Unseen Japan สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งฤดูหนาวของเมืองมัตสึโมโตะ 2 วัน 1 คืน

เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมโบราณ! สัมผัสวัฒนธรรมออนเซ็นดั้งเดิมที่ “ทาเคกาวาระออนเซ็น” ในเบ็ปปุ

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

“ทาเคกาวาระออนเซ็น” ใกล้สถานีเบ็ปปุแค่เดินเท้า 10 นาทีแห่งนี้เป็นโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีทั้งออนเซ็นในร่มและบ่อทรายร้อน ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำสถาปัตยกรรมของทาเคกาวาระออนเซ็นบรรยากาศออนเซ็นญี่ปุ่นดั้งเดิมและมารยาทการใช้ออนเซ็นสาธารณะเฉพาะของเบ็ปปุกันค่ะ

บทความโดย

more

“เบ็ปปุ” เมืองแห่งวัฒนธรรมออนเซ็นซึ่งฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวัน

เบ็ปปุ คือ รีสอร์ท ออนเซ็น ชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น โดยมีออนเซ็นตั้งอยู่ทั่วทุกแห่งภายในเมือง ทำให้เราสามารถสัมผัสกับทัศนียภาพแสนวิเศษของกลุ่มควันจากไอร้อนของต้นน้ำออนเซ็นนับไม่ถ้วนลอยละล่องขึ้นไปบนฟ้าได้ที่นี่เลย

แม้กระทั่งบรรดาชาวเมืองท้องถิ่นในเมืองออนเซ็นอย่างเบ็ปปุเองก็เพลิดเพลินกับการแช่ออนเซ็นเหมือนกับเป็นสิ่งให้ความบันเทิงอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ที่นี่เต็มไปด้วยโรงอาบน้ำสาธารณะราคาถูกที่เปิดให้ทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้เพียบ!

โดยหนึ่งในนั้นก็คือ“ทาเคกาวาระออนเซ็น (Takegawara Onsen)” โรงอาบน้ำสาธารณะสัญลักษณ์ของเบ็ปปุที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีเบ็ปปุนั่นเอง

“ทาเคกาวาระออนเซ็น” โรงอาบน้ำสาธารณะสไตล์ย้อนยุคภายในแหล่งบันเทิงซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1879

竹瓦温泉建物外観

Photo by มิยากาวะ มาโระ

“ทาเคกาวาระออนเซ็น” แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในแหล่งบันเทิงที่เต็มไปด้วยร้านสแน็คและร้านเหล้ามากมายห่างจากสถานีเบ็ปปุ ประตูฝั่งตะวันออกประมาณเดินเท้า 10 นาทีเท่านั้น ทาเคกาวาระออนเซ็นยังคงหลงเหลือบรรยากาศดั้งเดิมเอาไว้ท่ามกลางถนนที่ประดับประดาไปด้วยป้ายไฟนีออนสุดเก๋ไก๋สะดุดตาสีชมพูบ้างม่วงบ้างราวกับว่าตั้งอยู่คนละแห่งเลยก็ว่าได้

โดยเป็นอาคารไม้ดูโอ่อ่าขนาด 2 ชั้นที่เรียกได้ว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงอาบน้ำสาธารณะดั้งเดิมทั่วไป พื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 906 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่อาคารประมาณ 712 ตารางเมตร

竹瓦温泉建物外観

“竹瓦 (ทาเคกาวาระ)” หมายถึง 瓦 (กระเบื้อง) 竹 (ไม้ไผ่) โดยสร้างขึ้นในปี 1879 เนื่องจากสมัยที่ก่อตั้งขึ้นนั้นสร้างหลังคาด้วยไม้ไผ่ จึงเรียกกันว่า “ทาเคกาวาระออนเซ็น” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี 1902 ได้มีการรีโนเวทใหม่เป็นหลังคามุงกระเบื้องไม้แทน อาคารในปัจจุบันจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในปี 1938 ณ ปัจจุบันมีการติดหลังคาประดับอันงดงามที่เรียกว่า “คาราฮาฟุ” เพิ่มเติมบริเวณระเบียงด้านหน้าอาคาร แถมยังปรับปรุงโครงสร้างภายในอาคารอีกด้วย

ห้องอาบน้ำตั้งอยู่ในโซนชั้น 1F ของอาคาร ส่วนชั้น 2F เมื่อก่อนเคยเป็นโซนที่ลูกค้าโทจิ (※ 1) สามารถใช้พักผ่อนหรือค้างคืนได้ แต่ในปัจจุบันชั้น 2F กลายเป็นโซนศาลาประชาชนประจำท้องถิ่นไปแล้ว โดยไม่ได้เปิดให้ใช้งานกันทั่วไปเหมือนแต่ก่อน

※ 1 : โทจิ……การรักษาโรคด้วยการแช่ออนเซ็น

ภายในสถาปัตยกรรมโบราณอันโออ่างดงามควรค่าแก่การมาชมให้ได้สักครั้ง!

竹瓦温泉エントランスロビー
竹瓦温泉ロビー

Photo by มิยากาวะ มาโระ

เมื่อลอด ผ้าม่านญี่ปุ่น ตรงประตูทางเข้าเข้ามาก็จะพบกับฮอลล์ไม้ตั้งอยู่ตรงหน้าเลย ทางขวามือระหว่างเพดานสูงและแผ่นไม้ขัดเงาราวกับกระจกเป็นที่ตั้งของโรงอาบน้ำชาย-หญิงแบบธรรมดา ส่วนทางซ้ายมือเป็นที่ตั้งของโรง “บ่อทรายร้อน

竹瓦温泉砂湯の入り口

Photo by มิยากาวะ มาโระ

“บ่อทรายร้อน” คือ ซาวน่าที่นอนแช่ร่างกายภายใต้ทรายร้อนจากออนเซ็น นอกจากทาเคกาวาระออนเซ็นในเบ็ปปุแล้วก็ยังมี “บ่อทรายร้อนชายหาดเบ็ปปุ (Beppu Kaihin Sunayu)” ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเบ็ปปุคังโคโคและ “เฮียวตันออนเซ็น (Hyotan Hot Spring)” ออนเซ็นชั่วคราวของคันนาวะออนเซ็นที่เปิดโอกาสได้เราได้สัมผัสประสบการณ์การแช่บ่อทรายร้อนที่ว่านี้ด้วย

โดยเราจะต้องชำระเงินตรงเคาน์เตอร์รับรองทางขวามือติดกับประตูทางเข้าก่อน ค่าบริการออนเซ็นในร่ม 100 เยน / ครั้ง / ท่าน ในญี่ปุ่นปัจจุบันถือว่ามีราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำผลไม้ที่ซื้อตามตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติก็จริง แต่ถือเป็นราคาปกติเมื่อเปรียบเทียบกับโรงอาบน้ำสาธารณะที่บริหารโดยหน่วยราชการในเบ็ปปุเลยก็ว่าได้

ราคาอ้างอิง : โรงอาบน้ำสาธารณะในโตเกียว ณ ปัจจุบันเดือนตุลาคม ปี 2017 ราคา 460 เยน

竹瓦温泉受付

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ค่าบริการบ่อทรายร้อน 1,030 เยน นอกจากนี้ ตรงเคาน์เตอร์รับรองก็ยังมีจำหน่ายผ้าขนหนูเช็ดมือ, แชมพูแบบใช้แล้วทิ้ง, สบู่, หมวกอาบน้ำ, มีดโกน และอื่น ๆ สำหรับใครที่ไม่ได้พกอุปกรณ์ที่จำเป็นในการอาบน้ำมาด้วยนะ...

竹瓦温泉で購入できるお風呂用品

【สินค้าและราคา (รวมภาษี)】

  • ผ้าขนหนู...320 เยน
  • แชมพู...50 เยน
  • ครีมนวดผม...50 เยน
  • สบู่...50 เยน
  • มีดโกน...50 เยน
  • หมวกอาบน้ำ...110 เยน

ห้องอาบน้ำขนาดเล็กเพรียบพร้อมสมบูรณ์ที่สร้างขึ้นด้านล่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า

ออนเซ็นชาย

竹瓦温泉男湯脱衣所

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ก่อนอื่น เราขอแนะนำภายในออนเซ็นชายกันก่อนเลย!

เมื่อลอดผ้าม่านญี่ปุ่นสีน้ำเงินเข้ามาก็จะพบกับห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายทันที ตรงกำแพงเรียงรายไปด้วยชั้นสำหรับเก็บเสื้อผ้าที่ถอดแล้ว

เราสามารถใช้งานชั้นแบบเปิดโล่งได้อย่างอิสระ สำหรับใครที่กังวลว่าจะโดนขโมยทรัพย์สินมีค่าอย่างกระเป๋าสตางค์ก็ขอแนะนำให้เก็บเอาไว้ในตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ 100 เยนที่ตั้งเอาไว้ภายในอาคารจำนวนหนึ่งเลยค่ะ

脱衣所から階段で地下へ下る別府によくあるお風呂の構造

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ระหว่างโรงอาบน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นพื้นที่เปิดโล่งแบบไม่ได้มีฉากกั้นอะไรเลย โดยเป็นโครงสร้างที่เปิดให้เราสามารถลงบันไดลงไปข้างล่างได้เลยก็จริง แต่บอกเลยว่าโครงสร้างแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ทาเคกาวาระออนเซ็นเท่านั้น แต่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามโรงอาบน้ำสาธารณะดั้งเดิมภายในเมืองเบ็ปปุ

竹瓦温泉男湯の湯船

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ตรงกลางโซนอาบน้ำปูกระเบื้องมีบ่อน้ำร้อนทรงโดมที่สามารถลงแช่ได้ 7 – 8 ท่านตั้งอยู่ 1 แห่ง โดยเป็นน้ำร้อนเกลือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต・แมกนีเซียมคลอไรด์・แคลเซียม・โซเดียม ออนเซ็นต้นน้ำที่สูบเข้ามาใช้ในบ่อน้ำร้อนมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงประมาณ 53.8 องศาเลยทีเดียว

竹瓦温泉男湯

ดังนั้นจึงมีการติดตั้งก๊อกน้ำเอาไว้ตรงมุมบ่อน้ำร้อนด้วยเพื่อให้ ลูกค้าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำปรับอุณหภูมิได้ ทางด้านโรงอาบน้ำเองได้มีการแนะนำอุณหภูมิที่เหมาะสมเอาไว้ที่ประมาณ 43 องศา แต่อุณหภูมิดังกล่าวอาจจะยังรู้สึกว่าร้อนเกินไปหน่อยสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยชินกับการอาบน้ำร้อนในญี่ปุ่น

ออนเซ็นหญิง

竹瓦温泉女湯

ส่วนประตูทางเข้าของออนเซ็นหญิงตั้งอยู่ด้านในผ้าม่านญี่ปุ่นสีแดงทางขวามือของล็อบบี้

โครงสร้างของโรงอาบน้ำทั้งชาย-หญิงจะมีลักษณะเหมือนกันเกือบทั้งหมด แต่ของผู้หญิงจะค่อนข้างใหม่กว่าเล็กน้อย โดยเป็นน้ำร้อนเกลือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต・โซเดียม อุณหภูมิของน้ำจะค่อนข้างต่ำกว่าของออนเซ็นชายเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 52 องศา แต่ก็ยังเรียกได้ว่ามีอุณหภูมิสูงทีเดียว

ออนเซ็นชาย-หญิงของทาเคกาวาระออนเซ็นใช้ต้นน้ำคนละแห่งกัน แถมยังไม่มีการสลับใช้ต้นน้ำระหว่างห้องชาย-หญิงอีกด้วย

อย่างที่เราได้บอกเอาไว้ในข้างต้นว่าน้ำร้อนของทาเคกาวาระออนเซ็นสำหรับออนเซ็นชายจะเป็น น้ำร้อนเกลือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต・แมกนีเซียมคลอไรด์・แคลเซียม・โซเดียม ส่วนออนเซ็นหญิงจะเป็น น้ำร้อนเกลือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต・โซเดียม โดยจะใช้ต้นน้ำแยกประเภทกันต่างหาก

ในเมื่อใช้ต้นน้ำแยกกันแบบนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีคนอยากลองแช่น้ำร้อนทั้ง 2 แบบดูอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ทาเคกาวาระออนเซ็นนั้นไม่มีนโยบายสลับต้นน้ำใช้ระหว่างโรงออนเซ็นชาย-หญิง

มารยาทน่ารู้ของการแช่ออนเซ็นสุดเอกลักษณ์ของเบ็ปปุ

คาคาริยุสำหรับราดตัวใช้น้ำร้อนจากอ่างแช่น้ำร้อนโดยตรง

シャワーやお湯の出る蛇口など体を洗う設備が全くない竹瓦温泉

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ไม่ใช่เฉพาะโรงอาบน้ำสาธารณะเท่านั้น แม้ในกรณีที่เป็นอ่างน้ำร้อนตามครัวเรือนญี่ปุ่นทั่วไปเองก็มี มารยาทสากลว่าต้องชำระล้างร่างกายให้พอสะอาดก่อนลงแช่ในอ่างน้ำร้อน ดังนั้น ตามโรงอาบน้ำส่วนใหญ่จึงมักจะมีการจัดเตรียมแชมพู ก๊อกน้ำร้อน และอื่น ๆ เอาไว้ตรงจุดอาบน้ำอยู่แล้ว เมื่อเข้าโรงอาบน้ำมาแล้วจึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้พอสะอาดตามธรรมเนียม

แต่ที่ทาเคกาวาระออนเซ็นแห่งนี้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาบน้ำอะไรแบบนั้นเลย อ้าว แล้วเราจะอาบน้ำกันยังไงล่ะ?

自由に使える洗面器とバスチェア

Photo by มิยากาวะ มาโระ

ก็เพราะว่า เราจะต้องใช้กะละมังตักน้ำร้อนจากบ่อน้ำร้อนอาบน้ำโดยตรงนั่นเอง! วิธีนี้มีใช้กันมากตามโรงอาบน้ำสาธารณะในเบ็ปปุ ไม่ใช่เฉพาะแค่ทาเคกาวาระออนเซ็นเท่านั้น เนื่องจากริมห้องอาบน้ำมีทั้งกะละมังและเก้าอี้อาบน้ำเตรียมไว้ให้บริการ จึงสามารถใช้ได้อย่างอิสระเลยจ้า...

歴史ある建物が魅力!別府「竹瓦温泉」で、昔ながらの温泉文化を体験しよう

ทั้งกะละมังและเก้าอี้เมื่อใช้เสร็จแล้วก็อย่าลืมนำกลับไปเก็บที่เดิมตอนกลับกันด้วยเนอะ

เหตุผลที่ห้ามนั่งบนขอบอ่างน้ำร้อนภายในโรงอาบน้ำสาธารณะของเบ็ปปุ

別府の共同浴場では湯船のヘリに腰をかけてはいけない

Photo by มิยากาวะ มาโระ

นอกจากนี้ เนื่องจากขอบอ่างน้ำร้อนมีความสูงระดับเดียวกับเก้าอี้พอดี หลายคนจึงอาจเผลอขึ้นไปนั่งพักร่างกายให้เย็นลงโดยไม่รู้ตัว แต่โรงอาบน้ำสาธารณะในเบ็ปปุนั้นมีกฎระเบียบสุดเอกลักษณ์ที่แทบไม่เคยได้ยินกันในท้องถิ่นอื่นอยู่ว่า “ห้ามนั่งบริเวณขอบอ่างน้ำร้อน

โดยมีทฤษฎีกล่าวว่าต้นกำเนิดของธรรมเนียมปฏิบัตินี้มาจากโรงอาบน้ำที่ขอบบ่อน้ำร้อนอยู่เหนือศีรษะของคนที่แช่ออนเซ็น ดังนั้น การเอาก้นไปนั่งสูงกว่าศีรษะของคนอื่นจึงเป็นสิ่งไม่ดีนั่นเอง

บทส่งท้าย

สำหรับใครที่มีโอกาสได้มาเที่ยวเบ็ปปุก็อย่าลืมแวะมาสัมผัสประสบการณ์แช่ออนเซ็นและบ่อทรายร้อนภายในโรงอาบน้ำสาธารณะดั้งเดิมที่ทาเคกาวาระออนเซ็นกันนะจ๊ะ... เนื่องจากที่นี่ตั้งอยู่ห่างจากสถานีเบ็ปปุในระยะเดินเท้าถึงกันได้ จึงเหมาะกับการแวะมาใช้เวลาว่างผ่อนคลายสุด ๆ

แต่ระวังเอาไว้นิดนึงว่าที่นี่ไม่มีลานจอดรถ สำหรับใครที่เดินทางมาด้วยรถยนต์จึงจำเป็นต้องใช้บริการลานจอดรถคิตาฮามะไคกังแบบหยอดเหรียญเลียบทางหลวงสาย 10 ที่ตั้งอยู่แถวนั้นแทน


บทความโดย

fujii

more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง