Start planning your trip
ข้อควรระวังเมื่อหางานใหม่ในญี่ปุ่น ทั้งจังหวะ วิธีการ และเอกสารที่จำเป็น
การเปลี่ยนงานในญี่ปุ่นมีกระบวนการและเอกสารมากมายจนดูยุ่งยาก แต่ถ้าเข้าใจจุดสำคัญแล้ว เราจะได้เตรียมการได้อย่างเหมาะสม มาดูข้อควรระวังในการหางานใหม่ทั้งจังหวะ วิธีการ เอกสารที่จำเป็น และอื่นๆ กัน
ข้อควรระวังเมื่อหางานใหม่ในญี่ปุ่น
การหางานและเปลี่ยนงานใหม่ในญี่ปุ่นอาจไม่ง่ายสำหรับหลายๆ คน บางคนอาจมีความไม่พอใจกับงานและอยากจะเปลี่ยนงาน หรือคนที่อยากได้รับเสนองานจากบริษัทจัดหางานต่างๆ ในบทความนี้เราจึงขอแนะนำข้อควรระวังในการเปลี่ยนงานที่ญี่ปุ่นค่ะ
ลักษณะการหางานของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
การหางานในญี่ปุ่นนั้นโดยปรกติแล้วมีขั้นตอนหลายอย่างทีเดียว
ปกติมักจะเริ่มจากขั้นตอนตรวจสอบเอกสาร → สัมภาษณ์ครั้งแรก (ระดับหัวหน้าแผนก) → สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 (ระดับหัวหน้าฝ่าย) → สัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย (ระดับผู้บริหารหรือประธานบริษัท)
สำหรับบริษัทใหญ่ๆ อาจจะมีขั้นตอนมากกว่านี้อีก เช่น การทดสอบ SPI (*1) การสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม (*2) ฯลฯ บางครั้งอาจมีค่าเดินทางช่วยเหลือในการไปสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ไปสัมภาษณ์จะต้องจ่ายเอง ทำให้การหางานนั้นใช้ทั้งพลังกายและกำลังทรัพย์เลย
*1. การทดสอบ SPI : เป็นการทดสอบตอบคำถามต่างๆ เช่น ภาษาญี่ปุ่น คณิตศาตร์ บุคลิกภาพ เพื่อดูว่ามีความเหมาะสมกับบริษัทหรือไม่
*2. การสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม (グループ面接) : การทดสอบโดยผู้สัมภาษณ์จะแบ่งผู้ถูกสัมภาษณ์ออกเป็นกลุ่มหลายๆ คนและมอบหัวข้อให้ จากนั้นจึงดูการพูดคุยหรือการแสดงออกระหว่างการทำกิจกรรม เพื่อดูว่าผู้ถูกสัมภาษณ์มีความสามารถในการสื่อสารอย่างไร
ข้อควรระวังก่อนการเปลี่ยนงาน
ทั้งการหางานและเปลี่ยนงานล้วนไม่ใช่เรื่องง่าย
เราขอรวมคำตอบของข้อควรระวังที่หลายคนสงสัยเอาไว้ด้านล่างนี้ค่ะ
จังหวะในการแจ้งลาออก
สัญญาว่าจ้างส่วนใหญ่มักระบุว่า "หากจะลาออก กรุณาแจ้งบริษัทล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน" ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือนนั้นจะใช้ไปกับการส่งต่องานให้ราบรื่นและการหาคนมาทำหน้าที่แทน ฉะนั้นเพื่อให้การลาออกของเราเป็นไปได้ด้วยดีและไม่มีปัญหากับบริษัท ขอให้รักษากฎ "แจ้งล่วงหน้า 1 เดือน" นี้ไว้ค่ะ
เอกสารที่ต้องได้รับก่อนลาออก
1. เอกสารยืนยันการสิ้นสภาพ (資格喪失証明書)
ในญี่ปุ่น บริษัทมีหน้าที่ดูแลเรื่องประกันสุขภาพและบำนาญของพนักงานด้วย เมื่อลาออกเราจะหมดสิทธิในการรับประกันทั้งสองอย่างด้วย หลังจากลาออกเราจึงจะได้รับ "เอกสารยืนยันการสิ้นสภาพ" จากบริษัทที่ลาออกเพื่อนำไปใช้ในการสมัครเข้าประกันอีกครั้งที่บริษัทถัดไป
2. เอกสารแจ้งการว่างงานของผู้ถือประกันการจ้างงาน (雇用保険被保険者離職票)
หลังลาออกแล้วหากจะยื่นขอรับความช่วยเหลือจากประกันการจ้างงานที่ Hello Work (*3) จะต้องมี "เอกสารแจ้งการว่างงานของผู้ถือประกันการจ้างงาน" ไปยื่นด้วย
*3. Hello Work : หน่วยงานช่วยเหลือและจัดหางานของรัฐบาลญี่ปุ่น
3. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (源泉徴収票)
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ เอกสารที่จะระบุรายได้ทั้งหมดของเรา จำเป็นต้องใช้ในการยื่นภาษีและขอลดหย่อนภาษีประจำปี (*4)
*4 การยื่นภาษีและขอลดหย่อนภาษีประจำปี (年末調整・確定申告) : ระบบภาษีเงินได้ของญี่ปุ่น แบ่งเป็นการสรุปยื่นภาษีแทนโดยบริษัท (年末調整) และการยื่นภาษีด้วยตนเอง (確定申告)
4. สลิปเงินเดือน (給与明細書)
ส่วนใหญ่แล้ววันลาออกมักจะเป็นช่วงสิ้นเดือนหรือกลางเดือน ซึ่เราควรได้รับสลิปเงินเดือนของเดือนสุดท้าย เพื่อเช็คว่าวันทำงานและค่าตอบแทนของเดือนสุดท้ายถูกต้องหรือไม่ หลายบริษัทสามารถส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ อย่าลืมสอบถามกับทางบริษัทเอาไว้นะคะ
สิ่งที่ต้องทำเมื่อลาออก
1. คืนบัตรประกันสุขภาพแก่บริษัท
เมื่อลาออกแล้ว บัตรประกันสุขภาพที่ทำจากบริษัทนั้นๆ จะหมดสภาพ ใช้ไม่ได้อีก จะต้องส่งคืนฝ่ายบุคคลของบริษัท หลายบริษัทยินดีให้ส่งคืนทางไปรษณีย์ได้ด้วย
2. สมัครเข้าประกันสุขภาพแห่งชาติ (*5)
ภายใน 14 วันหลังจากลาออกจะต้องนำเอกสารยืนยันการสิ้นสภาพไปยื่นขอเข้าประกันสุขภาพแห่งชาติ (国民健康保険) ที่ที่ว่าการเขต ประกันสุขภาพนี้จะใช้แทนประกันสังคมที่เคยได้รับจากบริษัท
3. สมัครเข้าประกันบำนาญ (*5)
ภายใน 14 วันหลังจากลาออกจะต้องนำเอกสารยืนยันการสิ้นสภาพ สมุดเงินบำนาญ (年金手帳) และตราประทับ ไปยื่นขอเข้าประกันบำนาญ (国民年金) อีกครั้ง
* 5. การสมัครเข้าประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันบำนาญ
หากเริ่มทำงานที่ใหม่ภายใน 14 วัรนหลังลาออก ไม่จำเป็นต้องไปสมัครข้อ 2-3 แต่นำเอกสารที่จำเป็นต่างๆ ยืนให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทใหม่เพื่อให้ทำเรื่องประกันสังคมของบริษัทใหม่ได้เลย
การเข้าระบบประกันสุขภาพและบำนาญเป็นกฏหมายของญี่ปุ่น หากมีความลำบากไม่สามารถชำระเงินได้ ให้ลองติดต่อปรึกษาที่ที่ว่าการเขตที่อาศัย
เอกสารที่ต้องยื่นให้บริษัทใหม่
เมื่อเข้าทำงานที่ใหม่แล้วให้เตรียมเอกสารดังนี้เพื่อดำเนินเรื่องเข้าประกันสังคมของบริษัทใหม่ บริษัทอาจเรียกหาเอกสารอื่นประกอบด้วย ในกรณีนั้นลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับบริษัทใหม่
- สำเนาหนังสือบำนาญ
- บัตรผู้ประกันการจ้างงาน
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- ทะเบียนบ้าน (จูมินเฮียว - 住民票) (*6)
- สำเนาบัตรไซริว (在留カード)
*6. ทะเบียนบ้าน : เอกสารแสดงที่อยู่ปัจจุบัน สามารถขอได้จากที่ว่าการเขตที่อาศัยอยู่
เมื่อลาออกแล้ววีซ่าจะขาดเลยไหม?
เมื่อลาออกจากงานแล้ว สถานะการอยู่ในประเทศ (วีซ่าทำงานแบบต่างๆ) ไม่ได้ขาดเลย แต่เราจะได้สิทธิคงสภาพวีซ่าปัจจุบันอีกเป็นเวลา 3 เดือน "หากไม่สามารถหางานใหม่หรือเปลี่ยนเป็นวีซ่าที่เหมาะสมได้ภายใน 3 เดือน จะถือว่าวีซ่าหมดอายุ" และไม่สามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้ค่ะ
แต่ตามกฏหมายว่าด้วยการเข้าเมืองข้อ 22 ระบุไว้ว่า หากผู้มีสถานะอยู่ในประเทศแบบต่างๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมตามนั้นเป็นเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป "สถานะนั้นอาจถูกยกเลิก" ได้ "ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุอันสมควร" ฉะนั้นแม้จะไม่ได้ทำงานเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว หากมีหลักฐานแสดงความจำเป็น เช่น หลักฐานว่ายังคงหางานอยู่อย่างต่อเนื่อง (*7) ก็อาจได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อได้ ในกรณีนี้กรุณาติดต่อและปรึกษาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (นิวกัง) ก่อน
*7. หลักฐานแสดงความจำเป็น : สำหรับผู้หางาน เช่น ยังมีการส่งเอกสารที่เกี่ยวกับการสมัครงาน (ใบสมัครงานและอื่นๆ) อยู่เรื่อยๆ หรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำงานได้ต้องมีใบรับรองแพทย์
เตรียมตัวให้พร้อม เริ่มงานใหม่อย่างสดใส
ขั้นตอนต่างๆ ในการย้ายงานอาจจะยุ่งยาก แต่เราสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า จำเป็นต้อง "ยกเลิกประกันกับบริษัทเก่า" และ "ทำประกันกับบริษัทใหม่" เท่านั้นนั่นเอง (หรือทำประกันกับที่ว่าการเขตหากยังหางานไม่ได้)
หากใครคว้าเส้นทางสู่อนาคตใหม่ได้แล้วล่ะก็ อย่าลืมเตรียมเอกสารตามบทความนี้ ตรวจสอบเพิ่มเติมกับบริษัท เพื่อเข้าทำงานใหม่อย่างราบรื่นและสดใสเลยค่ะ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ฉันขณะนี้เป็นบรรณาธิการเวอร์ชันไต้หวันสำหรับ MATCHA ฉันเกิดที่จังหวัดจางฮัว่อ ในช่วงชีวิตในไต้หวันฉัน曾ทำงานเป็นไกด์ญี่ปุ่นในประเทศและคณะกรรมการสื่อสารสำหรับสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น ฉันเก่งที่การจัดเที่ยวท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่เกี่ยวกับอาหารและน้ำพุร้อน ควาวีฉันเป็นการถ่ายภาพและโดยเฉพาะกับการถ่ายภาพอาหารและภาพถ่ายคนเรื่องดีเพราะอายุของฉันและการชอบไปสถานที่เช่นบาร์และ Izakaya ฉันเรียกตัวเองว่า 'Matcha Uncle'
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง