1. คาบูกิซะ คืออะไร
2. รอบการแสดง รอบกลางวัน - รอบเย็น
3. วิธีซื้อตั๋วเข้าชม
        - ตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์
        - ซื้อตั๋วล่วงหน้า ได้ดูแน่นอน
4. เข้าสู่โรงละคร มีทั้งของฝาก ของกิน
5. ดูยังไงให้สนุก
        - G-marc Guide เครื่องบรรยายบทภาษาอังกฤษ
        - นักแสดงชื่อดังเด่นๆ
6. มารยาทในการชม
7. การเดินทางไปคาบูกิซะ

1. คาบูกิซะ คืออะไร

นี่คือคาบูกิซะ (Kabukiza Theatre) ในกินซ่า โตเกียว เป็นโรงละครสำหรับแสดงคาบูกิโดยเฉพาะ มีที่นั่งทั้งหมด 1,808 ที่นั่ง กินพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 - 4 เลย

ในญี่ปุ่นยังมีโรงละครคาบูกิอยู่อีกหลายที่ เช่น โอซาก้า, นาโกย่า, เกียวโต และฟุกุโอกะ แต่มีแค่ที่คาบูกิซะของโตเกียวเท่านั้นที่มีการแสดงแทบจะทุกวันตลอดทั้งปี เฉลี่ยแล้วในหนึ่งเดือนจะมีการแสดงประมาณ 25 วัน

ใบบรรดาโรงละครคาบูกิทั้งหมด คาบูกิซะถือเป็นโรงละครระดับใหญ่ที่สุด และยังมาดูได้ง่ายที่สุดด้วย

2. รอบการแสดง รอบกลางวัน - รอบเย็น

รอบการแสดงที่คาบูกิซะจะแบ่งเป็นรอบกลางวัน (Matinee) และรอบเย็น (Evening Show) บางเดือนก็มีถึง 3 รอบ การแสดงแต่ละรอบจะใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง รอบกลางวัน 11:00 - 15:00 รอบเย็น 16:30 - 20:30 (เวลาโดยประมาณ)

ไปดูทีต้องใช้เวลาตั้ง 4 ชั่วโมง! จริงๆ แล้วคือระหว่างการแสดงจะมีช่วงพักราว 15 - 30 นาทีระหว่างองก์ รวมแล้วเลยใช้เวลานาน แต่ก็ทำให้มีเวลาได้พักยืดแข้งยืดขาเข้าห้องน้ำ

ในแต่ละรอบจะมีทั้งแบบที่เป็นการแสดงเรื่องเดียวทั้งรอบ และการแสดงหลายๆ เรื่องรวมกันในหนึ่งรอบ ถ้าเป็นการแสดงหลายเรื่องในหนึ่งรอบจะมีการเลือกละครที่เรื่องราวแตกต่างกัน เช่น เรื่องที่เน้นการร่ายรำ เรื่องที่เน้นความตลกโปกฮา หรือเรื่องแบบดั้งเดิมมาแสดง เพราะงั้นไม่มีเบื่อแน่นอน

3. วิธีซื้อตั๋วเข้าชม

ตั๋วเข้าชมคาบูกิจะแบ่งออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ ตั๋วล่วงหน้า, ตั๋ววันจริง และตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์

ตั๋วล่วงหน้าและตั๋ววันจริงจะมีให้เลือกระหว่างรอบกลางวัน (Matinee)และรอบเย็น (Evening Show) ส่วนตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จะให้เลือกการแสดงเฉพาะองก์ที่อยากดูหนึ่งองก์เท่านั้น เดี๋ยวขอเริ่มอธิบายจากตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ที่มาดูได้ง่ายที่สุดกันครับ

ตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์

ใครที่อยากจะลองแว่บมาดูคาบูกิแบบเร็วๆ ไม่ต้องใช้เวลานานก็ขอแนะนำเป็นตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ (Single Act Tickets)

ตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จะสามารถเลือกชมการแสดงเฉพาะองก์ที่เราสนใจจากการแสดงรอบกวางวันและเย็นได้ เช่น การแสดงรอบกลางวันที่มี 4 องก์ ถ้าซื้อตั๋วแบบตั๋วล่วงหน้าและตั๋ววันจริงเราก็ต้องดูให้ครบทั้ง 4 องก์ แต่ถ้าเป็นตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ก็เลือกดูองก์ใดองก์หนึ่งจาก 4 องก์นั้นได้เลย

เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาไม่มาก หรืออยากมาลองดูให้รู้ว่าคาบูกิเป็นยังไงครับ

ใกล้ๆ กับจุดขายตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จะมีราคาและตารางเวลารอบการแสดงของเดือนนั้นๆ ให้ดู
เวลาที่เป็นตัวอักษรสีแดงคือเวลาเริ่มขายตั๋ว เวลาที่เป็นตัวอักษรสีดำคือเวลาแสดง

ราคาของตั๋วจะต่างกันตามความยาวของการแสดงองก์นั้นๆ ถือว่าถูกกว่าดูการแสดงเต็มเรื่องเยอะอยู่เหมือนกัน องก์ที่ถูกที่สุดราคาแค่ประมาณ 600 - 700 เยนเอง!

ตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จองไม่ได้นะครับ ต้องไปซื้อวันต่อวันเท่านั้น

ถ้าเป็นละครเรื่องดังๆ ล่ะก็จะมีคนมาต่อคิวรอซื้อตั๋วกันตั้งแต่ก่อนเปิดขายตั๋วเสียอีก

หลายๆ คนก็มานั่งต่อคิวรอเวลาเริ่มขายตั๋ว ตรงนี้จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลอยู่ ถ้าไม่เข้าใจอะไรตรงไหนก็ถามได้ครับ มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อยู่

เวลาเริ่มจำหน่ายตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จะเปลี่ยนไปทุกเดือน ส่วนใหญ่การแสดงองก์แรกของรอบกลางวันจะเริ่มขายเวลา 10:30

เคาน์เตอร์สำหรับซื้อตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ที่ชั้น 4

เมื่อได้เวลาเริ่มขายตั๋ว เราจะขึ้นลิฟต์สำหรับคนที่จะดูแบบองก์เดียวโดยเฉพาะที่อยู่ข้างประตูใหญ่ด้านหน้าไปยังชั้น 4 แล้วซื้อตั๋วกับพนักงานตรงเคาน์เตอร์ครับ

จุดชมการแสดงหนึ่งองก์จะเป็นที่นั่งแบบเก้าอี้ 90 ที่และยืนชมอีก 60 ที่รวมเป็น 150 ที่ ส่วนใหญ่ถ้ามาเข้าคิวรอก่อนเวลาขายตั๋วก็มักจะได้เข้าแน่นอนครับ แต่ถ้าเป็นละครเรื่องดังๆ ล่ะก็โอกาสตั๋วหมดก็เยอะครับ บางองก์แสดงตอนบ่ายแต่มารอเข้าคิวตั้งแต่เช้าก็มีครับ

ตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์

ตอนที่ซื้อตั๋วพนักงานจะแจ้งเวลารวมตัวให้ พอถึงเวลาก็มารวมตัวกันที่ชั้น 4 อีกครั้งเพื่อเข้าที่นั่งตามลำดับครับ

ตัวเลขที่เห็นบนตั๋วนั่นไม่ใช่เลขที่นั่งนะครับ แต่เป็นเลขลำดับเข้าโรงละคร

จุดเข้าแถวตามลำดับที่ชั้น 4

เวลทีเมื่อมองจากที่นั่งสำหรับตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์  Picture courtesy of Kabuki Za Co., Ltd.

ที่นั่งสำหรับตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์จะอยู่ชั้นบนสุด ถ้าดูด้วยตาเปล่าอาจจะเห็นไม่ค่อยชัด ถ้าใช้แว่นตาโอเปร่าจะทำให้เห็นชัดขึ้นครับ (มีจำหน่ายที่ร้านค้าของโรงละคร)

สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับละครที่แสดงอยู่ได้ที่เว็บไซต์ทางการ KABUKI WEB ครับ

ซื้อตั๋วล่วงหน้า ได้ดูแน่นอน

ที่นั่งผู้ชมเมื่อมองจากบนเวที  Picture courtesy of Kabuki Za Co., Ltd.

ตั๋วล่วงหน้าสามารถซื้อได้ที่เว็บไซต์ทางการ KABUKI WEB ครับ

ตั๋วจะเริ่มขายล่วงหน้าก่อนวันแสดงจริง 12 วัน ถ้าเป็นเรื่องที่มีนักแสดงชื่อดังเล่นก็มักจะขายหมดเร็วมาก ถ้ามีแผนอยากจะไปดูก็ลองเช็คจำนวนที่นั่งที่เหลืออยู่จากเว็บไซต์ได้เลยครับ

ราคาตั๋วจะแบ่งตามที่นั่งนี้ครับ

ประเภทที่นั่ง ตำแหน่ง ราคา (เยน)
Box Seat สองฝั่งของชั้น 1 20,000
First Class ชั้น 1 (แถว 1 - 16) ชั้น 2 (แถว 1 - 7) เป็นต้น 18,000
Second Class ชั้น 1 (แถว 7 - 22) ชั้น 2 (แถว 8 - 9) เป็นต้น 14,000
Upper Tier A ชั้น 3 (แถว 1 - 6) เป็นต้น 6,000
Upper Tier B ชั้น 3 (แถว 7 - 10) เป็นต้น 4,000

ที่นั่งที่แพงที่สุดคือ Box Seat ราคา 20,000 เยน ที่นั่งที่ถูกที่สุดคือ Upper Tier B ราคา 4,000 เยน ต่างกันตั้ง 5 เท่าเลย

ที่นั่ง Box Seat ที่แพงที่สุดเพราะสะดวกสบายที่สุด อยู่ทั้งสองฝั่งของโรงละครชั้น 1 มีแค่ 20 คู่เท่านั้น (40 ที่) เข้าได้จากทางเข้าเฉพาะ มีน้ำชาบริการ ถ้าอยากทานข้าวกล่องก็จองล่วงหน้าได้ (มีค่าใช้จ่ายต่างหาก) ระดับที่นั่งจะยกขึ้นสูงกว่าที่นั่งปกติของชั้น 1 เพราะงั้นไม่โดนหัวคนอื่นบังแน่นอน

ที่นั่ง First Class จะเป็นที่นั่งแถวหน้าๆ ของชั้น 1 และ 2 ที่นั่ง Second Class จะเป็นที่นั่งแถวหลังๆ ของชั้น 1 และ 2

ที่นั่ง Upper Tier A และ B ถือว่ามีราคาย่อมเยาที่สุดเลยมักจะขายหมดเร็วที่สุดด้วย เป็นที่นั่งที่โอมุโค (*1) มักจะมาจับจองนั่งกัน ถ้ามีโอกาสได้ไปก็ลองดูนะครับว่าจะเจอคนที่ตะโกนชื่อ เช่น "นาริตะยะ!" "โคไรยะ!" ระหว่างการแสดงบ้างรึเปล่า

*1 : โอมุโค ... คนที่ตะโกนเรียกชื่อตระกูลของนักแสดงเมื่อนักแสดงปรากฎบนเวทีหรือเมื่อถึงจุดไคลแมกซ์

ฮานะมิจิเมื่อมองจากบนเวที  Picture courtesy of Kabuki Za Co., Ltd.

จุดที่อยากให้ระวังเวลาเลือกที่นั่งคือจากที่นั่งชั้น 2 และ 3 จะเห็นฮานะมิจิได้แค่ครึ่งทาง ฮานะมิจิคือทางเดินยาวที่เชื่อมต่อจากบนเวทีตรงเข้าไประหว่างที่นั่งของผู้ชม เป็นทางเดินที่นักแสดงใช้เวลาปรากฎตัวหรือออกจากฉาก

เวลาที่นักแสดงเดินผ่านบนฮานะมิจิก็ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของละครคาบูกิหลายๆ เรื่อง เพราะงั้นใครที่อยากดูแบบเต็มๆ ก็ขอแนะนำที่นั่งบนชั้น 1 ครับ ถึงราคาจะแพงหน่อยแต่การได้เห็นสีหน้าและท่วงท่าของนักแสดงใกล้ๆ ก็ช่วยเพิ่มอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวในละครได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ใครที่ซื้อตั๋วล่วงหน้า พอถึงวันจริงก็ให้มาที่เครื่องออกตั๋ว Ticket Dispenser แบบในรูป เสียบบัตรเครดิตที่ใช้ตอนลงทะเบียน แล้วเครื่องจะออกตั๋วจริงให้

เครื่องนี้ตั้งอยู่ที่ด้านซ้ายของประตูหน้า และชั้นใต้ดิน B2 (สถานีรถไฟใต้ดินฮิกาชิกินซ่า ทางออก 3 ใต้บันไดเลื่อน)

เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่ชั้นใต้ดิน B2

ถ้าไม่ได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าก็ต้องมาลุ้นกันว่าวันนั้นจะมีที่นั่งเหลือรึเปล่า ใครที่จะมาซื้อตั๋ววันจริงก็ให้ไปสอบถามที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วชั้นใต้ดิน B2 (สถานีรถไฟใต้ดินฮิกาชิกินซ่า ทางออก 3 ใต้บันไดเลื่อน) ดูครับ

4. เข้าสู่โรงละคร มีทั้งของฝาก ของกิน

ล็อบบี้ของคาบูกิซะ
คนที่มีตั๋วที่นั่งชั้น 1 - 3 ให้เข้าจากประตูใหญ่ด้านหน้าเลย ส่วนคนที่มีตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ให้ใช้ลิฟต์ด้านนอกที่ตรงขึ้นไปยังชั้น 4 เลย

ก่อนจะถึงเวลาเริ่มแสดงหรือช่วงพักระหว่างการแสดงก็ไปเดินเล่นข้างในโรงละครกันได้ครับ มีทั้งร้านของฝาก ขนม ของว่าง หรือใครกะจะมาทานมื้อหนักก็มีร้านอาหารให้เลือก

ถ้าเอาที่คนนิยมซื้อกันมากๆ ก็ต้องเมเดไทยากิที่ชั้น 3

ขนมไทยากิที่ใส่ดังโกะสีแดงและขาวไว้ข้างในด้วย แป้งหอมๆ ไส้อังโกะหวานๆ ตามมาด้วยโมจิหนุบหนับ ได้ทั้งรสชาติอร่อยและรสสัมผัสหลากหลายในชิ้นเดียว ขายดีจนของหมดทุกวัน ปริมาณอิ่มท้องกำลังดีเลย

ที่ชั้น 3 มีร้านขายของฝากเยอะเลย บางร้านมีให้ลองชิมด้วย ลองเดินหาของถูกใจกันได้ครับ

ถ้าเป็นร้านของฝากที่ชั้น 1 ก็จะมีสินค้าที่ระลึกของคาบูกิหลากหลายแบบ มีทำขนมปิ้งนิงเกียวยากิกันสดๆ เลย

ถ้าอยากซื้อข้าวกล่องเบนโตเอาไว้ทานช่วงพักการแสดงก็ได้ จะซื้อจากข้างนอกมาทานก็ไม่มีปัญหา การแสดงคาบูกิถือเป็นการแสดงรื่นเริงของชาวบ้านมาตั้งแต่ยุคเอโดะ แต่ก่อนทุกคนจะนั่งดูไปพลางทานอาหารกันไป แต่ยังไงก็ทานกันให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการแสดงจะเริ่มนะครับ

5. ดูยังไงให้สนุก

G-marc Guide เครื่องบรรยายบทภาษาอังกฤษ

G-marc Guide เครื่องบรรยายบทภาษาอังกฤษ
หลักๆ แล้วการมาดูละครคาบูกิคือการมาดูนักแสดงครับ แฟนๆ คาบูกิจะเลือกมาดูเรื่องที่มีนักแสดงที่ตัวเองชื่นชอบสวมบทบาทเป็น ทาจิยาคุ บทตัวละครชายที่มีท่วงท่าการแสดงแข็งแรงขึงขัง และอนนะกาตะ บทตัวละครหญิงที่มีกิริยาท่าทางอ่อนช้อยงดงามแม้จะแสดงโดยผู้ชาย

ถึงจะไม่เข้าใจบทพูดภาษาญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไร แค่อ่านเรื่องย่อในโบรชัวร์ (มีภาษาอังกฤษด้วย) ให้รู้เรื่องราวคร่าวๆ ว่ามีเรื่องราวเป็นยังไง มีจุดไคลแมกซ์ตรงไหนเอาไว้ก่อนก็เพียงพอที่จะดูให้สนุกได้ครับ

สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องให้มากกว่านั้นอีกก็ขอแนะนำเป็นเครื่องบรรยายบทภาษาอังกฤษ G-marc Guide ตัวเครื่องจะขึ้นบทพูดและคำอธิบายเรื่องราวให้ (มีแค่ภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษ) ค่าเช่าเครื่อง 500 เยน บวกกับค่าประกันเครื่องที่จะได้คืนตอนคืนเครื่องอีก 1,000 เยน (สำหรับผู้ที่ชมการแสดงหนึ่งองก์)

นักแสดงชื่อดังเด่นๆ

อย่างที่บอกว่าโรงละครคาบูกิซะถือเป็นโรงละครระดับใหญ่ที่สุด เลยมีนักแสดงคุณภาพระดับแนวหน้าออกแสดงเพียบ ลองมาดูรายชื่อนักแสดงชื่อดังที่เป็นที่นิยมกันไว้ ถ้าไปดูแล้วเจอชื่อนักแสดงเหล่านี้พอดีก็ถือว่าโชคดีมากครับ

อิชิคาวะ เอบิโซ (Ichikawa Ebizo)
นักแสดงที่มีเสน่ห์และความป๊อบปูล่าระดับท็อป ถ้าเจอละครที่เอบิโซแสดงล่ะก็แนะนำให้ดูให้ได้เลยครับ แต่ดังขนาดนี้ตั๋วก็มักจะหมดเร็ว ใครที่จะซื้อตั๋วชมการแสดงหนึ่งองก์ต้องรีบไปรอคิวกันหน่อยนะครับ

บันโด ทามะซาบุโร (Bando Tamasaburo)
ผู้ที่ได้รับการเรียกขานว่าสุดยอดของนักแสดงอนนะกาตะ (ตัวละครหญิง) แห่งยุค ท่วงท่าอันอ่อนช้อยแสนสวยงามสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมามากมาย ได้รับการเลือกเป็นปูชนียบุคคลของประเทศ

คาตาโอกะ นิซาเอมอน (Kataoka Nizaemon)
แม้จะมีอายุเกิน 70 ปีแล้ว แต่ความนิยมและความสามารถก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย เพียบพร้อมด้วย 3 คุณสมบัติทั้งร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้าคมคาย และเสียงทรงพลัง ได้รับเลือกเป็นปูชนียบุคคลของประเทศเช่นกัน

มัตสึโมโตะ โคชิโร (Matsumoto Koshiro)
นักแสดงผู้ลับฝีมือการแสดงมาอย่างยาวนาน นอกจากละครคาบูกิก็ยังโชว์ฝีมือผ่านการแสดงหลากหลายประเภท

อิชิคาวะ เอ็นโนสุเกะ (Ichikawa Ennosuke)
นักแสดงผู้ถ่ายทอดคาบูกิในมุมมองของความบันเทิง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวงการคาบูกิ ละครคาบูกิ Super Kabuki II : One Piece ที่เขานำแสดงโดยดัดแปลงมาจากมังกะยอดนิยมอย่างวันพีซก็เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก

ยังมีนักแสดงคาบูกิที่มีฝีมือและเต็มไปด้วยเสน่ห์อีกหลายคนเลย พูดไปก็ไม่เห็นภาพ ต้องลองไปดูด้วยตากันชัดๆ นะครับ ลองดูรายชื่อนักแสดงที่แสดงในเดือนนั้นๆ ได้ที่เว็บไซต์ทางการ KABUKI WEB เลยครับ

* 2 : ปูชนียบุคคลของประเทศ (Living National Treasure) ... ผู้เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ไร้รูปร่าง

6. มารยาทในการชม

การมาชมคาบูกิก็เหมือนกับการไปชมละครหรือภาพยนตร์ทั่วไปไม่ได้มีข้อปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษครับ

ข้อห้ามที่สำคัญก็คือห้ามถ่ายภาพหรือวิดีโอ ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นักแสดงคาบูกิจะไม่ใช้ไมโครโฟนในการแสดงและมีช่วงที่การแสดงจะเงียบมากอยู่เยอะ เพราะงั้นไม่ควรพูดคุยกันระหว่างการแสดงครับ

7. การเดินทางไปคาบูกิซะ

สถานีรถไฟที่ใกล้โรงละครคาบูกิซะมากที่สุดคือสถานีฮิกาชิกินซ่า (Higashi-ginza) ของรถไฟโทเอ (Toei) สายอาซากุสะ (Asakusa Line) และรถไฟโตเกียวเมโทร (Tokyo Metro) สายฮิบิยะ (Hibiya Line) จากทางออกหมายเลข 3 จะใกล้ทางเข้าโรงละครคาบูกิซะที่สุด ถ้าขึ้นบันไดเลื่อนในรูปนี้ไปก็จะเจอประตูใหญ่ของคาบูกิซะเลย

ถ้านั่งรถไฟมาลงที่สถานีกินซ่า (Ginza) ของรถไฟโตเกียวเมโทร (Tokyo Metro) สายกินซ่า (Ginza Line) สายฮิบิยะ (Hibiya Line) หรือสายมารุโนะอุจิ (Marunouchi Line) ให้ใช้ทางออก A7 แล้วเดินต่อประมาณ 5 นาที

ด้านข้างของบันไดเลื่อนเป็นศูนย์รวมร้านของฝากโคะบิกิโจสแควร์ (Kobikicho Square) มาเดินดูเลือกซื้อของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากร้านค้ากว่าสิบร้านได้ครับ

มาญี่ปุ่นทั้งที ต้องลองไปชมคาบูกิกันสักครั้ง!

ไหนๆ ก็มาญี่ปุ่นทั้งทีถ้าไม่ลองมาชมศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นดูหน่อยก็น่าเสียดายครับ ถ้ามาที่โรงละครคาบูกิซะก็สามารถชมละครคาบูกิจากนักแสดงระดับแนวหน้ามากความสามารถได้อย่างง่ายๆ ถ้ามีโอกาสลองมาดูกันนะครับ


In cooperation with Kabuki Za Co., Ltd.

Written by

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ