เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "โอมิโซกะ" วันสิ้นปี

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ในวันสิ้นปี ที่ญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำต่อกันมาอยู่หลายอย่าง เป็นช่วงเวลาพิเศษๆ ที่มีแค่ปีละครั้ง ถ้าได้ไปญี่ปุ่นในช่วงนั้นล่ะก็ลองออกไปสัมผัสกับบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองนี้กันนะคะ

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

โอมิโซกะ วันเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่

คำว่า โอมิโซกะ (Omisoka : 大晦日) หมายถึง วันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปีนั่นเอง ในช่วงสิ้นปีที่ญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่หลายอย่าง แต่ละอย่างก็แฝงความหมายน่าสนใจ มาทำความรู้จักกับวันสิ้นปีของญี่ปุ่นกัน

วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า โชกัตสึ (Shogatsu : 正月) เป็นวันที่โทชิกามิซามะ เทพเจ้าแห่งปีใหม่จะไปตามบ้านเรือนเพื่อคอยคุ้มครองคนในบ้านให้มีความสุขตลอดทั้งปี ดังนั้นวันที่ 31 ธันวาคม จึงเหมือนเป็นวันเตรียมตัวต้อนรับเทพเจ้านั่นเอง

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น

Photo by Pixta
การเตรียมตัวรับปีใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม อย่างแรกคือ ซุซุฮาไร (Susuharai : すす払い) การปัดกวาดฝุ่น สิ่งสกปรก หมายรวมถึงสิ่งชั่วร้ายอื่นๆ ที่สะสมในบ้านมาตลอดปีออกไป เพื่อให้บ้านสะอาดเตรียมต้อนรับเทพเจ้า วันนี้ตามโทรทัศน์จะมีออกข่าวการทำซุซุฮาไรของวัดและศาลเจ้าตามเมืองต่างๆ เยอะเลย คำว่าซุซุหมายถึงเขม่าควัน เพราะสมัยก่อนบ้านคนญี่ปุ่นจะใช้เตาฟืนหุงข้าว มีเตาอิโรริกลางบ้าน พวกเขม่าควันจะลอยฟุ้งไปสะสมอยู่ตามคานบ้าน คำว่าฮาไรแปลว่าปัดออก กำจัดออก

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ได้ยินคำว่า โอโซจิ (Osoji : 大掃除) ที่แปลว่าการทำความสะอาดครั้งใหญ่บ่อยมาก เพราะคนญี่ปุ่นแทบจะยุ่งแต่เรื่องงานจนไม่มีเวลาทำความสะอาดบ้าน เลยต้องยกรวบยอดมาทำกันตอนท้ายปี รายการโทรทัศน์ก็มีช่วงแนะนำเทคนิคทำความสะอาดบ้างหละ ตามร้านค้าก็จัดมุมสินค้าพิเศษสำหรับอุปกรณ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะบ้าง ถือเป็นอีกช่วงที่งานบ้านก็ยุ่งไม่แพ้กัน

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น

จากนั้นก็ประดับ คาโดะมัตสึ (Kadomatsu : 門松) กิ่งสนมัดเป็นช่อไว้ที่หน้าประตูบ้าน เป็นสัญลักษณ์นำทางเทพเจ้าให้เข้าสู่บ้าน ตามบ้านทั่วไปก็จะเป็นกิ่งต้นสนหนึ่งกิ่งเล็กๆ แขวนไว้ริมประตู แต่ถ้าไปตามวัดหรือบริษัทใหญ่ๆ บางที่จะทำคาโดะมัตสึอันใหญ่โต มีทั้งกิ่งสนทั้งกระบอกไม้ไผ่สูงท่วมหัวไปเลย

การประดับคาโดะมัตสึสามารถทำล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม แต่ควรเลี่ยงวันที่ 29 - 31 ธันวาคม เพราะวันที่ 29 เสียงอ่านของเลข 9 ในภาษาญี่ปุ่นพ้องเสียงกับคำว่า คุ (苦) ที่แปลว่าความยากลำบาก ความทุกข์ ส่วนถ้าประดับวันที่ 30 และ 31 ก็เท่ากับใช้เวลาเตรียมตัวแค่วันเดียว เหมือนเป็นการดูหมิ่นเทพเจ้า เพราะฉะนั้นแนะนำว่าควรจะประดับคาโดะมัตสึให้เสร็จภายในวันที่ 28 ธันวาคมจะดีที่สุด

เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น

ภาพจากบทความ : เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "คากามิโมจิ" ทำไมต้องเป็นโมจิกับกระจก / Photo by Pixta
ถัดไปคือการเตรียมของถวายเป็น คากามิโมจิ (Kagamimochi : 鏡餅) โมจิก้อนกลมที่มักจะมีส้มวางอยู่ข้างบน ถ้าตามที่เห็นในละครญี่ปุ่นก็มักจะวางไว้บนโทรทัศน์กัน แต่ตอนนี้โทรทัศน์มีแต่จอแบนแล้ว เลยวางไม่ได้เลย

สัมผัสประเพณีญี่ปุ่นในวันสิ้นปี

นอกจากการทำความสะอาด ประดับตบแต่งบ้านแล้ว ก็ยังมีธรรมเนียมการทานโซบะข้ามปี การทานโอเซจิอาหารปีใหม่ และการไปไหว้พระขอพรปีใหม่ด้วย

ในวันโอมิโซกะ ตามวัดและศาลเจ้ามักเปิดให้ประชาชนเข้าไปไหว้ได้ตลอดคืนจนถึงเช้า ที่ศาลเจ้าจะมีพิธีโอฮาไร เป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีที่ผ่านมา ฝั่งวัดก็มีโจยะโนะคาเนะ การตีระฆังคืนสิ้นปี 108 ครั้ง เพื่อขับไล่กิเลส 108 ประการออกจากจิตใจ กิจกรรมอาจจะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ลองแวะไปตามวัดหรือศาลเจ้าใกล้ๆ กันดู ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีที่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณีแบบญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด

Written by

日本への訪日外国人の方が、もっと増えますように!

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ