Start planning your trip
เจาะลึกวีซ่าทำงานในญี่ปุ่น! รวมถึงปัญหาและข้อควรระวังในการยื่นขอ
รวมรายละเอียดทุกข้อข้องใจที่ควรรู้หากถือวีซ่าทำงานญี่ปุ่นเอาไว้ในมือ หรือกำลังจะมาทำงานในญี่ปุ่น ทั้งการเปลี่ยนวีซ่า ทำงานเสริมได้หรือไม่ การต่อวีซ่า สิ่งที่ต้องทำเมื่อเปลี่ยนงาน
เจาะลึกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับวีซ่าทำงานในญี่ปุ่น!
หากใครอยากจะทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องมีวีซ่าที่อนุญาตในการทำงาน (มักเรียกรวมๆ ว่า วีซ่าทำงานหรือชูโรวีซ่า - 就労ビザ)
แต่หลายคนคงมีข้อสงสัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ทำงานพิเศษเสริมได้ไหม? ต่อวีซ่าได้ยาวขนาดไหน? หรือจะเปลี่ยนจากวีซ่าประเภทอื่นมาเป็นวีซ่าทำงานได้อย่างไร? บทความนี้เราจะมาให้คำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ค่ะ
ประเภทของวีซ่าทำงาน
วีซ่าทำงาน (ชูโรวีซ่า) นั้นจริงๆ แล้วแบ่งออกเป็นอีก 17 ประเภทตามลักษณะงานที่ทำได้ เช่น งานราชการ (ผู้มาทำงานราชการและครอบครัว) สื่อมวลชน (ผู้มาทำงานด้านสื่อมวลชน) งานกฏหมายและบัญชี (นักกฎหมายหรือนักการบัญชี) วีซ่าฝึกงาน (Technical Intern - 技能実習) วีซ่าทำงานด้านวิศวกรรม มนุษยศาสตร์ และงานระหว่างประเทศ (技術・人文知識・国際業務ビザ) และอื่นๆ
แต่ไม่ใช่ว่าจะมีวีซ่ารองรับงานทุกประเทศ หากเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถเฉพาะทาง เช่น งานทำความสะอาด งานพื้นฐานในโรงงาน อาจจะไม่สามารถขอวีซ่าได้
นอกจาก "วีซ่าฝึกงาน" ที่มีผู้ขอกันเยอะแล้ว "วีซ่าทำงานด้านวิศวกรรม มนุษยศาสตร์ และงานระหว่างประเทศ" ก็มีผู้ถือวีซ่านี้เป็นจำนวนรองลงมา โดยเป็นวีซ่าสำหรับ งานวิศวกรรม คือ ช่างด้านเครื่องจักรหรือวิศวกรระบบ งานด้านมนุษยชาติ คือ คนทำงานออฟฟิศอย่างฝ่ายการตลาด ฝ่ายวางแผน และงานระหว่างประเทศ คือ ล่าม นักแปล ครูสอนภาษา เป็นต้น
ลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวีซ่าและการหางานได้ที่บทความนี้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ข้อกำหนดในการขอวีซ่าทำงาน
ตัวอย่างเอกสารใบรับรองสถานภาพการพำนัก (在留資格認定証明書 - COE)
การขอวีซ่าทำงานนั้นเราไม่สามารถขอเองได้เลย แต่ต้องมีสัญญาว่าจ้างจากบริษัทเสียก่อน
ในกรณีที่ต้องเดินทางจากไทย โดยปกติแล้วทางบริษัทผู้ว่าจ้างจะเป็นคนดำเนินเรื่องเพื่อขอใบรับรองสถานภาพการพำนัก (在留資格認定証明書 - COE) จากนั้นเราจึงนำใบ COE ไปขอวีซ่าที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย (หรือศูนย์บริการวีซ่าที่สถานทูตกำหนด)
ส่วนในกรณีที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับเอกสารจากทางบริษัทผู้ว่าจ้างเพื่อนำไปเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (นิวกัง)
ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตนั้นจะดูว่าผู้ยื่นขอมีความสามารถ การศึกษา ประสบการณ์ ตรงกับงานและวีซ่าที่จะขอหรือไม่ เช่น หากขอวีซ่าทำงานด้านวิศวกรรม มนุษยศาสตร์ และงานระหว่างประเทศ จะมีการตรวจสอบเอกสารว่างานที่จะทำตรงกับประเภทวีซ่าหรือไม่ และตรวจสอบเอกสารต่างๆ เพื่อยืนยันว่าผู้ยื่นขอมีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับงานและประเภทวีซ่าหรือไม่
สมมติว่าสมัครงานตำแหน่งนักแปลและล่ามภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทย ในการขอวีซ่าจะต้องมีเอกสารยืนยันว่าเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นเพียงพอต่อการทำงาน เช่น เรียนจบโรงเรียนภาษา มหาวิทยาลัยด้านภาษาญี่ปุ่น หรือมีประสบการณ์ทำงานแปลและล่าม ถ้าหากในประวัติเราไม่เคยเรียนภาษา ไม่เคยทำงานด้านภาษามาก่อน อาจทำให้การยื่นขอวีซ่าเป็นไปได้อย่างยากลำบาก หรืออาจขอไม่ได้
หากใครมีคุณสมบัติตรงและตกลงเรื่องการว่าจ้างกับบริษัทเรียบร้อย ทางบริษัทพร้อมทำเอกสารยืนยันให้แล้ว การยื่นขอวีซ่าทำงานในญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ
เอกสารที่ใช้อาจแตกต่างกันไปตามสัญชาติ ประเภทงานและวีซ่า และอาจมีการร้องขอเอกสารอื่นๆเพิ่มเติมแล้วแต่กรณีได้ โดยสามารถตรวจสอบเอกสารที่จำเป็นได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดังนี้
- เว็บไซต์สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย หน้างานกงศุล : https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/visaindex.html (ภาษาไทย)
เอกสารโดยปกติที่ใช้ในการขอวีซ่าทำงานสำหรับคนไทยได้แก่
- - หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
- - ใบคำร้องขอวีซ่า (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของศูนย์บริการวีซ่า)
- - รูปถ่ายสุภาพขนาด 2x2 นิ้ว ถ่ายภายใน 6 เดือน
- - แบบสอบถามเพื่อการยื่นขอวีซ่า (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของศูนย์บริการวีซ่า)
- - ใบรับรองสถานภาพการพำนัก (在留資格認定証明書 - Certificate of Eligibility) ฉบับจริงและสำเนา
- - ทะเบียนบ้าน ฉบับจริงและสำเนา
- - เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวและนามสกุล ในกรณีที่เคยเปลี่ยน
ระยะเวลาในการขอวีซ่าอยู่ที่ราวๆ 5 - 10 วันทำการ
การเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงาน
การเปลี่ยนประเภทวีซ่าหมายถึงในกรณีที่ผู้จะยื่นขอถือวีซ่าสำหรับอยู่ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว กรณีที่พบบ่อยคือการเปลี่ยนวีซ่านักเรียนไปเป็นวีซ่าทำงาน
ในกรณีนี้จะแตกต่างจากการขอวีซ่าใหม่จากไทยเลยที่ระบุไว้ด้านบน โดยไม่จำเป็นต้องขอ COE ผ่านบริษัท เพียงแต่ต้องมีเอกสารการว่าจ้างและเอกสารรับรองเกี่ยวกับบริษัทเพื่อนำไปยื่น "ขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า (在留資格変更許可申請)" ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (นิวกัง) เท่านั้นค่ะ
บริษัทที่มีการจ้างชาวต่างชาติมักทราบอยู่แล้วว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างสำหรับการยื่นขอวีซ่า ให้ปรึกษากับทางบริษัทเพื่อขอเอกสารเหล่านั้นเอาไว้ หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
- เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น หน้าวิธีการยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า : http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-2.html (ภาษาญี่ปุ่น)
- เว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น หน้าวิธีการยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า : http://www.immi-moj.go.jp/english/tetuduki/kanri/shyorui/02.html (ภาษาอังกฤษ)
เอกสารโดยปกติที่ใช้ในการเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานได้แก่
- - คำร้องขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า (在留資格変更許可申請書) ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ด้านบน
- - รูปถ่ายสุภาพ ขนาด 4×3 เซนติเมตร ถ่ายภายใน 3 เดือน เขียนชื่อด้านหลังภาพ
- - ไซริวการ์ด
- - หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
- - เอกสารที่ได้จากบริษ้ท เช่น ใบรับรองบริษัท เอกสารการเงินของบริษัท เอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรับเข้าทำงานและเนื้อหางาน ฯลฯ
- - เอกสารรับรองความสามารถของผู้ยื่น เช่น ใบรับรองการจบการศึกษา ประวัติการทำงาน ฯลฯ
- เอกสารที่ใช้ในการขอวีซ่าแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ควรตรวจสอบข้อมูลหรือสามารถปรึกษากับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ค่ะ
ระยะเวลาในการขอเปลี่ยนวีซ่าอยู่ที่ราวๆ 2-4 สัปดาห์ หรือล่าช้ากว่านั้นในช่วงที่มีผู้ยื่นคำร้องเยอะ
วันที่ไปรับจะต้องเตรียมใบจ่ายค่าธรรมเนียม (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมด้านบน หัวข้อ 手数料) พร้อมแปะอากรแสตมป์มูลค่า 4,000 เยน (มักหาซื้อได้จากแถวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเลย กรุณาตรวจสอบกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สะดวก)
สามารถทำงานพิเศษได้ไหม?
สำหรับผู้ถือวีซ่าทำงานแบบต่างๆ มีเงื่อนไขด้วยกัน 3 อย่างในการจะทำงานพิเศษค่ะ
1. ประเภทวีซ่า
วีซ่าด้านการทำงานแบบต่างๆ นั้นสามารถทำงานพิเศษได้หากผ่านเงื่อนไขอีก 2 ข้อที่เหลือ
ยกเว้นวีซ่าฝึกงาน (Technical Intern - 技能実習) และวีซ่าทักษะเฉพาะทาง (Specified skilled worker - 特定技能) ซึ่งหากจะทำงานพิเศษจะต้องขอ "อนุญาตกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากที่กำหนด (資格外活動)" เพิ่มเติมจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสียก่อน แต่โดยปกติแล้วมักจะไม่ค่อยออกให้ เนื่องจากวีซ่าสองประเภทนี้เน้นให้มาทำงานเฉพาะงานในสายที่ขอวีซ่ามาค่ะ
2. ข้อกำหนดของบริษัท
บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นมักมีกฏข้อห้ามว่าห้ามทำงานพิเศษอื่นๆ ค่ะ หากฝ่าฝืนอาจทำให้เกิดปัญหาในที่ทำงานได้ แต่บริษัทใหม่ๆ ในญี่ปุ่นหลายที่เริ่มอนุญาตให้พนักงานทำงานพิเศษได้แล้ว ใครจะทำงานพิเศษควรตรวจสอบกับบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่เสียก่อน
3. ประเภทงานพิเศษ
หากเคลียร์ 2 ข้อด้านบนได้แล้ว จะเหลือข้อที่ 3 คือประเภทของงานพิเศษที่จะทำ เนื่องจากตามกฏหมายแล้วเราจะทำงานได้เฉพาะตามที่กำหนดในวีซ่าของเราเท่านั้น แปลว่า หากเราถือวีซ่าทำงานด้านวิศวกร IT เราจะไม่สามารถไปทำงานพิเศษขับรถ uber ได้ แต่สามารถรับจ็อบเขียนโปรแกรมได้ หรือหากถือวีซ่าทำงานด้านภาษา เราจะไม่สามารถไปเป็นแคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ แต่ทำงานพิเศษเป็นล่ามรายวันได้
ในการหางานพิเศษจึงต้องหางานที่เป็นงานประเภทเดียวกับวีซ่าทำงานของเราค่ะ
หากเคลียร์เงื่อนไขสามข้อนี้ได้แล้ว ก็สามารถทำงานพิเศษได้อย่างไม่มีปัญหาเลย แต่ระมัดระวังอย่าลืมเรื่องการทำภาษีเงินได้ประจำปีด้วยนะคะ
การต่ออายุวีซ่าทำงาน
ภาพจากบทความ : 迎接新身分!前往東京入國管理局的路線解說與在留資格線上申請系統說明
หากเรายังทำงานอยู่ สามารถไปทำเรื่องต่อวีซ่าทำงานได้เลยเมื่อวีซ่าของเราใกล้หมดอายุแล้ว โดยสามารถไปทำล่วงหน้าได้ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนวันหมดอายุ โดยปกติระยะเวลาในการดำเนินการมักใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงควรไปทำเรื่องขอต่ออายุวีซ่าเสียแต่เนิ่นๆ ค่ะ (*)
* หากยื่นเรื่องขอแล้ว เราจะได้รับตราประทับยืนยันว่าอยู่ในระหว่างรอพิจารณาการต่อวีซ่า แม้วีซ่าจะหมดอายุในช่วงนั้นก็ยังสามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้จนกว่าผลจะออก เช่น วีซ่าหมดอายุ 1 สิงหาคม แต่ยื่นเรื่องขอต่อวีซ่าไปเมื่อ 20 มิถุนายน หลังวันที่ 1 สิงหาคมเรายังอยู่ในญี่ปุ่นได้จนกว่าผลวีซ่าจะออก แต่หากผลออกมาว่าไม่สามารถต่อวีซ่าได้จะต้องออกจากประเทศโดยเร็วที่สุด
อายุของวีซ่าทำงานนั้นมีแบบ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี เราสามารถระบุขอได้ในเอกสารคำร้อง แต่จะได้จริงกี่ปีนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะดูจากความสามารถภาษาญี่ปุ่น การเสียภาษี ขนาดและความมั่นคงของบริษัทผู้ว่าจ้าง ฯลฯ
บางคนที่ทำงานบริษัทขนาดใหญ่อาจจะได้วีซ่า 3-5 ปีตั้งแต่การขอหรือต่ออายุครั้งแรก แต่บางคนต่ออายุแล้วหลายครั้ง ก็ยังได้วีซ่าแค่ครั้งละปีเดียว ฉะนั้นไม่ต้องกังวลไปนะคะ
สำหรับการต่ออายุวีซ่า (在留期間更新) นั้น จะต้องเตรียมเอกสารเองและมีเอกสารส่วนหนึ่งที่บริษัทผู้ว่าจ้างต้องจัดเตรียมให้เรา ฉะนั้นหากวีซ่าเหลืออายุ 2-3 เดือนแล้วล่ะก็ ให้รีบแจ้งทางบริษัทเพื่อเตรียมไปดำเนินเรื่องต่อวีซ่านะคะ
เมื่อเตรียมเอกสารเสร็จ ให้นำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใกล้บ้านได้เลย ซึ่งมักจะมีคนไปติดต่อเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ โดยเฉพาะสำนักงานที่ชินากาวะ แนะนำให้รีบเดินทางไปแต่เช้าค่ะ
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมและรายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บไซต์เหล่านี้ โดยอาจมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี
- เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น หน้าวิธีการยื่นขอต่ออายุวีซ่า : http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-3.html (ภาษาญี่ปุ่น)
- เว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น หน้าวิธีการยื่นขอต่ออายุวีซ่า : http://www.immi-moj.go.jp/english/tetuduki/kanri/shyorui/03.html (ภาษาอังกฤษ)
เอกสารโดยปกติที่ใช้ในต่ออายุวีซ่าทำงานได้แก่
- - คำร้องขอต่ออายุวีซ่า (在留期間更新許可申請書) ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ด้านบน
- - รูปถ่ายสุภาพ ขนาด 4×3 เซนติเมตร ถ่ายภายใน 3 เดือน เขียนชื่อด้านหลังภาพ
- - ไซริวการ์ด
- - หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
- - เอกสารที่ได้จากบริษ้ท เช่น ใบรับรองบริษัท เอกสารการเงินของบริษัท เอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรับเข้าทำงานและเนื้อหางาน
- - ใบรับรองการจ่ายภาษี (納税証明書) สามารถขอได้จากที่ว่าการเขตที่อาศัยอยู่
- เอกสารที่ใช้ในการขอวีซ่าแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ควรตรวจสอบข้อมูลหรือสามารถปรึกษากับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ค่ะ
วันที่ไปรับจะต้องเตรียมใบจ่ายค่าธรรมเนียม (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมด้านบน หัวข้อ 手数料) พร้อมแปะอากรแสตมป์มูลค่า 4,000 เยน (มักหาซื้อได้จากแถวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเลย กรุณาตรวจสอบกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สะดวก)
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเปลี่ยนงานในญี่ปุ่น
หากมีการเปลี่ยนงานโดยอายุวีซ่ายังเหลือ โดยปกติจะมี 2 กรณี คือ
1. งานใหม่มีลักษณะเดียวกับงานเดิม ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับวีซ่า สามารถใช้วีซ่าที่มีอยู่ทำงานได้เลย
2. งานใหม่เป็นงานคนละประเภทกับงานเดิม หากงานใหม่มีความแตกต่างจากงานเดิม เช่น งานเก่าทำงานด้าน IT งานใหม่เป็นล่าม หรืองานเก่าเป็นพนักงานโรงแรมแต่เปลี่ยนงานไปทำงานวิศวะ ในกรณีนี้วีซ่าเดิมจะไม่สามารถใช้ต่อได้ จำเป็นต้องดำเนินเรื่องขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า (在留資格変更許可申請書) ก่อนการทำงานค่ะ
หากไม่แน่ใจว่าวีซ่าที่ถืออยู่จะทำงานใหม่ได้หรือไม่ ขอแนะนำให้ติดต่อกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อปรึกษาหรือขอใบรับรองคุณสมบัติในการทำงาน (就労資格証明書) ก่อนการเข้าทำงาน เนื่องจากจะได้เปลี่ยนวีซ่าหรือหางานใหม่ได้ทันก่อนที่วีซ่าปัจจุบันจะหมด
- เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น หน้าวิธีขอใบรับรองคุณสมบัติในการทำงาน : http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-9.html (ภาษาญี่ปุ่น)
- เว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น หน้าวิธีขอใบรับรองคุณสมบัติในการทำงาน : http://www.immi-moj.go.jp/english/tetuduki/kanri/shyorui/10.html (ภาษาอังกฤษ)
แต่ไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนวีซ๋าหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนงาน ทุกคนจะต้องทำเรื่องแจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่สังกัด (所属機関の変更の届け出) กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายใน 14 วันด้วย รูปแบบของเอกสารนั้นไม่ได้กำหนดตายตัว แต่แนะนำให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปกรอกเลยเพื่อความสะดวกและถูกต้องค่ะ เอกสารแจ้งนี้สามารถเดินทางไปส่งที่สำนักงาน ส่งทางไปรษณีย์ หรือแจ้งออนไลน์ก็ได้ เลือกวิธีการตามความสะดวกได้เลยค่ะ
เอกสารและวิธีการแบ่งออกเป็นสองประเภทตามวีซ่า อย่าลืมตรวจสอบวีซ่าของตนเองก่อนยื่นด้วยนะคะ
- เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น หน้าวิธีแจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่สังกัด ประเภทแรก และ ประเภทที่ 2 (ภาษาญี่ปุ่น)
- เว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น หน้าวิธีแจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่สังกัด ประเภทแรก และ ประเภทที่ 2 (ภาษาอังกฤษ)
หากใครลาออกมาแล้วยังไม่มีงาน หากเข้าประกันสังคมไว้ ระหว่างที่ไม่มีงานนั้นสามารถยื่นรับเบี้ยเลี้ยงประกันการจ้างงาน (雇用保険被保険者離職票) ได้ด้วยค่ะ โดยติดต่อที่ศูนย์หางานของราชการ Hallo Work ใกล้บ้านได้เลย
ตรวจสอบรายะเอียดและเอกสารที่ต้องใช้ได้จากที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
วีซ่าทำงานในญี่ปุ่น เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้!
วีซ่าสำหรับทำงานในญี่ปุ่นเปิดกว้างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีจำนวนชาวต่างชาติทำงานในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2019 นั้นมีชาวต่างชาติทำงานในญี่ปุ่นมากกว่า 1,650,000 คนแล้ว
หากใครมีความฝันอยากลองทำงานในญี่ปุ่น นี่เป็นโอกาสดีที่จะลงมือหางานแล้วค่ะ
หากใครอยากรู้จักสังคมญี่ปุ่นก่อนมาทำงาน ลองมาเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นกันดูก่อนก็ได้ แถมการมาเรียนในญี่ปุ่นจะยิ่งทำให้ได้รู้ภาษา และมีโอกาสหางานง่ายกว่าอีกด้วย
เรื่องวีซ่าอาจฟังเป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่น มาศึกษากันไว้เพื่อให้อยู่ได้อย่างสบายใจ ไม่มีปัญหานะคะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง