Start planning your trip
เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "ศาลเจ้าอินาริ" ทำไมถึงมีจิ้งจอก
เทพอินาริ เทพแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารประจำศาลเจ้าอินาริ แต่ทำไมที่ศาลเจ้าอินาริถึงต้องมีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกด้วยล่ะ
ศาลเจ้าอินาริ คืออะไร
Motonosumi Inari Shrine in Yamaguchi. Photo by Pixta
ตั้งแต่สมัยโบราณ ญี่ปุ่นเป็นประเทศกสิกรรมที่ให้ความสำคัญกับการปลูกข้าว โดยมีความเชื่อว่าในรวงข้าวจะมีเทพเจ้าสถิตอยู่จึงมีการทำพิธีกราบไหว้บูชา จนกลายมาเป็นศาลเจ้าอินาริ (Inari Shrine) ที่สถิตของเทพเจ้าแห่งพืชพรรณธัญญาหาร อุคาโนมิทามะ โนะ คามิ (Ukanomitama no Kami)
จากศาลเจ้าทั้งหลายทั่วประเทศ ศาลเจ้าอินารินั้นถือว่ามีจำนวนเยอะมากเป็นพิเศษ รวมกว่า 32,000 แห่ง และเป็นสิ่งใกล้ตัวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันสำหรับคนญี่ปุ่น มีการเรียกเทพเจ้าด้วยความรู้สึกคุ้นเคยอย่าง โออินาริซัง (Oinari-san) หรือ โอคิตสึเนะซัง (Okitsune-san) ที่แปลว่าจิ้งจอก
ความเกี่ยวข้องระหว่างศาลเจ้าอินาริกับสุนัขจิ้งจอก
Shozoku Inari Shrine in Oji, Tokyo. Photo by Pixta
เหตุผลที่ศาลเจ้าอินาริถูกเรียกว่าโอคิตสึเนะซัง เพราะในสมัยก่อนนั้นคิตสึเนะ หรือก็คือสุนัขจิ้งจอก จะโผล่มาให้เห็นตามบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงคิดกันว่าสุนัขจิ้งจอกต้องเป็นผู้รับใช้ของเทพเจ้าอุคาโนมิทามะ โนะ คามิแน่ๆ บ้างก็ว่าเพราะสุนัขจิ้งจอกมาจับหนูที่คอยกัดกินทำลายพืชพรรณ จึงเป็นเหมือนการแสดงความขอบคุณสุนัขจิ้งจอก
ถึงสุนัขจิ้งจอกจะไม่ใช่เทพเจ้า แต่ภายในศาลเจ้าก็มักมีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกวางไว้ ผู้คนจึงรู้สึกคุ้นชินและเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างสุนัขจิ้งจอกและศาลเจ้ามาแต่ช้านาน
ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าสุนัขจิ้งจอกจะชอบทานอาบุระอาเกะ (Abura-age : เต้าหู้ฝานแผ่นบางๆ ทอดด้วยน้ำมัน) จึงมักมีคนนำอาบุระอาเกะมาถวายสุนัขจิ้งจอกที่ศาลเจ้าอินาริ จึงเป็นที่มาของการเรียกซูชิที่ห่อด้วยอาบุระอาเกะว่า อินาริซูชิ (Inari sushi) ส่วนอุด้งที่ใส่อาบูระอาเกะก็เรียกว่า คิตสึเนะอุด้ง (Kitsune udon)
สัมผัสโลกราวกับต่างมิติที่ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ ไทชะ (Fushimi Inari Taisha)
Photos by Pixta
ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทชะ (Fushimi Inari Taisha) อยู่ที่ตำบลฟุชิมิ ในเมืองเกียวโต ถือเป็นศูนย์กลางของศาลเจ้าอินาริทั่วประเทศ มีผู้คนมาสักการะมากมายในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตร การค้าและอุตสาหกรรม สำหรับชาวต่างชาติมักจะมาชมความงามของเซ็มบงโทริอิ (Senbon Torii : เสาโทริอิพันต้น) เสาโทริอิสีชาดที่เรียงตัวทอดยาวกว่า 4 กิโลเมตรตามแนวเชิงเขาอินาริ ที่ต่างบอกว่าสวยงามและดูขลังมาก
ในทุกปีระหว่างวันอาทิตย์ที่ใกล้วันที่ 20 เมษายนที่สุด จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม จะมีงานเทศกาลอินาริ (Inari Matsuri) งานเทศกาลแบบดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดของศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทชะ ผู้ชายจำนวนมากจะมาร่วมกันแบกเกี้ยวมิโคชิอันแสนสวยงาม 5 หลัง ที่ว่ากันว่าใหญ่และหนักที่สุดในญี่ปุ่นแห่ไปตามทาง เป็นที่น่าประทับใจและน่าไปชมอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Main image: Yutoku Inari Shrine in Saga.
All pictures from Pixta
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง