Start planning your trip

ช่วงสิ้นปีของชาวญี่ปุ่น นอกจากต้องทำความสะอาดบ้าน ยังมีงานใหญ่อีกหนึ่งอย่างคือการส่งเน็งกะโจ ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ให้กับคนรู้จักและผู้ใหญ่ที่ช่วยดูแลมาตลอดปี
เน็งกะโจ (Nengajo : 年賀状) คือไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ที่ชาวญี่ปุ่นจะส่งถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่อยู่ไกลกัน เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงลูกค้าของบริษัทแทนการทักทายปีใหม่และฝากเนื้อฝากตัวด้านธุรกิจไปในตัว
ธรรมเนียมการไปทักทายปีใหม่มีปรากฏตั้งแต่ยุคนารา (ปี 710 - 794) เดิมทีเป็นธรรมเนียมของเหล่าขุนนาง นานไปก็เริ่มแพร่หลายมายังประชาชนทั่วไป หลังจากนั้นก็เปลี่ยนจากไปทักทายด้วยตัวเองเป็นการเขียนจดหมายแล้วให้ผู้รับใช้ไปส่ง กระทั่งปี 1873 ที่การไปรษณีย์จัดพิมพ์ไปรษณียบัตรออกจำหน่าย ด้วยราคาที่ถูก ใช้งานง่าย ผู้คนเลยเปลี่ยนมาใช้ไปรษณียบัตรเป็นทางเลือกในการส่งคำทักทายและอวยพรปีใหม่แทน
ความสุดยอดของไปรษณีย์ญี่ปุ่นคือการจัดส่งเน็งกะโจให้ถึงมือผู้รับในวันที่ 1 มกราคมพอดี แต่มีข้อแม้ว่าต้องเขียนคำว่า 年賀 ตัวสีแดงไว้ใต้แสตมป์ และต้องหย่อนไปรษณียบัตรลงตู้ภายในวันที่ 25 ธันวาคม แล้วทางพนักงานไปรษณีย์จะเริ่มคัดแยกและจัดส่งไปตามจังหวัดและเมืองปลายทางภายในวันที่ 31 ธันวาคม ถ้าส่งโดยไม่เขียน 年賀 กำกับไว้ก็มีโอกาสสูงมากที่จะไปถึงมือผู้รับก่อนหรือหลังวันที่ 1 มกราคม
ไปรษณียบัตรแบบมีหมายเลขจับสลากแจกรางวัล / Photo by Pixta
ปี 1949 มีการออกไปรษณียบัตรเน็งกะโจรุ่นใหม่ มาพร้อมหมายเลขในแต่ละใบเพื่อสุ่มจับสลากแจกของรางวัล เหมือนส่งโชคสองชั้นให้ผู้รับไปในตัว อันที่จริงเราจะใช้กระดาษธรรมดามาทำเน็งกะโจก็ได้ แต่ถ้าอยากให้มีหมายเลขจับรางวัลด้วยก็ต้องไปซื้อแบบที่จัดจำหน่ายโดยการไปรษณีย์เท่านั้น
ไปรษณียบัตรเปล่าของการไปรษณีย์มีทั้งแบบกระดาษธรรมดาสำหรับเขียนหรือวาด และแบบกระดาษพิเศษสำหรับใช้กับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต เข้ากับยุคที่คนใช้กล้องดิจิตอลและมีคอมพิวเตอร์ติดบ้านกันมากขึ้น
Photo by Pixta
ถ้าเป็นสมัยก่อนเค้าถือว่าการเขียนเน็งกะโจด้วยมือคือแสดงความใส่ใจและแสดงความเคารพต่อผู้รับ แต่อย่างที่บอกว่าหลังๆ มาเทคโนโลยีก็พัฒนาไปเยอะ มีเว็บไซต์มากมายที่แจกลวดลายหรือให้ออกแบบบนหน้าเว็บเพื่อสั่งพิมพ์เองได้ทันที เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยถือเรื่องการเขียนเองด้วยมือเท่าไหร่แล้ว
อีกวิธีสำหรับคนชอบทำงานฝีมือก็คือการแกะยางลบทำเป็นตรายาง ใช้หมึกสีสันสดใสปั๊มเป็นลวดลายบนเน็งกะโจ
ถ้าไปตามร้านเครื่องเขียนใหญ่ๆ จะมีจัดโซนพิเศษของอุปกรณ์แกะยางลบเพื่อรับช่วงปีใหม่นี้โดยเฉพาะเลย ใครที่สนใจก็แวะไปซื้อกันได้ มีงบสักประมาณ 2,000 เยน (ประมาณ 600 บาท) ก็ซื้อของที่จำเป็นได้ครบแล้ว
ประโยคสำหรับเขียนแบบพื้นฐานสุดๆ คือ
明けましておめでとうございます
อ่านว่า อาเคมาชิเตะ โอเมเดโตโกะไซมัส (Akemashite omedetogozaimasu)
แปลว่า สวัสดีปีใหม่
จากนั้นจะเขียนเป็นประโยคอวยพรหรือทักทายสั้นๆ ต่อก็ได้
คำอวยพรอื่นที่เห็นได้บ่อยบนเน็งกะโจคือ 賀正, 賀春, 初春 และ 迎春
เลือกใช้คำใดคำหนึ่งได้ ความหมายโดยรวมคืออวยพรให้โชคดีในปีใหม่ คำอวยพรแบบที่ใช้คันจิ 2 ตัวนี้มักใช้เวลาผู้ใหญ่ส่งให้ผู้น้อย
ส่วนเวลาผู้น้อยจะส่งเน็งกะโจให้ผู้ใหญ่จะใช้แบบคันจิ 4 ตัว เลือกใช้คำใดคำหนึ่งจาก 謹賀新年, 謹賀新春, 恭賀新年 และ 迎春万歳 ความหมายส่วนใหญ่ก็คือขออวยพรให้มีความสุขในปีใหม่นี้
ถ้ามีโอกาสได้รับเน็งกะโจตอนมาอยู่ญี่ปุ่น การตอบกลับก็ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง ยิ่งส่งกลับเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี อย่างช้าควรให้ถึงมือผู้รับภายในวันที่ 7 มกราคม (แถวภูมิภาคคันไซเป็นวันที่ 15 มกราคม) อันนี้เค้าอิงตามวันมัตสึโนะอุจิ คือวันสุดท้ายที่ประดับคาโดะมัตสึไว้หน้าบ้าน
ในกรณีที่ลืมส่งหรือเน็งกะโจมาถึงบ้านเราหลังวันที่ 1 มกราคม จนทำให้ส่งกลับไปไม่ทันในช่วงวันมัตสึโนะอุจิ ชาวญี่ปุ่นจะเปลี่ยนจากการเขียนอวยพรปีใหม่เป็นการส่งคำทักทายฤดูหนาวแทน (寒中見舞い)
บทความโดย
日本への訪日外国人の方が、もっと増えますように!