Start planning your trip
คาบูกิ (Kabuki) การแสดงเก่าแก่ที่เกิดจากผู้หญิง แต่ห้ามผู้หญิงแสดง
คาบูกิ (Kabuki) คือการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีอายุกว่า 400 ปี แต่ยังโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยรูปแบบการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจและเป็นเอกลักษณ์ทั้งการแสดงสีหน้า ท่าทาง ดนตรีไพเราะ และยังแสวงหาความทันสมัยอีกด้วย
คาบูกิ (Kabuki) ละครโดนใจชาวบ้านแต่อดีต
คาบูกิ (Kabuki) เป็นศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยมี 3 องค์ประกอบที่ทำให้คนดูรู้สึกสนุกสนาน คือ การแสดง การเต้น และดนตรี
หากพูดถึงความเก่าแก่ ญี่ปุ่นเองก็มีละครโนห์ซึ่งอาจเทียบได้กับโขนของไทย แต่ทั้งสองถือเป็นการแสดงชั้นสูงที่ในสมัยก่อนถูกจำกัดการแสดงและการชม ส่วนคาบูกิไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคาบูกิเป็นการแสดงละครสำหรับคนทั่วไปตั้งแต่แรก จึงมีลักษณะตื่นเต้นเร้าใจ เร้าอารมณ์ เนื้อหาที่เล่นก็จะเป็นเรื่องตำนานเท่ๆ ของซามูไร หรือความรักเศร้าเคล้าน้ำตาแบบชาวบ้าน บางครั้งก็จับเอาเรื่องราวปัจจุบันทันด่วนในสมัยนั้นๆ มาเล่นเป็นละคร เดือดร้อนให้รัฐบาลในบางยุคสมัยต้องออกมาห้ามปรามกันเลยทีเดียว
ต้นกำเนิดของคาบูกิ
ภาพจากบทความ : สัมผัสกลิ่นอายแห่งโตเกียวโบราณที่ พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว (Edo-Tokyo Museum)
ต้นกำเนิดของคาบูกิมาจากหญิงชื่อ โอคุนิ เกอิชาผู้แต่งกายด้วยชุดหรูหราอลังการ บางครั้งก็แต่งเป็นซามูไรเลียนแบบผู้ชายออกแสดงด้วยท่าทางการร่ายรำแปลกตา ในสมัยนั้นเรียกการแสดงของโอคุนิด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า คาบุอิตะเอ็นชุสึ (การแสดงแปลกใหม่น่าแปลกตา) จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า คาบูกิ
ตัวอักษรคันจิของคาบูกิเขียนว่า 歌舞伎 เป็นอาเตจิ (เอาอักษรคันจิอื่นที่เสียงเหมือนกันมาประสมเป็นคำใหม่เอง หรือเปลี่ยนเสียงอ่านใหม่) 歌 แปลว่า เพลง ดนตรี 舞 แปลว่า ร่ายรำ 伎 แปลว่า ฝีมือ ความสามารถ ซึ่งก็สื่อถึงการแสดงละครคาบูกิที่ต้องใช้ความสามารถด้านการร้อง การเล่นดนตรี และการร่ายรำได้อย่างครบถ้วน
การแสดงร่ายรำนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ จนพัฒนากลายเป็นศิลปะการแสดงละครขึ้นมา แต่เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งศีลธรรมในสังคมขึ้นเพราะเชื่อว่ามีการค้าประเวณีในกลุ่มนักแสดงคาบูกิหญิง จึงมีการห้ามไม่ให้ผู้หญิงแสดงคาบูกิตั้งแต่นั้น ปัจจุบันมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถขึ้นเวทีแสดงคาบูกิได้
เอกลักษณ์ของคาบูกิ
วิธีการแสดงคาบูกินั้นจะไม่เน้นความเป็นธรรมชาติหรือความสมจริง แต่จะเน้นความเว่อร์วังอลังการ โดยทุกอย่างในการแสดงจะเกินจริงทั้งหมด เช่น สีหน้า วิกผมฟูฟ่อง เสื้อผ้าสีสันจัดจ้าน ท่าโพสหรือท่าสะบัดวิกผมและมองด้วยสายตาดุดันอันเป็นเอกลักษณ์
ถ้าพูดถึงคาบูกิแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างที่จะลืมไม่ได้ก็คือลวดลายบนใบหน้านักแสดงที่เรียกว่า คุมาโดริ (Kumadori) เพราะว่าเพียงแค่เห็นคุมาโดริก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่านักแสดงคนดังกล่าวเป็นฝ่ายดี (วาดลวดลายสีแดงบนหน้า) หรือฝ่ายร้าย-ปีศาจ (วาดลวดลายสีน้ำเงินบนหน้า)
อย่างที่ได้บอกไปว่ามีการห้ามผู้หญิงแสดงคาบูกิ บทบาทผู้หญิงในละครจึงต้องยกให้นักแสดงชายเล่นแทน เราเรียกนักแสดงชายที่แสดงบทผู้หญิงว่า อนนะกาตะ (Onnagata) หนึ่งในไฮไลท์ของอนนะกาตะคือสีหน้าและท่วงท่าอันอ่อนช้อยของบรรดานักแสดงชายที่ดูเหมือนผู้หญิงมากกว่าผู้หญิงจริงๆ ซะอีก
ลูกเล่นต่างๆ บนเวทีที่ใช้ในการแสดงคาบูกินั้นมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาตลอด อย่างเช่น ฮานะมิจิ (Hanamichi) ทางเดินยาวจากเวทีแทรกไปตรงกลางระหว่างที่นั่งของผู้ชม หรือมาวาริบุไต (Mawari Butai) เวทีหมุนเพื่อเปลี่ยนฉากก็ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากละครคาบูกินี่เอง เสียงเอฟเฟกต์และเสียงเพลงบรรเลงต่างๆ ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีญี่ปุ่นกันสดๆ จากจุดที่คนดูสามารถมองเห็นได้ ก็ช่วยทำให้การแสดงคาบูกิสนุกสนานเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น
คาบูกิกับการเข้าถึงใจประชาชนตามยุคสมัย
ภาพจากบทความ : เที่ยวโรงละครคาบูกิซะ แบบไม่ต้องมีตั๋ว (Kabukiza Theatre, Ginza)
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คาบูกิในฐานะละครชาวบ้านเองก็มีการปรับตัวให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย สมัยก่อนชาวบ้านจะซื้อภาพพิมพ์อุกิโยะเอะของนักแสดงคาบูกิที่ตนชื่นชอบ (เทียบกับปัจจุบันก็เหมือนเวลาเราไปหาซื้อแผ่นภาพโปสเตอร์นักร้องที่ชอบ) ส่วนในสมัยนี้ก็ไปอยู่บนสินค้ากระจุกกระจิกให้ผู้คนซื้อหากลับบ้านเป็นของฝากได้ ที่ดูแปลกและน่าสนใจก็น่าจะเป็นแผ่นมาส์กหน้าลวดลายแบบหน้าตัวละครคาบูกิ
สินค้าเหล่านี้ทำให้คนทั่วไปรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปะดั้งเดิมที่มีภาพจำไปทางน่าเบื่อหรือไม่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น และเหมาะจะเลือกเป็นของที่ระลึกของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
เรื่องราวที่นำมาเล่นนั้นมีหลากหลาย มีการนำเอาเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ หรือสอดแทรกเทคนิคแสงสีเสียงใหม่ๆ เพื่อทำให้การแสดงนั้นสนุกยิ่งขึ้นไปอีก ถามว่าใหม่ขนาดไหน ก็ถึงขั้นที่สามารถนำเรื่องราวของการ์ตูนยอดนิยมอย่าง วันพีซ (One Piece) หรือนารูโตะ (NARUTO) มาทำเป็นเวอร์ชันคาบูกิกันเลย วีดีโอด้านบนนี้คือวีดีโอโปรโมทคาบูกิเรื่องนารูโตะค่ะ
ในปี 2008 ละครคาบูกิได้รับการบันทึกไว้ในรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และในปี 2015 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีรูปร่าง โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO)
ไปชมคาบูกิได้ที่ไหน
ในโตเกียวเราสามารถชมการแสดงคาบูกิได้ตลอดทั้งปีที่ คาบูกิซะ (Kabukiza Theatre) ใน กินซ่า (Ginza) โรงละครคาบูกิอายุมากกว่าร้อยปี ส่วนที่โอซาก้าและเกียวโตก็มีการจัดการแสดงเรื่อยๆ สำหรับใครที่อยากชมสักครั้งก็สามารถหาซื้อตั๋วได้ที่เคาน์เตอร์หน้าโรงละครหรือซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตและทางโทรศัพท์ก็ได้เช่นกัน
โรงละครเหล่านี้มักมีให้บริการไกด์เสียงเป็นหูฟังภาษาอังกฤษด้วย ถึงแม้จะไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็สามารถสนุกได้
ภาพจากบทความ : คาบูกิ ดูไม่ยากอย่างที่คิดที่โรงละครคาบูกิซะ ย่านกินซ่า (Kabukiza Theatre, Ginza)
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอะไร ถ้าเตรียมตัวศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องราวและตัวละครเอาไว้ล่วงหน้าก็จะยิ่งทำให้ดูสนุกมากขึ้น ถ้าเกิดใครกำลังจะไปชมการแสดงก็ขอแนะนำให้ลองศึกษาข้อมูลกันดูนิดหนึ่ง โบรชัวร์ของการแสดงนับว่าเป็นแหล่งข้อมูลชิ้นสำคัญเลยทีเดียว เพราะมักจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวโดยรวม ไฮไลท์น่าสนใจ ดนตรี และบทบาทตัวละครเอาไว้ด้วย
ลองดูบทความด้านล่างนี้ที่แนะนำเกี่ยวกับการไปดูคาบูกิที่โรงละครคาบูกิซะ ตั้งแต่วิธีซื้อตั๋วไว้เป็นแนวทางก่อนได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เที่ยวโรงละครคาบูกิซะ แบบไม่ต้องมีตั๋ว
ภาพจากบทความ : เที่ยวโรงละครคาบูกิซะ แบบไม่ต้องมีตั๋ว (Kabukiza Theatre, Ginza)
ถ้ายังรู้สึกลังเล ไม่รู้ว่าจะเข้าไปดูดีรึเปล่า งั้นลองไปสัมผัสความเป็นคาบูกิแบบใกล้ชิดดูก่อนได้ แถมไม่ต้องเสียเงินด้วย! เพราะในโรงละครคาบูกิซะมีพื้นที่จัดแสดงและพื้นที่ร้านค้าที่คนทั่วไปสามารถเข้าใช้บริการได้
โซนจัดแสดงมีอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดง อุปกรณ์สร้างเสียงเอฟเฟกต์ จุดถ่ายรูปที่ระลึก ส่วนโซนร้านค้าก็มีขนม ของกิน ของฝากลวดลายคาบูกิต่างๆ ดูการแนะนำโซนต่างๆ แบบละเอียดได้จากบทความด้านล่างนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
คาบูกิ การแสดงที่ก้าวข้ามยุคสมัย
ในปัจจุบันแม้แต่คนญี่ปุ่นบางคนเองก็รู้สึกไม่กล้าไปชมการแสดงคาบูกิ แต่ความจริงแล้วคาบูกิเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยก่อน
เราลองมาสัมผัสโลกแห่งคาบูกิที่รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ผ่านการขัดเกลาจนกลายเป็นการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นกันค่ะ
โรงแรมแนะนำใกล้คาบูกิซ่า
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง